“ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” คำตอบของคำถามที่ว่า ความสุขที่แท้... คืออะไร?

“ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” คำตอบของคำถามที่ว่า ความสุขที่แท้... คืออะไร?

“ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” คำตอบของคำถามที่ว่า ความสุขที่แท้... คืออะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความสุขที่แท้จริงของคนเราคืออะไร? คือสิ่งใดกันแน่?

หลายคนในทุกวันนี้ วินาทีนี้อาจรู้ซึ้งถึงคำตอบ แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกมากมายที่ยังคงค้นหา...

คำถามในบรรทัดแรกถูกเอ่ยถามขึ้นอย่างดังกึกก้อง ผ่านท่วงทำนอง และบทพูดของนักแสดงจากละครเวทีเรื่อง “ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” ตั้งแต่ฉาก 1 ขององก์ 1 และกลายเป็นคำถามตั้งต้นที่เราพยายามหาคำตอบตลอดกว่า 2 ชั่วโมง ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ

ซึ่งมันคือการค้นหาที่ทำให้เราตระหนักถึงอะไรบางอย่างในชีวิต หัวเราะ และต้องปาดน้ำตาไปพร้อมๆ กัน

ชายกลาง เดอะมิวสิคัล

เมื่อเอ่ยถึง “ชายกลาง” ชื่อของวรรณกรรมขึ้นหิ้งอย่าง บ้านทรายทอง ก็คงตามมาในทันควัน รวมไปถึง พจมาน สว่างวงศ์ สาวน้อยผู้มาพร้อมผมเปียสองข้างและชะลอมจากต่างจังหวัดซึ่งกลายเป็นตัวละครที่ไม่ว่าใครก็จดจำได้ แต่การเดินทางมาถึงของ “ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” เราอยากให้ทุกคนจงลืมทุกเวอร์ชั่นละครโทรทัศน์รวมถึงภาพยนตร์ไปเสียให้หมด เพราะละครเวทีเรื่องนี้ไม่มีเรื่องราวใดๆ ของการเหยียบย่างเข้าสู่บ้านทรายทองของใครแม้แต่ผู้เดียว

เพราะเส้นเรื่องหลักของ ชายกลาง เดอะมิวสิคัล นั้นเล่าเรื่องของ สมชาย นักเขียนไส้แห้งผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะเขียนหนังสือซึ่งสามารถยกระดับปัญญาของผู้อ่านได้ หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็จะไม่ยอมลงมือเขียนนิยายเพ้อฝันตามกระแสนิยม แต่แล้วโลกแห่งความเป็นจริงก็ทำร้ายเขาและคนรัก เพราะหนังสือแบบที่ สมชาย อยากเขียนนั้นไม่ทำเงิน ไม่เป็นที่นิยม เพื่อปากท้องของตนเองและแฟนสาวนามว่า พร เขาจึงตัดสินใจเขียนเรื่องราวที่เขาคิดว่าเป็นนิยายกระจอก และเพื่อไม่ให้ใครรู้ เขาจึงเปลี่ยนนามปากกาเป็น ส.ปิยบุตร ซึ่งการตัดสินใจครั้งดังกล่าวนั้นนำไปสู่โศกนาฏกรรมในชีวิตจริงที่ไม่ต่างไปจากนิยายที่เขาเขียนเลยแม้แต่น้อย

สมชาย และ พร

เราคงหยุดการเล่าพล็อตโดยย่อของ ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ซึ่งต่อยอดมาจากละครเวทีของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ปริศนา ในปี 2546 และละครเวทีโรงใหญ่จากฝีมือบริษัท โต๊ะกลม อย่าง ชายกลาง โศกนาฏกรรมในจังหวะแทงโก้ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว (ซึ่งเราไม่ได้รับชมทั้ง 2 เวอร์ชั่น) ไว้แต่เพียงเท่านี้ เพราะแค่ตัวอักษรคงบอกเล่าความรู้สึกได้ไม่เท่ากับการไปสัมผัสแบบสดๆ ด้วยสองตาของคุณเอง ทว่าสิ่งที่เราจะบรรยายนับจากนี้ เราหมายมั่นปั้นมือว่าจะสามารถบิลด์ให้คุณผู้อ่านลุกจากเก้าอี้หรือเตียงนอน ไปนั่งอยู่ในโรงละครได้ไม่มากก็น้อย

อาจจะกล่าวได้ว่า ชายกลาง เดอะมิวสิคัล นั้นแยกการเล่าเรื่องออกเป็น 2 พาร์ตอย่างชัดเจนนั่นก็คือ โลกจริง และ โลกนิยาย กลิ่นอายความดราม่าอาจตกอยู่ในพาร์ตโลกจริงของนักเขียนสมชายมากอยู่สักหน่อย ส่วนความคอมเมดี้ตลกโปกฮานั้นจัดเต็มแบบไม่มีพักอยู่ในโลกแห่งนิยายที่มีตัวละครอย่าง ท่านชาย, ปริศนา, หม่อมแม่ และ มาหยารัศมี ขับเคลื่อนเรื่องราว ซึ่งต้องขอปรบมือให้ผู้กำกับอย่าง ธีรวัฒน์ อนุวัตรอุดม หรือ สังข์ 108 มงกุฎ ที่สามารถนำโลกทั้ง 2 ใบมาแนบสนิทชิดติดกันได้อย่างน่าสนใจ ลื่นไหล อีกทั้งโลกนิยายนั้นก็เป็นดั่งกระจกที่สะท้อนภาพความรู้สึกนึกคิดของตัวละครในโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีเสน่ห์

ท่านชาย และ ปริศนา

ถามว่าสนุกไหม... สนุกมาก!!! มากเสียจนอยากจะใส่เครื่องหมายอัศเจรีย์ไปอีกสิบยี่สิบตัว ท่ามกลางความเครียดที่แผ่ขยายมาอย่างไม่บันยะบันยัง เราต้องการความบันเทิงแบบนี้ล่ะ! และอย่างที่เรากล่าวไปเมื่อสักครู่ว่า สัดส่วนคอมเมดี้ในพาร์ตนิยายนั้นใส่กันไม่ยั้ง มาทั้งมุขคาเฟ่ สามบาทสิบบาท หรือแม้กระทั่งมุขครีเอทีฟที่เรามักจะเห็นจากละคร’ถาปัดที่อุทานขึ้นมาในใจหลายครั้งหลายคราว่า “คิดได้ไงวะ!” ทั้งยังขอชมเชยเรื่องจังหวะชงมุขตบมุขที่ยอดเยี่ยมมากๆ เลยเถิดไปจนถึงจังหวะขยี้ที่มาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแต่ก็ได้ผลทุกครั้ง ศาสตร์คอมเมดี้ใช่ว่านักแสดงทุกคนจะเล่นได้ และใช่ว่าทุกคนจะทำได้ดี แต่สำหรับ ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ขอปรบมือให้กับจังหวะที่มาถูกที่ถูกเวลาครบถ้วนทุกประการ

อีกเรื่องที่ต้องขอชื่นชมอย่างหนักหน่วงก็คือแคสติ้งนักแสดง คงต้องขอใช้คำว่า “ลงตัว” มาอธิบายในย่อหน้านี้ ทีมเวิร์กแข็งแกร่งมาก ที่ทำให้ผู้เขียนไม่สามารถละสายตาได้เลยแม้แต่วินาทีเดียวก็คือ จ๋าย-อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี ในบท สมชาย กับท่าทีและน้ำเสียงที่เรารู้สึกว่าไม่เห็นบ่อยครั้งนักในวิถีนักแสดงละครเวทีในเมืองไทย รวมไปถึง พีท-ปิติพงษ์ ผาสุขยืด กับบทบาท ภักดี นักเขียนรุ่นพี่ของสมชายที่บ้าได้เดือดดาลยิ่งนัก

ตัวละครหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลูกหว้า-พิจิกา จิตตะปุตตะ (รับบท พร), ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม (บก.วิทิต), ป้าไก่-อัญชุลีอร บัวแก้ว (คุณหญิงชุลีมณีรัตนา), ดาว-ชลเลขา ละงู (มาหยารัศมี), อาร์ม-ธาตรี จิตรพลี (สยุมภู), ปอ-อาภาวี ภู่ระหงษ์ เศตะพราหมณ์ (แม่ช้อย) ต่างมีซีนโชว์ของที่เรียกเสียงปรบมือได้สนั่นฮอลล์กันอย่างครบถ้วน เสียดายเพียง ตุ๊กตา-จมาพร แสงทอง ในบท อนงค์ สาวห้าวใจใหญ่ที่ไม่เจิดจรัสเท่าใดนัก

อาจหมายรวมความเสียดายอีกเล็กน้อยไปถึงพระ-นางอีกคู่อย่าง ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน และ ซาร่า-นลิน โฮเลอร์ ในบท ท่านชาย และ ปริศนา (รวมไปถึง พจมาน ในบางซีน) ตามลำดับ ทั้งคู่เล่นได้ดี (ช็อตสลับร่างปริศนากับพจมานโดยใช้เว่นนี่ทำเอาเราน้ำตาเล็ดของแท้) แต่พลังอาจสู้นักแสดงคนอื่นไม่ได้จนกลายเป็นโดนแย่งซีนในบางครั้งครา ซึ่งตำแหน่ง แย่งซีนออฟเดอะเยียร์ คงจะต้องยกให้สาวใช้นามว่า ปลื้มจิต ที่รับบทโดย มิน-พัทฑรียา พยอม อย่างไร้ข้อกังขา

และในเมื่อ ชายกลาง เป็นละครเวทีมิวสิคัล คงจะไม่พูดถึง เพลง และ ดนตรี คงไม่ได้ แน่นอนว่าดนตรีสดสามารถสร้างพลังงานให้กับโชว์ได้อย่างมากแม้จะเล่นสลับกับการเปิดแทร็คอยู่บ้างก็ตาม ตัวเพลงเป็นไปตามมาตรฐานที่อารมณ์และเนื้อหาของเพลงจะบอกเล่าเรื่องราวและบรรยากาศในฉากนั้นๆ สนุกสนาน ชื่นมื่น หดหู โศกเศร้า แต่ที่น่าสนใจคือเพลงที่ชื่อ “จังหวะจักรวาล” ที่ยอมรับตามตรงว่าอยากจะฟังโดยละเอียดแบบละเมียดละไมอีกสักครั้ง เพราะเชื่อว่ามีนัยบางอย่างซึ่งสำคัญต่อเนื้อเรื่องซ่อนอยู่อย่างมากมายแน่นอน และทีเด็ดอีกประการคงหนีไม่พ้นเพลงฮิปฮอปร่วมสมัยที่ใส่ท่อนแร็ปให้นักแสดงฟาดฝีปากได้เท่เอาการทีเดียว

ปิดฉากด้วยดราม่าสักหน่อยละกัน...

ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ฉาบหน้าด้วยความตลก สนุกสนาน ทว่าแก่นแท้ของบทละครเวทีเรื่องนี้กลับดูเป็นเรื่องของ “นามธรรม” ที่เรียกว่า “ความสุข” เสียเหลือเกิน

ความสุขที่แท้จริงคืออะไร... ใครตอบได้บ้าง?

ความสุขของ สมชาย คือการได้เขียนหนังสือในแบบที่ตนเองอยากเขียน ความสุขของ พร คือการดูแลแฟนหนุ่มและได้อ่านนิยายประโลมโลก ความสุขของ บก.วิทิต คือการได้เห็นนักเขียนในบริษัทประสบความสำเร็จ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่ในบางครั้งเราก็ต้องยอมรับว่า ความสุขที่เราไขว่คว้า อาจสร้างความสุขที่แท้จริงไม่ได้ในชีวิตจริง เฉกเช่นในเรื่องที่ความสุขของสมชายกลับทำให้เขาและแฟนต้องอดอยากปากแห้งเพราะหนังสือขายไม่ได้ สมชายจึงต้องยอมสูญเสียตัวตนในบางครั้ง สูญเสียอุดมการณ์ที่ยึดมั่นมาในบางคราว เพื่อให้เขาและแฟนสาวอิ่มท้อง

ย้อนกลับมาดูที่ตัวเราเอง ผู้โชคดีบนโลกใบนี้อาจได้ทำในสิ่งที่รักสิ่งที่ชอบ และสิ่งเหล่านั้นก็สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้ในเวลาเดียวกัน แต่ก็บ่อยครั้งที่เราต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่เราไม่ชอบนัก แต่จำเป็นต้องทำเพื่อดำรงชีวิตต่อไปให้ได้

หรือแม้กระทั่งคนบางคนที่ยอมทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ เพื่อเก็บหอมรอมริบนำเงินมาทำในสิ่งที่ตนเองรัก

ผู้คนเหล่านี้มีอยู่ในทุกแวดวงสังคม ยิ่งไปถามบุคคลในแวดวงศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ หรือละครเวทีดูสิ... มากมายนับไม่ถ้วน

สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารก็คือ ในโลกแห่งนิยาย ทุกคนสามารถทำตามที่ใจอยาก แต่หากเป็นโลกแห่งความจริง มันไม่มีอะไรง่ายดายเสมอไป

ความสุขที่แท้อาจอยู่ใกล้ตัว อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยที่คุณมองข้าม อาจเป็นเพียงรอยยิ้มจากใครบางคน...

คงจะถึงเวลาแล้วล่ะที่คุณจะมองหาความสุขที่แท้จริงให้กับชีวิตของตนเองบ้าง... คำตอบอาจยังเดินทางมาไม่ถึงในตอนนี้ แต่เชื่อเหลือเกินว่า มันอยู่รอบกายของทุกคนนี่แหละ ขึ้นอยู่กับว่า คุณจะมองเห็นมันหรือเปล่า... ก็เท่านั้น

 

*** ชายกลาง เดอะมิวสิคัล ยังเหลืออีก 5 รอบการแสดงเท่านั้น ในวันที่ 1, 2, 8 และ 9 มิถุนายน 2562 จับจองบัตรกันได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ทุกสาขา ***

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ “ชายกลาง เดอะมิวสิคัล” คำตอบของคำถามที่ว่า ความสุขที่แท้... คืออะไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook