15 เกร็ดน่ารู้จากภัยพิบัติ "เชอร์โนบิล" ที่กลายมาเป็นซีรีส์ฮิต "Chernobyl"
ขึ้นแท่นซีรีส์ที่ผู้คนพูดถึงมากสุดในวันนี้ หลังจาก Game Of Thrones ปิดฉากไปพร้อมกับตำนาน 8 ปี ระหว่างที่คนดูโขกสับด้วยความไม่พอใจกับคุณภาพของซีซัน8 ที่ไม่สมค่าการรอคอย HBO ก็ไม่ตอบโต้เสียงวิจารณ์ แต่ปล่อย Chernobyl มินิซีรีส์เรื่องใหม่ ที่มีความยาวแค่ 5 ตอนและเพิ่งแพร่ภาพตอนสุดท้ายไปเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน นี่เอง กลายเป็นซีรีส์ที่มาเงียบ ๆ ไม่มีการโปรโมตใด ๆ แต่กลายเป็นการประกาศศักดาทวงศักดิ์ศรีคืนจากเสียงด่าก่อนหน้านี้ ด้วยเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์แทบทุกค่ายส่งผลให้คะแนนจาก 2 เว็บใหญ่พุ่งพรวด IMDB 9.7 สูงกว่า Breaking Bad ที่เป็นขวัญใจคอซีรีส์มาช้านาน ส่วนทางเว็บมะเขือเน่าก็สูงถึง 95% ส่งผลให้ Chernobyl กลายเป็นซีรีส์ที่พูดถึงกันมากสุดบนโลกโซเชียลในวันนี้ กับเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ที่ลงลึกถึงเบื้องหลังเหตุการณ์ช็อคโลก เมื่อแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์เชอร์ที่นครปริปยัต สหภาพโซเวียต เกิดระเบิด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1986 สร้างความเสียหายมากมายต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ถึงแม้วันนี้จะผ่านมาแล้วกว่า 30 ปี แต่กัมมันตภาพรังสีที่หลุดรั่วออกมา ก็ยังคงตกค้างอยู่และส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์กว่า 1 ล้านคน สหรัฐประณามโศกนาฏกรรมครั้งนี้ว่า “นี่คือภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”
ยืนกลาง สเตลแลน สการ์สการ์ด และขวาสุด แจเร็ด แฮร์ริส 2 ดารานำของ Chernobyl
เนื้อหาของซีรีส์ให้ทั้งสาระและบันเทิง สำหรับคนที่เกิดทันก็ได้ย้อนรำลึกถึงความตื่นเต้นในวันนั้น ส่วนผู้ชมรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันก็ได้ทำความรู้จักเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ ทุกวันนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชียร์โนบีล ได้กลายเป็นสถานที่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางด้านลบ ที่ยังคงอยู่เพื่อตอกย้ำความผิดพลาดครั้งใหญ่ของมนุษย์ชาติที่ทำร้ายเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองและสร้างบาดแผลใหญ่ให้กับสิ่งแวดล้อมโลก และนี่คือ 15 เรื่องราวเบื้องหลังเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ดูแล้วอ่านก็ได้สาระความรู้เพิ่มเติม หรืออ่านก่อนแล้วไปดูก็จะเพิ่มอรรถรสความเข้าใจกับหนังได้ดียิ่งขึ้น
1.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบีล ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบีล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต แคว้นเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ในวันนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ในขณะที่ระเบิด มีพลเมืองอาศัยอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ กว่า 5 ล้านชีวิต ทั้งหมดถูกพิจารณาว่าได้รับสารพิษจากเตาปฏิกรณ์ มีการอพยพประชาชนในเมืองปริปยัตออกจากพื้นที่ แต่หลังจากเกิดเหตุระเบิดไปแล้วถึง 2 วัน ซึ่งผู้คนล้วนแล้วแต่ได้รับสารกัมมันตภาพรังสีในระดับสูงกันไปแล้ว
2.คาดว่าปริมาณของรังสีที่ปล่อยออกมานั้น มีอานุภาพมากกว่า 100 เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณรังสีจากระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ
ผังของอาคารที่ติดตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ถูกต้อง
3.อาคารโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างตามแบบแผนความปลอดภัย ตามเอกสารของคณะกรรมาธิการดูแลและจัดการวัตถุนิวเคลียร์ ได้ระบุไว้ว่า อาคารที่จัดเก็บวัตถุนิวเคลียร์จะต้องมีโครงสร้างที่ผนึกแน่นในระดับที่ก๊าซไม่สามารถรั่วไหลออกไปได้ โดยปกติอาคารประเภทนี้จะเป็นทรงรูปโดม สร้างด้วยโลหะและคอนกรีตที่มีความแข็งแกร่งสูง โครงสร้างแบบนี้ออกแบบมาเพื่อให้กักเก็บสารที่สามารถแตกตัวและไหลออกสู่บรรยากาศภายนอกได้ ถ้าอาคารโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลสร้างตามแบบแผนนี้ ต่อให้เกิดเหตุระเบิดก็จะไม่มีใครเสียชีวิต
4.พื้นที่ในยูเครน , เบลารุส และรัสเซีย ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ แต่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกินอาณาเขตกว้างไกลมหาศาล ประเทศไอร์แลนด์ ยังได้รับผลกระทบจากฝนที่เจือปนกัมมันตภาพรังสีจากเชอร์โนบิลด้วย
5.หลังอพยพผู้คนออกไป เมืองปริปยัตกลายเป็นเมืองร้าง สัตว์ต่าง ๆ ก็ได้เข้าไปอาศัยอยู่แทน ที่แปลกก็คือบรรดาหมูป่า , หมาป่า , ม้าป่า และ ตัวบีเวอร์กลับเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นมากอย่างรวดเร็ว
อนุสาวรีย์ที่สร้างเพื่อสดุดีความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง 12 คน ที่เสียชีวิต
6.ทันทีที่เกิดเหตุระเบิด โรงไฟฟ้าไม่เพียงแต่ปล่อยกัมมันตภาพรังสี แต่ยังเกิดเหตุเพลิงไหม้ด้วย เจ้าหน้าที่ดับเพลิงรีบรุดเข้าพื้นที่เพื่อระงับเพลิงไหม้ เจ้าหน้าที่กว่า 12 ราย ได้รับการปนเปื้อนจากกัมมันตภาพรังสีขั้นรุนแรง และล้มตายในระยะเวลาอันสั้น
7.แม้ว่านี่คือสถานการณ์วิกฤต เป็นภัยพิบัติรุนแรงระดับโลก สิ่งที่ทุกคนคาดคิดก็คือว่าสหภาพโซเวียตจะหยุดการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด หลังแกนปฎิกรณ์หมายเลข 4 ระเบิด แต่กลับกลายเป็นว่าทางรัฐบาลยังคงให้โรงไฟฟ้าทำงานต่อไปกับอีก 3 แกนปฎิกรณ์ที่เหลือ และยังคงทำงานต่อเนื่องไปอีก 13 ปี
8.ในวันนี้วัตถุกัมมันตภาพรังสีรุนแรงยังคงตกค้างอยู่มาก ฝังอยู่ในเศษอิฐที่เคยเป็นผนังปูนของห้องเก็บแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทางรัฐบาลแก้ไขด้วยการสร้างอาคารสูงขึ้นมาครอบซากโรงไฟฟ้าเดิมอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็สามารถป้องกันได้ในระยะ 100 ปี
9.ป่าที่อยู่ติดกับเชอร์โนบิล ตอนนี้ได้ชื่อว่า “ป่าแดง” มีพื้นที่กว่า 10 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ปนเปื้อนกัมมันภาพรังสีอย่างรุนแรง ชื่อของ “ป่าแดง” มาจากสีของต้นสนที่ตายแล้วในพื้นที่นี้ จะกลายเป็นสีแดง ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ginger-brown color
บรรดาลูกหลานของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรังสีปนเปื้อนในปัจจุบัน
10.หน่วยงานอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่คอยสนับสนุนรัฐบาลยูเครนในการสร้างโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ต้องการที่จะลงทุนอีกกว่าพันล้านเหรียญเพื่อเปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาปฏิเสธที่จะสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินี้ พวกเขาพยายามพูดถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจากเหตุครั้งนี้ให้เล็กน้อยที่สุด
11.วันนี้เราสามารถซื้อทัวร์ไปเที่ยวเมืองร้างรอบเชอร์โนบิลได้แล้ว มีบริษัททัวร์จัดทริปพานักท่องเที่ยวไปเยี่ยมเมืองปริปยัต มีใครอยากไปไหมนะ
12.เมืองปริปยัตเป็นพื้นที่ได้รับการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีสูงที่สุด และทุกวันนี้ยังคงเป็นเมืองร้าง คาดการณ์ว่าธาตุพลูโตเนียมที่ตกค้างอยู่ในปริปยัตนั้นต้องใช้เวลาถึง 24,000 ปีถึงจะสูญสลายความเข้มข้นของมันลงไปได้สักครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ภาพเหมือนของวลาดิเมียร์ ปราวิค
13.มีรายงานจากวันเกิดเหตุว่า ตำรวจดับเพลิงชื่อ วลาดิเมียร์ ปราวิค ได้รับผลกระทบจากกัมมันภาพรังสีรุนแรงขนาดที่ว่าทำให้ตาของเขาจากสีน้ำตาลกลายเป็นสีน้ำเงิน
14.หลังเกิดเหตุระเบิด รัฐบาลยูเครนตัดสินใจว่าจะเก็บเหตุรุนแรงนี้เป็นความลับ ไม่ให้ทั่วโลกได้รับรู้ แต่ทาสวีเดนเป็นประเทศแรกที่ประกาศข่าวนี้ให้โลกได้รับรู้
15.ทุกชีวิตในพื้นที่ปนเปื้อน ต่างได้รับความทุกข์ยากในการดำรงชีวิต เพราะสารกัมมันตภาพรังสีเข้าไปปะปนในทุก ๆ ตารางนิ้ว มีอยู่ในอาหาร , น้ำดื่ม , น้ำใช้ , นม , ในโรงเรียนและสนามเด็กเล่น แม้แต่ฟืนที่พวกเขานำมาเผาเพื่อสร้างความอบอุ่นก็ยังมีสารกัมมันตภาพรังสี
วันนี้สามารถรับชม Chernobyl ซีรีส์เกรดดีที่ให้ทั้งสาระและบันเทิงได้ทาง HBOgo