Polaroid ผีภาพถ่าย (ในโหลดองเค็ม)
หนังสยองขวัญที่ว่าด้วยกล้องโพลารอยด์อาถรรพ์ วิญญาณร้ายตามออกมาหลอกหลอนเอาชีวิต ปลิดชีวิตด้วยความอาฆาต หนังในสไตล์ลึกลับ สยองขวัญที่ว่าด้วยวัตถุลึกลับที่มีพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นหนังที่ค่อนข้างถูกจริตกับคนชอบหนังในสไตล์นี้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจกว่าตัวหนังอยู่ที่ว่าหนังเรื่องนี้โดนดองเค็มไม่ได้เข้าฉายมาเกือบ 2 ปี! เป็นเพราะอะไรกัน ตามไปค้นหาคำตอบได้เลย
ในโหลดองเค็ม
แรกเริ่มเดิมทีหนังเรื่อง Polaroid นั้นถูกวางโปรแกรมเข้าฉายในอเมริกาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมปี 2017 แต่ค่ายหนังก็ตัดสินใจเลื่อนตารางวันเข้าฉายไปเป็น 1 ธันวาคมปี 2017 ก่อนที่จะเลื่อนฉายครั้งที่ 3 เป็นวันที่ 22 พฤศจิกายนปี 2017 แต่ท้ายที่สุดในปี 2017 ก็ยังไม่ใช่ปีของ Polaroid เมื่อค่ายหนังตัดสินใจจะโยกตารางฉายไปปี 2018
ความซวยมาเยือน เมื่อปี 2018 Lantern Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทลูกในเครือของบริษัท The Weinstein Company ถูกฟ้องร้องล้มละลาย (จากเหตุการณ์สุดฉาวของฮาวีย์ ไวน์สตีน) ส่งผลให้หนังเรื่อง Polaroid และหนังเรื่องอื่นๆอีก 12 เรื่องที่ทำสัญญาเอาไว้ถูกระงับการฉายในอเมริกาและต่างประเทศ (ในไทยคือค่าย M Pictures) จากปี 2018 การเจรจาในชั้นศาลยุติลงด้วยการที่ค่ายหนังอิสระต่างประเทศที่ซื้อสิทธิ์ในการฉายหนังมาแล้ว ได้มีโอกาสฉายหนังเรื่อง Polaroid (รวมถึงหนังเรื่องอื่นๆที่ซื้อมาก่อนเกิดเหตุการณ์ล้มละลาย) โดยประเทศแรกที่ได้ฉายหนังเรื่อง Polaroid คือประเทศเยอรมัน เข้าฉายไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2019
กล้องอาถรรพ์
ชานเมืองอันเงียบสงบ โรงเรียนไฮสคูล และบรรดาเด็กวัยรุ่นที่ดูไม่ค่อยจะมีกิจกรรมมากมายนัก เบิร์ด ฟิชเชอร์ (แคทรีน เพรสคอตต์) เด็กสาวผู้ชื่นชอบการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ เธอได้พบกับกล้องโพลารอยด์ในร้านขายของเก่า ด้วยความอยากทดลองถ่ายภาพ เธอจึงลั่นชัตเตอร์ใส่หนุ่มเจ้าของร้าน ก่อนที่เธอจะนำมันไปถ่ายในงานปาร์ตี้ของเพื่อนสนิท แต่ในค่ำคืนที่กล้องโพลารอยด์นี้ได้ถ่ายภาพออกมาจำนวน 3 ใบ เธอพบว่าคนในภาพถ่ายเริ่มทยอยตายอย่างประหลาด เมื่อฟิชเชอร์เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวเธอก็ค้นพบว่า ต้นเหตุอาจจะมาจากกล้องโพลารอยด์ตัวนี้มีพลังงานชั่วร้ายบางอย่าง และเธอต้องแก้ไขสถานการณ์ก่อนที่จะสายเกินไป
จากหนังสั้นสู่หนังยาว
ก่อนหน้าที่ Polaroid จะเป็นหนังขนาดยาว มันเคยเป็นหนังสั้นมาก่อน! ซึ่งเป็นผลงานของผู้กำกับชาวนอร์เวย์อย่างลาร์ส เคลฟเบิร์ก ออกฉายครั้งแรกในปี 2015 ซึ่งทันทีที่หนังสั้นเรื่องนี้ไปเข้าตาโปรดิวเซอร์อย่าง รอย ลี ผู้อยู่เบื้องหลังในการหยิบเอาหนังสยองขวัญจากต่างประเทศมาดัดแปลงอย่าง The Ring และ The Grudge รวมถึงผลงานล่าสุดอย่างการหยิบเอานิยายของสตีเฟ่น คิง อย่าง It มาดัดแปลงด้วย
เมื่อเขามองเห็นถึงศักยภาพของ Polaroid ในการทำเป็นหนังขนาดยาวได้ เพราะตัวรอย ลี เองรู้สึกขนลุกตั้งแต่ที่เขาเปิดมันดูในคอมพิวเตอร์โน้ตบุคครั้งแรก และเขาเชื่อว่าถ้าหากมันเป็นหนังขนาดยาวแล้ว หนังเรื่องนี้จะสามารถถ่ายทอดความสยองได้ทัดเทียมกับ The Ring และ The Grudge เลยทีเดียว
แต่แทนที่รอย ลี จะจ้างผู้กำกับมาทำหนัง เขาตัดสินใจเลือกลาร์ส เคลฟเบิร์ก เจ้าของหนังสั้นให้กลับมาสานต่อผลงานของตัวเอง เพราะรอยเชื่อว่าเขาเป็นคนมีพรสวรรค์ที่สามารถปะติดปะต่อเรื่องราว รวมถึงเก่งในการสร้างบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว สร้างความตึงเครียดให้กับระยะเวลาสั้นๆได้ และมันคงจะน่าสนใจมากถ้าหากผู้ชมจะได้เห็นสิ่งที่เขาทำ ในหนังที่มีความยาวมากกว่าเดิม
สามารถดูตัวอย่างหนังสั้นได้ที่นี่ Trailer for "POLAROID" - (2015)
ไม่ง่ายที่จะ “ยืด” หนังสั้นให้ยาวขึ้น
เมื่อหนังสั้นทุกเรื่องได้รับโอกาสในการทำให้กลายเป็นหนังขนาดยาวนั้น ต้องบอกเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่ผู้กำกับและมือเขียนบทต้องทำคือการขยายเนื้อเรื่องและตัวละคร รวมไปถึงต้องสร้าง “ตำนาน” ของกล้องโพลารอยด์ขึ้นมา ซึ่งในหนังสั้นของลาร์ส เคลฟเบิร์ก นั้นใช้วิธีการเดินเรื่องแบบเนิบช้า ค่อยๆสร้างบรรยากาศความลุ้นระทึก ความน่ากลัวของหนังจะยังไม่ชัดเจนจนกระทั่งทั้งนาทีสุดท้ายของเรื่อง ซึ่งองค์ประกอบดังกล่าว ผู้กำกับยังคงยืนยันว่าจะนำวิธีการนี้กลับมาใช้ในเวอร์ชั่นหนังยาวด้วย
กล้องโพลารอยด์ ตัวร้ายและตัวเอกของเรื่อง
เป็นปกติเช่นกันในหนังวัตถุต้องคำสาป ที่ทีมผู้สร้างจะต้องหยิบมันมาใช้บอกเล่าอานุภาพความร้ายกาจของมัน ซึ่งผู้ชมจะได้สัมผัสกันตั้งแต่เปิดเรื่อง (เข้าโรงสายระวังพลาด) เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจได้ทันทีว่ากล้องโพลารอยด์ตัวนี้มีความน่ากลัวและมีอันตราย เมื่อกล้องตัวนี้ถูกส่งต่อมาถึงมือของเบิร์ดและเพื่อนๆของเธอ จะทำให้ผู้ชมรู้สึกตามได้ทันทีว่ากลุ่มตัวละเอกของเรื่องกำลังตกอยู่ในอันตรายเรียบร้อยแล้ว
หนังสยองขวัญในแบบชาวนอร์เวย์
Polaroid มีคนที่ได้ชมหนังเรื่องนี้แล้วนำไปเปรียบเทียบกับหนังสยองขวัญเรื่องดังในอดีต ไม่ว่าจะเป็น Final Destination และ The Ring เขาก็ยอมรับว่าหนังสยองขวัญเหล่านี้มีอิทธิพลกับหนังเรื่อง Polaroid แต่ที่มากไปกว่านั้นคือตัว ลาร์ส เคลฟเบิร์ก อยากจะสะท้อนประเด็นทางสังคมที่ต้องการสะท้อนว่า คนในยุคปัจจุบันนั้นมีความลุ่มหลงในตัวเองในการเสพย์ติดภาพถ่าย การโพสต์ภาพลงในสื่อออนไลน์และหลงลืมที่จะใส่ใจคนรอบข้างไปนั่นเอง