รีวิว MIB: International อีกก้าวของผู้หญิงในหนังแอ็คชั่น

รีวิว MIB: International อีกก้าวของผู้หญิงในหนังแอ็คชั่น

รีวิว MIB: International อีกก้าวของผู้หญิงในหนังแอ็คชั่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หนังที่มีตัวละครเพศหญิงเป็นตัวเดินเรื่องนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เพราะการเติบโตขึ้นของแนวคิดเชิงสังคมวัฒนธรรมที่ว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางเพศ (Gender equality) ที่ทำให้ตัวละครหญิงมีบทบาทในภาพยนตร์มากขึ้น มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ได้เป็นแค่เพียงวัตถุทางเพศหรือเป็นแค่นางเอกเพื่อเติมเต็มให้หนังสมบูรณ์ขึ้นอย่างเดียว

 

การที่ MIB: International ใช้ตัวละครเอกของเรื่องเป็นมอลลี่หรือเอเจนท์เอ็ม (เทสซา ธอมป์สัน) เป็นตัวเดินเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นว่า ช่วงเวลาที่เธอยังเป็นเด็กนั้น เธอได้พบกับมนุษย์ต่างดาวร่างจิ๋วอย่างคาบลา นักชูลิน ประกอบกับการเห็นเหตุการณ์ที่ชายในชุดสูทดำปรากฏตัวขึ้นและใช้เครื่องนิวเรไลเซอร์เพื่อลบความทรงจำพ่อแม่เธอถึงการมีอยู่ขององค์กร MIB เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้มอลลี่ไม่ลดละที่จะค้นหาถึงการมีอยู่ขององค์กรชายชุดดำ และสั่งสมประสบการณ์ในการติดตามเรื่องการปรากฏตัวของมนุษย์ต่างดาวบนโลกมนุษย์

 

 

จนกระทั่งวันหนึ่งด้วยไหวพริบของมอลลี่ ทำให้เธอได้พบกับที่ตั้งของเหล่า MIB สำนักงานในนิวยอร์ก ที่นี่เองเธอจึงได้พบกับเอเจนท์โอ (เอ็มมา ธอมป์สัน) หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ที่เล็งเห็นถึงความสามารถของมอลลี่ การพบกันขอตัวละครหญิงสองคนนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของเรื่อง แม้ว่าจะเป็นจังหวะเวลาสั้นๆก็ตาม มันได้แสดงให้เราเห็นว่า ตำแหน่งใหญ่ๆ ในงานที่ยุคสมัยก่อนเป็นของผู้ชายแต่เพียงเพศเดียว ในยุคปัจจุบัน “ผู้หญิง” ก็มีความสามารถไม่แพ้กัน แต่แม้ว่าจะมีตำแหน่งแล้ว หนังก็ยังจิกกัดว่า “Men in Black” จึงดูเป็นชื่อที่ล้าหลังและยังให้ความสำคัญกับ “ผู้ชาย” อยู่ดี ตัวละครเอเจนท์โอจึงบอกมอลลี่ว่า “ฉันพยายามต่อสู้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา”  ก็สะท้อนถึงการต่อสู้ในเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศที่ชัดเจน

 

 

ไม่เพียงเท่านั้นตัวละครเอกเพศชายในหนังเรื่องนี้อย่างเอเจนท์เอช (คริส เฮมส์เวิร์ธ) กลับถูกลดทอนความเคร่งขรึม จริงจังตามประสาตัวเอกชาย ให้กลายเป็นตัวละครเชิงวัตถุทางเพศ (หลับนอนกับเอเลี่ยนหญิงตัวร้ายเพื่อเอาชีวิตรอด  - หว่านเสน่ห์อย่างเดียว – หรือในยามคับขันเขาแทบเอาตัวไม่รอดต้องรอความช่วยเหลือจากตัวละครอย่างเอเจนท์เอ็มหลายครั้ง) เรียกได้ว่า นี่คือการสลับขั้วสถานะตัวละครตามวิถีของหนังแอ็คชั่นเลยก็ว่าได้

 

 

เมื่อมองถึงความสัมพันธ์ในแง่ชายหญิง เอเจนท์เอ็มและเอเจนท์เอชก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาว หากแต่เป็นความสัมพันธ์เชิงเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเหลือกันตามหน้าที่การงาน MIB: International จึงเป็นหนังที่ออกแบบตัวละครมาได้น่าสนใจเชิงประเด็นทางวัฒนธรรม แต่ในแง่ของการเล่าเรื่องในวิถีหนังแอ็คชั่นไซไฟ หนังค่อนข้างบกพร่องในแง่ของความลื่นไหลและน่าเชื่อถือของเหตุการณ์ที่ดูทุกอย่างจะคลี่คลายง่ายดายไปเสียหมด และไคลแม็กซ์ของหนังเรื่องนี้ก็จบแบบเหมือนโดนตัดงบในการสร้างชอบกล   

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook