[รีวิว] รัก 2 ปียินดีคืนเงิน-คิดปมได้เจ๋ง แต่เล่าธรรมดาไปหน่อย
เดิมทีบทหนังเขียนโดย คิม มินยอง กับ ชเว จินวอน นักเขียนบทชาวเกาหลี ซึ่งทางโปรดิวเซอร์อย่าง โยนู ชเว ก็เลือกมาพัฒนาบทกับทางซีเจ เมเจอร์และเวิร์คพอยต์ โดยให้ทาง วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้กำกับยอดมนุษย์เงินเดือนและรายการดังของเวิร์คพอยต์มากำกับ ซึ่งจุดเด่นที่สุดของไอเดียเรื่องคงหนีไม่พ้นทัศนคติแบบแอนตี้โรแมนติกของตัวละคร แทน ที่คำนวนทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ความรัก ซึ่งหากทำได้ถึงเชื่อว่านี่น่าจะเป็นหนังโรแมนติกพลอตก้าวหน้าสไตล์เกาหลีเทียบเคียง My Sassy Girl (2001) ได้เลย แต่น่าเสียดายว่าพอเดินทางมาเป็นหนังไทย ตัวหนังกลับกลายร่างเป็นเพียงหนังโรแมนติกเล่าเรื่องธรรมดาผสมกราฟิกให้พอตื่นตาสไตล์หนังอย่าง Stranger Than Fiction (2006) เท่านั้นเอง โดยหนังดันไม่ลงลึกหรือเล่นกับรายละเอียดประกันมากพอว่ารูปแบบการชำระเบี้ยหรือผลประโยชน์ที่บริษัทจะให้เป็นแบบไหนถ้าเลิกกันก่อน2ปี รู้แค่ว่ารักให้ถึง 2 ปีประกันจะคืนผลตอบแทนให้ 30% และพอรายละเอียดไม่มากพอความน่าเชื่อถือก็ลดลง ทีนี้การนำมาเชื่อมโยงกับปมปัญหาที่ว่าความรักคนเรามีอายุแค่ 2 ปีจริงเหรอ? เลยไม่ทำงานกับคนดูอย่างที่มันควรจะเป็นนัก
โดยบาดแผลสำคัญคงหนีไม่พ้นการที่หนังดันไปเน้นที่ มิชชั่นในการตามเคสประกันมากกว่าจะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างแทนกับจี๊ดที่กว่าหนังจะคิดได้ก็ปาไปครึ่งเรื่องแล้ว แถมเคสแต่ละเคสก็ยังเป็นเคสเดาง่ายๆ แม้จะพลิกบ้างเช่น แม่สามีกับลูกสะใภ้เน็ตไอดอล คุณหมอเจ้าของร้านกาแฟกับกัปตันที่ฝ่ายหญิงดันมีอดีตกับแทน (แต่ดูแถให้เกี่ยวข้องกันมากเลย) หรือจะเป็นเจ๊เจ้าของร้านเครื่องสำอางกับเทรนเนอร์ฟิตเนส เพื่อพิสูจน์ว่า ทัศนคติของสังคม, อดีตของคนรัก หรือแม้แต่วัย จะชนะอุปสรรคของความรักได้หรือไม่ แน่นอนละว่าหนังโลกสวยพอจะให้ทุกเรื่องราวจบลงอย่างแฮปปีเอนดิงอยู่แล้วแต่กลับไม่ได้ทำให้คนดูเชื่อหมดใจเหมือนหนังโรแมนติกดีๆสักเรื่อง ซ้ำร้ายเรายังรู้สึกว่าบทหนังมักง่ายที่ไม่ได้เจาะลึกหรือให้มิติกับปัญหาความรักในปัจจุบันนักทั้งที่คอนเซปต์ของเรื่องสามารถเดินไปสู่การวิพากษ์ปมปัญหาความรักในยุคดิจิทัลที่ยังคงมีเรื่องความเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนในครึ่งหลังที่หนังเริ่มมาเล่าความสัมพันธ์ของ แทน กับ จี๊ด ก็ดันมาแบบงงๆ โดยสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างประทับใจกัน คนดูได้แต่สงสัยว่า เฮ้ย! แกมองกันไม่ออกตั้งแต่แรกเหรอ แถมการวางปมอุปสรรคช่วงท้ายยังเหมือนดูยัดเยียดให้หนังหักมุมสไตล์หนังเกาหลีที่ต้องการให้คนดูสัมผัสรสเศร้าก่อนจะปลอบประโลมภายหลัง แต่ขอโทษเถอะ ด้วยความที่หนังเล่าด้วยจังหวะที่ไม่คงเส้นคงวาทั้งเรื่อง แถมผู้กำกับยังไม่แม่นยำในแนวหนังที่ตัวเองกำลังทำ เลยยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่หนังวางไว้นัก แถมช่วงท้ายที่พยายามเอาคอนเทนต์ RAP IS NOW หรือ แรปอิสนาว ของเวิร์คพอยต์เองมาเป็นจุดพลิกผันของเรื่องยังทำให้เห็นความไม่พร้อมของนักแสดงในการเพิ่มทักษะที่หวังให้เป็นเสน่ห์ตัวละครจนพระเอกดูเอ๋อไปเลย
พูดถึงนักแสดง ปั้นจั่น ปรมะ ไม่ได้แสดงแย่อะไร แต่เหมือนบทไม่ค่อยส่งเขาแต่แรก ดันให้มาโชว์เท่ตอนท้ายองก์ 2 ซึ่งถือว่าช้าเกินไป แถมบุคลิกร้ายๆของเขาในตอนแรกยังไม่ค่อยมีเสน่ห์เท่าที่ควร ส่วน เอสเธอร์ ต้องบอกว่ารูปทรัพย์ช่วยเธอไว้ได้เยอะ เมื่อบทดันไม่ค่อยให้โอกาสเธอได้เล่นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแต่แรก แต่ครึ่งหลังนี่หลายซีนทำเอาหนุ่มๆละลายได้เหมือนกัน ตรงข้ามกับนักแสดงสมทบอย่าง อุล ภาคภูมิ จงมั่นวัฒนา ที่เวิร์คพอยต์ปั้นมาอย่างดี และเขาก็ขโมยซีนชาวบ้านซะเยอะ แถมให้มุกฮาๆกับเรื่องเยอะเลย นอกนั้นการปรากฎตัวของ เป้กกี้ ศรีธัญญา หรือ แรปเอก ก็ทำให้หนังมีสีสันไม่แห้งแล้งเกินไปได้ดี แต่ยังเทียบไม่ได้กับ ป้าแจง วราพรรณ หงุ่ยตระกูล อดีตนักแสดงสังกัดแดสเอนเตอร์เทนเมนต์ที่มาในมาดคุณหญิงแม่ไม่ปลื้มลูกสะใภ้เน็ตไอดอลได้มีสีสันและให้การแสดงสุดคมคาย