9 ปีที่คิดถึง การกลับมาของ Toy Story 4

9 ปีที่คิดถึง การกลับมาของ Toy Story 4

9 ปีที่คิดถึง การกลับมาของ Toy Story 4
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงแม้ว่า Toy Story 3 อาจจะดูเป็นหนัง “ปิดไตภาค” ของบรรดาเหล่าของเล่นแสนรู้ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย แต่เมื่อสตูดิโอพิกซาร์ตัดสินใจที่จะสานต่อเรื่องราวบทใหม่ของวู้ดดี้และผองเพื่อนอีกครั้ง Toy Story 4 จึงกลับมาพร้อมเรื่องราวใหม่และประเด็นใหม่ที่น่าสนใจไม่แพ้ 3 ภาคก่อนหน้านี้

 

 

วู้ดดี้และเจ้าของใหม่

 

ผู้ชมอาจจะเข้าใจว่าเรื่องราวของเหล่าของเล่นแสนรู้ได้ปิดฉากลงเมื่อแอนดี้พาวู้ดดี้และผองเพื่อนส่งต่อไปยังบอนนี่ เด็กสาวคนใหม่ จริงอยู่ที่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแอนดี้กับเหล่าของเล่นได้จบลง แต่จริงๆแล้วการปิดประตูบานหนึ่ง จะนำเราไปสู่จุดเริ่มต้นบทใหม่เสมอ เมื่อวู้ดดี้ได้อยู่ในห้องใหม่ ของเล่นใหม่ๆ และเด็กคนใหม่ Toy Story 4 ก็มาพร้อมเรื่องราวครั้งใหม่ที่พร้อมจะพาคนดูไปสำรวจ

 

สิ่งหนึ่งที่วู้ดดี้ถนัดที่สุดในการเป็นของเล่น คือเขาให้ความสำคัญกับการดูแลเจ้าของของตัวเอง ความจงรักภัคดีของวู้ดดี้มีให้บอนนี่อย่างเต็มเปี่ยม แต่เมื่อบอนนี้กำลังจะต้องไปเรียนในโรงเรียนอนุบาลทำให้วู้ดดี้เกิดความหวาดหวั่นใจในการเปลี่ยนแปลง

 

 

ย้อนกลับไปสำรวจ Toy Story ภาคแรก

ถ้าเราหลงลืมกันไปแล้วว่าเรื่องราวใน Toy Story ภาคแรกนั้นเป็นการสำรวจความสัมพันธ์ของวู้ดดี้และบัซไลท์เยียร์ เมื่อวู้ดดี้ต้องรับมือกับความอิจฉาริษยาของตัวเองที่มีต่อบัซไลท์เยียร์ ซึ่งการสร้างตัวละครเอกในแอนิเมชั่นเรื่องนี้ยึดหลักมาจากความเป็นจริงที่คนเราต้องรับมือกับความสำเร็จและความผิดหวัง วิธีการจัดการกับความรู้สึกและความไม่มั่นใจ ซึ่งคนดูจะสามารถมองเห็นตัวเองได้จากตัวละครเหล่านี้

 

Toy Story กลายเป็นแอนิเมชั่นที่ทำเงินสูงสุดในปี 1995 รวมถึงได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสามรางวัลออสการ์ (สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสำหรับบทภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นเพื่อสร้างเป็นภาพยนตร์โดยตรง, สาขาเพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยมและดนตรีประกอบยอดเยี่ยมสำหรับมิวสิคัลหรือคอเมดี้) และสองรางวัลลูกโลกทองคำ (สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม-คอเมดีหรือมิวสิคัลและเพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยมสำหรับภาพยนตร์)

 

 

เรื่องราวในภาคต่อที่ตามมา

 

เหตุการณ์ใน Toy Story 2 พูดถึงนักสะสมที่คลั่งไคล้ของเล่นเก่า ซึ่งได้ลักพาตัววู้ดดี้ หนึ่งในของเล่นล้ำค่าจากซีรีส์ยุค 50s เรื่อง “Woody’s Roundup” เขาได้พบกับของเล่นตัวอื่นๆ จากซีรีส์เดียวกัน ทั้งเจสซี่ สาวคาวเกิร์ล, ม้าบุลส์อายและสติงกี้ พีท ซึ่งพวกเขาต้องเอาตัวรอดและกลับไปหาเจ้าของอย่างแอนดี้ ก่อนที่จะถูกส่งไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น

 

Toy Story 2 เล่าเรื่องราวต่อจากตอนจบของภาคแรก ซึ่งทิ้งระยะเวลาเกือบ 5 ปี ส่งผลให้หนังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีการทำแอนิเมชั่นที่ช่วยทำให้งานสร้างมีความสมจริงมากขึ้นทั้งเรื่องแสงและเทคนิคมุมกล้อง ทำให้หนังภาคนี้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็น แอนิเมชั่นเรื่องแรกที่นำเสนอด้วยขั้นตอนการสร้างแบบดิจิตอลทั้งหมด พ่วงด้วยสถิติหลังการเข้าฉายด้วยการเป็น ภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดประจำปี 1999 (สามารถทำรายได้มากกว่าภาคแรก) คว้ารางวัลลูกโลกทองคำในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม-คอเมดีหรือมิวสิคัล รวมถึงรางวัลแกรมมี่ อวอร์ส สาขาเพลงยอดเยี่ยมที่แต่งขึ้นเพื่อภาพยนตร์ โทรทัศน์และสื่อวิชวลอื่นๆ (แรนดี้ นิวแมน เพลง “When She Loved Me”)

 

 

ทิ้งห่างอีกกว่า 10 ปี Toy Story 3 ก็กลับมาคืนจออีกครั้ง โดยเรื่องราวครั้งนี้ เล่าถึงช่วงเวลาที่แอนดี้เตรียมตัวที่จะไปเรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย บรรดาของเล่นจึงถูกบริจาคให้กับสถานรับดูแลเด็ก พวกเขาจึงต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและต้องพยายามหลบหนีออกมาให้ได้ ประเด็นในหนังภาคนี้จึงพูดถึงการเผชิญหน้าและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เหล่าของเล่นต้องยอมรับความจริงที่ว่าแอนดี้กำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เลิกเล่นของเล่น แต่ท่ามกลางประเด็นซีเรียสจริงจัง ทีมผู้สร้างก็ต้องสร้างความสมดุลให้เรื่องราวด้วยการเล่าออกมาผ่านอารมณ์ขัน

 

Toy Story 3 เข้าฉายในปี 2010 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ตัวหนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 5 สาขา รวมถึงสาขา “ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม” แต่ท้ายที่สุดหนังสามารถคว้ารางวัลกลับมาได้สองรางวัลคือ สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมและเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แรนดี้ นิวแมน เพลง “We Belong Together”) นอกจากนี้ Toy Story 3 กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสองของสตูดิโอพิกซาร์ ตามหลัง Incredibles 2 รวมถึงเป็นภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสี่

 

 

Toy Story 4 กลับมาพร้อมกับเรื่องราวใหม่

แม้ Toy Story จะเป็นเรื่องราวของเหล่าของเล่น แต่จริงๆแล้วพวกเขาได้สะท้อนชีวิตของคนดูต่างหาก เมื่อหนังภาคนี้พาคนดูไปสำรวจความภัคดีที่วู้ดดี้มีต่อแอนดี้และบอนนี่ ในหนังภาคนี้ยังปรากฏฉากที่วู้ดดี้ต้องอยู่เคียงข้างเพื่อช่วยเหลือเธอ แม้ว่าวู้ดดี้จะได้เจอเพื่อนใหม่อย่างเฟอร์กี้ ของเล่นงานฝีมือของบอนนี่ที่มองตัวเองว่าเป็น “ขยะ” ไม่ใช่ของเล่น วู้ดดี้จึงต้องแสดงให้เฟอร์กี้ได้มองเห็นว่าทำไมเขาจึงควรจะยอมรับว่าตัวเองเป็นของเล่น

 

 

ตัวละครเฟอร์กี้จึงมีลักษณะคล้ายกับเด็กแรกเกิดที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับชีวิต ไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าการมีชีวิตนั้นหมายถึงอะไร หรือกระทั่งการเป็นของเล่นนั้นหมายถึงอะไร วู้ดดี้จึงต้องย้ำเตือนและทำให้เขาเข้าใจความหมายของการมีชีวิตและเข้าใจความหมายของการเป็นที่ต้องการด้วยนั่นเอง

 

ที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของ Toy Story 4 เท่านั้น ร่วมค้นหาประเด็นที่น่าสนใจและความหมายของ “การเป็นของเล่น” ร่วมไปกับพวกเขาได้วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายนนี้ ในโรงภาพยนตร์

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook