[รีวิว] Spider-Man Far From Home – บทพิสูจน์ของปีเตอร์ พาร์คเกอร์
หลังสร้างปรากฎการณ์สุดไฮป์ให้เหล่าสาวกซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลกันไปแล้วจาก Avengers : Endgame ความคาดหวังกับ Spider-Man Far From Home ก็ย่อมสูงตามไปด้วย เนื่องจากมันถูกวางให้กลายเป็นหนังปิดเฟส 3 เพื่อปูทางไปสู่เฟส 4 หลายคำถามก็ถาโถมกับการมาของหนังเรื่องนี้ ทั้งสไปเดอร์แมนจะเป็นผู้นำอเวนเจอร์สคนต่อไปหรือไม่ หรือหลังเหตุการณ์ดีดนิ้วของธานอสจะกลายเป็นการมิติเวลาให้มาร์เวลได้นำซูเปอร์ฮีโร่ตัวอื่นๆ ที่เคยไปอยู่กับฟอกซ์มาร่วมใน MCU หรือไม่ ซึ่งก็เหมือนผู้สร้างอย่าง เควิน ไฟกี จะเข้าใจแฟนๆ ดีดังนั้นมันจึงนำมาสู่การคิดพลอตสำหรับปิดเฟส 3 นี้เพื่อให้ทุกคนตั้งตารอเฟสต่อไป ซึ่งในทางหนึ่งความเสี่ยงสำคัญคือหากมันไม่ได้ทำให้แฟนๆพอใจนัก มันก็จะลงเอยเป็นรอยด่างพร้อยสำหรับหนังปิดเฟส 3 เรื่องนี้
สิ่งที่เราพอจะบอกได้แบบไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญคือบทหนังมีลูกเล่นที่ดีประมาณหนึ่ง มันพยายามสานต่อและตั้งคำถามหลังการจากไปของโทนี สตาร์ค ใน Avengers : Endgame ว่าถ้าโลกไร้ผู้นำอย่างไอรอนแมนหรือการเปลี่ยนตัวกัปตันอเมริกาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่ยังพยายามเล่าเรื่องไม่ให้เกินขอบเขตของการเป็นหนัง Spider-Man ซึ่งมันเลยไปเน้นความขัดแย้งภายในของตัวละครปีเตอร์ พาร์คเกอร์ที่เขารู้สึกว่าในขณะที่ตนอายุแค่ 16 ปีทำไมต้องมาแบกรับภารกิจกู้โลก รวมถึงต่อให้ตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่เขาก็ไม่มั่นใจอยู่ดีว่าเอ็มเจจะชอบเขาหรือชอบสไปเดอร์แมนกันแน่ ดังนั้นมันจึงเล่นกับภาวะความไม่แน่ใจนี้ไปทั้งเรื่อง บวกกับการสร้างตัวละครอย่าง มิสทีริโอ ชายลึกลับผู้มาจากเอิร์ธ 833 (โลกของเหล่าอเวนเจอร์คือเอิร์ธ 616) ผู้มาพร้อมพลังมหาศาลมาต่อกรกับเหล่าอสูรกายจตุรธาตุ ยิ่งเห็นว่าคนมาใหม่เก่งแค่ไหนหลุมดำในใจของปีเตอร์ก็ยิ่งถ่างออกมากเท่านั้น และภาวะความลักลั่นยังไม่จบเพียงเท่านั้น หลังนิค ฟิวรี ยื่นแว่นอีดิธ (EDITH) ของโทนี่ สตาร์คให้ (โทนี่ตั้งชื่อแว่นจากประโยค Even [I’m] Dead I’m The superHero) ก็ยิ่งทำให้เขาเกิดคำถามว่าตัวเองคู่ควรกับความไว้วางใจของโทนี่หรือไม่ ดังนั้นภารกิจหลักในหนังมันจึงเหมือนแบบทดสอบสุดหินให้ ปีเตอร์ ต้องเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดในทุกข้อ แต่อย่าลืมนะครับว่าเขาเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งดังนั้นความสนุกจึงมาจากการที่ปีเตอร์เลือกข้อที่ผิด แล้วค่อยตามแก้ไขนี่แหละ ซึ่งถือเป็นการสะท้อนให้เห็นปัญหาของเด็กยุคมิลเลนเนียลได้อย่างเห็นภาพเลยว่าในขณะที่พวกเขาต้องการเป็นตัวเองก็กลับต้องมาแบกรับความคาดหวังของผู้ใหญ่จนหลายครั้งก็เลือกที่จะดื้อและเดินไปในทางที่ผิดบ้าง
ว่ากันถึงจุดที่ผมคิดว่ายิ่งเขียนยิ่งเสี่ยงสปอยล์มากๆ คือตัวผู้ร้าย เพราะถือว่าเป็นทั้งจุดที่ดีและจุดบอดของบทหนังอยู่เหมือนกัน โดยสิ่งที่เราพอจะบอกได้เกี่ยวกับผู้ร้ายหรือวิลเลียน (Villian) องค์ประกอบสำคัญสำหรับหนังซูเปอร์ฮีโร่ในภาคนี้ คือมันพยายามหักเหทิศทางการเล่าเรื่องให้ต่างจากฉบับคอมิค และปัญหาสำคัญคือสำหรับคนอ่านคอมิกคือการ “รู้ก่อน” หนังฉายแล้วว่าชื่อตัวละครตัวนี้คือใคร มีที่มาอย่างไร และแม้ทางผู้สร้างจะพยายามหักเหให้มันต่างจากฉบับเดิมเพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ ยังไงมันก็กลับมาลงล็อกให้คล้ายคอมิกเหมือนเดิมอยู่ดีและที่สำคัญการเปลี่ยนรายละเอียดแบบพลิกฝ่ามือก็เคยสร้างความขุ่นเคืองใจให้แฟนคอมิกมาแล้วจากหนึ่งในหนังจักรวาล MCU แต่ก็ต้องยอมรับว่าการ ‘ดัดแปลง’ ครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการให้มันกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหนังสำหรับปิดเฟส3 และที่สำคัญมันยังสะท้อนถึงภัยร้ายที่มากับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีทีเดียว แม้ว่าจะแลกมาด้วยความสมเหตุสมผลของเรื่องแบบเลี้ยวหักศอกไปบ้างก็ตาม
อย่างไรก็ตามจุดแข็งสำคัญสำหรับหนัง Spider-Man รอบนี้คงเป็นการวางโทนคอเมดีจากผู้กำกับอย่าง จอน วัตส์ ที่แข็งแรงมากๆตั้งแต่ Spider-Man Homecoming (2017) ทั้งมุกที่ให้ตัวละครรอบตัวปีเตอร์ที่โรงเรียนอย่าง เนด ที่ได้ จาคอบ บาตาลอน มาปล่อยมุกฉบับเพื่อนตุ้ยนุ้ยสุดเนิร์ดที่คราวนี้ยิ่งได้โอกาสขโมยซีนหนักข้อเมื่อบทหนังให้เขาได้มีบทกุ๊กกิ๊กโรแมนติกกับ เบตตี ที่ยังได้ แองเกอเรีย ไรซ์ มารับบทลูกคุณหนูสุดแอ๊บ แถมเคมีเข้ากันแบบเจอหน้าทั้งคู่ทีไรเตรียมฮาได้เลย แถมในทริปยุโรปครั้งนี้ยังได้ตัวละครรุ่นครูอย่าง มิสเตอร์เบล รับบทโดย เจบี สมูฟ และมิสเตอร์แฮริงตัน รับบทโดย มาร์ติน สตารร์ มาคอยขโมยซีนด้วยบทครูที่ไม่อาจฝากผีฝากไข้อะไรได้เลยเรียกเสียงฮาไปหลายก๊ากอยู่ เสริมทัพด้วยซับพลอตแอบโรแมนติกระหว่างป้าเมย์คนสวย รับบทโดย มาริสา โทเมอิ กับ แฮปปี โฮแกน รับบทโดย จอน ฟาฟโร ที่ปีเตอร์แอบตะหงิดๆในความสัมพันธ์ทั้งคู่อยู่ นอกจากนี้หนังยังเต็มไปด้วยมุกตลกที่มาทั้งการใช้เพลง I will always love you ในฉากเปิดเรื่องแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยก่อนหนังจะเฉลยและสร้างความฮาเปิดม่านแบบคนดูไม่ทันตั้งตัว เรียกง่ายๆว่าใครหวังมาคลายเครียดก็จะได้ความฮาเป็นของแถมควบคู่ไปกับฉากแอ็คชั่นแน่นอน
มาถึงนักแสดงนำอย่าง ทอม ฮอลแลนด์ ในภาคนี้เขาต้องแบกรับบทดราม่า ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีเลยเพราะเขาสามารถถ่ายทอดความเป็นปีเตอร์ พาร์คเกอร์ ที่คราวนี้ต้องแบกความคาดหวังจากโทนี สตาร์ค ที่เสมือนพ่อบุญธรรม แถมยังต้องตั้งคำถามกับบทบาทและที่ยืนของตัวเองทั้งในโลกซูเปอร์ฮีโร่และการเป็นเด็กไฮสคูลได้อย่างยอดเยี่ยม และที่สาวๆ น่าจะเคลิ้มที่สุดก็เห็นจะเป็นอารมณ์โรแมนติกแอบเนิร์ดระหว่างเขากับ เอ็ม เจ ที่รับบทโดยสาวสวยหน้าเก๋ เซนดายา ที่เราต้องลุ้นตั้งแต่เปิดเรื่องยันฉากจบว่าทั้งคู่จะได้ลงเอยกันมั้ย จนหนังภาคนี้น่าจะถือได้ว่าเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลที่มีกลิ่นอายของหนังวัยรุ่นตลกโรแมนติกยุค 90 ที่สุดแล้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นการขยายฐานสู่แฟนหนังสายหวานได้ดีเลยทีเดียว
โดยภาพรวมถือว่า Spider-Man Far From Home ยังคงรักษามาตรฐานหนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวลไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในแง่ของความบันเทิงควบคู่กับมาตรฐานโปรดักชัน โดยนอกจาก บทภาพยนตร์ งานกำกับและการแสดงแล้ว อีกจุดไฮไลต์คงหนีไม่พ้นงานประพันธ์สกอร์ของ ไมเคิล กีแอคชีโน ที่ยังคงจับบรรยากาศของสถานที่ต่างๆในยุโรปใส่มาให้เราฟังแบบแทบจะเหมือนเดินเที่ยวกับตัวละครได้เลย ควบคู่ไปกับงานกำกับภาพของ แมตธิว เจ ลอยด์ ที่เลือกใช้กล้องเรือธงล่าสุดของ RED อย่าง RED RANGER 8K VV ที่ให้ภาพคมชัด จับคอนทราสต์ได้กริบมาก ยิ่งผนวกกับการถ่ายซีนสำคัญตามสถานที่ต่างๆในยุโรปยิ่งน่าหลงไหล โดยเฉพาะซีนกลางคืนที่ต้องบอกว่าหนังถ่ายได้สวยมากครับ เอาล่ะรีวิวมาขนาดนี้ เลี่ยงสปอยล์ขนาดนี้ คงไม่พลาดกันแล้วล่ะเนอะ
ปล. มีฉากหลังเอนด์เครดิต 2 ฉากนะครับ มีความสำคัญกับเรื่องราวในเฟสต่อไปแน่นอน