รีวิว Step Up: Year of Dance ภาคต่อที่เอามาแต่ชื่อ ส่วนคุณภาพหล่นหาย
Step Up: Year of Dance หรืออีกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Step Up China คือหนังลำดับที่ 6 ในแฟรนชายส์นี้ คงต้องบอกว่า เหมือนเป็นการ “ซื้อชื่อแฟรนชายส์แล้วเอามาขายใหม่” ซึ่งเอาจริงๆ ตัวหนังภาคนี้ไม่ต้องพะยี่ห่อ Step Up ก็ได้ เพราะตัวละครในเรื่องไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับบรรดาตัวละครจาก 5 ภาคแรกสักนิดเลย
ย้อนกลับไปตรวจตราแฟรนชายส์ Step Up ในปี 2006 อันเป็นผลงานการกำกับของแอนน์ แฟลชเชอร์ ที่จับหนุ่มแชนนิ่ง เททั่มมาประกบคู่กับสาวเจน่า เดวาน แต่เนื่องจากเคมีของทั้งสองลงตัวกันอย่างหาตัวจับยาก แถมหนังยังนำเสนอการเต้นแบบสตรีทผสมผสานกับการเต้นแบบแจ๊ซเข้ากันอย่างลงตัว แม้นักวิจารณ์จะไม่ปลื้มกับพล็อตเห่ยๆเชยๆ แต่สำหรับคนดู นี่คือหนังที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลกที่อยากผันตัวเองให้กลายเป็นนักเต้น (ผู้เขียนคือหนึ่งในนั้น)
แน่นอนว่าหนังประสบความสำเร็จมากจนมีภาคต่อตามมาอีกหลายภาค แต่คุณภาพของ Step Up ก็ลดลงตามจำนวนภาคเช่นกัน แม้ว่าหนังจะพยายามนำเสนอฉากเต้นให้ฉูดฉาด อลังการและระดมนักเต้นมากฝีมือมาขึ้นจอมากแค่ไหน แต่เมื่อเรากลับไปใช้กรอบแว่นตาของนักดูหนัง เราก็ต้องบอกตัวเองเช่นกันว่า การจะเป็นภาพยนตร์ที่ดีสักเรื่องนั้นต้องอาศัยหลายองค์ประกอบในการทำให้ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมไปกับหนัง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ถ้าเราจะดูแต่ฉากเต้นเจ๋งๆ เราก็คงไม่จำเป็นจะต้องมาดูหนังในชื่อ Step Up แต่ไป Search คลิปเต้นใน Youtube ที่ปัจจุบันมีมากมายจนเราดูกันแทบไม่ไหวเลยทีเดียว
ปัญหาในการเล่าเรื่องฉายชัดที่สุดในหนัง Step Up: Year of Dance อันเป็นผลงานการกำกับของ รอน หยวน นักแสดง สตันท์แมน โปรดิวเซอร์ ที่เพิ่งจะผันตัวมากำกับหนังยาวเป็นเรื่องที่ 2 ต่อจาก Unspoken: Diary of an Assassin (2017) เห็นได้ชัดเลยว่า ความสามารถในการเล่าเรื่องของเขายังสอบไม่ผ่าน เรื่องการสร้างความบันเทิงให้กับคนดู กระทั่งคุมงานในภาพรวมตั้งแต่ บทภาพยนตร์ ที่ออกแบบตัวละครมาได้เบาหวิว บทภาพยนตร์ที่ละครน้ำเน่าบ้านเรายังสนุกกว่า รวมไปถึงวิธีการกำกับจุดขายของแฟรนชายส์ Step Up นั่นก็คือฉากเต้นทั้งหลาย ที่ทำออกมาได้ไม่สนุก ไม่น่าตื่นเต้น แถมเหมือนตัวผู้กำกับเหมือนเป็นคนฟังเพลงไม่เป็น เพราะเหมือนตัวผู้กำกับไม่ไปบรีฟทีมตัดต่อหนังกับคนทำดนตรีประกอบ ให้ตัดเพลงให้ “ตรง” กับจังหวะการเต้นของนักแสดงในเรื่อง เราจึงยิ่งงงกันไปใหญ่ว่า คนที่เต้นไม่ลงจังหวะแบบตัวละครในเรื่อง จะเป็นคนที่ได้รับความนิยมในโลกออนไลน์ได้อย่างไรกัน
ความเละเทะของ Step Up: Year of Dance ชี้ชัดให้เราเห็นว่า แฟรนชายส์นี้ควรยุติลงเสียที และควรเหลือเอาไว้เป็นความทรงจำดีๆให้กับนักเต้นและนักดูหนังเก็บความประทับใจเอาไว้หยุดแค่ 4 ภาคแรกก็พอ (ส่วน Step Up All In (2014) ก็คุณภาพดีกว่าหนังภาคนี้นิดเดียว)