3 เหตุผลที่ Spider-Man: Far from Home ยัง "ห่างไกล" ความเป็นหนังสไปดี้ที่ดี
นี่อาจเป็นอีกภาคของสไปเดอร์แมนที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดภาคหนึ่ง ทั้งด้านคำวิจารณ์ และแน่นอนน่าจะด้านรายได้ด้วย ทว่ามันก็ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ และจะพูดจากใจคนที่รักหนังสไปเดอร์แมน หนังภาคนี้ยัง ห่างไกล คำว่าหนังสไปเดอร์แมนที่ดีมาก โดยจะขอยกเหตผลมาประกอบ 3 ข้อ ดังนี้
ภายใต้มือมาร์เวล หนังสไปดี้เป็นเพียงฟันเฟืองสำคัญรับใช้ MCU มากกว่าเป็นหนังยืนหนึ่งที่มั่นคง
น่าจะเป็นส่วนที่เป็นทั้งข้อดีและข้อด้อย เป็นดาบสองคมมาก ๆ ของดีลระหว่างโซนี่และมาร์เวล ในขณะที่ตอนนั้นหนังรีบู้ทที่โซนี่ปั้นมาอย่าง The Amazing Spider-Man ฉบับของ ผกก. มาร์ค เว็บบ์ และนักแสดงนำ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ไม่ประสบความสำเร็จนัก ซึ่งเมื่อดูด้านรายได้ภาคแรกทำเงินไป 758 ล้านจากทุนสร้าง 230 ล้าน ส่วนภาค 2 ทำเงินไป 700 ล้านจากทุนสร้าง 200 ล้าน ก็ไม่ได้เรียกว่าน่าเกลียดอะไรนัก แต่เมื่อเทียบกับหนังไตรภาคก่อนของ แซม ไรมี่ ที่มีโทบี้ แม็คไกวร์ สวมชุดฮีโร่ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบกับมาตรฐานเดิมที่ทำเงินได้ในระดับ 800 ล้านจากทุนสร้างราว ๆ 150 กว่าล้านโดยเฉลี่ย และเมื่อประเมินมูลค่าการตลาดของแคแรกเตอร์ระดับโลกที่ควรไปได้สวยกว่านั้นในแง่รายได้ จึงทำให้หนังฉบับมาร์ค เว็บบ์ที่ก็ไม่ได้ขี้ริ้วอะไรขนาดนั้น มีอันต้องตัดจบยกเลิกกลางครันทั้งที่ปูเป็นไตรภาคมาได้แล้วถึง 2 ภาคด้วยกัน
ซึ่งพูดกันตามหลักคิดทั่วไป ถ้าโซนี่จะทำอีกสักภาคให้ มาร์ค เว็บบ์ ได้เล่าโครงเรื่องใหม่นี้ให้จบบริบูรณ์ โดยอาจลดต้นทุนงานสร้างลงมาเหลือราว ๆ 150-160 ล้าน เพื่อรักษาน้ำใจแฟน ๆ หนังฉบับใหม่ที่ดูกันมาถึง 2 ภาคแล้ว และเพื่อได้ขายบ็อกเซ็ตไตรภาคไปก็ดูจะสมเหตุสมผลกว่า แต่ตรงนี้คงต้องยอมรับว่าจุดเปลี่ยนคงเป็นการเจรจาและแผนงานที่มาร์เวลมีต่อสไปเดอร์แมนใน MCU ที่ขณะนั้น Avengers ถือเป็นปาฏิหาริย์แห่งบ็อกซ์ออฟฟิศ คงไปยั่วตายั่วใจโซนี่มากกว่านั่นเอง และจังหวะน้ำขึ้นให้รีบตักนั้นก็จริงดังว่า ถ้ายื้อเวลาให้เว็บบ์ทำภาคจบซึ่งดูแนวโน้มก็คงออกฉายราว ๆ ปี 2016 นั้น ก็จะไม่ทันเข้าร่วมกับจักรวาลหนังมาร์เวล ในหนัง Captain America: Civil War (2016) ที่จะเป็นการเปิดตัวสไปเดอร์แมนของทางมาร์เวลนั่นล่ะ
ชวนคุยแทรก – และถ้ามองย้อนไปตอนนี้ บางทีถ้าโซนี่ไม่มั่นใจเอามาก ๆ ในตอนนั้นว่าอย่างไรเสีย สไปเดอร์แมนก็ขายได้ (ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ผิดที่จะมั่นใจ) และเลือกดีลกับมาร์เวลตั้งแต่ก่อนสร้าง The Amazing Spider-Man ในปี 2012 (ซึ่งจริง ๆ ก็ยังไม่สมเหตุสมผลในขณะนั้นถ้าจะรีบมาดีล) บางทีในหนังอย่าง Iron Man 3 (2013) คงไม่มีชื่อตัวละครเด็กนักประดิษฐ์อย่าง ฮาร์ลีย์ คีเนอร์ แต่อาจกลายมาเป็นเด็กชาย ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ แทนไปแล้วก็ได้นะ
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว เราก็ได้ดู สไปเดอร์แมน เกิดใหม่และถูกแนะนำอีกครั้งในแบบไม่ใช่หนังเต็มเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นตัวแจมในหนังของกัปตันอเมริกา และตั้งแต่บัดนั้นมา ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ ก็กลายเป็นฟันเฟืองขนาดกลางที่ช่วยขับเคลื่อนและประสานภาพใหญ่ของหนังมาร์เวลมาทีละนิด ๆ และยิ่งพอมาถึงในหนังเดี่ยวภาคต่ออย่าง Far from Home นี่ล่ะ จึงยิ่งชัดเจนเข้าไปใหญ่ว่า สไปเดอร์แมนไม่ได้คงฐานะความเป็นหนังเดี่ยวที่ยืนอยู่ด้วยตัวเองได้เลย เพราะมันกลายเป็นหนังที่ทำหน้าที่รับใช้เนื้อหาภาพรวมของ MCU อย่างแท้จริงไปแล้ว ไม่ว่าจะการบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นบนโลก หลังการดีดนิ้วไปมาเพื่อแก้ไขสิ่งที่ธานอสได้ทำไว้ ความเป็นไปหลังผู้คนขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอย่าง โทนี่ สตาร์ค ตลอดจนจุดพลิกผันสำคัญในเรื่องแทบทั้งหมดก็เป็นผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับตัว โทนี่ มากกว่า ตัว ปีเตอร์ แทบทั้งนั้นด้วย หรือแม้แต่การที่หนังมีฉากจบซึ่งเกี่ยวข้องกับ นิค ฟิวรี่ และ มาเรีย ฮิลล์ และฉากหลังเอนด์เครดิตตัวสุดท้ายที่บ่งชัดว่า นี่คือเรื่องราวของ MCU เฟสหน้ามากกว่าหนังสไปเดอร์แมนด้วย
หรือถ้าให้ชัดกว่านั้นคงต้องให้นึกเช่นนี้ครับ ว่าเราสามารถดูหนัง Spider-Man ฉบับของมาร์เวลนี้รู้เรื่องขนาดไหน โดยไม่ดูหนังมาร์เวลเรื่องอื่น ๆ เลย คิดว่าคำตอบคงชัดว่า มี งง เป็นไก่ตาแตกหลายฉากแน่นอน หรือจะมองในแง่ความเป็นเอกภาพด้านโครงสร้างของหนังที่จะมีหลายภาค ซึ่งในฐานะแฟนสไปเดอร์แมนเพียว ๆ ก็ถือเป็นเรื่องน่าผิดหวังนิด ๆ เพราะถ้าอนาคตได้มานั่งดูหนังฉบับ ทอม ฮอลแลนด์ เรียงกันมันจะไม่ได้อารมณ์หรือความเข้าใจในตัวละครเชื่อมร้อยแบบลงตัวเช่นเดียวกับตอนที่ดูหนังฉบับโทบี้ แม็คไกวร์ ไล่จากภาค 1 ไปถึงภาค 3 ซึ่งแม้ในภาค 3 จะออกอ่าวมากไปนิดแต่ในแง่การดูจากภาค 2 มามันก็ยังเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ หรือแม้แต่ในฉบับ แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ จากภาค 1 ไป 2 เองก็ยังมีความเป็นเนื้อเดียวกันของโครงเรื่องมากกว่าฉบับใหม่นี้แน่นอน
เปลี่ยนภาคคือเปลี่ยนทุกอย่าง ไม่สานต่อสิ่งที่ทิ้งไว้
สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว ด้วยความที่หนังถูกวางเป็นหนึ่งในลำดับของ MCU มากเกินไป ซึ่งถ้าใครจะเถียงว่าก็เป็นกับทุกเรื่องของมาร์เวล อยากให้ลองนึกถึงหนังอย่าง Guardians of the Galaxy เป็นตัวอย่างที่ดีว่าเฉพาะตัวหนังเอง ไม่ต้องดูเรื่องอื่นใน MCU ก็ยังรู้เรื่องและสนุกอยู่ และความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของหนังสไปเดอร์แมนที่กำลังพูดถึง คือการไม่สานต่อสิ่งที่โปรยไว้ ให้ต่อเนื่องกันไป (หรือถ้าพยายามสานต่อก็ไม่เน้นมากพอให้รู้สึก)
ในไตรภาคของ แซม ไรมี่ มันว่าด้วยการเกิดขึ้นของฮีโร่จากเด็กมีปัญหาธรรมดา ๆ ที่สร้างตัวตนจากคำว่า “พลังอันยิ่งใหญ่มาพร้อมความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” ซึ่งถอดมาจากตัวคอมิกส์ได้อย่างตรงจิตวิญญาณ แม้แคแรกเตอร์ความเป็น ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ นั้นว่ากันตามตรงก็ไม่ได้ตรงตามคอมิกส์นัก แต่จิตวิญญาณมันได้ และในแง่ของตัวร้ายมันก็คือมหากาพย์การต่อสู้ของปีเตอร์กับ ตระกูลออสบอร์น และมรดกของออสบอร์นอย่าง กรีน ก็อบลิน
ส่วนในทวิภาคของ มาร์ค เว็บบ์ ที่ว่ากันว่าคือ ปีเตอร์ พาร์กเกอร์ที่ตรงตามคอมิกส์มากที่สุด มันก็ว่าด้วยธีมของสิ่งที่ต้องสูญเสียเพื่อการเป็นฮีโร่โดยย้ายมาเล่นกับรักแรกอย่างแฟนสาว เกว็น สเตซี่ แทน แมรี่ เจน และในแง่ตัวร้ายมันก็คือการต่อสู้เพื่อล้างแค้นให้กับพ่อแม่ โดยคู่ต่อกรคือวิทยาศาสตร์ชีวภาพซึ่งสอดคล้องกับการกำเนิดของตัวสไปเดอร์แมนด้วย ไม่ว่าจะตัวร้ายอย่าง ลิซาร์ด หรือ อิเล็คโตร น่าเสียดายที่หนังไม่พาไปถึงบทสรุปได้เพราะไม่มีภาค 3 เกิดขึ้น
แต่กับภาคก่อนหน้าของสไปเดอร์แมนมาร์เวลอย่าง Homecoming เราได้รู้จักปีเตอร์ในแบบเด็กวัยรุ่นจริง ๆ ซึ่งพยายามแหวกจากภาพจำก่อนหน้าที่มักเป็นเด็กมาหวิทยาลัยหรือเพิ่งทำงาน มันจึงแสดงภาพของฮีโร่ตั้งไข่ที่ต้องเรียนรู้การเป็นฮีโร่ ไปพร้อมกับการก้าวผ่านวัยรุ่น วัยที่แสนวุ่นวายที่สุดของมนุษย์ หนังใช้เรื่องวิทยาการต่างดาวที่เป็นมรดกตกทอดจากหนังอเวนเจอร์สมาเป็นธีมของตัวร้ายอย่าง วัลเจอร์ และอาจนับถึง สกอร์เปี้ยน ที่โผล่มาในท้ายเครดิตด้วย หนังยังว่าด้วยการพยายามรักษาชีวิตธรรมดาของปีเตอร์ไปพร้อมกับการเล่นเกมทายสิใครคือสไปเดอร์แมนกับตัวร้าย ซึ่งจริง ๆ มันน่าสนใจมากอยู่แล้วนะ จำได้ว่าซีนระหว่างทอม ฮอลแลนด์ กับ ไมเคิล คีตัน ที่เล่นเกมจิตวิทยากันในรถ มันโคตรกดดันโคตรเจ๋งเลย แต่แทนที่หนัง Far from Home จะไปสานต่อจุดแข็งดี ๆ ที่ตัวเองวางไว้สำหรับเอกลักษณ์หนังสไปเดอร์แมนใหม่นั้น หนังกลับลากไปเพื่อเชื่อมกับความสัมพันธ์ของปีเตอร์ กับโทนี่ จนหนังกลายเป็น Endgame 2.5 ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ผิดหรอก ถ้ามันจะไม่ทิ้งทั้งวัลเจอร์ (ตอนแรกได้ยินว่าไมเคิล คีตันจะกลับมามันน่าสนใจมากเลยนะ เขาเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรูสำหรับสไปเดอร์แมน แถมยังรู้ตัวจริงของสไปเดอร์แมนอีก) ทิ้งทั้งตัวร้ายที่โปรยไว้ทั้งหมด ทิ้งเรื่องราวของเทคโนโลยีต่างดาวที่น่าจะเป็นธีมพลังของตัวร้ายในสไปเดอร์แมน หรือแม้แต่ธีมเรื่องการพยายามรักษาชีวิตธรรมดาไว้อย่างยากลำบาก ไปอย่างน่าเสียดาย
คืออาจจะผิดเองที่รู้สึกเช่นนี้ก็ได้ แต่ในฐานะแฟนหนังสไปเดอร์แมน เราก็อยากให้หนังที่เป็นไตเติ้ลเดี่ยวของสไปเดอร์แมนนำหน้า ไม่ว่าจะกี่ภาคจากนี้ไป ควรต้องต่อเนื่องกันอย่างเป็นเอกภาพและสมเหตุสมผลในตัวเอง ไม่ใช่ว่า มันกลายเป็นหนัง Iron Man 3.5 หรือ Endgame 2.5 แบบนี้ (และถ้าให้เดาหนังสไปเดอร์แมนภาคต่อไปมีโอกาสเป็นภาค .5 ของหนัง MCU สักเรื่องอีกแน่ ๆ ไม่ว่าจะ Dr. Strange 2.5 หรือ Captain Marvel 2.5 และแนวโน้มที่มากสุดคือมันกลายเป็นหนัง Avengers 4.5)
เน้นความบันเทิง มากกว่าพัฒนาการตัวละคร
จะว่าไปหนังมีซับพล็อตที่เยอะเกินไปมาก ไม่ว่าจะเรื่องความรักสามเส้า เรื่องการเดินทางแบบโร้ดทริป การกู้โลก การเป็นฮีโร่ ภาระที่แบกต่อจากไอออนแมน เยอะแยะไปหมด ทั้งนี้ถามว่ามันสนุกมั้ยมันสนุกล่ะ มีอะไรให้เราสนใจไปตลอดเรื่องเลย แต่ความรู้สึกมันเริ่มจะออกแนว Spider-Man 3 ของ แซม ไรมี่ อยู่รอมร่อ แต่ยังดีว่า ทอม ฮอลแลนด์ คือสไปเดอร์แมนที่มีเสน่ห์มากที่สุดและเขาเอาหนังอยู่ ไม่ได้น่ารำคาญแบบโทบี้ใจแตกในหนังของ แซม ไรมี่ ภาค 3 ทว่าไอ้ความล้นของเส้นบันเทิงที่จงใจยัดเยียดเพื่อให้สนุก โดยไม่ได้มองจากการพัฒนาเส้นเรื่องให้แข็งแรงเป็นลำดับก็เป็นจุดอ่อนใหญ่มาก ๆ เหมือนกัน บางครั้งยังนึกว่านี่มันหนังตลกไทยป่าวเนี่ย ยัดเยียดสถานการณ์มาเพื่อเอาฮาเป็นหลักเสียมากกว่า ให้ยกตัวอย่างก็ฉากสั่งการสังหารบนรถบัสนั่นล่ะ มันคงมีวิธีเล่าเรื่องของมรดกจากโทนี่ รวมถึงความสัมพันธ์รักสามเส้าที่ละมุนมากกว่านี้ แต่นี่โคตรโฉ่งฉ่าง และเป็นซิตคอมเล่นใหญ่ที่อีกนิดเดียวจะกลายเป็นหนังตลกแฟนซีแล้ว
นี่ยังไม่รวมถึงการหักหลังความรู้สึกแฟน ๆ เพื่อสนองรสบันเทิงแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าเข้าไปอีก เราเคยเจอการหักหลังแย่ ๆ มาแล้วกับเคส แมนดาริน ใน Iron Man 3 ไอ้การปิดเป็นความลับก็เรื่องหนึ่ง แต่การเผยความจริงที่พลิกความคาดหวังคนดูเป็นเรื่องดี แต่คงไม่ใช่การหักหลัง ซึ่งไอ้หนัง Far from Home มันชวนให้รู้สึกแบบหลังอยู่หลายครั้ง ซึ่งมันก็ตอบโจทย์ความบันเทิงเป็นหลักจริง ๆ มันดูสนุกมันเหวอแบบขำ ๆ ดีจริง ๆ แต่พอความสนุกรสหวานที่เคลือบอยู่จางไป แก่นของลูกกวาดที่ควรเป็นไส้ให้คนดูเก็บกลับไปคิดต่อมันแทบจะระเหิดตามไปด้วย เพราะกลายเป็นว่าสิ่งที่ดูไปแทบทั้งเรื่องมันไม่ใช่อาหารมื้อหลัก แต่เป็นอาหารหวาน ที่ไม่ได้ทิ้งเค้าเมนคอร์สไว้สำหรับแฟรนไชส์สไปเดอร์แมนจริง ๆ จัง ๆ เลย เอาเป็นว่าก็ไม่รู้จะพูดอ้อม ๆ เลี่ยงสปอยล์อย่างไรให้ได้กว่านี้แล้ว แต่สำหรับคนดูอยากให้ลองคิดดูว่า เราได้อะไรที่หนักแน่นพอไปสร้างสไปเดอร์แมน 3 ที่แข็งแรงบ้าง ปีเตอร์ พัฒนาขึ้นไปเป็นแคแรกเตอร์ที่แข็งแรงขึ้นขนาดไหน? ไอ้สิ่งที่หนังพยายามรักษามาแทบตายในภาคแรก มาร์เวลก็เอาฉากท้าย มิด-เครดิต มาทำลายปมนี้จนปนปี้ มันคงว้าวมั้ง แต่มันว้าวแบบว่า เฮ้ยเล่นง่าย ๆ งี้เลยเหรอ มากกว่าจะรู้สึกว่า โหปูมาเพื่อเข้ารูทนี้เหรอเนี่ย อัจฉริยะจริง ๆ ซึ่งมันไม่ใช่เลยจริง ๆ