Spider-Man: Far from Home ไม่เอาแล้วไลฟ์สไตล์แบบฮีโร่

Spider-Man: Far from Home ไม่เอาแล้วไลฟ์สไตล์แบบฮีโร่

Spider-Man: Far from Home ไม่เอาแล้วไลฟ์สไตล์แบบฮีโร่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความนี้มีการเปิดเผยเรื่องราวในหนังเรื่อง Spider-Man: Far from Home

 

 

หนังเดี่ยวภาคที่ 2 ของซูเปอร์ฮีโร่วัยรุ่นอย่างสไปเดอร์แมน เล่าเรื่องราวต่อมาจากเหตุการณ์หลัง Avengers: Endgame โดยหนังภาคนี้เป็นผลงานการกำกับของ จอน วัตส์ (ผู้กำกับคนเดิมจากหนังภาคแรก)

 

Spider-Man: Far from Home เล่าถึงช่วงเวลาหลังจากที่ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (ทอม ฮอลแลนด์) และเพื่อนๆ กลับมามีชีวิตเป็นปกติอีกครั้ง ภายหลังจากเหตุการณ์ที่ธานอสดีดนิ้วล้างจักรวาลไป ทว่าปีเตอร์ยังคงไม่อาจจะทำใจรับกับการสูญเสียอย่างไม่มีวันกลับของโทนี่ สตาร์ค ว่าที่คนให้คำแนะนำและเหมือนเป็นคุณพ่อในทางอ้อมด้วยเช่นกัน และไม่ว่าปีเตอร์จะไปที่ไหนก็ตามอนุสรณ์แห่งความรำลึกถึงเหล่าอเวเจอร์ผู้ล่วงลับ ยิ่งทำให้เขาคิดถึงความสูญเสียมากยิ่งข้น ประกอบทุกย่างก้าวที่ “สไปเดอร์แมน” เคลื่อนไหว สาธารณะชนก็จับตามองอย่างตั้งใจว่าเขาจะกลายเป็นไอรอนแมนคนต่อไปหรือเปล่า ยิ่งกลายเป็นแรงกดดันในชีวิตของปีเตอร์

 

 

ความบอบช้ำของตัวละครปีเตอร์หลังจากเหตุการณ์ใน Avengers: Endgame หนังถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เห็นผ่านตัวละครเอก ผ่านช่วงเวลาที่เขาถูกสื่อมวลชนและคนรอบตัว ตั้งโต๊ะสัมภาษณ์ความรู้สึกของสไปเดอร์แมน การตั้งคำถามถึงอนาคต ว่าเขาจะผันตัวเองไปเป็นไอรอนแมนคนต่อไปหรือไม่ ซึ่งหนังนำเสนอช่วงเวลาในการรับมือเหตุการณ์ดังกล่าวของสไปเดอร์แมน ด้วยความรู้สึกที่เขาสับสนงุนงงและจัดการสถานการณ์ไม่ถูก จนเขาเลือกจะ “เท” การให้ข่าวและหนีออกจากงานไปแบบปุบปับ เพื่อหนีออกไปจัดการความรู้สึกแบบคนเดียวเงียบๆ

 

การหลีกหนีหน้าที่และการกลับไปเป็นเด็กของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ถูกขยายความให้คนดูได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เมื่อการเดินทางไปทริปเที่ยวยุโรปกับเพื่อนๆนั้น ปีเตอร์เลือกที่จะไม่รับโทรศัพท์จากนิค ฟิวรี่ (ซามวล แอล. แจ็คสัน) เพราะเขารู้ดีว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เขารับสาย นั่นคือการตอบภารกิจครั้งใหม่ที่เขาต้องไปรับมือกับเหล่าร้าย หรือ เหตุการณ์อันไม่ปกติ ในโมเมนต์นั้น ปีเตอร์อยากจะกลับไปเป็นแค่เด็กวัยรุ่นธรรมดาที่ได้สนุกสนานและ “ใช้ชีวิต” ในวัยของตัวเองไปกับเพื่อนๆ ขัดแย้งกับความรู้สึกของตัวละครนี้ในหนังภาคแรกหรือ Homecoming ที่ดูเหมือนปีเตอร์จะตื่นเต้นกับพลังพิเศษของตัวเองมากและอยากจะทำภารกิจปราบเหล่าร้ายจนเต็มแก่ แต่ในภาคนี้เขากลับรู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้รับมามันเริ่มจะกลายเป็น “ภาระ” เสียแล้ว

 

 

แม้ปีเตอร์จะจัดกระเป๋าเดินทางท่องเที่ยว และตัดสินใจ “ทิ้งชุด” สไปเดอร์แมนเอาไว้ที่ห้องของตัวเองก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าป้าเมย์ (มาริสา โทเม) จะจัดแจงชุดกลับเข้ามาในกระเป๋าเหมือนเดิม แสดงให้เราเห็นว่า ไม่ว่าปีเตอร์จะวิ่งหนีหน้าที่ของตัวเองแค่ไหน แต่หน้าที่ก็จะวิ่งไล่ตามเขาอยู่วันยังค่ำ ระหว่างที่ปีเตอร์และเพื่อนๆเที่ยวอยู่ในแกรนด์คาแนล ในประเทศอิตาลี อย่างเพลิดเพลิน เขาก็พบว่ามีอสูรร้ายธาตุน้ำออกอาละวาดจนผู้คนได้รับอันตราย แต่ไม่นานนักก็มีชายในผ้าคลุมปรากฏตัวขึ้นเพื่อต่อสู้กับอสูรดังกล่าว ปีเตอร์จึงร่วมมือกับชายลึกลับ ปราบอสูรและได้ล่วงรู้ชื่อจริงของเขาว่าเควนติน เบ็คหรือมิสเทริโอ (เจค จิลเลนฮัล)

 

เควนติน เบ็คหรือมิสเทริโอ ได้เล่าเรื่องราวของเขาให้ฟังว่า เขาเดินทางมาจากโลกมิติคู่ขนาน ซึ่งการที่เขามาปรากฏตัวบนโลกมนุษย์นั้น เพราะโลกในมิติคู่ขนานของเขาถูกทำลายล้างจากอสูรธาตุทั้ง 4 และการที่เหล่าอสูรร้ายเหล่านี้มาปรากฏตัวบนโลกของปีเตอร์อาจจะแสดงถึงความปั่นป่วนของจักรวาล ที่เริ่มต้นขึ้นหลังจากเหตุการณ์ธานอสดีดนิ้ว

 

 

การเคลื่อนไหวของมิสเทริโออยู่ภายใต้การจับตามองของนิค ฟิวรี่และโคบี้ สมัลเดอร์ส (มาเรีย ฮิล) เจ้าหน้าที่หน่วยชิลด์ ผู้เป็นรองผู้บัญชาการ ผู้ทำงานร่วมกับนิค ฟิวรี แต่การที่โลกมีมิสเทริโอ ทำให้ปีเตอร์อุ่นใจว่า อย่างน้อยก็มี “ผู้ใหญ่” ที่สามารถทำหน้าที่ปกป้องดูแลโลกใบนี้ได้ดีกว่า “เพื่อนบ้านผู้แสนดี” อย่างสไปเดอร์แมน

 

ความไว้เนื้อเชื่อใจของปีเตอร์ ที่เหมือนจะพร้อมเทใจให้มิสเทริโอแบบหมดหน้าตัก นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็น “ภาพลวงตา” ที่เควนตินสร้างเรื่องราวขึ้นมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอสูรร้ายธาตุทั้ง 4 การสร้างเรื่องราวปูมหลังของตัวเอง หรือกระทั่งพลังวิเศษของมิสเทริโอก็ตาม เพราะความจริงแล้ว เควนติน เบ็คนั้นคือ “ผู้ก่อการร้าย” ที่เป็นแค่คนธรรมดาที่หยิบใช้เทคโนโลยีและมันสมองอันชาญฉลาดของตัวเอง ในการสร้างแผนการสุดชั่วร้ายขึ้นมา เพียงเพราะว่าในอดีตนั้น เขาเคยเป็นลูกจ้างของโทนี่ สตาร์คที่ถูกโขกสับและมองไม่เห็นความสำคัญในการทำงานของเขา อีกทั้งหนังยังทำให้คนดูเห็นอีกว่า ไม่ใช่เควนตินคนเดียวที่ถูกโทนี่ “เลือกปฏิบัติ” แต่มีคนทำงานอีกมากที่เจอหัวหน้าจอมวีนเหวี่ยง

 

 

 

ความเชื่อใจที่โดนทำลายของปีเตอร์นั้น ได้ทำให้คนดูเห็นการเติบโตอันแสนเจ็บปวดของตัวละครนี้ว่า เมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาอาจจะต้องรับมือกับคำลวงหลอก คำโกหกและมิตรภาพจอมปลอมที่เกิดขึ้นเพียงเพราะผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มที่ดูจริงใจ

 

การสร้างข่าวลวง การแหกตาระดับโลก จึงกลายเป็นวิกฤติครั้งใหม่ที่เราได้เห็นจากหนัง Spider-Man: Far from Home ซึ่งสอดรับกับแนวคิดที่หนังกล่าวว่า เพราะตอนนี้โลกมนุษย์นั้น ทุกๆคนพร้อมจะเชื่อในตัวของซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังพิเศษ ปล่อยพลังได้ จนหลงลืมไปว่าจริงๆแล้วชีวิตของคนธรรมดานั้นก็มีความสำคัญ มีคุณค่าในการดำเนินชีวิตไม่แตกต่างกัน เควนติน จึงปฏิวัติแนวคิดดังกล่าวและสร้างสถานการณ์ทั้งหมดขึ้นมาเพื่อลวงตาคนทั้งโลก

 

 

ความน่าสนใจของตัวละครเควนตินนั้น คือการหยิบเอาเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง “โดรน” มาใช้งานเป็นเครื่องจักสังหารและสร้างภาพลวงตา แต่ท้ายที่สุดแล้วหนังก็ชี้ให้เห็นว่า “ความผิดพลาดของเทคโนโลยี” เพียงจุดเล็กๆเพียงจุดเดียว ก็หมายถึงความพังทลายของแผนการทั้งหมดด้วยเช่นกัน

 

Spider-Man: Far from Home จึงเป็นภาคต่อที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางอารมณ์และวุฒิภาวะของตัวละครปีเตอร์ ปาร์คเกอร์เองหรือฝั่งตัวร้ายอย่างเควนตินที่อาจจะเป็นตัวแทนของคนธรรมดา ผู้รู้สึกเบื่อหน่ายการมีอยู่ของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ด้วยเช่นกัน ซึ่งในภาพรวมหนังได้นำเสนออารมณ์ขัน สไตล์การกำกับแบบยียวนกวนประสาทตามลักษณะคาแรกเตอร์ที่สอดรับกับช่วงอายุตัวละครวัยรุ่น และดูลื่นไหลเป็นธรรมชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook