“กระเบนราหู” งดงามในนามของความเป็นมนุษย์

“กระเบนราหู” งดงามในนามของความเป็นมนุษย์

“กระเบนราหู” งดงามในนามของความเป็นมนุษย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทันทีที่ได้ข่าวว่า กระเบนราหู (หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Manta Ray) ของผู้กำกับ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ได้รับรางวัล “Orizzonti” (Horizons) ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 เมื่อปีที่แล้วนี่ผมก็สงสัยขึ้นมาทันทีเลยนะครับ สงสัยว่า แล้วอย่างนี้จะได้ดูไหมหรือจะได้ดูเมื่อไหร่... คิดแล้วก็ตลกดี หนังไทยเราไปคว้ารางวัลสำคัญจากเทศกาลภาพยนตร์ระดับชาติมาแท้ๆ ผมกลับต้องลุ้นว่าตัวเองจะได้ดูไหม หรือจะได้ดูเมื่อไหร่ มันช่างเป็นตลกร้ายเสียจริงนะครับ

แต่ก็เอาล่ะ แม้จะล่าช้าไปเกือบปีก็ตาม แต่สุดท้ายก็ได้ดูครับ คิดเสียว่าดูช้ายังดีกว่าไม่ได้ดู

หลังจากดูจบ ผมก็ไม่แปลกใจว่าทำไม กระเบนราหู จึงได้รับรางวัล Orizzonti ที่มอบให้กับภาพยนตร์จากนานาชาติที่มีสุนทรียะทั้งในการเล่าเรื่อง และองค์ประกอบต่างๆ ในการเป็นภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็นงานด้าน ภาพ เสียง การตัดต่อ ฯลฯ ไม่แปลกใจเลยครับ เพราะ กระเบนราหู ถึงพร้อมไปด้วยคุณสมบัติดังที่ว่าจริงๆ

Photo by Vittorio Zunino Celotto/Getty Imagesพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ผู้กำกับ

สำหรับผม กระเบนราหู เป็นหนังที่งดงามมากครับ หากว่ากันในแง่ของศิลปะอย่างเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เต็มไปด้วยการออกแบบภาพและเสียงที่น่าสนใจมากๆ เอาเรื่องวิชวลก่อน ผมคิดว่างานด้านภาพของ กระเบนราหู มีความพยายามนำเสนอ “ภาพ” ที่อยู่ตรงกลางระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง และข้ามเขตแดนไปมาหาสู่กันและกันอยู่ตลอดทั้งเรื่องนะครับ หนังนำเสนอภาพชีวิตของแรงงานประมงคนหนึ่งซึ่งรับชายคนหนึ่งที่บาดเจ็บเข้ามาพักรักษาตัวในบ้าน เราได้เห็นการใช้ชีวิตทั่วไปของเขาในตอนกลางวัน และตอนกลางคืนหนังใช้การจัดแสงและเล่นกับสีสันของดวงไฟ เพื่ออธิบายเรื่องอันอยู่กึ่งกลางระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องเล่า พร่าเลือนมันให้กลายเป็นพรมแดนที่ไม่อาจระบุได้ ทำให้ผู้ชมตั้งคำถามว่าที่แท้อะไรเป็นอะไร หรืออะไรไม่ได้เป็นอะไรกันแน่ ซึ่งงานด้านภาพเหล่านี้มีความเป็นศิลปะอยู่สูงมากและสร้างสรรค์มากทีเดียว

เช่นเดียวกับเรื่องเสียง ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงครึ่งหลังของหนัง ที่ตั้งใจให้เสียงแทนการสะท้อนชะตากรรมของตัวละคร หนังเน้นให้ “เสียง” แทนการบรรยายความรู้สึกที่ไม่อาจแสดงออกได้ด้วยถ้อยคำ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เมื่อพิจารณาว่าหนังสามารถพูดออกมาได้แต่ไม่พูด และไม่ให้ตัวละครได้พูด แต่ก็ให้มี “เสียง” ได้

ทั้งหมดนั้นก็เพื่อไปสอดรับกับแนวคิดหลักของ กระเบนราหู ที่สะท้อนถึงสิ่งต่างๆ ได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเข้าและออกของผู้คนในสถานที่ ภาวะที่ไม่ระบุชัดว่าใครเป็นแขกใครเป็นเจ้าบ้าน หรือใครกลายเป็นอะไรในตอนไหน ภาวะที่คนแปลกหน้ากลายเป็นคนสนิท ภาวะที่คนที่อยู่ในระดับชั้นที่ต่ำกว่ามีปฏิกิริยาต่อคำสั่ง ภาวะต่างๆ ที่เล่าผ่านคนชายขอบทั้งหมดนั้นเป็นสิ่งที่ผมคิดได้ขณะได้นั่งดูหนังเรื่องนี้ แม้มันจะเป็นความคิดเพ้อเจ้อของผมนะครับ แต่ผมว่าท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าภาวะต่างๆ ที่ผมยกมามันจะใช่สิ่งที่ กระเบนราหู ต้องการนำเสนอจริงๆ หรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่แจ่มชัดมากในความคิดของผมก็คือ ในภาวะอันหลากหลายต่างๆ นั้น คุณค่าในความเป็นมนุษย์แท้จริงนั้นงดงามอยู่เสมอ

แม้ กระเบนราหู จะไม่ได้พูดเรื่องนี้โดยตรงแต่การให้ภาพของการลดทอนคุณค่าของมนุษย์ผ่านการกำหนดชะตากรรมของตัวละครก็ดี การนำเสนอความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ก็ดี นั้นคือสิ่งที่ผมออกจะเชื่อลึกๆ ว่าข้อความที่ กระเบนราหู พยายามส่งเสียงออกมา คือเสียงที่บอกว่าในความเป็นมนุษย์นั้นเราล้วนงดงาม และคุณค่าในความเป็นมนุษย์ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครมาจากไหนก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่สมควรลดทอนลงไป

อยากให้ดูกันนะครับ

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง กระเบนราหู ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ “กระเบนราหู” งดงามในนามของความเป็นมนุษย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook