นักโทษปล้นแบงก์ เขียนนิยายจากในคุก ถูกผู้กำกับ โจ-แอนโธนี รุสโซ ซื้อสิทธิ์มาสร้างหนัง

นักโทษปล้นแบงก์ เขียนนิยายจากในคุก ถูกผู้กำกับ โจ-แอนโธนี รุสโซ ซื้อสิทธิ์มาสร้างหนัง

นักโทษปล้นแบงก์ เขียนนิยายจากในคุก ถูกผู้กำกับ โจ-แอนโธนี รุสโซ ซื้อสิทธิ์มาสร้างหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชีวิตคนเราทำไมมันช่างพลิกผันหฤหรรษ์ได้เพียงนี้ มาทำความรู้จัก นิโค วอล์กเกอร์ เศรษฐีคนใหม่กันดีกว่า นิโค เป็นหนุ่มชาวคลีฟแลนด์ เขาเติบโตมาในครอบครัวที่สุขสบาย เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย แต่ไม่รู้อะไรดลใจให้อยากเป็นทหาร นิโคในวัย 19 ปี ลาออกจากมหาวิทยาลัยกลางคัน แล้วสมัครเข้าเป็นทหาร ถูกส่งไปอิรักในฐานะ "หน่วยแพทย์ทหาร" นิโคประจำอยู่ในอิรักปี 2005 – 2006 นิโคเล่าว่าชีวิตที่นั่นช่างน่าเบื่อหน่าย เขาได้แต่เปิดหนังโป๊ดูไปวัน ๆ ไม่ได้ช่วยชีวิตเพื่อนทหารอย่างที่คาด ได้เจอแต่ซากชิ้นส่วนเพื่อนทหารที่โดนระเบิดแสวงเครื่องที่เขาต้องเก็บลงถุงเสียบ่อยกว่า สุดท้ายนิโคก็ปลดประจำการได้กลับมาเป็นพลเมืองในคลีฟแลนด์ เขาได้รับเหรียญกล้าหาญถึง 7 เหรียญพร้อมประกาศเชิดชูเกียรติคุณ แต่แล้วเขาก็ประสบเคราะห์กรรมเช่นเดียวกับทหารผ่านศึกทั่วไป ป่วยเป็น โรคภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) ทำให้เขาต้องพึ่งยาแก้ปวด และต่อเนื่องไปถึงเฮโรอีน

ภาพจากกล้องวงจรปิด ขณะที่นิโค วอล์กเกอร์ กำลังปล้นแบงก์

ในเดือน ธันวาคม 2010 นิโคเงินขาดมือและต้องการยาอย่างรุนแรง ทำให้เขาตัดสินใจปล้นธนาคารครั้งแรก เพื่อเอาเงินมาเสพเฮโรอีนกับแฟนสาว จากครั้งแรกต่อเนื่องเป็นครั้งที่สอง นิโคเริ่มรู้สึกว่าหาเงินจากการปล้นธนาคารได้ง่าย ทำให้เขากลายเป็นโจรปล้นธนาคารต่อเนื่องในคลีฟแลนด์ เส้นทางในการเป็นโจรปล้นแบงก์ถึงคราวยุติใน 4 เดือนให้หลัง เพราะนิโคโดนจับกุมระหว่างปล้นธนาคารครั้งที่ 10 แต่ละครั้งเขาได้เงินไปไม่มาก เมื่อรวมเงินที่นิโคปล้นไปก็มีมูลค่ารวมเพียง 1.2 ล้านบาท นิโค โดนพิพากษาให้ติดคุก 11 ปี ที่ทัณฑสถานในเคนตัคกี้

นิโค วอล์กเกอร์ คนขวา ขณะประจำการอยู่ในอิรัก

ด้วยเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดาของนิโค ทำให้เว็บไซต์ Buzzfeed สนใจชีวิตอันผันผวนของเขา จึงส่งนักข่าวมาสัมภาษณ์และเขียนบทความเกี่ยวกับชีวิตนิโคในชื่อเรื่อง "จากวีรบุรุษสงครามสู่การเป็นโจรปล้นแบงก์ต่อเนื่อง" หลังจากลงบทความนี้ไปได้ 2 ปี ก็ไปเข้าตา แมทธิว จอห์นสัน นักธุรกิจผู้ร่วมก่อตั้ง แฟตพอสซัม เรคคอร์ดส์ และเจ้าของร่วมสำนักพิมพ์ ไทแรนต์บุ๊ก แมทธิวได้อ่านเรื่องของนิโค แล้วสนใจมาก เขาจึงได้ติดต่อคุยกับนิโคเป็นการส่วนตัว ซึ่งแมทธิวได้พยายามแนะนำให้นิโคเริ่มหัดเขียนนิยายเล่าเรื่องราวชีวิตเขาออกมา "นายน่าจะเขียนเล่าเรื่องชีวิตของตัวเองขายนะ มันน่าจะทำเงินได้อย่างมากเลยล่ะ อย่างน้อย ๆ ก็มี 1 แสนเหรียญล่ะ" นอกจากชักจูงด้วยจำนวนเงินแล้ว แมทธิวยังฝากข้อคิดแบบคม ๆ ไว้ให้นิโคลองไตร่ตรองดูเองด้วย "นายควรจะพาตัวเองออกมาจากสถานะที่เป็นอยู่นี่ซะ ไม่เช่นนั้นนายก็จะลงเอยด้วยการเป็นขี้คุกคนหนึ่งที่ได้แค่เล่าเรื่องราวตัวเองให้คนอื่นฟังแค่นั้น" ถ้านิโคเขาฉลาดเขาก็คงคิดได้และลงมือทำล่ะ แมทธิวคิดแบบนั้น

ทิม โอ’คอนเนลล์ กับความภูมิใจในนิยาย Cherry ที่เขามีส่วนร่วมในความสำเร็จ

ในที่สุุดคำยั่วยุของแมทธิวก็เป็นผล นิโคลงมือเขียนนิยายกึ่งชีวประวัติตัวเองด้วยพิมพ์ดีด หลังจากเขียนไปได้ไม่กี่หน้า นิโคก็ลองส่งไปรษณีย์ไปให้แมทธิวลองอ่านดูและขอคำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไข แมทธิวได้อ่านแล้วเขาก็สนใจฝีมือการเขียนของนิโค เขาจึงติดต่อ ทิม โอ’คอนเนล เพื่อนที่เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ คนอปฟ์ เพื่อให้มาช่วยเกลางานเขียนของนิโค จากนั้นกระบวนการแนะนำงานเขียนระหว่างทิมและนิโคก็ดำเนินไปอย่างไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะนิโคได้รับอนุญาตจากทางเรือนจำให้ใช้โทรศัพท์ได้ครั้งละ 15 นาทีเท่านั้น มันไม่ใช่ขั้นตอนที่ทิมคุ้นเคยเลย กับนักเขียนคนอื่น ๆ เขาสามารถเปิดงานเขียนดูบนจอพร้อมกันได้ สามารถแนะนำจุดที่ควรแก้ไข ซึ่งนักเขียนสามารถจดโน้ตหรือแก้ไปพร้อมกันเดี๋ยวนั้นได้เลย แต่สำหรับนิโค เขาไม่จดโน้ต แต่จำทุกอย่างลงในหัวและกลับไปแก้ไขงานเขียนด้วยมือ

งานเขียนของนิโคเดินหน้าไปด้วยขั้นตอนแบบนี้ เขาเขียนนิยายในตอนกลางคืน ส่งไปรษณีย์ไปให้แมทธิวแล้วรอฟังคำแนะนำทางโทรศัพท์ ในที่สุด "Cherry" นิยายเล่มแรกที่นิโค วอล์กเกอร์ประพันธ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดเก่า ๆ ในคุกก็แล้วเสร็จ ทิม โอ”คอนเนล ผู้ให้คำปรึกษาและดูแลทุกขั้นตอนงานเขียนก็เป็นผู้รับผิดชอบตีพิมพ์ผ่านสำนักพิพม์ คนอปฟ์ ของเขาเอง นิยายออกขายในเดือนสิงหาคม 2018 ได้รับการสรรเสริญเยินยอจากนักวิจารณ์หลายท่าน และขึ้นถึงอันดับที่ 14 ในตารางหนังสือขายดีของนิวยอร์กไทม์

ผู้กำกับ โจ-แอนโธนี รุสโซ

เมื่อนิยายประสบความสำเร็จ ชื่อเสียงของนิโค วอล์กเกอร์ ถูกพูดถึงอีกครั้งในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ที่มีพรสวรรค์ เส้นทางขาขึ้นของนิโค ยังไม่จบแค่นั้น “Cherry” กลายเป็นที่ต้องการของสตูดิโอผู้สร้างหนังในฮอลลีวู้ด จนต้องเข้าสู่การกระบวนการประมูล หนึ่งในผู้ที่สนใจก็คือ โจ-แอนโธนี รุสโซ 2 พี่น้องผู้กำกับจาก The Avengers ที่เพิ่งเปิดบริษัทสร้างหนังของตัวเองในนาม AGBO ทั้งคู่ประทับใจเนื้อหาในนิยายมาก เพราะ 2 พี่น้องก็เติบโตในคลีฟแลนด์ละแวกใกล้ ๆ กันกับนิโค ขั้นตอนการประมูลก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะนิโค ก็ถูกจำกัดสิทธิ์ในการใช้โทรศัพท์ในแต่ละครั้งเช่นเคย แต่ในที่สุด โจ-แอนโธนี ก็ชนะการประมูล ได้สิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ไปด้วยตัวเลข 1 ล้านเหรียญ

ทอม ฮอลแลนด์ ตัวเลือกที่เหมาะสม เพราะอยู่ในวัยเดียวกับ นิโค ตอนที่กลับจากสงคราม

ถึงขณะนี้โปรเจกต์ “Cherry” กลายเป็นที่ถูกจับตามองในฮอลลีวู้ด เพราะล่าสุด ทอม ฮอลแลนด์ พระเอกจาก Spider-Man ตกลงมารับบทนำแล้ว เท่ากับว่าหนัง Cherry จะเป็นการร่วมงานกันระหว่างทอม และผู้กำกับ โจ-แอนโธนี ครั้งที่ 4 ต่อเนื่องจาก Captain America: Civil War (2016), Avengers: Infinity War (2018) และ Avengers: Endgame (2019) เจสซิกา โกลด์เบิร์ก มือเขียนบทจากทีวีซีรีส์ Parenthood , The Path มารับหน้าที่ดัดแปลงนิยายเป็นบทภาพยนตร์

หนังยังไม่มีกำหนดเปิดกล้อง แต่วางกำหนดฉายคร่าว ๆ ว่าแล้วเสร็จภายในปี 2020 ส่วนนิโค วอล์กเกอร์จะพ้นโทษก่อนกำหนดในเดือน พฤศจิกายน 2019 นี้ ออกมาก็กลายเป็นเศรษฐีเลย เพราะได้ทั้้งค่าลิขสิทธิ์สร้างหนัง ยอดขายนิยายก็จะต้องพุ่งขึ้นไปอีก หลังถูกสร้างเป็นหนัง เขาก็จะกลายเป็นนักเขียนนิยายหน้าใหม่ที่มีแฟน ๆ รอคอยนิยายเรื่องต่อไป

นับว่านิโค วอล์กเกอร์ เป็นมนุษย์ส่วนน้อยบนโลกนี้ ที่ชีวิตขึ้นลงยังกับรถไฟเหาะตีลังกา แต่สุดท้ายมาค้นพบพรสวรรค์ตัวเองในเรือนจำ อย่างน้อยเรื่องราวของเขาก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังตกที่นั่งลำบากได้อีกหลาย ๆ คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook