รีวิว กระเบนราหู เสียงครวญของชนชั้นแรงงาน

รีวิว กระเบนราหู เสียงครวญของชนชั้นแรงงาน

รีวิว กระเบนราหู เสียงครวญของชนชั้นแรงงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Manta Ray หรือ กระเบนราหู ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลก ด้วยการไปคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในสายประกวดรอง Orizzonti จากเทศกาลภาพยนตร์เวนิสครั้งที่ 75 ผลงานการกำกับของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง

 

กระเบนราหู เปิดเรื่องมาด้วยความพิศวงเล็กๆในงานด้านภาพเมื่อหนังเผยภาพของชายถือปืนกลขนาดเบา และพันตัวด้วยไฟประดับต้นคริสมาสต์ ออกเดินท่ามกลางป่าโกงกางในยามค่ำคืนด้วยจุดประสงค์อะไรบางอย่าง กินเวลาสักระยะหนึ่ง จนชี้ชวนให้คนดูคิดต่อเอาเองว่าฉากเหล่านี้ต้องการจะสื่อสารอะไรกับคนดู

 

 

กระทั่งหนังตัดสลับมาเล่าเรื่องของชาวประมง (วัลลภ รุ่งกำจัด) ชายหน้าตาบ้านๆที่ทำไฮไลท์ผมสีทอง ที่บังเอิญระหว่างเดินในป่าโกงกางและพบว่ามีชายลึกลับคนหนึ่งนอนแน่นิ่งด้วยบาดแผลกระสุนปืนฝังเอาไว้อยู่ที่บริเวณหน้าอก ด้วยความหวังดีและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ เขาจึงพาชายคนดังกล่าวไปรักษาพยาบาลและพาตัวมาพักฟื้นอยู่ที่บ้านไม้เก่าซ่อมซ่อของเขา พลางอาบน้ำ หาอาหารและดูแลชายคนดังกล่าวจนกระทั่งร่างกายของเขาหายดี

 

ช่วงแรกราว 30 นาทีของเรื่อง หนังไม่ใช้บทพูดหรือบทสนทนาใดๆ ปล่อยให้คนดูจับตามองกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอและทำความเข้าใจเรื่องราวเอาเอง (ซึ่งถือว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกระเบนราหู) ต่อมาหนังก็เริ่ม ให้รายละเอียดเรื่องราวมากยิ่งขึ้นว่าชายลึกลับคนดังกล่าวน่าจะเป็นชาวโรฮิงญา แต่ลักษณะคล้ายคลึงกับคนไทย ชาวประมงได้เล่าเรื่องราวในอดีตของชีวิตตัวเอง ชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว รวมไปถึงสอนวิธีการขับมอเตอร์ไซต์ ถ่ายทอดวิถีความเป็นอยู่ของตัวเองให้กับชายลึกลับทีละน้อย

 

 

ระหว่างทางของเรื่องหนังก็พลางใส่รายละเอียดเล็กน้อยผ่านพฤติกรรมของตัวละครไม่ว่า ชายลึกลับจะตื่นมาทำละมาด (เราเลยอุปมาได้ว่าเขาน่าจะนับถือศาสนาอิสลาม) ตลาดปลาที่มีหัวหน้าชาวประมงที่ดูไม่น่าไว้วางใจ โทรศัพท์ลึกลับที่โทรหาชาวประมงและคนดูได้รับคำตอบว่า “ผมไม่อยากทำงานนี้แล้วครับ” รายละเอียดเหล่านี้ ทำให้คนดูต้องคิดตามตัวละครในเรื่องตลอดเวลา เพื่อปะติดปะต่อเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ กระเบนราหู ดึงคนดูให้มีส่วนร่วมไปกับหนัง

 

อย่างไรก็ตามนอกจากประเด็นหลักที่ กระเบนราหู อยากจะสื่อสารกับคนดูในแง่มุมของการตั้งคำถามถึงเรื่องอัตลักษณ์ของคนไทยหรือคนโรฮิงญา แนวคิดเชิงชาตินิยม ความหวาดกลัวในการกลืนสัญชาติของคนนอก (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูแต่ละคนต้องตกผลึกเอาเองจากในหนัง)

 

 

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนดูคนไทยอย่างเราๆ มองและตั้งคำถามถึง “วิถีความเป็นอยู่” ของชนชั้นแรงงานชาวไทยผ่านตัวละครชาวประมง ที่ดูเหมือนว่าวิถีชีวิตของพวกเขาก็ดู “ติดลบ” ทำงานหาเงินไปวันๆ ภรรยาอย่างสายใจ (รัสมี เวระนะ) ที่หนีตามไปอยู่กับทหารเรือ ก็เพียงเพราะอยากจะไปอยู่ในวิถีชีวิตที่ดีขึ้น สะท้อนว่ามนุษย์ทุกคนล้วนกระเสือกกระสนที่จะพาตัวเองไปอยู่ในชีวิตที่ดีกว่า ประเด็นในหนังเรื่องนี้จึงมีความ “เป็นสากล” และสะท้อนถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในหลากแง่มุม ซึ่งเป็น “หนังไทย” ที่เรียกได้ว่ามีการคิดและนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจ ผ่านเทคนิคการสร้างภาพยนตร์ที่ไม่ได้ดูยากจนต้องรู้สึกว่าต้องปีนบันไดดู

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook