รีวิว ANNA ผู้หญิงกับตุ๊กตารัสเซีย

รีวิว ANNA ผู้หญิงกับตุ๊กตารัสเซีย

รีวิว ANNA ผู้หญิงกับตุ๊กตารัสเซีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Anna คือหนังสายลับหญิงในกลุ่ม ‘แฟม ฟาแตล’ (Femme Fatale) แปลเป็นไทยได้ว่า “สวยและอันตราย” เต็มไปด้วยแง่มุมที่น่าค้นหา เจาะลึกลงไปในตัวบุคคลนั้น

หนังเปิดเรื่องราวมาในปี 1985 ระหว่างเหตุการณ์ความตึงเครียดในยุคสงครามเย็น เมื่อบรรดาสายลับจากฝั่งอเมริกาถูกผู้นำทางทหารจากรัสเซียสังหารพร้อมๆ กันหลายราย เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความหวาดวิตกให้กับอเมริกา จากนั้นหนังจึงตัดเรื่องราวมาในปี 1990 เมื่อแอนนา (ซาช่า ลุสส์) เด็กสาวที่เป็นแม่ค้าตุ๊กตามาโตรชก้าในตลาดนัด ได้รับทาบทามจากโมเดลลิ่งจากฝั่งยุโรปให้เธอไปทำงานเป็นนางแบบ แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงอาชีพบังหน้า เมื่อความเป็นจริงแล้วแอนนาคือสายลับจาก KGB ที่แฝงตัวเพื่อทำภารกิจสังหารเป้าหมายตามคำสั่งจากเบื้องบน

 

ตัวหนังโฟกัสไปที่ตัวละครหญิงอย่างแอนนา พร้อมกับใช้เทคนิคแฟลชแบ็ค (เล่าเรื่องย้อนหลัง) ในทุกๆ เหตุการณ์สำคัญ โดยหนังจะเผยให้เราเห็นว่า ต้นตอของความวุ่นวายในฉากนั้นๆ แท้ที่จริงแล้ว มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน และใครเป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลัง เทคนิควิธีการดังกล่าวถูกใช้งานครั้งแรกหลังจากที่แอนนาทำภารกิจสังหารนายหน้าจัดหาอาวุธในโรงแรมแห่งหนึ่งได้สำเร็จ  ก่อนที่หนังจะพาคนดูกลับไปถึงช่วงเวลาที่เธอยังเป็นวัยรุ่นที่ชีวิตล้มเหลว อยู่กับอันธพาลที่กดขี่เธอราวกับทาส จนกระทั่งการปรากฏตัวของอเล็กซ์ ทเชนคอฟ เจ้าหน้าที่ KGB (ลุค อีแวนส์) ที่ยื่นข้อเสนอว่าจะกลายเป็นศพ หรือจะผันตัวไปเป็นสายลับ โดยมีข้อเสนอล่อใจที่ว่าหากเธอรับใช้ชาติครบ 5 ปีชีวิตของเธอจะเป็นไทอย่างสมบูรณ์ เมื่อเธอเลือกตัดสินใจอย่างหลังชีวิตของแอนนาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ตัวละครแอนนา เธอโหยหาอิสรภาพให้กับชีวิต สิ่งที่เธอต้องการคือการนำพาชีวิตของตัวเองดีกว่าเดิม แต่บางทีการที่เธอตัดสินใจมาเป็นสายลับนั้น อาจจะเป็นทางเลือกที่ผิด เมื่อวันหนึ่งเธอเริ่มตระหนักได้ว่า เส้นทางในสายนักฆ่านั้นกว่าจะครบกำหนดอายุงาน เธออาจจะตายก่อนก็เป็นได้ หรือยิ่งกัดฟันทำงานนานขึ้นเท่าไหร่ เธอกลับพบว่าการพ้นวาระงานและการได้ไปอยู่อย่างเงียบสงบนั้นไม่มีอยู่จริง แอนนาจึงพยายามหาหลักประกันและวางแผนให้กับชีวิตตัวเองได้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ดังกล่าวเสียที

 

ตัวหนัง Anna ใช้เทคนิคแฟลชแบ็คเพื่อบอกจุดพลิกผันของเรื่องราวตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยในเวลาเดียวกัน คนดูอาจจะได้รู้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมันถูกใช้บ่อยครั้งเข้า (ในหนังใช้เทคนิคนี้ราว 4-5 ครั้ง) ก็กลายเป็นฉากบังคับที่คนดูจะคาดเดาได้ล่วงหน้าทันทีว่า เหตุการณ์สำคัญๆ ที่ดูอยู่นั้น ไม่ใช่อย่างที่หนังเล่าแน่นอน

เหนืออื่นใดคือ การที่หนังพูดถึงสัญลักษณ์อย่าง ตุ๊กตามาโตรชก้าหรือตุ๊กตารัสเซีย เอาไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เพียงเพื่อให้นางเอกหยิบเอามาอธิบายตัวเองในช่วงไคลแม็กซ์ว่า จริงๆ แล้วตัวของแอนนาเองก็เปรียบเหมือนตุ๊กตาที่มีหลายชั้น หลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นสายลับสองหน้า นางแบบ คนรัก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อถอดตัวตุ๊กตาออกจนถึงแก่นข้างในสุดแล้ว เธอก็เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่อยากจะใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาสามัญก็เท่านั้นเอง

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ รีวิว ANNA ผู้หญิงกับตุ๊กตารัสเซีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook