[รีวิว] The Current War ด้านมืดของเอดิสัน และอัจฉริยะที่ถูกลืมเลือน
The Current War ถือเป็นหนึ่งในหนัง Based on a true story ที่เจอมรสุมลูกใหญ่มากว่า 2 ปี หลังจากเปิดตัวฉายรอบพรีเมียร์ใน Toronto International Film Festival (TFF 2017) แล้วฟีดแบ็กไม่ค่อยดี ประเด็นอื้อฉาวของ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ที่ทำให้หนังในสังกัด The Weinstein Company ของเขาต้องเลื่อนฉายหมด รวมถึง The Current War ที่ค้างเติ่งมาปีกว่า อย่างไรก็ตาม การที่มันกลับมาโลดแล่นบนจอเงินในปี 2019 ก็ถือว่าเป็น ‘จังหวะที่ดี’ เพราะนอกจากแคสติ้งที่ทำให้เรานึกถึงเหล่า Avenger แล้ว นี่คือประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ด้านนวัตกรรมโลก
โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงหลอดไฟที่ให้แสงสว่าง ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องนึกถึงชื่อของ โทมัส อัลวา เอดิสัน ซึ่ง The Current War ทำหน้าที่เป็นเหมือน textbook พาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปยังยุค 1880 อีกครั้ง ในช่วงนั้นถือเป็นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และหนึ่งในนวัตกรรมที่ทั่วโลกให้ความสนใจคือการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ชื่อว่า หลอดไฟ
ซึ่ง โทมัส อัลวา เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) ในศตวรรษที่ 19 สร้างพอร์ตโฟลิโอครั้งสำคัญที่ทำให้เขาเป็นที่จดจำเอดิสัน ผลิตหลอดไฟกระแสตรง (DC) ในเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1880 เขากลายเป็นผู้ผู้ขาดการวางระบบไฟทั้ง process ไล่ตั้งแต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้า สายไฟ ไปจนถึงหลอดไฟ มีฐานลูกค้าเป็น นครนิวยอร์ก!
ความทะเยอทะยานของเขามองไปถึงทุกเมืองในสหรัฐฯ ต้องสว่างด้วยแสงไฟจากระบบกระแสตรงของเขาปัญหาคือ ระบบไฟฟ้ากระแสตรงของพี่แกดันมี ‘ช่องโหว่’ สำคัญการส่งกระแสไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำไปยังบ้านเรือนนั้นไม่สามารถส่งกระแสไฟได้ในระยะไกลเต็มที่ไม่เกิน 2 กิโลเมตรเท่านั้น และนี่เป็นอีกครั้งที่ประวัติศาสตร์บอกเราว่าความเห็นที่แตกต่างกันคือ การสร้างสิ่งใหม่
เอดิสันในโมงยามที่เขาโด่งดังมีชื่อเสียงในฐานะสุดยอดนักประดิษฐ์แห่งยุคแล้ว มีลูกน้องอยู่คนหนึ่งในบริษัท นิโคลา เทสลา (นิโคลัส เฮาลต์) วิศวกรเชื้อสายเซอร์เบียนที่ดั้นด้นมาหากินในสหรัฐฯ ด้วยเงินติดตัวแค่ 4 เซนต์ เอดิสัน เห็นแววในตัวเด็กหนุ่ม เลยลองเสนอให้ เทสลา ออกแบบเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้ารุ่นใหม่ พร้อมสัญญาจะให้ค่าจ่างพิเศษถึง 50,000 ดอลลาร์ (ยุคนี้ก็ประมาณ 1.7 ล้านบาท) หนุ่มเซิร์บก็กระตือรือร้นทำงานหามรุ่งหามค่ำจนกลั่นออกมาได้แบบร่างถึง 24 แบบ
แต่สุดท้าย เอดิสัน กลับเบี้ยวไม่จ่ายเทสลาสักเซนต์ แถมเฉลยกับเทสลาว่ามันเป็น joke ของคนอเมริกัน เทสลา ตัดสินใจลาออกพร้อมเก็บความแค้นไปพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและระบบไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ก่อนขายสิทธิบัตรให้กับ จอร์จ เวสติงเฮาส์ (ไมเคิล แชนนอน) คู่แข่งของ เอดิสัน ในตอนนั้น เอาไปใช้ผลิตเป็นเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด ‘สงครามกระแสไฟ’ (The Current War) แน่นอนว่า กระแสไฟฟ้าสลับเข้ามาอุดช่องโหว่ใหญ่ของระบบกระแสไฟตรงที่สร้างแรงดันกำลังสูง สามารถส่งไฟฟ้าไปได้ไกลหลายร้อยเมตรโดยไม่สูญเสียพลังงานผ่านหม้อแปลง
พูดง่าย ๆ ว่าถ้าใช้ไฟกระแสตรงของเอดิสัน ก็ต้องเสียงบสร้างโรงไฟฟ้ายิบย่อยทุกเมือง แต่ถ้าใช้ไฟกระแสสลับ ก็สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แล้วส่งกระแสไฟครอบคลุมไปถึงเมืองอื่นได้ ซึ่งประหยัดต้นทุนกว่ามหาศาล สถานการณ์แบบนี้ไม่เป็นผลดีต่อ เอดิสัน เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองสร้างมา กำลังถูก disrupt และท้าทายอย่างหนัก
ทำไมผมถึงต้องปูเนื้อหามาขนาดนี้ นั่นก็เพราะว่าหนังในช่วงแรกยังเล่าได้ไม่สมูทเท่าไหร่ หากใครที่ไม่ได้ทำการบ้าน หรือมี background มาก่อนอาจพร้อมใจกันหักคะแนนในส่วนนี้ เพราะมันยังมีปัญหาเรื่องการอธิบายปูมหลังและการเรียบเรียงที่ค่อนข้างเนือย ชวนหลับบางจังหวะตัดบางซีนที่ควรจะแช่ทิ้งไว้ เร็วเกินไปหน่อย โดยเฉพาะพาร์ทที่ต้องอธิบายให้คนดูเข้าใจ ก็กลายเป็นว่า แอบงง แอบหลง ช่วงนี้จะมีอีกหลายชีวิตในโรงสูญหายไปจากเนื้อเรื่อง (ฮา)
อย่างไรก็ตาม ไฮไลต์ จริง ๆ ของสงครามกระแสไฟคือช่วงครึ่งหลังล้วน ๆ หากเป็นนักมวยก็ต้องบอกว่ามีก๊อกสองก๊อกสาม มวยแรงปลาย ครึ่งหลังจังหวะของหนังเปลี่ยนไป การเดินเรื่องตามฉบับพีเรียดดรามาที่เข้มข้น ขมวดปมชัดขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่หนังพาเราไปสำรวจจิตใจของทั้งฝ่าย เอดิสัน, เวสติงเฮาส์, อินซัลล์ และ เทสลา ไม่ได้อวย เอดิสัน ไม่ได้ ดิสเครดิต หรือให้น้ำหนักเชียร์ใครเป็นพิเศษ แต่ที่ทำให้มันดูสนุกในครึ่งหลังคือ การเดินเรื่อง และการตัดต่อที่ทำให้จังหวะหนังเปลี่ยนไป mood and tone ก็ให้ความรู้สึกคล้าย ๆ ตอนดู Social Network ไปจนถึง Wolf of Wall Street เป็นช่วงที่หนังเริ่มเปลี่ยน mindset คนจากเดิมที่รับรู้ รู้จัก เอดิสัน มา นี่คือ turning point เราจะได้เห็นสงครามกระแสไฟ ที่เต็มไปด้วยกลเม็ดการใช้สื่อชวนเชื่อในการสาดโคลนเข้าหากัน การดึงชีวิตอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เข้ามาเป็นหมากตัวหนึ่งของเกมทั้งกระดาน
สำหรับ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตซ์ ในบทบาทของ เอดิสัน ก็ถือว่า performance ในระดับมาตรฐาน ยังคงเสน่ห์ล้นกับตัวละครฉลาด ๆ เหมือนแกรับมาตลอดจนเป็นยี่ห้อหนุ่มเบนไปแล้ว ส่วนหนุ่มน้อยสไปดี้ ทอม ฮอลแลนด์ กับบทบาท ซามูเอล อินซัลล์ มือขวาเอดิสัน แม้จะออกมาไม่มาก แต่แต่ละซีนก็มาแบบเนื้อ ๆ เน้น ๆ และเป็นตัวละครที่ยืนอยู่ บนสนามอารมณ์ระหว่าง เอดิสัน และ เวสติงเฮาส์
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็แอบอยากติงว่าส่วนหนึ่งของการเดินเรื่อง มีส่วนทำให้ไม่สามารถดึงออร่านักแสดงออกมาได้สุดกว่าที่ควรจะเป็นเหมือนกัน The Current War น่าประทับใจตรงที่มันได้เปิดเผยให้เห็นตัวตนของตัวละครในหลายมิติ มีความครบถ้วน ตอบโจทย์ถ้าหากใครสักคนอยากจะศึกษาเรื่อง ‘สงครามกระแสไฟ’ อยากจะไปรู้ว่า เหตุการณ์ตอนนั้นจริง ๆ มันฟีลลิ่งประมาณไหน หนังเรื่องนี้ทำให้คุณนึกภาพออก และท้ายที่สุดมันยังคงตอกย้ำความจริงที่หนีไม่พ้นว่า
‘ผู้ชนะได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์’ และแม้แต่หนังอิงประวัติศาสตร์ สิ่งหนึ่งที่น่าเศร้าก็คือ บทบาทของ นิโคลัส เทสลา ในจอเงินยุค 2019 นี้ ก็ยังจืดจางเลือนลางเหมือนหน้าประวัติศาสตร์ที่ด่างพร้อยและไม่เป็นธรรมอยู่วันยันค่ำ
อัลบั้มภาพ 34 ภาพ