The Current War สงครามนักประดิษฐ์

The Current War สงครามนักประดิษฐ์

The Current War สงครามนักประดิษฐ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ว่าด้วยเรื่องไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ หลายคนอาจจะนึกย้อนไปถึงวิชาวิทยาศาสตร์สมัยชั้นมัธยมต้น (หรือสมัยนั้นเรียกกันชิคๆ ว่า “วิทย์-กาย”) ที่ต้องคำนวณค่าตามสมการอันแสนปวดหัว หรือไม่ ใครที่เลือกเรียนแผนวิทย์-คณิต สมัย ม.ปลาย ก็ต้องเจอขั้นแอดวานซ์กว่าในวิชาฟิสิกส์ที่ต้องจำสูตรกันแทบหัวระเบิด แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่เคยได้ทำความรู้จักกับชีวิต “ผู้คิด” เทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมา The Current War คือหนังที่จะพาผู้ชมย้อนกลับไปทำความรู้จักกับสองนักประดิษฐ์ที่มีคุณูปการแก่วงการวิทยาศาสตร์อย่างยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ โทมัส อัลวา เอดิสัน และ นิโคลา เทสลา รวมไปถึงอีกหนึ่งศูนย์กลางความขัดแย้งอย่าง จอร์จ เวสติงเฮาส์ อีกหนึ่งคน

เรื่องราวใน The Current War

ในยุคบุกเบิกของระบบพลังงานกระแสไฟฟ้า โทมัส อัลวา เอดิสัน นำพาแสงสว่างมาสู่เกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก ด้วยแรงสนับสนุนจากนายทุนใหญ่อย่าง เจ.พี. มอร์แกน ทว่า นายทุนคู่แข่งอย่าง เวสติงเฮาส์ ก็ได้ชี้จุดบกพร่องของไฟฟ้ากระแสตรงที่ เอดิสัน คิดค้น โดย นิโคลา เทสลา เป็นอีกหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่นำเสนอไฟฟ้ากระแสสลับขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นพลังงานที่อาจจะมีอันตรายมากกว่าก็ตาม ส่งผลให้เกิดการช่วงชิงความเป็นที่หนึ่งแห่งวงการไฟฟ้า

จากเรื่องจริงอันทรงเสน่ห์สู่ภาพยนตร์

ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ไมเคิล มิทนิค ได้นึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่เขายังเด็กและแปะโปสเตอร์นักวิทยาศาสตร์เอาไว้ที่ผนังห้อง หนึ่งในนั้นคือ โทมัส อัลวา เอดิสัน ผู้ประดิษฐ์หลอดไฟและทรงผมอันกระเซอะกระเซิงเป็นเอกลักษณ์ แต่แล้วเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่และวันหนึ่งที่เขาได้อ่านเจอเรื่องราว สงครามกระแสไฟฟ้าระหว่างเอดิสันและนายทุนอย่าง จอร์จ เวสติงเฮาส์ ที่กลายเป็นเหตุการณ์ตัดสินประเภทของกระแสไฟฟ้าที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังมีหลากหลายเหตุการณ์ที่อบอวลอยู่ในเรื่องนั้น ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้า ความพลิกผัน รวมไปถึงการใส่ร้ายป้ายสีกันอย่างดุเดือด และบางคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า “เก้าอี้ไฟฟ้า” ตัวแรกของโลกก็เกิดขึ้นในยุคนี้เช่นกัน

The Current War ได้ข้อมูลในการเขียนบทภาพยนตร์มาจากหนังสือพิมพ์ บันทึกเก่าๆ รวมไปถึงหนังสือ 3 เล่มอันประกอบไปด้วย ‘Thomas Alva Edison’ ของ ฟรังซิส โจน, ‘A life Of George Westinghouse’ ของ เฮนรี่ จี เพร้าท์ และอัตชีวประวัติของ นิโคลา เทสลา อย่าง ‘My Inventions’”

อย่างไรก็ตามในหนังเรื่องนี้จะไม่มีตัวร้าย และจะไม่มีคนดีอยู่ในเรื่อง ซึ่งตัวผู้กำกับอย่าง อัลฟองโซ โกเมซ-รีจอน ตั้งใจว่าจะไม่เข้าข้างตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเป็นพิเศษ แต่จะพาคนดูไปสำรวจเรื่องราวที่เน้นไปในโลกของ โทมัส อัลวา เอดิสัน

ผู้รับบท โทมัส อัลวา เอดิสัน  

ผู้ที่รับบทเป็น โทมัส อัลวา เอดิสัน ก็คือ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ซึ่งเรียกได้ว่าในเรื่องนี้เขาจะโดดเด่นตั้งแต่ฉากแรก เมื่อเขาได้รับฉายาว่า ‘พ่อมดแห่งเมนโลพาร์ก’ ได้ทำให้สวนสาธารณะภายในมหานครนิวยอร์กสุกสกาวด้วยหลอดไฟที่ประดับเรียงราย โดยไม่เคยมีใครสามารถทำได้มาก่อน

แม้ว่าก่อนมารับบทเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์อย่าง โทมัส อัลวา เอดิสัน แต่ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ก็รู้จัก เอดิสัน เพียงแค่บทเรียนประวัติศาสตร์เท่านั้น เมื่อเขาศึกษาเรื่องราวในชีวิตของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ในแง่มุมที่ลึกซึ่งยิ่งขึ้น และทำให้เขาค้นพบว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ เอดิสัน เริ่มมีอาการหูเสื่อมสภาพ เมื่อเขาเริ่มอายุมากขึ้นหูข้างหนึ่งเขาได้หนวกไปเรียบร้อย ส่วนหูอีกข้างก็เริ่มจะไม่ได้ยินอะไรเช่นกัน เรื่องราวเหล่านี้ได้ทำให้ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ต้องทำการบ้านในการแสดงเป็นคนที่หูเริ่มเสื่อมสภาพด้วยเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้นตัว โทมัส อัลวา เอดิสัน มีนิสัยชอบเอาชนะ ความกระหายในการเอาชนะทำให้เขาเลือกตั้งปณิธานเอาไว้ว่าจะไม่ขอมีส่วนร่วมกับการพรากชีวิตผู้คน แต่กลับย้อนแย้งกับสิ่งที่เขาทำ เมื่อถึงจุดๆหนึ่งเขากลับเป็นคนสร้างเก้าอี้ไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อหวังจะชนะในสงครามกระแสไฟฟ้า ภายใต้มุมมองของนักแสดงอย่าง เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ อธิบายถึงตัวละครที่เขารับบทว่า เอดิสัน นั้นไม่ใช่คนเลว เขาเป็นเพียง “ฮีโร่ตกกระป๋อง” ในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น

จอร์จ เวสติงเฮาส์ (ไมเคิล แชนนอน)

จอร์จ เวสติงเฮาส์ ถือเป็นนักประดิษฐ์และนายทุนคนสำคัญที่จัดตั้งบริษัทไฟฟ้าเวสติงเฮาส์ขึ้นมา เพื่อดัดแปลงระบบการส่งไฟฟ้าจากกระแสตรงมาเป็น กระแสสลับ ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้สายไฟขนาดใหญ่ และสร้างโรงงานไฟฟ้าหลายแห่ง ทำให้ราคาค่าไฟถูกลง เมื่อนานวันเข้าระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้รับความนิยมมากขึ้นได้สร้างความขัดแย้งกับบริษัทผลิตไฟฟ้าของ โทมัส อัลวา เอดิสัน จนกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญในหนังเรื่องนี้

นิโคลา เทสลา (นิโคลัส โฮลท์)

บทบาทของนักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวเซิร์บ นิโคลา เทสลา ผู้ตัดสินผลแพ้ชนะของสงครามกระแสไฟฟ้านั้นรับบทโดย นิโคลัส โฮลท์ ซึ่งตัวนักแสดงเองให้นิยามตัวละครว่า “ถ้าหากเอดิสันและเวสติงเฮาส์สามารถมองเห็นอนาคตในช่วงระยะเวลา 10 ปี ได้ เทสลา ก็สามารถมองเห็นอนาคตในช่วงระยะเวลาได้ถึง 100 ปี ครับ” จากบทภาพยนตร์นั้น การใส่เรื่องราวของ นิโคลา เทสลา ได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงว่า โทมัส อัลวา เอดิสัน เริ่มรู้ตัวว่าเมื่อ เวสติงเฮาส์ ไม่สามารถสร้างมอเตอร์ที่ทำงานกับกระแสไฟฟ้าสลับได้ แต่ เทสลา ทำได้ ส่งผลให้ เทสลา กลายเป็นคนที่จะถูกจารึกชื่อลงในประวัติศาสตร์ต่อจาก เอดิสัน เพียงเพราะว่าเขาเคยโดนเจ้านายเก่าอย่างเอดิสัน “หลอกใช้” นั่นเอง

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ The Current War สงครามนักประดิษฐ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook