รีวิว หลวงตามหาเฮง หวยและสังคมไทย

รีวิว หลวงตามหาเฮง หวยและสังคมไทย

รีวิว หลวงตามหาเฮง หวยและสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

ผลงานหนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับฝีปากคมอย่าง พชร์ อานนท์ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของหลวงตา (น้าค่อม อาคม ปรีดากุล) พระอารมณ์ขันและจิตใจงามประจำชุมชนอย่างโคกอีรวย ที่ในทุกวันพระหลังจากที่ท่านเทศนาธรรมจบ บรรดาญาติโยมที่มาฟังธรรมก็มักจะตีเลขเด็ดจาก ลักษณะท่าทางรวมไปถึงคำพูดของหลวงตาอยู่เสมอ และความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงตาก็ทำให้บรรดาญาติโยมถูกหวยอยู่เป็นประจำ

 

 

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงตาดูเหมือนจะสร้างปัญหาให้กับคุณนายทองคำ (สุนารี ราชสีมา) และคุณนายทองแดง (อาภาพร นครสวรรค์) สองเจ้ามือหวยใต้ดินประจำโคกอีรวย ที่ยิ่งคนถูกหวยมากแค่ไหน สองเจ๊ก็ต้องควักกระเป๋าตัวเองไปจ่ายให้แก่ญาติโยมของหลวงตามากขึ้นเท่านั้น ความชุลมุนจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อสองเจ้ามือวางแผนกำจัดหลวงตาไปให้พ้นทาง

 

เรื่องราวระหว่างทางของหลวงตามหาเฮงเป็นเหมือนการเล่า “หลายชีวิต” ในชุมชนโคกอีรวย ที่เหมือนมีจุดศูนย์กลางกันอยู่ที่หลวงตา พวกเขาจะเดินทางมาร่วมงานเทศกาลวันสำคัญทางพุทธศาสนา ไม่ใช่เพราะเลื่อมใสในพระธรรมคำสอน หากมองลึกไปกว่านั้นเราจะเห็นได้ว่าตัวละครแทบทุกตัวในหนังเรื่องนี้ มีแต่เรื่องทางโลกที่มุ่งจะรวย ถูกหวยกันอย่างเดียว

 

 

สถานะของตัวละครในเรื่องเรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนภาพสังคมไทยที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนบุคลิกความขี้สงสาร ค่านิยมในการผลักดันให้ลูกไปทำงานในเครื่องแบบ (ตำรวจ ทหาร) การเชื่อในเรื่องราวของไสยศาสตร์ (ถอดจิตไปดูเลขหน้ากองสลาก) ความฝันของแม่ค้าที่อยากมีสามีเป็นชาวต่างชาติ การให้ความสำคัญกับรูปโฉมภายนอกจนมองความแตกต่างเป็นความอัปลักษณ์ชวนตลกขบขัน การคุมกำเนิดและเด็กเกิดใหม่ที่กลายเป็นภาระของสังคม  ทหารผ่านศึกผู้พิการและได้รับบาดเจ็บและปราศจากการเยียวยาจากภาครัฐ ยาเสพย์ติดภายในชุมชน การยกพวกตีกันในสถานที่ราชการ

 

ปริมาณความเยอะแยะมากมายของบรรดาตัวละครประกอบในเรื่อง (ซึ่งเยอะกว่าจำนวนตัวละครในละครซิทคอม) ทำให้หนังไม่อาจจะสำรวจความตื้นลึกในปัญหาของตัวละครแต่ละตัวได้สักเท่าไหร่ ส่วนมากเป็นการเล่าเรื่องแบบผ่านๆ ซึ่งเอาจริงๆแล้วตลอดความยาวกว่า 2 ชั่วโมงของหลวงตามหาเฮง ก็ยังคงสไตล์การทำหนังแบบพี่พชร์ อานนท์ ที่มีแต่โครงสร้างใหญ่ๆของตัวหนัง แต่ไม่ได้เน้นย้ำประเด็นอะไรเป็นสำคัญ เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ พลางหยอดมุกตลกที่แป้กบ้าง ได้ผลบ้าง (ส่วนใหญ่มุกตลกที่ได้ผลมักจะมาจากบรรดานักแสดงตลกเบอร์ใหญ่ๆที่จังหวะจะโคนในการตบมุกดีอยู่แล้ว)

 

 

ในหลวงตามหาเฮง มีฉากจำพวก Tie-in (โฆษณาแฝง) แบบประเจิดประเจ้อ ตั้งใจขายแบบจริงๆจัง คือการนำเอาสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนภาพยนตร์ใส่เข้ามาในเรื่องแบบตั้งใจ (แต่ก็สอดคล้องไปกับสถานการณ์และสินค้าเหมาะสมกับบริบทเรื่อง รวมไปถึงตัวละคร) นั่นคือช่วงเวลาที่ตัวละครต้องเอาทองไปจำนำเพื่อแลกเงินมาช่วยเหลือเพื่อน และฉากตัวละครต้องเอารถยนต์ไปขอสินเชื่อ หนังก็ได้เสนอขายบริการต่างๆ แบบเดียวกับที่เราได้เห็นตามโฆษณาทางโทรทัศน์เลยทีเดียว

 

กล่าวรวมๆ หลวงตามหาเฮง ก็เป็นหนังสไตล์รวมดาวตลกและไมโครเซเลบริตี้ ตามแบบฉบับพชร์ อานนท์ ที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าดูแล้วสังเกตรายละเอียดของตัวละคร ก็มีอะไรให้เราได้นึกถึงความ “ไม่เท่าเทียมกัน”ของคนในสังคมไทยได้อยู่เหมือนกัน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook