Child’s Play กำเนิดใหม่ของ "ชัคกี้" เพื่อนรักนักปาดคอ!

Child’s Play กำเนิดใหม่ของ "ชัคกี้" เพื่อนรักนักปาดคอ!

Child’s Play กำเนิดใหม่ของ "ชัคกี้" เพื่อนรักนักปาดคอ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนตุ๊กตาแอนนาเบลจะกลายเป็นไอคอนของวัตถุขนหัวลุกในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้เธอมีรุ่นพี่ที่ดังมาก่อนอย่าง “ชัคกี้” จากหนังสยองขวัญเรื่อง Child’s Play ในปี 1988 ซึ่งผู้ให้กำเนิดมันก็คือ “ดอน แมนซินี่” กว่า 30 ปีที่ชัคกี้ได้รับการกล่าวถึง (และมีภาคต่อตามออกมาหลายภาค) วันนี้ Child’s Play ได้รับการยกเครื่องใหม่อีกครั้งในแบบที่เราอาจจะนึกไม่ถึง

 

 

จากแนวคิดของเด็กมหาวิทยาลัยสู่ผลงานระดับไอคอน

 

ดอน แมนซินี่ ในสมัยที่เขายังเป็นเด็กอยู่นั้น ดอนถูกพ่อของตัวเองใช้เป็นหนูทดลองยา! เพราะพ่อของเขาทำงานอยู่ในบริษัทยาแห่งหนึ่ง เวลาที่มีผลิตภัณฑ์ตัวไหนออกใหม่อาทิ ยาแก้ไอ หรือ ยานอนหลับ เขาก็จะถูกบังคับทาน เพราะพ่อของเขาบอกว่ามันมีประโยชน์สำหรับเด็ก!

 

 

เมื่อสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ดอน แมนซินี่ ได้แนวคิดเรื่อง “การตลาดที่ส่งผลต่อเยาวชน” หลังจากที่เขาเห็นว่าตุ๊กตาหัวกะหล่ำปลีที่ถูกโฆษณาอย่างมากมายภายใต้ชื่อ Cabbage Patch ได้รับความนิยมแบบฉุดไม่อยู่ ทำให้เขานำความรู้สึกในวัยเด็ก มาหลอมรวมกับไอเดียในการสร้างตุ๊กตานักฆ่า ผลลัพธ์ที่ได้คือบทภาพยนตร์เรื่อง Child’s Play

 

 

เรื่องราวใน Child’s Play ของปี 1988 นั้นว่าด้วยชาร์ลส์ ลี เรย์ โจรและฆาตกรต่อเนื่องที่ถูกนักสืบไมค์นอริสตามล่า เขาถูกยิงอาการบาดเจ็บสาหัสจึงหนีเข้าไปอยู่ในร้านขายของเล่น เมื่อชาร์ลรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะชะตาขาด เขาจึงร่ายคาถามนต์ดำเพื่อย้ายวิญญาณของตัวเองเข้าไปอยู่ในตุ๊กตา Good Guys และเป็นต้นกำเนิดของตุ๊กตาฆาตกรนามว่า “ชัคกี้”

 

 

เวอร์ชั่นปี 2019 ไม่มีวิญญาณ มีแค่จักรกล (อัจฉริยะ) วิปลาส

 

เซธ เกรแฮม สมิธ โปรดิวเซอร์ของ Child’s Play ปี 2019 เล่าว่าตอนที่หนังในเวอร์ชั่นปี 1988 ออกฉากนั้นเขามีอายุแค่ 12 ขวบ เขายังจำความน่าขนลุกของตุ๊กตาตัวนี้ได้ไม่ลืม จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รับบรีฟว่า MGM และ Orion Pictures อยากจะปัดฝุ่น Child’s Play เอากลับมาทำใหม่ แต่ทีมงานรู้สึกว่าเขาไม่อยากจะรีเมคเรื่องราวมาจากเวอร์ชั่นเดิม เพราะมันได้กลายเป็นหนังคลาสสิกขึ้นหิ้ง และกลายเป็นตัวร้ายในความทรงจำของนักดูหนังไปแล้ว

 

หลังจากที่ระดมสมองกัน ทีมงานตื่นเต้นมากที่จะปลุกชัคกี้ขึ้นมาให้เป็นมากกว่าแค่ของเล่นสำหรับเด็ก แต่ยังเป็นเอไอ (AI) ปัญญาประดิษฐ์อัจริยะคล้ายกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทแอปเปิ้ล และหนังก็โยนคำถามต่อว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อของเล่นเหล่านี้เกิดทำงานผิดพลาด

 

ความสนุกในการอัพเกรดชัคกี้ให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น ก็คือเขาจะมีวิธีในการฆ่าตัวละครในเรื่องเยอะขึ้น ประกอบกับความล้ำสมัยของชัคกี้ ทำให้มันสามารถเขาถึงแกดเจ็ตต่างๆและมองผ่านมัน ดังนั้นชัคกี้ จึงสามารถควบคุมอุณหภูมิของตัวบ้าน ยานพาหนะ หุ่นยนต์ เครื่องดูดฝุ่น หรืออะไรก็ตามที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดังกล่าว จะกลายมาเป็นอาวุธที่ฆ่าคุณให้ตายได้ทันที

 

 

การตามหาตัวผู้กำกับ

 

หลังจากที่ไทเลอร์ เบอร์ตัน สมิธ มือเขียนบทของ Child’s Play (2019) พัฒนาบทภาพยนตร์เสร็จภายในเวลา 6 สัปดาห์ ค่ายหนังก็ตัดสินใจเลือกผู้กำกับอย่าง ลาร์ส เคลฟเบิร์ก ซึ่งมีผลงานหนังสั้นเพียงเรื่องเดียวอย่าง Polaroid มากำกับ (และก่อนหน้านี้เขาก็ได้พัฒนาหนังสั้นของตัวเองให้กลายเป็นหนังเวอร์ชั่นยาวอย่าง Polaroid ที่เพิ่งเข้าฉายบ้านเราไปไม่นานนี้)

ความแตกต่างอย่างชัดเจนของชัคกี้ในเวอร์ชั่นนี้กับเวอร์ชั่นก่อน คือการเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกจะเป็นตัวร้ายอย่างชัดเจน ซึ่งคนดูตอนที่พวกเขาชมภาพยนตร์ พวกเขาจะได้ทำความเข้าใจถึงเหตุผลและแรงจูงใจว่าทำไมมันถึงเลือกที่จะทำในสิ่งที่เลวร้ายแบบนี้

 

หนังเวอร์ชั่นนี้จะกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างชัคกี้และแอนดี้ ซึ่งคุณเข้าใจจุดยืนของทั้งสองฝ่าย จนคนดูอาจจะเห็นใจตุ๊กตาฆาตกรตัวนี้ด้วยซ้ำ เขาต้องการทำในสิ่งที่เขาคิดว่ามันดี แต่การกระทำของเขาเป็นผลมาจากอิทธิพลของโลกภายนอก เขายังอ่อนต่อโลกมาก นี่แหละคือจุดเริ่มต้นด้านมืดของเขา

 

 

อย่าไว้ใจเทคโนโลยี

 

คนยุคปัจจุบันผูกชีวิตเอาไว้กับเทคโนโลยี ทุกอย่างอยู่กับระบบคลาวด์ ไม่ต่างอะไรจากที่มนุษย์ถูกครอบงำจากสิ่งของเครื่องใช้ของตัวเอง และไอเดียนี้นำไปสู่วิธีการปรับเปลี่ยน Child’s Play (2019) ให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม บทภาพยนตร์ในเวอร์ชั่นนี้จะทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากเอาใจช่วยชัคกี้ เนื่องจากเขาเป็นแค่เพียงสิ่งจองที่ถูกโปรแกรมทุกอย่างมาไว้หมดแล้ว ตุ๊กตาตัวนี้ถูกโปรแกรมมาให้เป็นเพื่อนแท้ของเด็กคนนี้ ถ้ามองมุมนั้นมันก็เหมือนหนังรัก ทว่าชัคกี้ก็มีหลายมุมและหลายอารมณ์เมื่อเขากำลังจะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่น่ากลัวเช่นเดียวกัน

 

อย่างไรก็ตามภายใต้มุมมองของตัวผู้กำกับอย่างลาร์ส เคลฟเบิร์ก ซึ่งอยากจะดีไซน์ให้โลกที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้คล้ายกับการมองผ่านมุมของเด็กผู้ชาย ที่มีกลิ่นอายของหนังยุค 80 แต่เล่าเรื่องร่วมสมัย และเหมือนการทำนายอนาคตไปพร้อมๆกัน

 

โทนสีในเรื่องจะมีความอบอุ่น บ้านของตัวละครที่แอนดี้และแคเรนย้ายเข้ามาในอพาร์ทเมนต์ จะให้ความรู้สึกโอ่โถง สบายแต่ก็มีความเก่าวินเทจเนื่องจากมันถูกสร้างมาเป็นเวลานาน ความเสื่อมโทรมของผนังและหลอดไฟ ทำให้สถานที่ในเรื่องเหมือนถูกหยุดเวลาเอาไว้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook