รีวิว The Current War วางอัตตาให้เป็น

รีวิว The Current War วางอัตตาให้เป็น

รีวิว The Current War วางอัตตาให้เป็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

เราคงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำนักว่า หนังเรื่อง The Current War เป็นหนังแนวชีวประวัติของโทมัส อัลวา เอดิสัน หรือ จอร์จ เวสติงเฮ้าส์ รวมไปถึงนิโคลา เทสลา ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้มอบให้ คือการชวนให้คนดูตกผลึกถึงพฤติกรรมของตัวละครในช่วงบทสรุปของเรื่องว่า บางครั้งเราก็ต้องวางอัตตาลงให้เป็น

 

The Current War เล่าถึงช่วงเวลาที่โทมัส เอดิสัน (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์) พยายามผลักดันแนวคิด “ไฟฟ้าแบบกระแสตรง” เพื่อพัฒนาประเทศอเมริกาให้สว่างไสวยามค่ำคืน ส่วนนักลงทุนผู้มีชื่อเสียงอย่างจอร์จ เวสติงเฮ้าส์ (ไมเคิล แชนนอน) มองเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการดังกล่าวให้เติบโตมากขึ้น เขาจึงอยากจะชวนเอดิสันให้มาร่วมทานอาหารค่ำ แต่ด้วยอีโก้และอัตตาอันมากล้นของเอดิสัน จึงไม่สนใจคำเชิญของจอร์จ (เขาตัดสินใจนั่งรถไฟผ่านสถานีที่จอร์จยืนคอยแบบเย็นชา)

 

ระหว่างที่เอดิสันพยายามจะนำความสว่างไสวมาให้กับเมืองนิวยอร์ก ทางด้านเวสติงเฮ้าส์ได้พยายามพัฒนาการวางแผนในการขยายโครงข่ายไฟฟ้ากระแสสลับ ที่มีราคาถูกกว่าและสามารถส่งกระแสไฟฟ้าออกไปได้ในระยะทางไกลกว่า ความสำเร็จในการนำแสงสว่างไปใช้ของเวสติงเฮ้าส์ ทำให้เอดิสันหัวเสียและโกรธเพราะทางฝั่งเวสติ้งเฮ้าส์ได้นำหลอดไฟสิ่งประดิษฐ์ของเอดิสันมาใช้งาน สงครามในการป้ายสีจึงเริ่มต้นขึ้น

 

 

ในหนัง The Current War ตัวละครเอดิสันถูกนำเสนอบุคลิกคนหัวรั้น ชอบเอาชนะ เอาแต่ใจตัวเอง สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือช่วงเวลาที่เขากำลังจะรบ นิโคลา เทสลาเพื่อเข้ามาทำงานในบริษัท เทสลาพยายามจะนำเสนอแนวคิดเรื่องมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ แต่เขาไม่เชื่อว่านิโคลาจะทำมันได้ เอดิสันจึงยื่นข้อเสนอลมๆแล้งๆว่าเขาจะจ้างเทสลาด้วยเงิน 10 เหรียญ และถ้าหากเขาประดิษฐ์ขึ้นมาได้จริง จะยอมขึ้นเงินเดือนให้ เวลาผ่านไปสักระยะ เทสลาพยายามนำเสนอแนวคิดของเขาอีกครั้ง แต่ถูกเอดิสันปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย ประกอบกับเอดิสันเป็นคนที่ยึดมั่นแต่ในความคิดของตัวเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด เมื่อเทสลาเห็นเช่นนั้นเขาจึงเดินออกจากบริษัทของเอดิสันโดยไร้คำอำลา เพื่อออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง

 

ความพยายามอยากจะเอาชนะเวสติ้งเฮาส์ ยังทำให้เอดิสันเลือกจะทำในสิ่งที่เขาเคยบอกว่าจะไม่มีวันทำ นั่นก็คือการประดิษฐ์สิ่งที่เป็นอาวุธสังหาร เขาจึงมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ “เก้าอี้ไฟฟ้า” โดยการนำวิทยาการไฟฟ้ากระแสสลับมาใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอานุภาพอันรุนแรงของไฟฟ้ากระแสลับ แม้เขาจะมีส่วนร่วมแบบลับๆก็ตาม แต่วันหนึ่งเรื่องราวก็แดงขึ้นมา และทำให้ชื่อเสียงของเอดิสันถูกมองไปในทางลบอยู่ไม่น้อย

 

 

อีกช่วงหนึ่งของหนังที่น่าสนใจ ที่ตอกย้ำว่าคนอย่างเอดิสันนั้นไม่มีวันจะยอมแพ้ง่ายๆ คือการที่ภรรยาของเขา เริ่มมีอาการป่วยจากการเวียนหัว สายตาเริ่มพร่าเลือน จนท้ายที่สุดเธอก็ล้มป่วยอย่างหนัก บทสนทนาระหว่างเขาและหมอน่าสนใจตรงที่ว่า เอดิสันพยายามคาดคั้นว่าจะมีหนทางไหนที่จะช่วยภรรยาของเขาได้บ้าง เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเธอ หมอจึงตอบได้เพียงว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับภรรยาของเขานั้น อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ไม่มีอะไรที่จะช่วยเหลือเธอได้อีกแล้ว ไม่นานนักภรรยาของเอดิสันก็จากไป เหลือไว้แค่เพียงความทรงจำ

 

อาจจะเป็นช่วงเล็กๆที่ คนดูจะได้เห็นความทะเยอทะยานของเอดิสัน แต่ในจุดหนึ่งเขากลับพบว่าสิ่งที่เขาพ่ายแพ้และต้องยอมรับมันแต่โดยดีคือ “ธรรมชาติและความตาย” ที่เขาไม่อาจจะเอาชนะได้ และทำให้คนอัตตาสูงอย่างเอดิสัน เริ่มมองเห็นว่าชีวิตของคนเรานั้นมีขึ้นและต้องมีลงเป็นของธรรมดา  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook