เรยา Parasite ดอกส้มคนใช้ ละครไทยใต้ถุนพวกผู้ชายนายทุน

เรยา Parasite ดอกส้มคนใช้ ละครไทยใต้ถุนพวกผู้ชายนายทุน

เรยา Parasite ดอกส้มคนใช้ ละครไทยใต้ถุนพวกผู้ชายนายทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในช่วงนี้กระแสภาพยนตร์ Parasite ชนชั้นปรสิตกำลังมาแรง เป็นที่เมาท์มอยออกรสในหมู่คนดูหนังรุ่นใหม่ค่ะคุณกิตติขา หลายคนเขาว่านี่เป็นหนังปาล์มทองคำเมืองคานส์ที่วิพากษ์เรื่องชนชั้นอย่างแสบสัน แต่ขณะเดียวกันมันก็ดันเป็นงานภาพยนตร์เสพย์ง่ายอย่างเหลือเชื่อ ไม่เหมือนหนังรางวัลเรื่องอื่นๆ ที่แทบจะต้องปีนกระได กราบสามทีก่อนดู กลับไปนอนเอาเท้าก่ายหัวตกตะกอนสามวันสามคืน แล้วค่อยไลน์บอกเพื่อนว่าสรุปแล้วหนังมันพูดเรื่องอะไร แต่สำหรับ Parasite คือไม่ต้องไม่ต้อง มันตรงๆ ง่ายๆ แต่สัญลักษณ์คมคายเหลือเกิน

แน่นอนค่ะ ในช่วงที่ทุกคนกำลังอินจันมั่นคงกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ประเด็นที่หลายๆ สำนักได้พูดถึงกัน ก็ค่อนข้างจะไปในทิศทางเดียวกันหมด พูดเหมือนกันหมด ในเรื่อง “ช่องว่างของชนชั้น” และ “เหม็นกลิ่นสาปคนจน” แต่อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ก็สัญชาติเกาหลีอ่ะโนะ บริบทของเรื่องอะไรตั่งต่าง มันก็มีความเกาหลีอยู่มาก 

แต่พอมานั่งนึกดีดีแล้ว คุณกิตติขา เรื่องของชนชั้น การตะกายดาวของคนจาก “ใต้ถุน” สังคมเนี่ย  ของไทยเราเอง ก็มีตัวละครที่ปรากฎการไต่เต้าตามรูปแบบเดียวกับใน Parasite เลยค่ะ แถมเป็นละครที่คนไทยรู้จักกันโดยทั่วไปเสียด้วย ตัวละครผู้หญิงที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา จะต้องหลุดไปจากผืนดินเสียให้ได้ทีเดียว

 “เรยา” จาก ดอกส้มสีทอง นั่นเอง

เรยา วงศ์เสวต หรือ ฟ้า เธอเป็นตัวละครที่ปรากฎอยู่ในนวนิยายภาคต่อของ ถ่ายเถา สุจริตกุล ในชื่อ “ดอกส้มสีทอง” โดยเป็นภาคต่อของหนังสือ “มงกุฎดอกส้ม” โดยต้นฉบับมงกุฎดอกส้มนั้น ซื้อลิขสิทธิ์ดัดแปลงมาจากนวนิยายจีน 妻妾成群 (Wives and Concubines) ที่เคยทำเป็นภาพยนตร์จีนมาแล้วครั้งหนึ่งในชื่อ 大紅燈籠高高掛 หรือ ผู้หญิงคนที่สี่ชิงโคมแดง

จะให้เมาท์ไวไว รวบๆ ย่อๆ ตามสไตล์ชาวเน็ตนั้น มงกุฎดอกส้ม และ ดอกส้มสีทอง เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสองคนที่แต่ละคนต้องดิ้นรนในโลกที่ผู้ชายรวยมีอำนาจ โดยภาคแรก คำแก้ว เป็นเด็กสาวที่ถูกขายมาเพื่อขัดดอกแทนพ่อ จับพลัดจับผลูมาเป็นเมียคนที่สี่ของเจ้าสัวตระกูลเช็งผู้มั่งคั่งแห่งบ้านปากน้ำภาษีเจริญ เด็กสาวไทยที่โลกสดใส ใฝ่ฝันจะโบยบินเป็นอิสระและได้พบรักแท้ ได้สวมมงกุฎดอกส้มสีขาวในวันแต่งงานให้ได้ ความฝันอันสวยงามนั้นดับวูบไปตั้งแต่ชีวิตยังไม่ได้เริ่ม และท้ายที่สุด ความดำมืดของบ้านเจ้าสัวเช็งนั้นทำให้เธอล้มเหลวอย่างน่าอนาถใจ ความบริสุทธิ์ผุดผ่องยองใยของวัยแรกแย้มโดนฉีกทำลาย ความฝัน ความรักอะไรป่นปี้ไม่มีเหลือ สติสัมปชัญญะขาดผึง เธอเป็นบ้าเพราะรับแรงกดทับทางสังคมในบ้านไม่ไหว มีทั้งคนตาย คนเป็นบ้า คนเป็นเกย์ มั่วไปหมด

แต่ในภาคสองที่เทยจะกล่าวบทไปนั้นแซ่บกว่า หากคำแก้วเป็นหญิงสาวที่โลกสวยสดใส เฝ้าฝันถึงมงกุฎดอกส้มในวันแต่งงาน เพื่อเป็นเครื่องยืนยันในความรักอันบริสุทธิ์จากชายซักคนที่จะพาเธออกไปจากกรงทอง “เรยา” เด็กสาวลูกคนใช้ที่คำแก้วเป็นคนตั้งชื่อให้นั้น ไม่ต้องค่ะ มงกุฎดอกไม้งานแต่งคืออะไรเหรอ เพ้อเจ้อ ฉันไม่จำเป็นต้องใช้ของพวกนั้นเพื่อหลุดพ้นไปจากความระทมของชีวิต ฉันทำได้มากกว่านั้นอีก

ดอกส้มสีทอง จึงเป็นชื่อที่ตั้งเป็นกระจกสะท้อนคำว่า มงกุฎดอกส้ม อีกที ผ่านตัวละครผู้หญิงแตกต่างจากภาคแรกโดยสิ้นเชิง

เรยา เป็นลูกคนใช้ อาศัยอยู่ในระดับ “ใต้ถุน” ของสังคมในบ้านเจ้าสัวเช็ง เด็กตัวดำตับเป็ดที่โดนบรรดา “ลูกๆ” ของคุณนาย “เหม็นสาปลูกคนใช้” อยู่ตลอดเวลา เธอโดนรายล้อมไปด้วยคำก่นด่าดูถูกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ในขณะเดียวกัน เด็กตัวน้อยๆ ได้เรียนรู้ว่าถ้าชีวิตจะฟุ้งเฟ้อได้ เธอต้องทำให้คนอย่างเจ้าสัวเช็งพอใจ ให้เขายกยอเป็นเมียให้ได้ แม้จะเป็นเมียที่ 2 ที่ 3 เธอก็จะกลายเป็นคนมั่งมี ไม่ต่างจาก คำแก้ว ที่ขนาดเป็นแค่เด็กสาวธรรมดา ก็กลายเป็น “คุณนาย” ได้เหมือนกัน

ในภาพยนตร์เรื่อง Parasite คีวู หรือ คุณครูเควิน ใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือเข้าไปกัดกินตระกูลพัคด้วยการเริ่มเป็นติวเตอร์ เขาใช้สมองวางแผนร่วมมือกับน้องสาวอย่างชาญฉลาด เพื่อใช้ช่องว่าง ช่องโหว่ โอกาสจากครอบครัวคุณพัค เพื่อทำให้พ่อแม่และครอบครัวของเขา ดีขึ้นกว่าที่เป็น แน่นอนว่าในเรื่องมันเต็มไปด้วยความเสี่ยง ความตื่นเต้น เหลียวหน้าระวังหลัง ชวนให้คนดูอึดอัดไปพร้อมกับความลับที่คีวูและครอบครัวต้องคอยเก็บกวาดไว้ใต้ถุนของบ้านเสมอ

แต่กับ เรยา เธอมีสกิลทางภาษาอังกฤษที่ดีพอพอกับ คีวู แต่เธอไม่จำเป็นต้องเหนื่อยที่จะเก็บความลับอะไรทั้งนั้น เธอใช้มันบวก “เครื่องหว่างขา” ในการอัพเกรดตัวเองขึ้นไปเป็นแอร์โฮสเตสจนได้ ผ่าน “ความเอ็นดู” ของนายทุนเจ้าของสายการบินก็เท่านั้นเองค่ะคุณ เรยาไม่จำเป็นต้องเก็บความลับ หรือทำตัวหลบซ่อนซุกอะไรไว้ใต้ถุนแบบคีวู กลับกันเธอกระเสือกกระสนที่จะแสดงตัวว่า “ฉันก็ได้เขาเหมือนกัน” อยู่เสมอ และใช้มันเป็นเครื่องมือต่อรองสินทรและตระกูลชลธีผู้มีอิทธิพล ตระกูลที่หน้าบางเกินกว่าจะยอมรับได้ว่าเขยใหญ่ของตระกูลมีเมียเล็กเมียน้อยในบ้าน และต้องการจำเขี่ยเธอออกไปให้พ้นอาย เธอตบเงินพวกเขามาได้ 20 ล้าน และพลิกให้เธอและแม่ที่เป็นคนใช้ มีชีวิตดีขึ้นได้ใน 7 วันเท่านั้นเอง

เซเว่นเดย์ มิราเคิล คีวู Parasite ต้องมาดูงานเลยนะคะเนี่ย

แน่นอน ข้อสังเกตที่เหมือนกันคือ “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เอาไว้ “อัพราคา” นั้น ดูไม่ต่างกันเลยจากทั้งสองเรื่อง แต่ทว่าช่องโหว่ที่เรยาอาศัยเกาะกิน ไม่ใช่การกระหายการเป็นชนชั้นที่ดีไปอีกขั้นของตระกูลพัค หากแต่เป็นความกระหายในกามบารมีอีกขั้นของมนุษย์ผู้ชายในโลกของนายทุนแบบไทยนั่นเอง

ค่านิยมที่ว่าเมื่อผู้ชายไทยประสบความสำเร็จมากๆ แล้ว หาการเศษหาเลย มีบ้านเล็กบ้านน้อย ย่อมเป็นเรื่องที่เขาเมาท์กันว่ามัน “ปกติ” เพราะในรากวัฒนธรรมในสังคมไทย เขาว่า “ผู้หญิง” ถือทรัพย์สินอย่างนึงที่ผู้ชายต้องมีครอบครอง ใหญ่โตมากแค่ไหน เมียต้องมากตามไปด้วย แล้วยิ่งมาทาบกับข้อเท็จจริงที่ว่า 10 อันดับเศรษฐีไทย ทั้ง 10 ชีวิตล้วนเป็นผู้ชายทั้งนั้น จึงไม่แปลกเลยที่ตัวนวนิยาย “ดอกส้มสีทอง” เลือกให้เรยาที่เป็นตัวเอกในภาคนี้ ใช้วิธี “บนเตียง” ขึ้นมาเกาะกินทรัพย์สินจาก “เจ้าสัว” เหล่านั้น เพื่อดึงให้ตัวเองสูงส่งไปอีกขั้นของชีวิตให้ได้

ในบทความของสายกูรูหลายท่านที่เทยได้อ่านเกี่ยวกับ Parasite มีการกล่าวถึงความเติบโตของสังคมเกาหลีใต้ เต็มไปด้วย New Rich หรือเศรษฐีใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นมรดกมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของเกาหลีใต้ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานี้ ทำให้ประชากรเกาหลีใต้หลายส่วนเกิดการ “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไร้คุณภาพเสียทีเดียว มีประชากรตกรถไฟหลายคนที่เกิดเหตุโดนกดทับเพียงเพราะ “ไร้โอกาส” และอาจถูกกำจัดได้ง่ายผ่านภัยพิบัติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญยิ่งยวดของสังคมเกาหลี 

ในขณะที่เหล่าเศรษฐีใหม่ในโลกตลาดการค้าเสรี หลายคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็เกิดอาการ “รู้ลึกแต่โง่กว้าง” ขึ้นมาเสียเฉยๆ ความเชี่ยวในสาขาการงานของตัวเองคือที่หนึ่ง แต่รายละเอียดของคนรอบตัวและสังคมกลับตื้นอย่างไม่น่าเชื่อ สังคมคนรวยเกาหลีใจ้จึงหมกมุ่นอยู่กับการพยายามไต่ตัวเองขึ้นไป “ดูดี” อีกขั้น ทั้งการเพิ่มการเรียนภาษาอังกฤษให้กับคนในครอบครัว หรือรับเอามรดก “อเมริกา” เข้ามาในบ้าน เพื่อให้ “ดูดีไว้ก่อน” จนอาจจะกลายเป็นคำถามว่า คนรวยใหม่เกาหลีใต้แบบตระกูลพักในเรื่อง Parasite นั้น เป็นคนรวยแล้วดีหรือเป็นคนดีเพราะรวยกันแน่ 

แต่กับดอกส้มสีทองในบริบทสังคมไทย สิ่งที่ใช้เป็นมาตรฐานของเศรษฐีใหม่กลับไม่ใช่ค่านิยมตะวันตกหรือการดูเป็นคนดีแบบตะวันตก เพราะโดยพื้นฐานเจ้าสัวไทย พวกเขาค้าขายกับคนในประเทศ ครองใจตลาดใหญ่ที่สุดในประเทศได้ผ่านการบริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มให้กับคนในประเทศ ไม่จำเป็นต้องรับค่านิยมตะวันตกหรือเอาเทรนด์ “อเมริกา” เข้ามาในบ้านขนาดนั้น ดังนั้นแค่การทำตัวให้อยู่ในค่านิยมคนในประเทศแต่เดิมยึดถือไว้นั่นก็เพียงพอแล้ว การเป็น “คนดีแบบไทย ใส่ใจพุทธศาสนา ศีลห้าข้อต้องครบ” คือจบ นายทุนผู้ให้จะมีแสงส่องเรืองรองส่องจากหัวทันที แต่ถ้าใครบังเอิ๊ญ บังเอิญทำไม่ได้ ความผู้ชายไทยจะผิดศีลข้อสามไปบ้างอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุด “ทำให้ดูเหมือนยังเป็นคนดีตามขนบ” ให้ได้ก็พอ แม้ว่าจะต้องจ่ายแค่ไหนก็ตามเพื่อปกปิดความเน่าของตัวเอง จึงสังเกตได้ตามเนื้อเรื่องของดอกส้มสีทองว่าทุกที่ที่เรยาไป เธอเกาะกิน “ค่าล้างอายชุบตัว” ของเศรษฐีที่สอบตกความดีแท้อย่างคุ้มทุนมากทีเดียว ซึ่งจะว่าไปมันน่าขนลุกจริงๆ เลยนะคะคุณ ว่าคนรวยแบบไทยๆ ยอมจ่ายหนักแค่ไหน เพื่อให้ตัวเองกลับมาเป็นคนดี  

อุ้ย ที่เล่าๆ มาเนี่ย คือเทยหมายถึงในตัวโครงสร้างนวนิยายในละครไทยเท่านั้นนะคะ วิพากษ์ตามเนื้อผ้าละครนะเธอว์

เทยขอหมายเหตุนิดนึงว่า ในฉบับละคร “ดอกส้มสีทอง” มีตอนจบที่ผิดไปจากต้นฉบับนวนิยายอยู่มาก ตัวละครเรยาไม่ได้ถูกล่อมสอนด้วยคติศีลธรรมแบบ “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” ในตอนจบของละครเธอแย่งผัวชาวบ้านเธอก็ต้องมีจุดจบที่ทนทุกข์ แต่ตามต้นฉบับนวนิยาย เรยายังคงมองเห็นโอกาสครั้งใหม่ เมื่อเธอ “หมดธุระ” และสับเท้าเดินออกจากบ้านเจ้าสัวเช็งอย่าง Bitchy แล้ว เธอไม่ได้แบกความขื่นขมกลับมานอนร้องไห้จมน้ำตาแบบในละครเลยซักนิด เธอคิดไว้ในหัวแล้ว ว่าใครจะเป็นรายต่อไปให้เธอไปเกาะกินอีก แม้แต่หนัง Parasite ก็ไม่สามารถจบได้เผ็ชเท่านี้นะเธ๊อออออ

ชนชั้นปรสิตแบบเรยา จึงนับได้ว่าเป็นปรสิตตัวแม่ ตัวใหญ่ และเผ็ชร้อนแบบไทยคาวๆ เอาเสียมาก มาก่อนกาลต้าวหนุ่มคีวูมานานนม ซึ่งในมุมมองของเทย เรยาประกาศชัยชนะบนความโสมมของทุนนิยมไทยได้เผ็ชร้อน เธอ “เสีย” น้อยกว่า แถมไม่ต้องฆ่าใครตายซะด้วย เพียงเพราะสังคมละครไทย นายทุนคนรวยทั้งหลายดันมักมากในกามให้เธอใช้มันเกาะกินไต่เต้าซะอย่างนั้น

และแหม๊ ว่าบาปค่ะคุณ …..

Broadcast Thai Television

พล็อตนี้ ไม่ใช่แค่ละครตระกูลดอกส้มนะคะที่เล่าโครงสร้างชนชั้นแบบนี้ ละครหลายเรื่องตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตัวละครยังคงหิ้วกระเป๋าเข้ามา “ตะกายดาวผ่านเรื่องคาวๆ ของนายทุนในกรุงเทพ” อยู่ร่ำไป ก็เป็นแบบนี้มาและก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นต่อไปอีกนานแสนนานเลยค่ะ ยังไม่รวมว่าจะมีการรีเมคอีกไหมอย่างไรด้วยนะ

อย่างไรก็ดี สิ่งนึงที่ปรสิตสองเรื่องราวจากสองประเทศบ่งบอกได้ชัด ก็คือความเหลื่อมล้ำอย่างสุดจะขื่นขม ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมเกาหลีใต้และไทยดูเหมือนจะไม่แตกต่างกันนัก คนจน ก็จ๊นจน คิดแบบจนๆ เลวแบบจนๆ ในขณะคนรวยก็ร๊วยรวย ได้โอกาสต่อยอดไปหาสิ่งที่ดีกว่าได้ง่ายขึ้น เป็นคนดีได้ง่ายดาย ฉาบฉวยปลอมเปลือกเสียจนขนลุก

ทั้งคีวูและเรยา แม้จะสู้ในวิธีที่ต่าง แต่เครื่องมือและจุดเริ่มต้นนั้นไม่ต่างกันเลยซักนิด ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ น่าเศร้าที่มันจะยังถูกผลิตซ้ำในรูปแบบสื่อภาพยนตร์และละครต่อไป เพื่อตอกย้ำกลิ่นเหม็นเหล่านี้ไปอีกนานแสนนาน อย่างไร เทยก็คงต้องฝากให้คุณกิตติช่วยกันไปจนกว่าจะจนตายกันไปข้างนึงเจ้าค่ะ

แต่แหม 20 ล้านของเรยานี่มันทำเทยตาโตอยู่เหมือนกันนะ “ฟ้ารักพ่อนะคะ” 

ยิ้ม นอนกอดพ่อ รับเช็ค

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook