Scary Stories to Tell in the Dark จากหนังสือดังที่ผู้ปกครองเกลียด สู่หนังสยองขวัญที่ต้องดู!
Scary Stories to Tell in the Dark เป็นผลงานการกำกับของอังเดร โอเวรดัล ซึ่งเขามีผลงานกำกับภาพยนตร์ระทึกขวัญเรื่องดังอย่าง Trollhunter ซึ่งหนังเรื่องนี้ยังเป็นการปลุกปั้นโปรเจ็คของกีเยร์โม เดล โตโร อีกด้วย
หนังสือแห่งความสยองในยุค 80
กีเยร์โม เดล โตโร ยังคงจดจำช่วงเวลาที่เขาได้พบกับหนังสือที่ชื่อ Scary Stories to Tell in the Dark ได้เป็นอย่างดี “มันเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญที่ทำให้คนกลัวได้ง่ายเหมือนกับการเล่าเรื่องสยองรอบกองไฟครับ” เขากล่าว “มันมีทั้งกลิ่นอายของตำนานพื้นบ้านและเรื่องสยองที่เล่ากันมาปากต่อปาก ประกอบขึ้นมาด้วยโครงสร้างและการวางประโยคอันเยี่ยมยอด”
เวลาผันผ่านไปกว่าหลายสิบปีกว่าที่กีเยร์โม เดล โตโรจะมีโอกาสพัฒนาเรื่องราวในหนังสือให้มีชีวิตขึ้นมาในรูปแบบของภาพยนตร์ เขาได้ตัดสินใจรวมเอาเรื่องราวสยองขวัญจากหนังสือทั้ง 3 เล่มมาไว้ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินเรื่องราวให้อยู่ภายในปี 1968 โดยเล่าผ่านวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับอสูรกายที่หลุดออกมาจากก้นบึ้งของจิตใจตัวเอง โดยในบรรดาอสูรกายเหล่านี้ มีตัวโปรดของเดล โตโรอยู่ 1 ตัวนั่นก็คือ The Pale Lady จากตอนที่ชื่อ “The Dream” นั่นเอง
จากตำนานพื้นบ้านสู่วรรณกรรมสยองขวัญ
อัลวิน ชวาร์ส ผู้อยู่เบื้องหลังนิยายสยองขวัญ Scary Stories ทั้ง 3 เล่ม เริ่มต้นเสนทางนักเขียนจากการทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ The Binghamton Press ตั้งแต่ปี 1951 ถึง 1955 จนกระทั่งวันหนึ่งเขาก็จับปากกาขึ้นมาเขียนหนังสือเป็นของตัวเอง ซึ่งหนังสือเล่มแรกของเขาในชีวิตคือ “คู่มือในการเล่นกับเด็ก สำหรับผู้ปกครอง”
กระทั่งวันหนึ่งเขาก็นึกสนุกอยากจะแต่งวรรณกรรมสยองขวัญสำหรับเยาวชนขึ้นมา อัลวิน ชวาร์ส จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าตำนานพื้นบ้านเก่าแก่ ที่ว่าด้วยเรื่องราวประหลาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำนานที่มาจากแหล่งต้นกำเนิดเดียวกัน มีคนเคยพบเห็น หรือเคยมีประสบการณ์พบเจอกับตัว เมื่อเขารวบรวมข้อมูลจนเต็มที่และพอจะทำให้เขาเริ่มมองเห็นภาพในการเล่าเรื่องราวออกมา ในที่สุดหนังสือ Scary Stories เล่มแรกจึงถูกตีพิมพ์ในปี 1981 หลังจากนั้นเขาก็ได้ตีพิมพ์หนังสือต่ออีก 2 เล่ม “More Scary Stories to Tell in the Dark” และ “Scary Stories 3: More Tales to Chill Your Bones” ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงในปี 1992
หนังสือดังที่พ่อแม่ ผู้ปกครองเกลียด!
ถึงแม้ว่าหนังสือจะออกมาในยุค 80 แต่Scary Stories โด่งดังที่สุดในยุค 90 สอดรับกับบรรดาผู้ปกครองทั่วอเมริกาพร้อมใจกันด่าหนังสือเล่มนี้ว่ามันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่มีศีลธรรมเอาเสียเลย ไม่ว่าจะเป็นบทสรุปในเรื่องบางเรื่องที่ตัวร้ายหรืออสูรกายนั้นสามารถเอาชนะฝ่ายดี หรือกระทั่งเนื้อหาบางเรื่องบางตอนที่ว่าด้วยการที่มีคนบุกเข้าไปในสุสานเพื่อขโมยตับของศพผู้หญิงเอามาทำเป็นอาหารให้สามีเธอกิน! หรือบางตอนก็พูดถึงไส้กรอกเนื้อคน! เรื่องราวเหล่านี้จึงโดนผู้ปกครองพากันยี้ ให้โรงเรียนทั่วประเทศเอาหนังสือเล่มนี้ออกจากห้องสมุด แต่เหล่าคณะกรรมการด้านการศึกษาต่างมองว่า หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
ก่อนเสียชีวิตอัลวิน ชวาร์ส ยังเคยได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร The Lion and the Unicorn เกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ปกครอง เขาและบรรณาธิการได้ตอบจดหมายเหล่านั้นอย่างชัดเจนและชี้แจงว่า เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือของเขานั้นมีที่มาที่ไปจากความเชื่อพื้นบ้านทั้งนั้น อย่างไรก็ตามใช่ว่าข้อโต้แย้งของเขาจะใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม เมื่อชาวคริสเตียนกลุ่มหนึ่งได้ประกาศแบนหนังสือของเขาจากห้องสมุดเดนเวอร์ได้สำเร็จ
เนื้อหาในหนังสือที่ว่าน่าขนลุกสำหรับเยาวชนแล้ว แต่สิ่งที่พ่อแม่บางคนเป็นกังวลมากกว่า เพราะรูปภาพประกอบใน Scary Stories นั้น เป็นส่วนที่น่ากลัวที่สุด เนื่องจากผู้ปกครองบางคนมองว่าภาพมันดูสมจริงเกินไป อาทิ ภาพของคนที่ถูกปาดคอ ภาพของคนที่กำลังกินตับสด เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่บางคนก็ร้องเรียนไปยังโรงเรียนว่า ลูกสาววัย 7 ขวบของตัวเองต้องฝันร้ายนับเดือนหลังจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาจึงยื่นเรื่องในการให้โรงเรียนเอาหนังสือเล่มนี้ออกจากห้องสมุดด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาส่งลูกไปโรงเรียน ภายใต้การดูแลของโรงเรียนและปกป้องลูกๆจากสิ่งที่ไม่ควรรับรู้ก่อนวัยอันควร พวกเขาไม่ต้องการให้ลูกๆของตัวเองถูกทำร้ายทางความคิดหรือได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ
ถึงแม้จะเป็นหนังสือที่พ่อแม่แอนตี้ แต่หนังสือ Scary Stories เป็นหนังสือที่ทางสมาคม American Library Association จัดให้เป็นหนังสืออันดับที่ 1 จาก 100 หนังสือที่มีคนท้าให้อ่านมากที่สุดในช่วงปี 1990-1999 แม้กระทั่ง 10 ปีต่อมา Scary Stories ก็ยังคงเกาะอยู่ในอันดับที่ 7 ของการจัดอันดับในช่วงปี 2000-2009 แม้ว่าทางสมาคมให้เหตุผลว่ามันเป็นหนังสือที่ “ไม่ใส่ใจความรู้สึกของผู้อ่าน, บูชาสิ่งลึกลับและซาตาน, มีการใช้ความรุนแรง และไม่เหมาะสมกับช่วงอายุที่หนังสือกำหนด” ก็ตามที
พบกับเรื่องสยองขวัญ ทั้ง 5
สำหรับเวอร์ชั่นภาพยนตร์นั้น Scary Stories to Tell in the Dark ได้ดัดแปลงนิยายจำนวน 3 เล่มให้กลายเป็นหนังเรื่องเดียว ที่ว่าด้วยเด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่บังเอิญไปพบกับหนังสือที่สามารถเขียนเรื่องสยองได้ด้วยตัวของมันเอง ในภาพยนตร์คุณจะได้พบกับความสยองเรื่องเด่นที่มาจากหนังสือ อย่างเช่น “นิ้วโป้งเท้า The Big Toe”, “หุ่นไล่กา Harold”, “จุดสีแดง The Red Spot”, “ความฝัน The Dream” และ “ผีหัวขาด Me Tie Dough-ty Walker” เป็นต้น