รีวิว Scary Stories to Tell in the Dark อำนาจของเรื่องเล่า

รีวิว Scary Stories to Tell in the Dark อำนาจของเรื่องเล่า

รีวิว Scary Stories to Tell in the Dark อำนาจของเรื่องเล่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 "บทความนี้มีการเปิดเผยตอนจบของภาพยนตร์ หากยังไม่ได้รับชมกรุณา "ปิด" บทความนี้ไปก่อน" 

 

 

ความพิเศษประการหนึ่งของหนัง Scary Stories to Tell in the Dark คือการหยิบเอาวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง Scary Stories ทั้ง 3 เล่ม ของนักเขียน อัลวิน ชวาร์ส มาดัดแปลงให้กลายเป็นหนังขนาดยาวเรื่องเดียว

 

เหตุการณ์ในหนังมีฉากหลังเป็นยุคสงครามเวียดนามพอดิบพอดี (ปี 1968) ในขณะที่หนุ่มสาวผู้อาศัยอยู่ในเมืองมิลวัลเลย์ ที่มีชีวิตเป็นวัยรุ่นในโรงเรียนมัธยมธรรมดาสามัญ กลับได้ตัดสินใจนึกสนุกเดินเข้าบ้านผีสิงอันเป็นตำนานประจำเมือง ที่ว่าด้วยบ้านของ “ซาร่าห์ เบลโลวส์” หญิงสาวที่เสียชีวิตและยังคงคลั่งแค้นอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

สเตลล่า นิโคล (โซอี้ มาร์กาเร็ต คอลเลต) ได้ค้นพบ “หนังสือของซาร่าห์ เบลโลวส์” ในบ้านผีสิงหลังดังกล่าว ด้วยความบังเอิญ สเตลล่าได้หยิบหนังสือเล่มนั้นกลับมาที่บ้าน ในค่ำคืนนั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับทอมมี่ (ออสติน เอบราห์ม) เมื่อเขาค้นพบว่าหุ่นไล่กาฮาโรลด์ลุกขึ้นมามีชีวิตและไล่ล่าเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย ระหว่างที่เรื่องราวเกิดขึ้น หนังสือของซาร่าห์ก็เขียนเล่าเรื่องราวนั้นเป็นตัวหนังสือสีเลือดไปพร้อมๆกัน

 

 

การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของทอมมี่ สร้างความประหลาดใจให้กับสเตลล่าและเพื่อนๆ ไม่นานนัก เธอก็เริ่มค้นพบว่า เมื่อใดก็ตามที่หนังสือของซาร่าห์ เบลโลวส์ เริ่มเขียนเรื่องราวสยองขวัญ เมื่อนั้น “ชื่อ” ของคนที่ถูกระบุขึ้น จะเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกับในเรื่องเล่านั้น สเตลล่าจึงต้องหาหนทางหยุดยั้งเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนที่เพื่อนของเธอจะหายตัวไปทีละคน

 

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่บรรดาที่ปีศาจต่างๆในจินตนาการของแต่ละเรื่องเล่าได้ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อสร้างความตื่นเต้นตกใจ แต่หนังเรื่องนี้ยังเป็นการอุปมาอุปมัยในทางอ้อมที่ว่าด้วยเรื่องเล่าของ “ซาร่าห์ เบลโลวส์” ที่ถูกทารุณกรรมโดยครอบครัวของตัวเองและความคลั่งแค้นทำให้เธอมีพลังอำนาจในการดลบันดาลให้ครอบครัวของเธอเองมีอันเป็นไปตามเรื่องเล่าที่เธอเขียนขึ้นมา

 

 

“เรื่องเล่าเป็นทั้งอำนาจ และเป็นหนทางในการเยียวยาตัวเอง” คือวรรคทองที่ปรากฏอยู่ในเรื่องและถูกเอ่ยถึงหลายครั้ง เราจะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่หนังสือของซาร่าห์ถูกเขียนเรื่องราวขึ้นจะต้องมีคนบาดเจ็บ ล้มตาย หรือหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งการใช้วิธีการอันรุนแรงของซาร่าห์ (ที่เป็นวิญญาณหรือความชั่วร้าย) นั้นก็เปรียบเสมือนวิธีการเยียวยาตัวเองของเธอเช่นกัน (ปลดแอกความแค้นที่คนอื่นทำร้ายเธอ ด้วยการทำร้ายคนอื่นกลับ)

 

เมื่อเราลองพิจารณาบริบทฉากหลังที่ว่าด้วยสงครามเวียดนามที่กำลังคุกกรุ่น บรรดาคนหนุ่มสาวอเมริกาถูกส่งไปรบในสงครามดังกล่าวอย่างไร้เหตุผล เพียงเพราะความต้องการแสวงหาอำนาจและทรัพยากรทางธรรมชาติของรัฐบาล ไม่ต่างอะไรจากการใช้ “อำนาจมืด” ของซาร่าห์ ต่างก็เพียงแต่ “สงคราม” ไม่ใช่วิธีการเยียวตัวเองของมนุษย์

 

 

ความชั่วร้ายของผีสางยังสามารถยุติลงได้ เมื่อมันได้ “วาง” ความคลั่งแค้นลง แต่ความกระหายในอำนาจ ทรัพย์สิน เงินทองของมนุษย์นั้นไม่ได้ยุติลงง่ายๆ ดังที่เราได้เห็นจากฉากสุดท้ายของเรื่องที่ตัวละครอย่างราโมน (ไมเคิล กาซ่า) คนหนุ่มที่เคยหนีทหารมาแล้วครั้งหนึ่ง เขาก็ยังคงต้องกลับไปร่วมสงครามเวียดนามอยู่ดี หรือบรรดาเพื่อนที่หายตัวไปของสเตลล่าก็ยังคงสาบสูญ สะท้อนให้เห็นว่า ถึงอำนาจมืดจะหมดไป แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องราวเลวร้ายนั้นจะหายไปจากชีวิตประจำวันของเราเช่นกัน

 

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook