“Midsommar” ความสัมพันธ์และฝันร้ายตอนกลางวันแสกๆ

“Midsommar” ความสัมพันธ์และฝันร้ายตอนกลางวันแสกๆ

“Midsommar” ความสัมพันธ์และฝันร้ายตอนกลางวันแสกๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แค่รู้ว่า Midsommar เป็นหนังเรื่องใหม่ของ แอริ แอสเตอร์ ผู้กำกับ Hereditary (ที่ส่วนตัวแล้วผมยกให้เป็นหนึ่งในหนังที่เซอร์ไพรส์ผมเมื่อปีที่แล้วเรื่องหนึ่ง) นี่ก็ทำให้อยากดูแล้วนะครับ ยิ่งรู้ว่า แอสเตอร์ เซ็ตอัพเรื่องด้วยซีนกลางวันตลอดทั้งเรื่อง โดยหลีกเลี่ยงความมืดซึ่งเป็นองค์ประกอบแรกๆ ของหนังสยองขวัญนี่ก็ยิ่งอยากดูเข้าไปอีก

ผมมองว่าเป็นความทะเยอทะยานในฐานะคนทำหนังของ แอสเตอร์ ในความพยายามที่จะสร้างเรื่องเล่าสยองขวัญแบบใหม่ที่ไร้ความมืด ซึ่งอย่างที่บอกไปแล้วนั่นแหละครับว่าการมองไม่เห็น หรือภาวะมองเห็นไม่ชัดเจนนั้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมอบประสบการณ์หวาดกลัวให้ผู้ชมหนังสยองขวัญ เพราะโดยพื้นฐานคนเรานั้นมักกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัดเสมอ แอสเตอร์ จึงทดลองเล่าเรื่องใน Midsommar ด้วยการให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในชนบทแห่งหนึ่งของสวีเดน (แต่เขาถ่ายทำกันที่บูดาเปสต์, ฮังการี นะครับ) ในช่วงเวลาครีษมายัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กลางวันกินเวลายาวนานกว่าช่วงกลางคืนนั่นเอง

นอกจากหนังมันจ้าซะเหลือเกินแล้ว อาร์ต ไดเรคชั่น ยังตั้งใจให้สวยงาม เต็มไปด้วยดอกไม้พวงพฤกษานานาพันธุ์ มีการใช้สีสันที่สดใส ในฉาก บรรยากาศ การจัดวางองค์ประกอบของภาพ หรือแม้แต่เสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงาม คือรวมๆ แล้ว ดูยังไงก็ไม่น่าใช่หนังที่สยองขวัญสั่นประสาทได้เลยครับ

ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญอันเป็นสิ่งที่ผมมองว่าเป็นความทะเยอทะยานของ แอริ แอสเตอร์ คำถามนั้นก็คือว่าแล้วเขาจะสร้างความกลัวแบบเจิดจ้าแดดแทงตาได้อย่างไร

คำตอบที่ผมค้นพบคือว่า แอสเตอร์ พาตัวละคร (และผู้ชม) ไปสู่สภาวะยอมจำนน จำเป็นต้องสู้กับสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ และปราศจากวิธีรับมือ หนังเล่าเรื่องของนักศึกษาวัยรุ่นอเมริกันกลุ่มหนึ่งที่ไปเที่ยวชนบทสวีเดนระหว่างหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ หนึ่งในนั้นมีคู่รักใกล้ร้างคู่หนึ่งที่ฝ่ายหญิงเพิ่งผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ และฝ่ายชายก็ใกล้หมดรักในตัวเธอ ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ง่อนแง่นและเปราะบางมาก ส่วนคนที่เหลือก็เป็นวัยรุ่นทั่วไปที่มีทั้งความอยากรู้อยากเห็น ความห่ามไร้กาลเทศะ และรวมทั้งคนที่เป็นเจ้าบ้านซึ่งเป็นทั้งคนชักชวนเพื่อนๆ มาเที่ยวและเป็นคนที่เก็บงำความลับของวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการพาเพื่อนมาเที่ยวด้วย เมื่อพวกเขามาถึงแล้วจึงพบว่าตนเองตกอยู่ในพิธีกรรมสำคัญของลัทธิประหลาด แน่นอนว่าเมื่อรู้แล้วพวกเขาก็ไม่อยากอยู่ต่อ แต่ครั้นจะกลับก็กลับไม่ได้ ความน่ากลัวมันอยู่ตรงที่ตัวละครต้องเผชิญกับชะตากรรมสยองขวัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในแต่ละวันนั่นเองครับ เช่นเดียวกับผู้ชมที่อยู่ในสถานะไม่ต่างกัน คือต่อให้ปิดตาหรืออยากลุกหนี แต่ความอยากรู้ก็กระตุ้นให้เผชิญหน้ากับหนังต่อจนจบ

Photo by Frazer Harrison/Getty Imagesแอริ แอสเตอร์

เมื่อกล่าวถึงความสยองขวัญ อันที่จริงผมมองว่าความสยองขวัญใน Midsommar ก็มีภาวะประหลาดเฉพาะตัวอยู่เหมือนกันนะครับ นั่นคือมันมีฉากที่รุนแรง น่ากลัว สยดสยอง โหดเหี้ยม จริงๆ นั่นแหละ ไม่อย่างนั้นหนังคงไม่ได้รับเรต ฉ 20 แต่ก็ไม่ได้หลอกหลอนหรือติดตาผมขนาดนั้นนะครับ ใครที่กลัวหรือไม่กล้าดูอาจมีกำลังใจขึ้นมานิดหน่อย อาจเป็นเพราะว่าโดยบริบทของหนังมันไม่มีอะไรให้เชื่อมโยงกับชีวิตที่เราใช้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันได้เลย ความกลัวที่เห็นจึงเป็นแบบจบแล้วก็แล้วกัน ไม่ตามมาหลอกหลอนยามเข้านอน

แต่ลึกลงไปกว่านั้น ผมคิดว่าความน่ากลัวที่แท้จริงของ Midsommar กลับซ่อนอยู่ในเส้นเรื่องรองของหนังที่พูดถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์มากกว่าครับ ความน่ากลัวอันเกิดจากความเฉยชา ความรู้สึกของการไม่ได้รับการดูแล ความรู้สึกของการไม่เป็นส่วนหนึ่ง หรือความรู้สึกของการไม่เป็นคนสำคัญ นี่เหมือนระเบิดเวลาดีๆ นี่เอง รอวันประทุขึ้นมาความสัมพันธ์ก็พังภินท์ก่อความเสียหายได้อย่างไม่คาดคิด ไม่รู้สิครับ ผมว่านี่อาจเป็นความน่ากลัวในความสัมพันธ์ระดับสูงสุดที่ แอริ แอสเตอร์ ซุกซ่อนไว้ในหนังฝันร้ายกลางวันแสกๆ เรื่องนี้ก็ได้

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Midsommar ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ ของ “Midsommar” ความสัมพันธ์และฝันร้ายตอนกลางวันแสกๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook