ละคร!!! ขอถามอะไรหน่อย "นั่นคิ้วใช่มั้ย"

ละคร!!! ขอถามอะไรหน่อย "นั่นคิ้วใช่มั้ย"

ละคร!!! ขอถามอะไรหน่อย "นั่นคิ้วใช่มั้ย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โอ๊ยยยย คุณกิตติขา เทยล่ะปวดหัวเหลือหลาย เวลาที่ดูละครในช่องทางออนไลน์ตั่งต่าง ไม่ใช่เพราะว่าดูผ่านมือถือไม่ต้องพึ่งจอทีวีตามประสาคนรุ่นใหม่หรอกนะคะ แต่มันเพราะสิ่งที่พุ่งจนล้ำหน้าทะลุจอมือถือออกมานั้นไม่ใช่อะไร แต่เป็นบรรดา “เครื่องหน้า” นักแสดง ที่มันคมกริบ ชัดแจ้งอะไรมากประมาณคะคู๊ณ เห็นแล้วก็มิวาย มือกำทิชชู่แน่น อยากจะเอื้อมไปลบความเข้มลงซักเบอร์สองเบอร์

แต่มาคิดคิดดูแล้ว คุณคะ มันก็มีเรื่องเล่าของมันอยู่เหมือนนะเออ

แต่ก่อนแต่ไร ระบบโทรทัศน์ไทยนั้นเป็นขาวดำ และคนรับสื่อชาวสยามทั้งหลาย ก็ใช่ว่าจะใฝ่หาสีสันอะไรกันมากมาย เพราะลำพังก็ใช้วิทยุโทรทัศน์ไว้ฟังข่าวฟังประกาศตั่งต่าง ก็ต้องเข้าใจอ่ะค่ะว่าในช่วงแรกๆ ของวิทยุโทรทัศน์นั้น ประเทศเองสื่อก็ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหารของจอมพลสฤษฎิ์อยู่ ในทีวีวิทยุก็ไม่ค่อยมีอะไรจะดูจะฟังไปมากกว่าละครวิทยุ สลับข่าว สลับประกาศ สลับโฆษณาถ่านไฟฉายตรากบ วนกลับไปข่าว วนกลับไปโฆษณา วนกลับไปประกาศ ก็เกิดตายวนเวียนกันอยู่เท่านี้แหละเจ้าค่ะ

แต่พอเข้าสู่ พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา โทรทัศน์สามารถแพร่ภาพแบบสีได้แล้ว คนในวงการเลยเกิดอาการ “ตื่นภาพสี” กันยิ่งยวด ดังนั้นโปรดักชั่นที่จะออกจอ พอเมื่อเป็นสีได้เท่านั้น ก็อลังการตระการตาดาวล้านดวงซะไม่มีเลยล่ะคะคุณขา ส่งผลไปยันแฟชั่นในยุคนั้นก็จะสังเกตได้ว่า เสื้อสี กางเกงสี เกลื่อนไปหมด ทุกคนต้องมีสีสัน กางเกงขาบานตั่งต่าง

นอกจากความสีมาเปลี่ยนทุกอย่างแล้ว ขนาดของจอก็มีผลค่ะ การจะออกหน้ากล้อง เสื้อผ้าหน้าผมก็เลยต้องเต็มต้องชัด เพราะทีวีจอแก้วจอเล็กกระติ๊ดนึง คนจะดูหรือไม่ดูก็ไม่รู้ ฉะนั้นผู้ผลิตรายการ ก็ต้องทำทุกวิถีทาง ดึงคนให้หันมาดูรายการนั้นๆ ให้ได้ โฆษณา็ต้องเล่นใหญ่ สโลแกนต้องสั้นกระชับ เจ้าบทเข้ากลอนได้ใจ ติดหูเข้าไว้ และแน่นอนค่ะ 

ละครก็เช่นกัน

โดยจุดเริ่มต้น ละครทีวีส่วนใหญ่ ก็นำมาจากนวนิยายที่ได้รับความนิยมจากนักอ่านชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว เดี๋ยวมันไม่มีคนดูอ่ะโนะ เคยอ่านแล้วจินตนาการไว้ในหัว พอได้ทำเป็นละคร คนก็ย่อมอยากเห็นว่าภาพที่ฉันเคยเห็นไว้จะยิ่งใหญ่อลังการแค่ไหน ดังนั้นละครทีวี จึงต้องทำภาพให้ชัด ยิ่งตรงให้ชัดให้ไว เพื่อให้คนดูรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในทันที การแต่งหน้า ทำผม เสื้อผ้า จึงต้องเป็นอะไรที่คนดูเห็นแล้วรู้เลย ว่าคนคนนี้บทบาทเป็นยังไง 

ในยุคแรกๆ ของละคร จึงไม่แปลกที่ทุกอย่างจะต้องอัดเต็มจัดเต็ม จนเกิดวลีที่ว่า “จะนอนยังต้องแต่งหน้า” กับละครไทยมาพักใหญ่เลยเจ้าค่ะ ก็แหม อย่างที่บอก จอมันเล็ก ก็ต้องเล่นใหญ่ไว้นี่นา จะให้ดาราหน้าสดนอนในทีวีที่จอเล็ก แถมสีจัด คนก็คงนึกว่าศพป่ะเธอ

ล่วงเลยเวลามาหน่อยนึง การพัฒนาของกองละคร ก็เริ่มเหลาโน่นนิดนี่หน่อยให้ภาพจำต่อยตรงเข้าคนดูมากไปอีก การแสดงก็ต้องชัด นางเอกต้องพูดช้า ช้ามากๆ พระเอกต้องหน้าคมเสียงหล่อ ส่วนนางร้าย คอหอยมีกี่หลอด หล่อนก็แผดเข้าไปสิ สามบ้านแปดบ้านต้องได้ยิน นางร้ายไทยต้องกรี๊ดเข้าไว้ เช่นเดียวกัน การแต่งหน้าแต่งตัวให้ตรงคาแรกเตอร์มากขึ้น นางเอกต้องขาวใสบริสุทธิ์ชุดขาว หน้าตาผ่องใส ส่วนนางร้ายนั้น เน้นหนัก จัดหนักจัดเต็ม หน้าปากผมแดง นุ่งสั้น เปรี้ยวเข็ดฟันที่สุด

ภาพเหล่านี้ในละครไทย จึงกลายเป็นภาพจำที่แบ่งแยกตัวละครออกได้ง่าย และคนเสพย์ก็ตัดสินทุกอย่างผ่านการแต่งตัวแต่งหน้านั่นเองเจ้าค่ะ

ในเชิงการทำงานเบื้องหลังเบื้องลึกนั้น ปกติแล้ว ละครจะมีปริมาณการผลิตต่อวันเยอะกว่าภาพยนตร์ การผลิตละครจึงเป็นอะไรที่วันนึงตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทุกคนถ่ายๆๆๆๆๆ ให้ได้เยอะซีน เยอะฉากมากที่สุด และทว่าเคลื่อนย้ายกองให้น้อยที่สุด เรียกได้ว่าทั้งโลเกชั่นยันนักแสดง อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นกันไปเลยทั้งวัน ดังนั้นละครเลยมักจะวนเวียนถ่ายที่ซ้ำๆ เป็นส่วนใหญ่แล้วเก็บซีนให้ได้มากที่สุด ยิ่งเป็นซิทคอมในสตูได้ยิ่งดี ถ่ายไปยาวๆ เลย

เพราะงั้น แน่นอนค่ะ ช่างหน้าช่างผมหลังกอง แต่งแล้ว แต่งเลย อยู่ยาวเช้ายันเย็นเจ้าค่ะ

ลำพังเบื้องหลังเป็นยังไง คนดูอย่างเราๆ ก็ไม่รู้หรอกใช่มะ แต่ความโป๊ะมันเริ่มมาบังเกิดเอา ก็ในวันที่ยุคสมัยมันเปลี่ยนนั่นแหละจ้าค่ะ เทคโนโลยีการถ่ายทอดสัญญาณรวมถึงคุณภาพความคมชัดและขนาดของจอมันดีขึ้น ช่องโทรทัศน์ที่เมื่อก่อนมีแค่ไม่กี่ช่อง ตอนนี้สัญญาณเป็นดิจิตอล ช่องเยอะเป็นไข่กุ้งไปแล้ว แถมความคมชัดก็ไม่ต้องพูดถึง คุณภาพพอๆ กับหนังใหญ่ได้เลย ทีวีเดี๋ยวนี้ก็จอใหญ่มาก หรือถ้าไม่มีเวลานั่งดูอยู่บ้าน ก็ดูผ่านอุปกรณ์อื่นๆ ดูได้ทุกที่ ไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอทีวีอีกแล้ว

จุดเปลี่ยนขนาดนี้ แน่นอนว่าผลกระทบย่อมส่งมาหาคนหลังกองแน่นอน กระบวนการผลิตละครย่อมต้องคิดเยอะขึ้นกว่าเดิม จะเอาสวยหล่อ หน้าปังครอบเครื่องหน้าผมอย่างเดิมมันไม่ได้แล้ว รายละเอียดต่างๆมันมองเห็นในจอได้ง่ายขึ้น คนดูๆ ไป มันก็แบบ เอ๊ะ เดี๋ยว บ้านนี้มันหลังเดิมนี่ เอ๊ะ ทำไมชุดนี้มันซ้ำกะฉากก่อน และ 

เอ๊ะ… ทำไมจะนอนแล้วหน้ายังเต็มเบอร์นี้อยู่คะคุณ

คนที่ดูแล้วไม่คิดอะไรก็ปล่อยผ่านไปได้แหละเจ้าค่ะ แต่ในทางหนึ่ง อิทธิพลของสื่อตะวันตก ซีรีส์โทรทัศน์ขนาดยาว ภาพยนตร์ชุด เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สื่อของไทยมากขึ้นด้วย ละครไทยจะเอาแค่เพียงว่า ก็ยังคนดูป้ะแกมาคิดมันก็ไม่ได้แล้ว เพราะตลาดกว้างขึ้น คนดูก็เกิดอาการเปรียบเทียบ ดูสิ ประเทศอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว

ฉะนั้นในกองละครหลังๆ มา เลยเริ่มผุดกองงานขึ้นมาหนึ่งอย่างซึ่งก็คือ Production Design หรือ กำกับศิลป์ เพื่อทำหน้าที่คุมทุกอย่างของละครในแต่ละเรื่องให้มันเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่ฉาก คอสตูม อุปกรณ์ประกอบฉาก ยันเครื่องผ้าหน้าผมทั้งหลาย พวกเธอจะไม่มีวันเห็นรองเท้านันยางในละครประวัติศาสตร์ให้ได้จับโป๊ะกันแน่นอน

แต่ก็นะคะ ความไทย ก็ใช่ว่าทุกกอง ฝ่ายกำกับศิลป์จะงานละเอียด ก็ยังมีละครหลายเรื่องที่หน้าไปทาง พร๊อพไปทาง เสื้อผ้าไปทาง ชวนให้ปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย อยู่ดีๆ หน้าพระเอกคิ้วหน้าคม พุ่งแรงจนคนดูพาลจั๊กกะจี้ ประกบคู่กับนางเอกแล้วก็มิวายจะกลายเป็นแก๊งชะนีกะอีแอบหรือไม่อย่างไร แม้แต่ละครประวัติศาสตร์ ละครย้อนยุคพีเรียดมาก สงครามรบม้าฆ่าช้าง แต่เจ้าจอมเจ้านางก็สวมส้นสูงรัดข้อสามนิ้ว เดินต๊อกแต๊กเลียบรั้ววังกันได้เฉยเลย

ก็กลั้นขำไหล่สั่นกันไปค่ะ

แต่สิ่งหนึ่งที่สายละครเป็นอันรู้กันทันทีทันใดอยู่แล้ว ก็คือละครทีวี รายการโทรทัศน์ทั้งหลาย ล้วนขับเคลื่อนได้ด้วยการ “โฆษณา” ทั้งสิ้น แม้แต่รายการข่าว ก่อนปิดก็ยังต้องขึ้นเลยว่าหน้าผมนั้น เป็นของแบรนด์อะไร สนับสนุนเสื้อผ้าโดยใคร สิ่งเหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนเม็ดเงินอยู่เบื้องหลังจอทั้งสิ้น แม้ฝ่ายกำกับศิลป์จะโยนโจทย์มาแล้วว่าละครเรื่องนี้ ฉันจะเอาแบบนี้แบบนี้แบบนี้ คุณมลต้องจัดให้ฉันที่กองค่ะ แต่คุณมลก็มีเหตุผลที่อยากจะปล่อยของ ก็ฉันรับโปรโมทแบรนด์นี้มาแบบนี้ เครื่องสำอางก็ตั้งแพง จะให้แต่งบางอ่อน เมคอัพโนเมคอัพ หล่อนบ้าหรือเปล่า ฉันก็ต้องโชว์ฝีมือสิยะ ในกองก็เลยเกิดความอีหลั่กอีเหลื่อกันไปจนออกมาเป็นความไหล่สั่นของคนดูเวลาเห็นอะไรหลงรูปหลงรอยนั่นเอง

นี่คุณขา ว่าบาปไป เห็นว่าเรื่องเครื่องหน้าหนักแม้จะหลับนอนกันแล้ว นางเอกขนตายังงอนได้ที่นี่ มันไม่ใช่เรื่องขำๆ เอาไว้มาเมาท์กันในกองนะคะ เธอต้องอย่างลืมว่าสื่อโทรทัศน์มันยิงตรงเข้าถึงทุกบ้าน คนดูเสพย์มันง่ายกว่าอ่านหนังสือซักเล่มอีก สื่อเหล่านี้ทำงานกับภาพจำ และมันก็ได้ผลอย่างยิ่งยวดทีเดียว เพราะในสังคมไทย ถือเป็นสังคมที่เราจดจำคนจากภาพจำได้ง่ายมาก และมักจะประเมินบุคลิกภาพของคนจากการแต่งหน้าแต่งตัวเสียด้วย 

คนที่เสพย์สื่อแล้วไม่รู้เท่าทันกระบวนการการสร้างของมันอย่างที่เทยได้เล่ามา ก็มิวายจะเชื่อว่าทุกอย่างที่ปรากฎในหน้าจอเป็นเรื่องจริงไปทั้งหมด คนสูงวัยที่โตมากับละครช่องแล้วทึกทักเอาว่านั่นคือความจริง ก็จะไม่ค่อยชอบคนแต่งเนื้อแต่งตัวจัด เพราะมันดูร้าย ดูไม่ใช่คนดี ที่ดีต้องเรียบร้อย ขาาวสะอาด กระโปรงยาว ถักเปียใดใด สุภาพบุรุษก็ต้องถูกผูกไว้กับสูท เสื้อเชิ๊ตดูดี ถ้าใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์มีรอยสักล่ะก็ แน่ๆ ตัวร้ายตัวโกงแน่ๆ แค่เห็นหน้าก็รู้แล้ว ดูออกค่ะ

ลำพังการสร้างภาพจำในละคร ก็เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในทันที แต่มันก็เหมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะมันก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คนเข้าใจไปเอง เลยเถิดไปถึงการเกิดการเหมารวมแปะป้ายคนอื่นได้ง่าย ผ่านสิ่งที่เป็นปัจจัยภายนอกของคนคนนั้น

อย่างไรก็ดี ก็เป็นหน้าที่ของคนผลิตสื่อ ผู้กำกับ เจ้าของบทประพันธ์ ผู้จัด อีกนั่นแหละเจ้าค่ะ ที่ก็ต้องเฟ้นหาวัตถุดิบหรือเรื่องราวที่เหมาะสม และช่วยทำให้สังคมมันขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น คือแน่ล่ะ คนเราคงไม่แต่งหน้าเข้านอนหรอกถูกมะ

แต่ทุกครั้งที่เราเสพย์อะไร เราก็ต้องรู้ด้วยว่าเออ จริงเท่าไหร่ ไม่จริงเท่าไหร่ โลกคือละคร ละครคือโลกนะเจ้าคะ

เทยขอตัวไปแต่งหน้าก่อนนะคะ ได้เวลานอนแล้ว

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook