[รีวิว] Angel Has Fallen ดุเดือดเลือดพล่านสมกับเป็นงานปิดไตรภาค

[รีวิว] Angel Has Fallen ดุเดือดเลือดพล่านสมกับเป็นงานปิดไตรภาค

[รีวิว] Angel Has Fallen ดุเดือดเลือดพล่านสมกับเป็นงานปิดไตรภาค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ภาคแรก Olympus Has Fallen (2013) ไมค์ แบนนิ่ง ต้องปกป้องประธานาธิบดีที่โดนผู้ก่อการร้ายบุกถล่มทำเนียบขาว ภาคต่อมา London Has Fallen (2016) ไมค์ แบนนิ่ง และประธานาธิบดีเดินทางไปลอนดอน ไมค์ แบนนิ่ง ต้องพาประธานาธิบดีหนีตายจากการไล่ล่าของกลุ่มผู้ก่อการร้าย ด้วยแนวคิดหนังที่ว่าด้วยวีรกรรมของไมค์ แบนนิ่ง ในการปกป้องชีวิตของประธานาธิบดีจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายในสถานที่แตกต่างกันไปในแต่ละภาค ทำให้คนดูคาดเดาว่า เมื่อมีการสร้างภาค 3 ก็จะต้องเล่าวีรกรรมของไมค์กับประธานาธิบดีในสถานที่ที่ต่างออกไปอีกครั้ง ก็นับว่าเป็นจุดที่น่าชื่นชมสำหรับทีมผู้สร้าง ที่เลือกก้าวออกจากรูปแบบของหนัง ไม่ตามกรอบที่ภาค 1 ภาค 2 ดำเนินไว้ แต่เลือกเล่าในทิศทางที่ต่างออกไป

ภาคนี้ทีมงานก็เลยไม่ต้องมาขบคิดกันให้ปวดสมองว่าจะย้ายเรื่องราวให้ไปเกิดในมุมไหนของโลก แต่กลับมาเล่าเรื่องราวบนแผ่นดินอเมริกา เพิ่มวิกฤตการณ์ของเรื่องจากเดิมที่ประธานาธิบดีเป็นเป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อการร้าย แต่รอบนี้เขียนให้ไมค์ แบนนิ่ง ต้องรับภาระหนักขึ้น เพราะนอกจากจะต้องปกป้องชีวิตประธานาธิบดีแล้ว เขายังถูกจัดฉากให้เป็นผู้ต้องหาพยายามสังหารประธานาธิบดีเสียเอง ต้องหนีทั้งตำรวจและผู้ก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันว่าเขาคือผู้บริสุทธิ์และกระชากหน้ากากวายร้ายตัวจริง ก่อนที่ประธานาธิบดีจะถูกบุกถล่มเอาชีวิตรอบ 2

หนังเลือกคงจุดเด่นของแฟรนไชส์ไว้ในด้านพิษสงของเหล่าผู้ก่อการร้าย ยิ่งวายร้ายมีความสามารถเก่งกาจมากขึ้น ความเข้มข้นของหนังก็จะมากขึ้นตาม ในภาคนี้ผู้ก่อการร้ายก็ยังมาเป็นกองทัพเช่นเคย แต่รอบนี้ไม่ได้มากด้วยจำนวนคน แต่เป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มาพร้อมเทคโนโลยีไฮเทค ส่วนหนึ่งเราได้เห็นไปแล้วในตัวอย่างหนัง กับฉากบุกโจมตีประธานาธิบดีด้วยกองทัพโดรน เป็นฉากแอ็กชันเปิดเรื่องที่ลากยาวอย่างดุเดือด ระเบิดกันตูมตาม เหยื่อระเบิดปลิวว่อนนับสิบ นับเป็นฉากที่ปูความถึงพิษสงของวายร้ายในภาคนี้ได้เป็นอย่างดี

ในภาคที่ผ่าน ๆ มา แฟนประจำจะคุ้นเคยกับภาพของไมค์ แบนนิ่ง ที่หนีตายไปพร้อมกับประธานาธิบดีที่รับบทโดย แอรอน เอ็กฮาร์ต ซึ่งไม่ได้กลับมารับบทเดิมในภาคนี้ มอร์แกน ฟรีแมน ในบทอัลลัน ทรัมบัลล์ เลื่อนขั้นจากรองประธานาธิบดี ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในภาคนี้ แต่ปีนี้มอร์แกน ก็อายุอานามปาเข้าไป 82 ปีแล้วครับ จะมาให้วิ่งถือปืนคู่กับไมค์ แบนนิ่ง เป็นไปไม่ได้แน่นอน เมื่อต้องสูญเสียประธานาธิบดีที่เคยพะบู๊ได้ไป ก็ต้องชดเชยในส่วนอื่นขึ้นมาแทน ด้วยการเขียนให้ไมค์ แบนนิ่ง มีปัญหาเรื่องสุขภาพและมีความตั้งใจจะลาออกจากหน้าที่นี้

เมื่อสภาพของเขาไม่เต็มร้อยเหมือนเคยแต่คู่ต่อสู้กับเก่งขึ้นกว่าเดิม นับเป็นโจทย์ที่ยากมากขึ้นสำหรับภาคนี้ทำให้คนดูต้องลุ้นเอาใจช่วยไมค์มากขึ้น ส่วนที่เสริมเติมสีสันเข้ามาในภาคนี้คือ เคลย์ แบนนิ่ง พ่อของไมค์ เป็นผู้ช่วยเพียงหนึ่งเดียวของไมค์ในสถานการณ์คับขันครั้งนี้ บทเคลย์ ได้นิค โนลตี ดารารุ่นเก๋ามารับหน้าที่ บทเคลย์ ช่วยเพิ่มน้ำหนักของหนังได้มากทั้งในฉากแอ็กชันและดรามา ฉากพ่อลูกรับมือกับการบุกถล่มของผู้ก่อการร้ายก็ได้ทั้งความมันส์และเสียงฮา บทสนทนาระหว่างพ่อลูกทำให้รู้ถึงปูมหลังความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ไม่ราบรื่นนัก คนดูได้รู้จักไมค์มากขึ้นในภาคนี้ นอกเหนือจากบทบาทในหน้าที่การงาน ก็ได้เห็นไมค์ในฐานะสามี พ่อ และ ลูก ไปพร้อมกัน

ในภาคนี้หนังได้งบเพิ่มมาอีก 10 ล้านเหรียญ ในภาคแรกใช้ทุน 70 ล้าน ภาคสองใช้ไป 60 ล้าน ภาคนี้ขยับเพิ่มมาเป็น 80 ล้าน แล้วเปลี่ยนผู้กำกับอีกแล้ว รอบนี้เป็น ริค โรมัน วอกห์ อีกหนึ่งผู้กำกับที่มาจากสายสตันท์แมน ยุคนี้เป็นยุคของผู้กำกับสตันท์แมนจริง ๆ ริค เคยผ่านงานแอ็กชันมาแล้วใน Snitch หนังดเวย์น จอห์นสัน ปี 2013 ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับหนังแอ็กชันจัดหนักแบบนี้ เราก็เลยได้เห็นฉากต่อสู้ทุกรูปแบบตั้งแต่มือเปล่า มีด ปืน ระเบิด เป็นหนังที่เล่นระเบิดกันถล่มทลายมาก ถ้าดูจอเล็กที่บ้านจะขาดรสชาติไปอย่างมากเลย เพราะเรื่องนี้ระเบิดกันถี่แล้วระเบิดทีพื้นโรงหนังสะเทือนกันเลย

ฉากดวลปืนกล ชวนให้นึกถึง Heat เลยเชียว

ฉากแอ็กชันท้ายเรื่องเต็มอิ่มมาก เมื่อผู้ก่อการร้ายบุกถล่มอีกครั้งแบบทิ้งทวนก็ยกพวกมาหมดพร้อมอาวุธหนักทุกรูปแบบ ก็เลยเป็นฉากรบที่ลากยาวเกิน 30 นาที แล้วแต่ละนาทีที่ฝ่ายร้ายลุกคืบ ฝ่ายพระเอกก็ดูจะเสียท่าไปทุกขณะ คือใจก็รู้ว่าหนังไม่เขียนให้พระเอกแพ้หรอก แต่ก็ยอมรับว่าทีมงานทำการบ้านมาดี ดูฉากสาดกระสุนจากหนังฮอลลีวู้ดในตำนานแล้วเลือกหยิบข้อดีมาใช้ได้อย่างลงตัว ทำให้ฉากลากยาวนี้เดินหน้าไปแต่ละนาทีได้อย่างดุเดือด

จุดด้อยของหนังก็คือการแคสติงนักแสดงด้วยการเลือกตัวร้ายประจำฮอลลีวู้ดมารับบททั้ง แดนนี ฮุสตัน และ ทิม เบลค เนลสัน ทั้งคู่แทบไม่เคยเล่นเป็นตัวดีเลย พอเห็นหน้าก็รู้แล้วว่าไอ้นี่ร้ายแน่นอน ก็เลยไม่ต้องคาดเดากันว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ตัวตนจริง ๆ ของทั้งคู่นี้ก็ไม่ใช่่ความลับที่เป็นหัวใจของหนัง เพราะทั้งคู่ก็เปิดเผยสถานะตัวเองตั้งแต่ครึ่งแรกของหนังแล้ว ก็เลยถือว่าจุดนี้ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ใหญ่โตนัก

Angel has Fallen เป็นภาคที่หลุดออกจากกรอบของแฟรนไชส์ตัวเอง แต่ไม่ใช่หนังที่มีความแปลกใหม่จากกรอบรูปแบบเดิม ๆ ของหนังแอ็กชันฮอลลีวู้ด ทุกอย่างเดินหน้าไปตามขนบเดิมที่คาดเดาได้ทั้งหมด แต่ผ่านการเล่าที่มีสีสันเติมแต่งมาเป็นระยะจากผู้กำกับที่มีประสบการณ์ยาวนานกับแวดวงหนังแอ็กชัน ทำให้คนดูสามารถเพลิดเพลินและเกาะติดไปกับภาพบนจอได้จนจบ ไม่ใช่หนังคุณภาพขึ้นหิ้ง แต่ในด้านความบันเทิงหนังตอบสนองได้คุ้มเวลาและค่าตั๋วเลยทีเดียว ดูทีท่าแล้วหนังตั้งใจจะสานต่อแฟรนไชส์ไปแบบปฏิบัติการพ่อลูก ก็ต้องรอลุ้นว่าตัวเลขภาคนี้จะจบลงที่กี่ร้อยล้าน เป็นตัวตัดสินชะตาว่าหนังจะได้ไปต่อในภาค 4 หรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook