สวยใดเล่าจะเท่านายเอกซีรีส์วาย

สวยใดเล่าจะเท่านายเอกซีรีส์วาย

สวยใดเล่าจะเท่านายเอกซีรีส์วาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในฐานะเหยี่ยวเทย กะเทยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในวงการข่าวในช่วงนี้ (?) เทยก็ว่าเทยมั่นหน้ามั่นโหนกกับความสวยของเทยมากประมาณแล้วนะคะ แต่ทำไปทำมา วงการหนึ่งที่เทยคิดว่าเพศหลากหลายใดใดในโลกหล้าก็ไม่กล้าสู้ เห็นทีจะหนีไม่พ้นวงการซีรีส์วาย ที่อุดมไปด้วยคู่จิ้นชายหน้าตาจิ้มลิ้มนั้น ความสวยของตัวละครวาย ยิ่งทำให้เทยดูไปก็กำหมัดแน่น นังนี่ต้องโดนเหล่ารับแท้ในโลกเก้งกวางดักตบเข้าซักวันเป็นแน่ อะไรหล่อนจะสวยแล้วสวยอีก ผู้จามรุมจีบได้ขนาดนั้นอ่ะลูก ไหน มาคุยกันหน่อยซิ 

เพราะฉะนั้นมาค่ะ เมาท์มอยกันหน่อยกับโลกของความวาย

ซีรีส์วายนั้น ตัว Y มาจากคำว่า Yaoi (やおい) อ่านออกเสียงว่า “ยะโอะอิ” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชื่อร้านอาหารแต่อย่างใดนะคะ คำนี้จะใช้ในวงการนิยายและการ์ตูนประเภทหนึ่ง ที่เส้นเรื่องกล่าวถึงลักษณะความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศเชิงอีโรติกหรือโรแมนติกระหว่างชายและชายด้วยกัน โดยตัวละครคู่หลัก ก็จะเป็นพระเอกและนายเอกเท่านั้น โนชะนีค่ะ

กาลเวลาล่วงเลยมาไกล กระแสวายในไทยก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหน้าสื่อ นับตั้งแต่คู่จิ้นคู่แรกได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก็คือ โต้ง-มิว จาก “รักแห่งสยาม” ในปี 2550 ซึ่งเป็นการจุดกระแสคู่วายที่มีตัวเอกเป็นวัยรุ่นชายมัธยมหน้าตาจิ้มลิ้มขึ้นมาเป็นคู่แรก หลังจากนั้นในหน้าสื่อบันเทิง เราก็จะพบคู่วัยรุ่นชายที่มารับแสดงบทบาทความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนด้วยกันอยู่หลายเรื่อง ตอนนี้ก็ใช้นิ้วเท้าขึ้นมานับไม่พอแล้วค่ะ ขอไวท์บอร์ดขอกระดาษทดกันไป

โต้ง และ มิว จากภาพยนตร์ รักแห่งสยาม

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ความวายในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือ โดยส่วนใหญ่เนื้อเรื่องจะอยู่ในช่วงมัธยมไปถึงมหา'ลัย วนเวียนอยู่กับความรักวัยรุ่นชนชั้นกลาง เนื้อเรื่องเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ยืนพื้นอยู่ในโรงเรียนชายล้วน มหาวิทยาลัยและคณะที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมศาสตร์หรือหมอ หรือคณะอะไรก็ได้ ที่มีประชากรผู้ชายอยู่ด้วยกันเยอะๆ โดยนักแสดงจะเป็นดาราชายหน้าใหม่ ที่จะต้องขาวตี๋ ตามสมัยนิยมของตลาด มีกล้ามบ้างพอให้กรุ้มกริ่ม นักแสดงเหล่านี้จะต้องใหม่พอจะหยิบยกมาเพื่อโปรโมท พร้อมเดบิวท์สำหรับงานแสดงอื่นๆ ต่อไป โดยประเดิมด้วยการจับมาจูบกับนักแสดงผู้ชายด้วยกันก่อน ปลดล็อคงานยากสุดได้ อนาคตในวงการไกลแน่นอนลูก

ตอนแรกมันก็ค่อนข้างจะเป็นอุปสรรคต่อวงการสื่อบ้านเมืองนี้อยู่พอควรนะคะ ซีรีส์ ละครที่มีคู่จิ้น คู่เกย์ ผู้ชายกับผู้ชายจูบกันออกทีวีในช่วงแรกๆ กองเซนเซอร์ หน่วยงานทางวัฒนธรรมอะไรตั่งต่าง ก็เหมือนจะอดรนทนไม่ได้ ต้องแปะเซนเซอร์ หรือไม่ก็ขึ้นว่าเป็น “พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม” ก็ว่ากันไป แม้ว่าในโลกจริงเขาทานเขาเซิ้งกันไปถึงไหนถึงไหนแล้วก็ตาม แต่พอหลังๆ มา ทีวีไทยก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออนแอร์โดยช่องใหญ่ๆ แล้ว ซีรีส์เหล่านี้ ก็สามารถปลีกตัวเองกลายเป็นซีรีส์ออนไลน์ในที่สุด ฉายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ฉากเข้าพระเข้านางในซีรีส์วายหลังๆ มา ก็จะถึงอกถึงใจมากขึ้น เพราะมีอิสระในการเข้าถึงผู้ชมที่พร้อมเสพย์ได้อย่างตรงไปตรงมามากขึ้นนั่นเอง โดยเนื้อหาของซีรีส์วาย ส่วนใหญ่ก็จะหยิบยกมาจากนิยายวายที่ได้รับความนิยมทางออนไลน์มาก่อนแล้ว ไม่ต่างอะไรจากละครไทยในยุคเริ่มต้น ที่เริ่มมาจากนวนิยายรักที่ได้รับความนิยมมาก่อนเช่นกัน

แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ ถ้าคุณคิดว่า กลุ่มตลาดของซีรีส์เรื่องนี้ จะเป็นกลุ่ม LGBT เพศหลากหลายเป็นส่วนใหญ่ล่ะก็ คุณคิดผิดค่ะ ซีรีส์วายหลายๆ เรื่อง กลุ่มคนดูที่ออกตัวเป็นแฟนคลับและสนับสนุนละครเรื่องนั้นๆ ล้วนเป็น “ผู้หญิง” คนเขียนนิยาย คนเขียนบทละคร หลายๆ เรื่องก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้เรื่องราวแนววายๆ ของไทยทั้งต้นฉบับนิยาย และตัวซีรีส์นั้น เป็นภาพมายาคติที่ชวนตาลุกวาว เอามือทาบอก คุณพระคุณเจ้า มันเกิดเรื่องแบบนี้ในโลกของคนที่เป็นเก้งกวางได้ด้วยหรือ

เทยลองมาจับๆ สังเกต “ของมันต้องมี” ในซีรีส์วายแล้ว ก็พบดังนี้

  • จูบเปลี่ยนเพศ

ตัวละครพระเอกนายเอกทุกตัว ปูมหลังจะต้องเป็นชายแท้ ถ้าเจ้าชู้หรือมีแฟนชะนีอยู่แล้วจะยิ่งดี แต่ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุหรือจงใจ จูบแรกจูบเดียวนั้น ก็จะทำให้เกิดอาการใจสั่นหวั่นไหว หรือจริงๆ แล้วฉันรู้สึกแปลกๆ กับนายวะ แล้วก็ ตู้ม ตามน้ำกันไปจนได้กัน

  • หึงพิสูจน์รัก หึงน้อยๆ แต่ต่อยหนักๆ

จะดราม่าซีเรียสกันอย่างไร ชีวิตหนักหนาสาหัสขนาดไหน บทพิสูจน์ความรักนั้นง่ายดาย ขอให้หึงกันเป็นก็พอ และงานหึง ก็ห้ามเรี่ยราด ห้ามใหญ่โต ลายชี กิ๊ก สุวัจนี แหกปากแปดหลอดไม่เอา ต้องแบบ ก็ไม่ได้หึง แค่ไม่ชอบให้นายไปกับคนนั้น ออกซีนชัดขวางในไม่ได้ขัดขวาง แบบก็ป่าว ก็แค่แวะมาหา ก็แค่ดึงโทรศัพท์ไปกดวางสายคนคนนั้น หรือแม้แต่สร้างสถานการณ์ให้หึงเพื่อพิสูจน์ใจ

  • ชะนีทั้งหลาย ไปค่ะ หล่อนประชากรชั้นสอง

เปิดมาอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะแฟนตัวเอก แต่เมื่อลองเขาหวั่นไหวแล้ว หล่อนก็เตรียมถูกเทได้เลย จะเททิ้งเทขว้าง เทอย่างไรก็ตาม หล่อนก็ต้องทำใจ และเมื่อไหร่ที่หล่อนมาทวงสิทธิ์ หล่อนก็จะกลายเป็นนางร้าย เป็นตัวน่ารำคาญทันที ทำใจไว้ซะ

  • นายเอกหน้าใส นายจะเล่นตัวอย่างไรก็ได้

สวยใดเล่าจะเท่านายเอกซีรีส์วาย เมื่อได้นักแสดงวัยรุ่นชายหน้าตาดีเหมาะกับการมารับบท “รับในอุดมคติ” แล้ว เจ้าตัวก็จะสามารถเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องได้เสมอ ยืนหนึ่ง ยืนกลาง และมีผู้ชายแท้ๆ อย่างน้อยสองนายต้องมารุมจีบ ตัวนายเอกเราก็จะเล่นสับสน ไม่สามารถเลือกใครไว้ได้ อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน หรือถ้ารุนแรงหน่อย ก็ขึ้นเตียงได้เลยแม้ความสัมพันธ์จะยังคลุมเครือ

  • ฉากเอาใจที่ชวนจิกหมอน ต้องโผล่มาทุก EP

งานหึงน่ารักๆ งานจีบ งานจูบ จับมือ กอด มองตา ไดอาล็อกหวานๆ เข้มๆ ขึ้นมึงขึ้นกู แต่บอกรักนะ ดิบๆ ฟีลเพื่อนชาย สิ่งเหล่านี้ล้วนขับเคลื่อนอยู่ในซีรีส์วาย และจำเป็นต้องโผล่มาทุก EP ให้ได้ แม้หลายๆ ครั้งมันจะขัดกับเส้นเรื่อง โผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยก็ตาม 

ซึ่งมุกแบบนี้ เราสามารถเรียกได้ว่ามันคือ “ขนบวาย” ซึ่งต้องบอกว่ามันเป็นแนวเฉพาะของเรื่องราวแนวนี้เท่านั้น ไม่สามารถหาความสมจริง หรือเส้นเรื่องที่ควรจะดำเนินไปจากขนบเหล่านี้ได้ แม้ว่าในโลกของ LGBT เพศหลากหลายหลายภาคส่วน เมื่อได้รับชมก็เกิดอาการขมวดคิ้วกันไปตามๆ กัน พลางตั้งคำถามกับตัวเองว่า 

“ผู้ที่ฉันได้ ฉันได้มาด้วยฟีลนี้จริงดิ”

อย่างไรก็ดี “ขนบวาย” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาในช่วงหลังๆ ที่เทยได้กล่าวไปแล้ว ว่าเป็นมายาคติที่ถูกถ่ายทอดโดย “ผู้หญิง” เสียเป็นส่วนใหญ่ มันก็พอจะมองออกมาเป็นภาพสะท้อนของการถูกกดทับไว้กลายๆ ในฐานะความเป็นหญิงในสังคมแถวๆ นี้ได้ด้วยเหมือนกันนะคุณ หากจับเซนส์ดีดีแล้วเราจะพบตัวละครที่วนเวียนอยู่แค่ไม่กี่รูปแบบเท่านั้น วัยรุ่นชายผิวขาว ประมาณมัธยมไปถึงมหาลัย คณะก็จะวนเวียนอยู่กับความเป็นผู้ชายจัดๆ อาชีพหรือบุคลิกก็ต้องอยู่กับความเจ้าชู้ แต่หากพระเอกเหล่านี้ มาเจอนายเอกเข้าแล้ว เขาจะยกเว้นทุกอย่างเอาไว้เพื่อนายคนเดียว ยังไม่นับรวมถึงไดอาล็อกที่ตรงไปตรงมา จริงใจ อยู่กันแบบเพื่อน เปิดอก หรืออาจจะเปิดมากกว่านั้นกันต่อแบบเข้มๆ เป็นความจริงใจที่คนเขียนอยากผู้ชายแสดงออกมา เพื่อแสดงความรู้สึกจริงๆ ที่มีในใจ เพราะฝ่ายผู้หญิง มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ด้วยกรอบกำหนดของสังคมที่ต้องถูกกันออกจากพื้นที่ของผู้ชาย ไม่งั้นเธอจะดู “แรดร่าน” 

คำถามคือ ทำไมนายเอกผู้ชาย ที่ก็มีบุคคลิก “แมนๆ” ไม่ต่างกัน ถึงกลายเป็นข้อยกเว้นได้ขนาดนั้น ทำไมไม่เป็นผู้หญิงซะเลยล่ะ

เพราะมายาคติของผู้หญิงที่เป็นผู้ประพันธ์เหล่านั้น อาจจะกำลังใฝ่หาความรักอันล้นพ้น ข้อยกเว้นที่ไม่มีเงื่อนไข การก้าวข้ามอุปสรรค ค่านิยม กฎเกณฑ์ที่สังคมไม่ยอมรับ ไปสู่โลกของ “กันและกัน” อย่างสมบูรณ์ ไม่มีอย่างอื่นมาเจือปน เป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและรู้กันระหว่างสองคน ลับๆ กันสองคน ก็ไม่ใช่แฟน แต่ก็มากกว่าเพื่อน รวมไปถึงการปลดเปลื้องพันธนาการต่างๆ เพื่อก้าวสู่การไปเป็น “อีกขั้นหนึ่ง” ของความรัก

แน่นอนว่าตัวละครไม่สามารถเป็นผู้หญิง หรือหญิงกับหญิงได้ เพราะปรารถนาลึกๆ ของผู้แต่ง ผู้ชายทั้งสองคนใน “ขนบวาย” คือตัวแทนของ “รักแท้” ที่พวกเธอเองเก็บพวกเขาไว้เล่นเพื่อฟินกับความรู้สึกตัวเอง เหมือนเวลาเล่นกับตุ๊กตา

แต่ถามว่าในสังคมเกย์ในโลก LGBT ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เลยหรือ มันเป็นแค่เรื่องมโนของชะนีตาใสเขียนฟิคจนโด่งดังจนทำเป็นซีรีส์อย่างเดียวหรือ นั่นก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ก็ต้องยอมรับว่าในสังคมที่ผู้ชายอยู่ด้วยกันเป็นหมู่มาก ก็มีสถานการณ์ที่ความสัมพันธ์แบบ “Bromance” หรือ “โรแมนติกระหว่างชาย” จะเกิดขึ้นได้จริงๆ นั่นแหละ หลักฐานนี้ปรากฎชี้ชัดในหน้าประวัติศาสตร์ทั่วโลก มาตั้งแต่ยุคกรีกและโรมัน เรื่องของการเสพย์สังวาสกันระหว่างชายชายในกองทัพ หรือแม้แต่นักรบชาวญี่ปุ่น โชกุนและเด็กเลี้ยงต้อย นั่นมีจริง เกิดขึ้นได้จริง ไม่ไก่กา ไม่จ้อจี้

และในสังคมปัจจุบัน โรงเรียนชายล้วน รวมไปถึงคณะในมหาวิทยาลัยที่มีอัตราส่วนผู้หญิงน้อยกว่า และอยู่กันแบบผู้ชายๆ จนค่อนข้างเป็นสังคมปิด วัยรุ่นเลือดร้อนที่ขับเคลื่อนด้วยเรื่องเพศ มันก็มีกันบ้างตามสมควร ในเรื่องการ “ได้กันลับๆ มองตากันหวั่นไหว” พอกรุบ แต่พอชะนีน้อยช่างฝันมาเห็นโมเมนต์นี้เข้า ก็คงเห็นว่าเป็นวัตถุดิบที่ดี จึงนำไปต่อยอดเป็นนิยายวายจนได้รับความนิยม และถูกผลิตเป็นซีรีส์โทรทัศน์หรือภาพยนตร์ในลำดับถัดมา

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง “ขนบวาย” กับ หนัง LGBT” นอกจากมุมมองของคนเขียนแล้ว ที่ชัดกว่าคือ “แรงขับเคลื่อนของเรื่องและจุดจบ” ขนบวายนั้น ตัวละครจะหวานจนน้ำตาลทรายต้องมากราบก็ได้ รักแท้ที่เราแค่มีกันและกันจะฟันฝ่าอุปสรรคใดใดไปให้หมด ขอเพียงแค่นายจูบเราก็พอ แต่หนังเกย์ที่ขับเคลื่อนด้วยประเด็น LGBT จริงๆ หลายๆ เรื่องมันไม่ได้สวยงามอย่างนั้น อาจจะตรงกันบ้างกับขนบวายที่ว่า ซีนโรแมนติกหรือเซ็กซ์ระหว่างกัน มันก็เกิดขึ้นได้ง่ายจริงๆ นั่นแหละ แต่ไอ้ความสัมพันธ์แบบรักอันล้นพ้น อยู่ด้วยกันไปจนแก่จนเฒ่านี่ต้องพักก่อน เพราะอุปสรรคและแรงกดดันจากสังคมรอบข้างมันขมกว่านั้นมาก จึงเป็นไปได้ยากมากที่ขนบวาย จะถูกนับรวมว่าเป็นหนังหรือละครที่สะท้อนความจริงของสังคมเกย์หรือ LGBT

ความรักอันงดงาม และจุดจบอันแสนเศร้าจากภาพยนตร์ มะลิลา

หลังๆ มาจึงมีการหักลบกันด้วยซีรีส์เกย์ที่เข้าสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้น แต่ก็ยังมีคู่จิ้นแบบวายน่ารักๆ ไว้ให้ดูอยู่ ซีรีส์หลายเรื่องจับประเด็นที่ว่าความสัมพันธ์ไม่จำกัดแค่สองเพศอีกแล้ว ละครช่องหลายๆ เรื่อง ก็เริ่มมีการเปลี่ยนให้ตัวละครหลัก มีคู่สามเศร้าเป็นผู้หญิงหนึ่งกับผู้ชายสอง แต่ผู้หญิงกับผู้ชายแย่งผู้ชายคนเดียวกันแล้วก็มี หรือแม้แต่เพิ่มอายุของนักแสดงให้ไปเป็นวัยทำงานแล้ว เพื่อเพิ่มความเข้มแรงของฉากดูดดื่ม และประเด็นดราม่าแย่งชิงก็เริ่มมีมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็เริ่มไกลจากขนบวาย และเข้าสู่โลกของเกย์และเพศลื่นไหลหลากหลายที่เป็นประเด็นดราม่าในสังคมได้จริงๆ

อย่างไรก็ดีค่ะคุณขา ก็ต้องยอมรับว่าซีรีส์วายตามขนบวาย ก็เป็นภาพฝันอันสวยงามอยู่มาก เกย์เก้งกวางบ่างกะเทย ดูแล้วก็ไม่อิน ก็จริงค่ะ ไม่อิน แต่ถามว่าดูไหม ก็ดูค่ะ หนุ่มหล่อจูบกันได้กัน มันก็ชุ่มชื่นหัวใจหมดแหละ เพราะจะให้เก้งกวางมานั่งระทมกับความจริงที่เราโดนกดทับจากระบบระบอบและค่านิยมทางสังคมไปทุกวันมันก็ไม่ไหว ก็เปลี่ยนไปดูภาพฝันกันบ้าง

ส่วนตัวเทยเอง ถึงแม้จะอยากตบนายเอกซีรีส์วายหลายๆ เรื่องด้วยความหมั่นไส้อย่างไร ก็ต้องยอมรับว่านางเป็น “รับในอุดมคติ” เสียเหลือเกิน อยากให้ชีวิตป๊อปปูล่าร์ เดือนคณะมารุมจีบแบบน้องวาโยจากซีรีส์ 2Moon2 บ้างก็ดีอ่ะค่ะ

ในแง่พื้นที่สื่อ มีเพศหลากหลายมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นข้อดีที่เกิดขึ้นจริงแล้ว แม้จะวูบวาบมาก เรื่องแต่ง เรื่องเพ้อฝันไปเกินครึ่งก็เถอะ แต่ถามว่าจะให้ยึดเป็นสรณะ เป็นมาตรฐานการขับเคลื่อนประเด็น LGBT จริงๆ ได้ไหมนั้น ก็ต้องพักก่อน ยังไกลมากแม่

 

เหยี่ยวเทย รายงาน

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ สวยใดเล่าจะเท่านายเอกซีรีส์วาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook