“Yesterday” เมื่อเพลงจากอดีตตอบคำถามว่าเราอยากถูกจดจำแบบไหนในอนาคต
ทั้งๆ ที่เขียนบทโดย ริชาร์ด เคอร์ติส ผู้กำกับ Love Actually และ About Time และกำกับโดย แดนนี่ บอยล์ (Trainspotting, The Beach, Slumdog Millionaire, Steve Jobs และอีกเพียบ) ซึ่งถ้าดูจากโพรไฟล์ที่ผ่านมาของทั้งสองคนก็ต้องถือว่า Yesterday เป็นการจับคู่ที่น่าสนใจมากนะครับ เพราะคนหนึ่งเป็นคนเขียนบท (และผู้กำกับ) ที่ฉกาจฉกรรจ์มากที่สุดคนหนึ่งของวงการหนังอังกฤษ ส่วนอีกคนนี่ก็ดีกรีผู้กำกับรางวัลออสการ์และมีผลงานดีๆ มากมายตลอดการทำงาน แต่ว่าตั้งแต่เห็นเทรลเลอร์หนังเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ผมก็รู้สึกได้ทันทีว่า Yesterday ซึ่ง เคอร์ติส เขียนบท และ บอยล์ กำกับนั้นดูจะเป็นงานที่สบายๆ ไม่ซีเรียส รู้สึกว่าเป็นหนังที่ทั้งคู่ทำด้วยความสนุก (ของตัวเอง) เป็นที่ตั้ง อันนี้ไม่รู้จะอธิบายได้อย่างไร แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ครับ
แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่เชื่อว่าพอคนเขียนบทและคนกำกับเขาชิลๆ แล้ว Yesterday จะเป็นหนังที่ไม่น่าสนใจนะครับ คือลึกๆ ยังไงผมก็เชื่อมือทั้งคู่ มือชั้นนี้แล้วชั่วๆ ดีๆ คงไม่ปล่อยงานที่ไร้คุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานหรือสุกเอาเผากินออกมาแน่นอน นั่นทำให้ผมเดินเข้าโรงด้วยการไม่คาดหวังอะไรเลยนอกจากเข้าไปฟังเพลง The Beatles ในหนังเป็นครั้งที่สาม (สองครั้งก่อนหน้าคือหนังเรื่อง Across The Universe กับ I Am Sam) แล้วก็พบว่า เออ มันก็สนุกดีนี่หว่า ดูได้เพลินๆ ประทับใจตามสมควร ไม่ถึงกับดีเลิศมากมาย
พอออกจากโรงมาแล้ว ถึงมาคิดได้ภายหลังว่าในความเพลิดเพลินของ Yesterday แล้วมันมีสิ่งที่น่าทึ่งในตัว เคอร์ติส และ บอยล์ อยู่เหมือนกันนะครับ
ลองนึกดูสิครับว่า ในตอนที่ Yesterday ยังเป็นเพียงแค่โปรเจกต์หนังเรื่องหนึ่งซึ่งเล่าเรื่องอันเกิดจากจินตนาการไร้สาระที่ว่า สมมติว่าวันหนึ่งไม่มีใครบนโลกใบนี้เลยที่รู้จักเพลง The Beatles เลยนอกจากคุณ คุณคนเดียวเท่านั้นที่รู้จักเพลงของ The Beatles...
ครับ ถ้าคุณรู้ว่ามันจะมีหนังที่เล่าเรื่องอย่างนี้ คุณก็น่าจะจัดมันให้อยู่ในหมวดหนัง ‘บ้าบอคอแตก’ ในระดับสูงสุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว และคุณก็คงมีคำถามประมาณว่า ‘แล้วมันจะทำยังไงต่อวะ’ หรือ ‘ฉันคงไม่สนใจมันแน่ๆ’ แต่ความน่าสนใจและน่าสนุกมันอยู่ตรงนี้แหละครับ ตรงที่ว่าไอ้ท็อปปิกงี่เง่าแบบนั้นมันดันมาอยู่ในมือของ เคอร์ติส และ บอยล์ เราก็เลยได้หนังที่สนุก ดูเพลิน และซาบซึ้งกินใจตามสมควร
กล่าวสำหรับ ริชาร์ด เคอร์ติส ผมว่าสไตล์นี้นี่เป็นทางถนัดของแกเลยครับ ไอ้ประเภทเริ่มต้นที่ความติงต๊อง โคตรไม่น่าเชื่อถือ แล้วค่อยๆ นวด ค่อยๆ ขยี้ ค่อยๆ ใส่ข้อขัดแย้งลงไปในเรื่อง แล้วลากผู้ชมให้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งสมมติแบบนั้น แล้วก็ค่อยๆ พาเราไปหาทางออกในแบบที่ลึกซึ้งลงไปในชีวิตและมีความเข้าอกเข้าใจมนุษย์อยู่สูง สูงมากพอที่จะทำให้เราลืมเรื่องติงต๊องในตอนต้นได้
หรือเรื่องเหล่านั้นก็ดันเม้ค เซนส์ ขึ้นมาซะอย่างนั้น อะไรแบบนี้ เคอร์ติส เอาอยู่มือมากๆ ไม่ต้องดูอื่นดูไกล หากยังจำกันได้ เรื่อง About Time ของแกนี่เป็นตัวอย่างที่ดีเลยครับ จำได้ว่าในตอนแรกที่ดูผมก็ยังรู้สึกตงิดๆ... พล็อตอะไรวะ แค่กำมือหลับตาแล้วก็ย้อนเวลาได้? แต่พอดูไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามันลึกซึ้งและ Human touch มากๆ หลังจากนั้นเปิดเคเบิลทีวีแล้วเจอเรื่องนี้เมื่อไหร่เป็นต้องหยุดดูทุกที และก็ได้อะไรใหม่ๆ ทุกทีที่ดูเหมือนกัน Yesterday นี่ก็เข้ารูปเข้ารอยนั้นเลยครับ
เริ่มจากความไม่เม้ค เซนส์ ก่อนจะพาเราไปตอบคำถามใหญ่ในเรื่องที่ว่า ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราควรโฟกัสในปัจจุบันก็คือคำถามที่ว่า ‘เราอยากถูกจดจำอย่างไรในอนาคต?’ และคำตอบที่เราได้จะผลักดันให้เราต้องลงมือทำอะไรสักอย่างนั่นแหละครับ
ส่วนผู้กำกับ แดนนี่ บอยล์ นั้น หลังจาก T2 เมื่อสองปีก่อนซึ่งผมก็ว่าแกทำขำๆ พอให้หายคิดถึงแล้ว เรื่องนี้ก็ยังเข้าโหมด ‘ออโตไพลอต’ คือกำกับเหมือนปล่อยไหล ใช้ระบบอัตโนมัตินำทางเหมือนเคย แต่ว่าก็ยังคงแม่นยำพอที่จะไม่ทำให้หนังออกมาเลี่ยนหรือชวนอี๋ชวนอ้วก ผมบอกได้เลยว่าซีนใหญ่ในตอนจบของหนังนี่ถ้าทำผิดจากนี้ไปนิดเดียว ตั้งเพดานบินผิดไปองศาเดียว เผลอเล่นใหญ่ไต่ความคาดหวังของผู้ชมผิดไปนิดเดียว หนังจะจบแบบโอเวอร์ดราม่าแน่นอน และผู้ชมก็จะไม่จดจำมันสักเท่าไหร่ ซึ่งอันนี้แหละครับ คลาสของ บอยล์ ล้วนๆ หากเป็นผู้กำกับคนอื่นก็น่าหวาดเสียว
และนี่ยังไม่นับหมัดเด็ดมากมายในหนังที่ไม่รู้ไม่เป็นไร แต่ถ้ารู้หน่อยก็จะขำมากขึ้น รวมทั้งการพลีชีพตัวเองของ เอ็ด ชีราน ในหนังนั่นด้วย (ซึ่งผมว่าแกโคตรเสียสละ ยอมเปลืองตัวเพื่อวงการเพลงอังกฤษเลย) และหมัดฮุคสุดท้ายในตอนท้ายเรื่อง ที่ขอสารภาพตรงนี้เลยครับว่าผมน้ำตาคลอ
สรุปว่า ไปดูได้เพลินๆ นะครับเรื่องนี้
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Yesterday ได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม
อัลบั้มภาพ 28 ภาพ