“It 2” ชัยชนะแห่งคณะพ่ายแพ้

“It 2” ชัยชนะแห่งคณะพ่ายแพ้

“It 2” ชัยชนะแห่งคณะพ่ายแพ้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูกันผิวเผิน It chapter 2 ของ แอนเดรียส มัสเคียตตี ก็ถือว่าเป็นหนังที่ครบรสชาติเรื่องหนึ่งนะครับ มีความกลมกล่อมและก้ำกึ่งผสมผสานระหว่างการเป็นหนังสยองขวัญตามหน้าหนังของมันและการเป็นหนังดรามาที่พูดถึงเพื่อน มิตรภาพ ความรัก ภาพฝันวัยเยาว์ การเปลี่ยนผ่านและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบทประพันธ์อันยอดเยี่ยมของ สตีเฟ่น คิง ที่หลายคนชอบเรียกเขาว่าเป็นราชาแห่งเรื่องเล่าสยองขวัญ (แต่ผมว่าจริงๆ คิง นี่เป็นราชาแห่งการเล่าเรื่อง “การเปลี่ยนผ่าน” มากกว่านะครับ ลองไปอ่านนิยายหลายๆ เรื่องของแก จะพบว่างานของเขามักจะมีธีมหลักอยู่ที่การเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปสู่อีกสถานะหนึ่งอยู่บ่อยๆ) แต่อีกส่วนหนึ่งก็ต้องชื่นชมและให้เครดิตกับ แอนดรียส มัสเคียตติ ผู้กำกับ รวมทั้ง แกรี่ ดูเบอร์แมน คนเขียนบทซึ่งจับโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ภาคแรกเมื่อสองปีที่แล้วที่ทำออกมาได้ค่อนข้างตรงตามนิยายอยู่พอสมควร

แต่มองให้ลึกลงไปกว่านั้นอีกนิด It chapter 2 ก็แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าภาพยนตร์เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการนำเสนอประเด็นทางสังคมใดๆ ก็ตามที่ผู้สร้างต้องการขับเคลื่อนได้เป็นอย่างดีและค่อนข้างทรงพลังนะครับ เพราะในเวอร์ชั่นนี้ผมรู้สึกว่าหนังมีความพยายามในการนำเสนอประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพอันหลากหลายควบคู่ไปกับการพูดถึงเรื่องการเอาชนะความกลัวการทำร้ายอันเกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crime) ซึ่งคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นแกนในของนิยายของคิง (คลับคล้ายคลับคลานะครับ เพราะผมเคยอ่านนานมาแล้ว) แต่นำเสนอประเด็นเรื่องการบุลลี่ LGBT ให้ชัดและโดดเด่นมากขึ้นกว่าประเด็นอื่นๆ (เช่นเรื่องสีผิว) นิดหน่อย เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยแห่งการยอมรับความหลากหลาย ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีเลยครับ

เพนนีไวส์

และยิ่งดีกว่านั้นอีกเมื่อสุดท้ายแล้วแม้จะมีการขับเน้นประเด็นหลักอะไรก็ตาม แต่ แอนดรียส มัสเคียตติ และ แกรี่ ดูเบอร์แมน พาหนังกลับมาสู่แนวทางดั้งเดิมอันว่าด้วยการเอาชนะความกลัวและการเปลี่ยนผ่านได้ เรื่องการเอาชนะความกลัวนั้น หากใครดูหนังแล้วก็คงเห็นได้อย่างชัดเจนนะครับว่ามันถูกนำเสนอออกมาอย่างไร ประเด็นนี้ข้ามไป แต่ที่ผมสนใจมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องการเปลี่ยนผ่านครับ เวลาเราพูดถึงการเปลี่ยนผ่านนั้น เรามักมองมันในแง่การเติบโตทางกายภาพที่ควบคู่กับการเรียนรู้ประสบการณ์ทางชีวิต คือ เติบโตขึ้น เข้าใจโลกมากขึ้น ซึ่ง It ภาคแรกพูดเรื่องนี้ชัดเจน กลุ่มขี้แพ้แห่งเดอร์รี่ โตขึ้นผ่านความเจ็บปวด ร่างกายเปลี่ยนจากเด็กกลายเป็นหนุ่มสาวอะไรแบบนั้น

แต่การเปลี่ยนผ่านใน It chapter 2 นั้นผมมองว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านอีกแบบ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอะไรอีกแล้ว เพราะแก๊งขี้แพ้กลายเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว แต่กลับต้องเผชิญการเปลี่ยนผ่านในมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น การก้าวข้ามอดีตที่ขมขื่นทิ้งมันไว้เบื้องหลัง การให้อภัยในความผิดพลาดของตัวเอง การปลดแอกตัวเองจากฝันร้ายอย่างเบ็ดเสร็จ การเข้าใจเรื่องราวในอดีตและมุ่งเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่มองไม่เห็น เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในจิตใจ แต่ผมก็คิดว่ามันคือการเปลี่ยนผ่านอย่างหนึ่ง เป็นการเอาชนะความกลัวอย่างหนึ่ง

It chapter 2 ทำให้เห็นว่าเมื่อเอาชนะความกลัวได้แล้ว ปีศาจร้ายอย่าง เพนนีไวส์ ก็มิอาจทำอะไรได้ คณะขี้แพ้แห่งเดอร์รี่ก็เปลี่ยนสถานะเติบโตทางจิตใจขึ้นอย่างสมบูรณ์ ไม่มีฝันร้ายในอดีตคั่งค้างอีก และเพนนีไวส์ในนามแห่งความกลัวก็ไม่มีผลอะไรอีก ถือเป็นการเอาชนะอย่างเบ็ดเสร็จ

นั่นทำให้ผมมองว่าบางทีการที่หนังตั้งชื่อจริงๆ ว่า “It : End” นี่อาจกำลังพยายามบอกอะไรเราอยู่ก็ได้นะครับ

 

ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง It Chapter Two ได้ ที่นี่

 

เกี่ยวกับผู้เขียน
จักรพันธุ์ ขวัญมงคล
นักเขียน นักแปล นักวิจารณ์ภาพยนตร์ และบรรณาธิการอิสระ สนใจความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะและสังคม

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ “It 2” ชัยชนะแห่งคณะพ่ายแพ้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook