ภาพยนตร์ไทยตายแล้วหรือยัง?

ภาพยนตร์ไทยตายแล้วหรือยัง?

ภาพยนตร์ไทยตายแล้วหรือยัง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงปี พ.ศ. 2540 คือยุครุ่งเรืองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย 2499 อันธพาลครองเมือง, นางนาก, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และองก์บาก คือตัวอย่างของภาพยนตร์ในยุค “หนังไทยฟีเวอร์” ที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของวงการภาพยนตร์ไทยในช่วง 20 ปีให้หลังกลับเข้าสู่ภาวะตกต่ำ ขนาดที่ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา มีภาพยนตร์ไทยเพียง 8 เรื่องเท่านั้นที่ทำรายได้เกิน 10 ล้าน จึงมาถึงคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับภาพยนตร์ไทยกันแน่และชะตากรรมของภาพยนตร์ไทยจะเดินทางไปสู่จุดไหน

สถานการณ์ภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน

งานเสวนา ส่งเสริมหนังไทยยังไงดี? จัดขึ้นโดยไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ผ่านมา ได้ตั้งคำถามกับสภาวะสุญญากาศของวงการภาพยนตร์ไทยในปัจจุบันที่แม้จะเคยรุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป วงการนี้กลับย่ำอยู่กับที่และไม่มีท่าทีว่าจะก้าวไปข้างหน้า คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องไอ้ฟัก และมะหมา 4 ขาครับ ชี้ว่า แม้ภาพยนตร์ไทยจะมีคุณภาพดีอยู่ แต่ในแง่ของรายได้กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งยุคนี้ถือเป็นยุคที่ตกต่ำที่สุดของวงการภาพยนตร์ไทยในรอบ 20 ปี

“หนังไทย 20-30 เรื่อง จะมีเรื่องที่เกิน 10 ล้านไม่กี่เรื่อง ถ้าจะพูดว่าหนังที่คุ้มทุนอาจจะมีสัก 3 เรื่องต่อปี ก็คงเป็นสถานการณ์ที่ไม่ดี” คุณพันธุ์ธัมม์กล่าว

ด้าน คุณพิมพกา โตวิระ ผู้กำกับภาพยนตร์และโปรดิวเซอร์ แสดงความคิดเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ โลกออนไลน์มีผลอย่างมากต่อการชมภาพยนตร์ กล่าวคือ ในยุคดิจิทัลที่มีช่องทางการรับชมภาพยนตร์ที่หลากหลายและง่ายขึ้น ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์มีตัวเลือกมากกว่าเดิม ประกอบกับการที่ผู้ชมรู้สึกว่าการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ส่งผลให้ผู้ชมภาพยนตร์ในโรงมีจำนวนน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงคัดค้านว่าภาพยนตร์ไทยบางเรื่องยังได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในแง่ของรายได้และความนิยม ซึ่งในประเด็นนี้คุณภาณุ อารี ดิสทริบิวเตอร์ผู้นำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศในไทย มองว่ามันเป็นเรื่องของจังหวะและกระแส แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาเรื่อง “ช่องว่าง” ของความภักดีต่อแบรนด์ที่ผู้ชมภาพยนตร์มีต่อบริษัทสร้างภาพยนตร์นั้น ๆ

“หนังไทยมีช่องว่างค่อนข้างสูง จนมีคนพูดติดตลกเลยว่าหนังไทยตอนนี้มีสองประเภทคือหนังของ GDH และหนังไทยทั่วไป” คุณภาณุกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบต่อแวดวงภาพยนตร์ไม่ต่างกัน คุณภาณุอธิบายว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชมตัดสินใจชมภาพยนตร์หนึ่งเรื่อง ผู้ชมมักจะใช้หลักทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาช่วย โดยดูจากความคุ้มค่าของจำนวนเงินที่ซื้อตั๋วภาพยนตร์กับคุณภาพและเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ

อีกหนึ่งปัญหาของภาพยนตร์ไทยคือเรื่องของ “ความศรัทธา” กล่าวคือ คนทำภาพยนตร์ไม่สามารถรักษาศรัทธาของผู้ชมเอาไว้ได้ เมื่อภาพยนตร์ประเภทหนึ่งได้รับความนิยมหรือประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นสูตรสำเร็จให้อีกหลายคนได้ทำตาม ซึ่งส่งผลให้แวดวงภาพยนตร์ไทยยังย่ำอยู่กับที่ เกิดเป็นวงจรที่ทำให้คนต้องตั้งคำถามกับอนาคตของภาพยนตร์ไทยอยู่ตลอดเวลา คุณพันธุ์ธัมม์แสดงความคิดเห็นว่าสาเหตุของปัญหาคือ การไร้ผู้ผลักดันให้วงการสามารถไปต่อได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ภาพยนตร์ไทยขาดการผลักดันและไม่มีการสนับสนุนคนทำภาพยนตร์ เมื่อภาพยนตร์ไทยไปถึงจุดหนึ่ง ก็ไม่มีคนทำต่อ ผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับไม่สามารถผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่องได้ ขณะที่ผู้กำกับหน้าใหม่ก็ยึดติดอยู่กับสูตรสำเร็จ จนเกิดเป็นความจำเจของเนื้อหา จึงส่งผลให้ความศรัทธาที่ครั้งหนึ่งคนเชื่อมั่นในภาพยนตร์ไทยมาก ๆ ลดน้อยลง

“มันเหมือนทุกคนรอฮีโร่ [การทำหนัง] เป็นเรื่องของบุคคล ถ้าใครทำสำเร็จก็ทำให้มีความคาดหวัง แต่ไม่มีภาพรวมที่คนทั้งองค์กรไปด้วยกัน ไม่มีการสนับสนุนอย่างชัดเจน เราไม่มีตัวกลางที่จะสนับสนุน หรือถ้ามีคนทำสำเร็จแล้วจะมีคนสนับสนุนต่อไหมเพื่อผลักดันโปรเจกต์ต่อไป เราไม่มีสิ่งนี้ตั้งแต่เริ่มต้นเลย” คุณพิมพกาเสริม

คณะกรรมการภาพยนตร์คือคำตอบ?

แม้ภาครัฐของไทยจะให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอยู่บ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่ต่อเนื่องของการสนับสนุน และไม่มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลหรือทำหน้าที่โดยตรง ซึ่งทำให้วงการภาพยนตร์ของไทยค่อนข้างเป็นไปแบบ “ตัวใครตัวมัน” ในขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ซึ่งมีจุดเริ่มต้นพร้อม ๆ กับไทยกลับรุดหน้าไปมาก นั่นเป็นเพราะเกาหลีใต้มี Korean Film Council (KOFIC) ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนภาพยนตร์อย่างเป็นองค์รวม ทั้งภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ไปจนถึงภาพยนตร์ระดับนักศึกษา เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ที่มี Singapore Film Commission (SFC) ที่ให้การสนับสนุนผู้กำกับมืออาชีพและนักศึกษาที่ทำภาพยนตร์ และมีการมอบทุนสนับสนุนสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งในและนอกสิงคโปร์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอยู่บนเงื่อนไขขององค์กร หรือแม้แต่ในฟิลิปปินส์ ก็มีการจัดตั้ง Film Development Council of the Philippines (FDCP) ซึ่งให้การสนับสนุนภาพยนตร์โดยรวม และเป็นการใช้ภาพยนตร์เพื่อการพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม คุณพันธุ์ธัมม์ ชี้แจงว่าสำหรับประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดึงเอาข้อดีขององค์กรภาพยนตร์ทั่วโลกมาใช้ และจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ของชาติไทย ซึ่งมีการทำเอาไว้อย่างละเอียดแต่กลับไม่มีการนำมาใช้จริง

“ยุทธศาสตร์มีครบ มีทุกอย่าง มีแผนครบแล้ว ไม่มีปัญหาเลย แต่การจะสนับสนุนต้องถามก่อนว่าใครอยากสนับสนุนเพราะถ้าจะผลักดันตรงนี้ก็ต้องมีเจ้าภาพ การสนับสนุนภาพยนตร์อยู่ต่ำมาก ไม่มีใครมีจิตสำนึกว่าต้องช่วยภาพยนตร์ ไม่มีใครสนใจเรื่องนี้จริง ๆ ใครจะทำ คนทำต้องมีอำนาจในการต่อรองกับรัฐบาล ประเทศไทยเป็นประเทศพุทธ เราเหมือนอริยสัจ 4 เรารู้ว่าทุกข์อยู่ตรงไหน ทุกข์คืออะไร ก็คือหนังไทยกำลังล่ม สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์คืออะไร มีหลายปัจจัย ทั้งคนดู นิโรธเรามีแผนมีอะไรแล้ว แต่มรรคล่ะ เราไม่ทำ เราไม่มีใครที่จะผลักให้เกิดมรรค” คุณพันธุ์ธัมม์กล่าว

ทางออกภาพยนตร์ไทย

คุณพิมพกาแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรก คือภาครัฐต้องเปลี่ยนมุมมองต่อภาพยนตร์เสียก่อน เพราะในตอนนี้ภาพยนตร์ถูกมองเป็นเรื่องของอุตสาหกรรม เงินลงทุน และธุรกิจ ซึ่งมันคือส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะภาพยนตร์มีพลังของการเคลื่อนไหวบางอย่างอยู่ด้วย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาครัฐไม่เข้าใจในความสามารถและการทำหน้าที่ของภาพยนตร์ที่เป็นได้มากกว่าแค่ความบันเทิงหรือการส่งต่อวัฒนธรรม แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนคนทำงานในประเทศ

ในทางกลับกัน คุณภาณุมองว่า การเรียกร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือคนทำภาพยนตร์เองต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของตัวเองใหม่ นั่นคือคนทำภาพยนตร์ต้องรู้จักคิดเรื่องราวและประเด็นที่จะนำมาเสนอให้แหลมคม ซึ่งคุณภาณุอธิบายถึงการพูด “ปากต่อปาก” ของคนดูบนโลกออนไลน์ต่อภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ที่คนดูเต็มใจทำให้หากพวกเขาชื่นชอบ ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Parasite ของเกาหลีใต้ หรือฉลาดเกมส์โกงของไทย เป็นต้น

เช่นเดียวกัน การปลูกฝังวัฒนธรรมการดูหนังให้กับเด็กก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยปูพื้นฐานให้กับวงการภาพยนตร์ของประเทศไทย เพราะคนดูเป็นพลังสำคัญในการทำให้ภาพยนตร์ไปข้างหน้า ดังนั้น การเอาภาพยนตร์ใส่ลงไปในการศึกษา พาเด็กไปดูภาพยนตร์ก็เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการดูหนังให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

“ถ้าเราอยากทำ เราทำได้แหละ เราต้องเริ่มเสริมพลังคนรุ่นใหม่ ใช้สิ่งที่อยากสนับสนุนกับเยาวชน ทำอย่างไรจะเอาการศึกษาลงไปสู่การสนับสนุน ให้เด็กได้ดูหนังที่หลากหลาย ทำอะไรที่เด็กมองเห็น และเราสนับสนุนแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” คุณพิมพกากล่าว

สุดท้ายแล้ว ความอยู่รอดของภาพยนตร์ไทยเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยสามารถผงาดในระดับโลกได้อีกครั้ง เริ่มต้นตั้งแต่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ต้องรู้จักปรับตัว และนำเสนอประเด็นที่ท้าทายและแตกต่างจากเดิม ในขณะเดียวกัน ภาครัฐก็ต้องเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยอย่างจริงจัง ยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เขียนขึ้นอย่างดีต้องถูกนำมาใช้และสามารถแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกันกับผู้ชมที่ต้องช่วยกันสนับสนุนภาพยนตร์ไทยให้มากขึ้น เพราะผู้ชมเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ภาพยนตร์ไทยสามารถอยู่รอดได้ในยุคตกต่ำเช่นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook