"สองนรี" ภาวะติดเซ็กส์ที่ต้องการความเข้าใจ
ถือว่าเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ทีเดียว สำหรับ “สองนรี” ละครดราม่าขึ้นหิ้งสุดคลาสสิก ที่มีความเผ็ดอยู่ที่บทนางเอก “หนึ่ง” (นำแสดงโดย มิน-พีชญา วัฒนามนตรี) ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายไม่เลือกหน้า เนื่องจากโรค “นิมโฟมาเนีย” ที่ทำให้เธอต้องการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ฉากสุดร้อนแรงอย่างเซ็กส์หมู่กับคนงานในละครเรื่องนี้ ทำให้โรคนิมโฟมาเนีย ถูกหยิบยกมาพูดถึงเป็นวงกว้าง
"สองนรี" สุดพีค "มิน พีชญา" ในฉากเซ็กซ์หมู่คนงาน
"เกรท สพล" แซ่บจัดหนัก เลิฟซีนแทบกระอัก ใน "สองนรี"
อย่างไรก็ตาม การนำเสนอประเด็นของโรคในรูปแบบละครโทรทัศน์ก็มีข้อจำกัดและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคนี้ได้ Sanook! TV/Movies จึงขอพาไปรู้จักอาการของ “โรคนิมโฟมาเนีย” ให้มากขึ้น รวมทั้งมองจากมุมของคนเขียนบทโทรทัศน์ ที่นำเสนอแง่มุมเกี่ยวกับโรคนี้ด้วย
นิมโฟมาเนียคืออะไร?
ย้อนกลับไปในอดีต ผู้หญิงที่ไม่รู้จักพอในเรื่องเซ็กส์หรือนอนกับผู้ชายไม่ซ้ำหน้า จะถูกตีตราว่าเป็นผู้หญิงที่ไม่ดี เป็นพวกสำส่อนทางเพศทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม หลายคนเข้าใจว่าลักษณะอาการดังกล่าวคือโรคฮิสทีเรีย หรือเรียกกันติดปากว่าโรคขาดผู้ชายไม่ได้ แต่ต่อมาความเข้าใจดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงและแทนที่ด้วย “โรคนิมโฟมาเนีย” เพื่อใช้อธิบายผู้หญิงที่แสดงลักษณะอาการข้างต้น
อ.นพ.ศิริชัย จิวจินดา อาจารย์ประจำวิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ชี้ว่า “โรคนิมโฟมาเนีย” เป็นคำศัพท์โบราณ และในปัจจุบัน ลักษณะอาการที่มีความต้องการทางเพศมากจนเกินพอดีถูกจัดอยู่ในโหมดของโรคภาวะบุคลิกภาพผิดปกติ (Personality Disorder) ซึ่งมีลักษณะอาการติดเซ็กส์ (Sex Addiction) และไม่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มโรคจิต แต่เป็นความผิดปกติในเรื่องของความต้องการหรือแรงปรารถนาในเรื่องเพศ
โรคนิมโฟมาเนียเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัย โดยปัจจัยภายใน มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดจากความผิดปกติในสมอง ซึ่งปกติแล้วสมองจะทำหน้าที่ควบคุมความคิด พฤติกรรม และความยับยั้งชั่งใจ เมื่อเกิดปัญหาบริเวณสมองก็ส่งผลให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี หรือในบางกรณีที่เป็นปัญหาของชีวเคมีในสมอง ก็ทำให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์ เกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหรือไบโพลาร์ และส่งผลให้เกิดอาการติดเซ็กส์ ส่วนปัจจัยภายนอกก็ได้แก่ สิ่งแวดล้อม ยา หรือยาเสพติด เช่นแอลกอฮอล์ ที่ทำให้เกิดภาวะการกระตุ้น แล้วทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ
นอกจากนี้ ปัจจัยทางสังคมก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะติดเซ็กส์ ซึ่งหากพิจารณาจากที่มาที่ไปของตัวละคร ผู้ชมจะพบว่ามีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูของแม่ที่เป็นโสเภณี รวมถึงการที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศมาตั้งแต่เด็ก ปมของการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ตัวละครคิดและแสดงพฤติกรรมดังที่เห็น
“ปัจจัยทางสังคมส่งผลต่อการเกิดภาวะติดเซ็กส์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดู การขัดเกลา และการถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือถูกทารุณกรรมทางเพศ แต่ในทางจิตเวช โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกระทำทางเพศ มักมีผลตอบสนองอยู่ 2 รูปแบบ นั่นคือ กลัวเซ็กส์ไปเลย บางคนอาจมีอาการกลัวผู้ชาย ระแวงหรือไม่ไว้ใจ และในกรณีที่สอง อาจมีความต้องการทางเพศมากไปเลย” อ.นพ.ศิริชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม อาการคำว่า “ติดเซ็กส์” ก็เป็นไปได้ยาก โดยในเชิงจิตเวชจะมองว่าเป็นปัญหาพฤติกรรมของแต่ละคน โดยวัดจากการสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองหรือผู้อื่น ทั้งนี้ อาการจะเกิดเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อคนกลุ่มนี้ขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือควบคุมตัวเองไม่ได้
“ในภาษาจิตเวชมีคำว่า มากเกินไปจนเกิดผลเสียตามมา ใช้ตัววัดว่าตัวเองเดือดร้อนหรือทำให้คนอื่นเดือดร้อนหรือไม่ ซึ่งตัวเองเดือดร้อนก็อาจจะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ หรือทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาจจะไปข่มขืนหรืออวดอวัยวะเพศเพื่อให้ได้รับการตอบสนองทางเพศ หากการมีเซ็กส์เป็นผลเสียและส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เสียการงานหรือการเข้าสังคม เมื่อนั้นผู้ที่มีลักษณะอาการดังกล่าวก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์” อ.นพ.ศิริชัยอธิบาย
เมื่อถามถึงจำนวนผู้มีอาการติดเซ็กส์ในประเทศไทย อ.นพ.ศิริชัยชี้ว่า ตัวเลขในความเป็นจริงพบน้อยมาก และโอกาสที่เป็นแล้วคนไข้จะเข้ามาปรึกษาจิตเวชก็ยิ่งน้อยลงไปอีก นั่นเป็นเพราะในวัฒนธรรมไทย เรื่องเพศเป็นเรื่องที่น่าอาย ซึ่งแตกต่างจากปัญหาอื่น ๆ เช่น การนอนไม่หลับ ที่คนไข้จะกล้าพูดคุยและมาพบแพทย์มากกว่า แต่ปัญหาเรื่องเพศเป็นสิ่งที่คนไข้ คนทั่วไป หรือวัฒนธรรมในบ้านเราไม่เอ่ยกล่าวหรือพูดถึงกัน
นิมโฟมาเนียในละคร
แม้โรคทางจิตเวชจะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นนำเสนอในบทประพันธ์หลายเรื่อง แต่เรื่องสองนรีกลับกล้าที่จะเปิดเปลือยเรื่องความผิดปกติทางเพศวิถีและเล่าเรื่องของตัวละครที่มีภาวะเสพติดเซ็กส์ ซึ่งหากเทียบกับบทประพันธ์เรื่องอื่นในช่วงเวลาเดียวกัน (20 ปีก่อน) ก็อาจจะพูดได้ว่าสองนรีเป็นบทประพันธ์สุดร้อนแรงแห่งยุค และเมื่อมีการหยิบมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้ง ก็ไม่แปลกที่จะได้รับความสนใจจากแฟนละครทั่วประเทศ
ไม่เพียงแต่ฉากเซ็กส์หมู่กับคนงานที่เรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้ชมละครทั่วประเทศ ฉากเปิดตัวของละครก็แสดงให้เห็นภาวะที่ไม่ปกติของนางเอก เมื่อเธอว่าจ้างชายฉกรรจ์หลายคนให้มาลักพาตัวเธอไปข่มขืน หรือฉากวาบหวิวกับผู้ชายมากหน้าหลายตา ทั้งช่างแอร์ เพื่อนสนิท และหลุ่มหล่อที่เจอในผับ ก็อาจเป็นตัวบ่งบอกถึงภาวะติดเซ็กส์ได้อย่างชัดเจน มากยิ่งขึ้น
คุณลายน้ำ นักเขียนบทโทรทัศน์ของละครเรื่องสองนรี เวอร์ชันปี 2562 เล่าว่า แม้บทประพันธ์จะมีความล้ำในยุคก่อนหน้า แต่การนำมาทำเป็นละครในยุคปัจจุบันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้สอดรับกับความเป็นไปของสังคม เพราะบทประพันธ์เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีเงื่อนไขทางสังคมอีกแบบหนึ่ง เมื่อถูกนำมาสร้างใหม่ใน พ.ศ. นี้ ด้วยเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไป การรับรู้ของคนในสังคมก็ถูกเปลี่ยนตาม ดังนั้น ความท้าทายของการเขียนบทละครจึงเป็นการปรับบทให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างคาแรกเตอร์ของตัวละครให้มีความทันสมัย ดูสมจริง และเป็นรูปแบบของการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน ผู้ชมไม่อินกับบทบาทนางเอกสูตรเดิมอีกต่อไป นางเอกคนไหนที่แสนดี เรียบร้อย และยอมจำนนจะไม่ตอบโจทย์แล้ว ซึ่งนั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากรอบของวัฒนธรรม วิธีคิดของผู้ชมละครสมัยนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รวมถึงการเปิดรับเรื่องภาวะความผิดปกติทางเพศ ที่ละครจำเป็นต้องนำเสนอประเด็นที่ถูกต้องและสมจริงเพื่อเข้าถึงผู้ชมให้ได้มากขึ้นกว่าเดิม
“สังคมไม่กระมิดกระเมี้ยนแล้ว เพราะว่าถ้าเป็นแบบนั้นจะโดนด่าทันทีว่าโลกสวย เพราะตอนนี้กรอบความคิดของผู้ชมอีกกรอบหนึ่งคือ ต่อต้านอะไรที่ปกปิดหรืออยู่ในความอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมองว่าโลกสวย เขาต้องการความจริง” คุณลายน้ำอธิบาย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเข้าใจต่อโรคนิมโฟมาเนียมากขึ้น แต่ละครสองนรีก็ยังต้องสู้กับความเชื่อแบบเดิมของผู้ชม ว่าลักษณะการกระทำของตัวละครคือ “โรคฮิสทีเรีย” ซึ่งเป็นชุดความเชื่อที่ผิดแต่ก็เชื่อกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งคุณลายน้ำกล่าวว่า
“คนไทยจะเข้าใจว่าผู้หญิงที่ติดเซ็กส์เป็นฮิสทีเรีย ก็เลยเอาคำ ๆ นี้ใส่ให้พระเอกตั้งคำถาม ดังนั้นพระเอกจะเป็นตัวแทนของคนดูที่มีความเชื่อและความเข้าใจแบบนี้ ดังนั้นเขาก็จะมีฉากที่คุยกับสอง และสองบอกว่าไม่ใช่ ถ้าฮิสทีเรียเป็นอีกแบบหนึ่ง คือตั้งใจใส่ลงไป เพื่อให้ความรู้ว่าความจริงแล้วไม่ใช่ แล้วก็ต้องตามต่อว่าจริง ๆ แล้วเราจะเรียกโรคนี้ว่าอะไร”
เห็นได้ว่าละครมีความพยายามที่จะสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องโรคนิมโฟมาเนียใหม่ แต่การเล่าเรื่องเพศในละครก็ถือเป็นเรื่องยาก เพราะเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและค่านิยมของกลุ่มผู้ชมที่มีอายุแตกต่างกัน คุณลายน้ำเล่าว่า เมื่อละครออกอากาศตอนแรก ๆ ผู้ชมกลุ่มเดิมที่เป็นผู้ใหญ่จะรับไม่ได้กับพฤติกรรมที่ตัวละครทำ เพราะมันไม่ใช่คาแรกเตอร์ของนางเอกที่พวกเขาคุ้นเคย ในทางกลับกัน ผู้ชมรุ่นใหม่จะรู้สึกชอบในความสมจริง และประทับใจในพฤติกรรมที่กล้าพูดและกล้าแสดงความคิดเห็นของตัวละคร ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการหยิบบทประพันธ์นี้มาสร้างใหม่
ละครเป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้ง่ายและเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย ละครจึงเปรียบเสมือนสื่อกลางที่จะทำหน้าที่สร้างความรู้และความเข้าใจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพื่อทลายความเชื่อผิด ๆ และไม่ก่อให้เกิดการแปะป้ายตีตรา เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ละครยุคใหม่ทำการศึกษา ค้นคว้า และมีความตั้งใจที่จะนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องให้ผู้ชม นี่จึงเป็นทั้งความท้าทายและความรับผิดชอบของผู้สร้างละครที่จะสร้างความถูกต้องในประเด็นต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้รับทราบในยุคดิจิทัลเช่นนี้