หอภาพยนตร์ จัดโปรแกรม “ตา+กล้อง” เชิดชูพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม

หอภาพยนตร์ จัดโปรแกรม “ตา+กล้อง” เชิดชูพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม

หอภาพยนตร์ จัดโปรแกรม “ตา+กล้อง” เชิดชูพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในบรรดาองค์ประกอบของงานสร้างภาพยนตร์  “ตากล้อง” หรือ “ผู้ถ่ายภาพยนตร์” นับเป็นงานเก่าแก่ที่สุด ที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆ กับการมีภาพยนตร์เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งอาศัยแต่ผู้ทำหน้าที่บันทึกภาพเพียงอย่างเดียว แม้ปัจจุบันภาพยนตร์จะมีความซับซ้อนมากขึ้นและมีตำแหน่งต่างๆ แบ่งออกเป็นหลายส่วน รวมถึงคนมักให้ความสำคัญกับผู้กำกับภาพยนตร์ ในฐานะศิลปินผู้สร้างงานมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ แต่งานถ่ายภาพยนตร์ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ผู้กำกับภาพ” ก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของศิลปะแห่งภาพเคลื่อนไหวนี้ เพราะสายตาหลังกล้องของพวกเขานั้นคือสิ่งที่จะกำหนดภาพซึ่งจะปรากฏต่อสายตาผู้ชม

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันประสูติของ “พระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม” พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (17 ตุลาคม) ผู้ทรงเป็น “ตากล้องถ่ายหนังคนแรกของไทย” หอภาพยนตร์จัดโปรแกรมภาพยนตร์ “ตา+กล้อง The Eyes Behind The Movie Camera” คัดสรรผลงานเด่นๆ ของตากล้องหนังไทยหลากหลายรุ่นมาจัดฉายให้ผู้ชมได้เรียนรู้ถึงงานกำกับภาพของไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ชู้

เนื่องด้วยภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. ซึ่งกินเวลายาวนานนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ได้สูญหายหรือมีสภาพไม่สมบูรณ์เป็นส่วนใหญ่  โปรแกรมนี้จึงปักหมุดเริ่มต้นในยุคที่วงการหนังไทยเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบบ 35 มม. อย่างเต็มตัว เมื่อ พ.ศ. 2515  ด้วยเรื่อง ชู้ ผลงานการกำกับของ เปี๊ยก โปสเตอร์ ที่รวมช่างถ่ายหนังคนสำคัญในยุคก่อนหน้ามาถึง 3 คน คือ โสภณ เจนพานิช, โชน บุนนาค และ พูนสวัสดิ์ ธีมากร โดยตัวเขาเองรับตำแหน่งผู้กำกับภาพ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ 35 มม. ของตากล้องที่มีผลงานมายาวนานตั้งแต่ยุค 16 มม. อีก 2 คน คือ คนภูเขา (2522) ผลงานการกำกับภาพของ ปรีชา ทรัพพระวงศ์ ผู้ได้รับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยมในการประกวดตุ๊กตาทองครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 และ พยัคฆ์ยี่เก (2526) ผลงานการถ่ายภาพของ พิพัฒน์ พยัคฆะ ตากล้องถ่ายหนังที่ผลงานยาวนานถึงยุคดิจิทัล โดยเรื่องนี้เขาถ่ายร่วมกับ มนู วรรณายก ลูกศิษย์คนสำคัญ

พยัคฆ์ยี่เก

กลุ่มถัดมา เป็นผลงานของผู้กำกับภาพที่เริ่มต้นทำงานตั้งแต่ยุคหนัง 35 มม. และโดดเด่นในช่วงทศวรรษ 2530 ทั้ง สุทัศน์ อินทรานุปกรณ์ ที่ฝากฝีมือไว้ในการถ่ายภาพแบบฟิล์มนัวร์ใน กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน (2534), อานุภาพ บัวจันทร์ ผู้กำกับภาพที่คว้ารางวัลจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม (2536) ซึ่งได้รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยมทั้งตุ๊กตาทองและชมรมวิจารณ์บันเทิง, ปัญญา นิ่มเจริญพงษ์ ตากล้องถ่ายหนังที่ร่วมงานกับผู้กำกับหลากหลาย โดยโปรแกรมนี้เลือกฉาย สติแตกสุดขั้วโลก (2538) ที่นอกจากถ่ายภาพ เขายังได้ทำบทให้ พจน์ อานนท์ ที่กำกับหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก นอกจากนี้ยังมี วันชัย เล่งอิ้ว ผู้ถ่ายภาพให้แก่หนังของค่ายใหญ่ๆ ทั้งไฟว์สตาร์และแกรมมี่ ผลงานเด่นที่นำมาฉายคือ รัก-ออกแบบไม่ได้ (2541)

สติแตกสุดขั้วโลก

จากนั้นเป็นผลงานของผู้กำกับภาพที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทในช่วงทศวรรษ 2540 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544) ของ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ตากล้องที่มีผลงานครอบคลุมวงการหนังไทยทั้งในและนอกกระแส, โหมโรง (2547) ของ ณัฐวุฒิ กิตติคุณ อีกหนึ่งมือรางวัลซึ่งโดดเด่นในงานพีเรียด, ไชยา (2550) ของ สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยที่สร้างชื่อเสียงในต่างประเทศ และเป็นเจ้าของรางวัลศิลปาธรคนล่าสุด และ นางไม้ (2552) ของ ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ช่างถ่ายหนังคู่ใจของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง

14 ตุลา สงครามประชาชน

กลุ่มสุดท้าย คือผู้กำกับภาพร่วมสมัยที่เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงทศวรรษ 2550 ซึ่งเป็นยุคที่หนังอิสระมีพื้นที่ในวงการมากขึ้น รวมทั้งเทคโนโลยีได้เปลี่ยนผ่านจากฟิล์มไปสู่ดิจิทัล ในโปรแกรมนี้ได้นำเสนอผลงานของ ม.ร.ว. อัมพรพล ยุคล ตากล้องถ่ายหนังอิสระคนสำคัญ เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว (2555), อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ คนทำหนังสารคดีที่ใช้ภาพเล่าเรื่องสวยงามราวบทกวี เรื่อง เพลงของข้าว (2558) และสุดท้ายคือ นิรมล รอสส์ ผู้กำกับภาพหญิงหนึ่งเดียวของโปรแกรมนี้ ในผลงานเรื่อง Die Tomorrow (2560) ที่มีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ภาพลองเทก

แต่เพียงผู้เดียว

นี่เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่างหนึ่งของผู้กำกับภาพชาวไทยที่ยังมีอีกเป็นจำนวนมากบนเส้นทางอันยาวนานของประวัติศาสตร์หนังไทย ขอเชิญมาพิสูจน์ผลงานของพวกเขาเหล่านี้ได้ ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมแต่อย่างใด

 

โปรแกรม 14 ภาพยนตร์ ในโปรแกรม “ตา+กล้อง The Eyes Behind The Movie Camera” ณ โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา มีดังต่อไปนี้

  • พุธที่ 25 กันยายน เวลา 17.30 น. เรื่อง คนภูเขา
  • ศุกร์ที่ 27 กันยายน เวลา 17.30 น. เรื่อง โหมโรง
  • อาทิตย์ที่ 29 กันยายน เวลา 13.00 น. เรื่อง ชู้
  • อาทิตย์ที่ 29 กันยายน เวลา 15.00 น. เรื่อง นางไม้
  • อังคารที่ 1 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน
  • พุธที่ 2 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง รัก-ออกแบบไม่ได้
  • พุธที่ 9 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง ไชยา
  • พฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง พยัคฆ์ยี่เก
  • อังคารที่ 15 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง สติแตกสุดขั้วโลก
  • พุธที่ 23 ตุลาคม เวลา 13.00 น. เรื่อง เพลงของข้าว The Songs of Rice
  • เสาร์ที่ 26 ตุลาคม เวลา 13.00 น. เรื่อง Die Tomorrow
  • เสาร์ที่ 26 ตุลาคม เวลา 15.00 น. เรื่อง ปีหนึ่งเพื่อนกันและวันอัศจรรย์ของผม
  • อังคารที่ 29 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว
  • พุธที่ 30 ตุลาคม เวลา 17.30 น. เรื่อง กะโหลกบางตายช้า กะโหลกหนาตายก่อน

 

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ หอภาพยนตร์ จัดโปรแกรม “ตา+กล้อง” เชิดชูพระบิดาแห่งภาพยนตร์สยาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook