[รีวิว] JOKER หนังคุณภาพระดับออสการ์ ที่มาร์เวลไม่มีวันทำได้

[รีวิว] JOKER หนังคุณภาพระดับออสการ์ ที่มาร์เวลไม่มีวันทำได้

[รีวิว] JOKER หนังคุณภาพระดับออสการ์ ที่มาร์เวลไม่มีวันทำได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
อาร์เธอร์ เป็นชายคนหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากับความโหดร้ายทารุณและสังคมที่เต็มไปด้วยการเหยียดหยาม เขาต้องเผชิญกับความอ้างว้างจนเปลี่ยนเขาจากที่เป็นคนอ่อนแอกลายเป็นคนโหดเหี้ยม เขารับจ้างแต่งชุดตัวตลกรายวัน จนกระทั่งคืนหนึ่งที่เขาพยายามจะแสดงตลกเดี่ยว แต่กลับพบว่าตัวเองต่างหากที่เป็นเรื่องตลก เขาไม่เป็นตัวของตัวเองเวลาที่มีผู้คนอยู่รายล้อม ซึ่งเห็นได้จากเสียงหัวเราะที่ควบคุมไม่ได้และดูไม่เหมาะสม ยิ่งเขาพยายามควบคุมเท่าไหร่มันก็ยิ่งแสดงออกมามากขึ้น จนทำให้เขาแสดงความเยาะเย้ยและความรุนแรงออกมา อาร์เธอร์ทุ่มเทเวลาไปกับการดูแลแม่ที่ไม่ค่อยแข็งแรง และไขว่คว้าตามหาคนที่เหมาะจะเป็นพ่อซึ่งเขาไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่นักธุรกิจมหาเศรษฐี โธมัส เวย์น ไปจนถึงพิธีกรรายการทีวี เมอร์เรย์ แฟรงค์ลิน เขาพบว่าตัวเองอยู่ปลายทางระหว่างโลกแห่งความจริงกับความบ้าคลั่ง การตัดสินใจที่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียวกลายเป็นชนวนเหตุที่นำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงมากมาย

ดูหนังจบคุณจะจำชื่อเขาอย่างหลอนหัว อาร์เธอร์ เฟล็ก (Arthur Fleck) AKA โจ๊กเกอร์ (Joker)

ผลงานการคว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม สิงโตทองคำ (Golden Lion) จากเทศกาลหนังเมืองเวนิสปีล่าสุด พร้อมการยืนปรบมือยาวนานของผู้ชมหลายนาที อาจเป็นเพียงระฆังสัญญาณแรกในการลุยเวทีรางวัลใหญ่ในปีนี้ของหนัง Joker ที่อาจตามรอยรุ่นพี่อย่าง The Shape of Water (2017) และ Roma (2018) ซึ่งล้วนเคยคว้ารางวัลสิงโตทองคำก่อนไปชนะรางวัลใหญ่ในเวทีออสการ์สำเร็จมาแล้วทั้งคู่ก็เป็นได้ ต้องยอมรับว่าก่อนดูหนังมีความแคลงใจ และคิดไปล่วงหน้าว่าอาจไม่ชอบตัวหนังไปเลยก็ได้ แต่พอเข้าไปดูแล้วนั้นก็ต้องพูดโดยรวมว่า หนังประสบความสำเร็จอย่างมากในการพาเราจมดิ่งลงไปในตัวละครนำอย่าง อาร์เธอร์ เฟล็ก อย่างถอนตัวไม่ขึ้น เราจึงทั้งเข้าใจ ต่อต้าน เห็นใจ ขัดแย้ง อยากโอบกอดเขา และดุด่าเขาไปพร้อมกัน และเหนืออื่นใดมันคือประสบการณ์มหัศจรรย์ที่เราจะได้เห็น วาคีน ฟินิกส์ (Joaquin Phoenix)  ลอกคราบทีละชั้นจนกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดนาม โจ๊กเกอร์ ในที่สุด

(ขวา) ผู้กำกับทอดด์ ฟิลลิปส์ คว้ารางวัลสิงโตทองคำจากหนังเรื่องนี้

นี่คือผลงานการกำกับของ ทอดด์ ฟิลลิปส์ (Todd Phillips) ผู้กำกับชื่อดังที่สร้างชื่อตัวเองมาจากหนังแนวคอมเมดี้ไตรภาคอย่าง The Hangover นี่จึงเป็นการผันตัวมาทำหนังดราม่าหนักหน่วงจริงจัง โดยเฉพาะเป็นการนำคาแรกเตอร์จากคอมิกดังมาดัดแปลงครั้งแรกของเขาด้วย สิ่งที่ต้องชื่นชมผู้กำกับอย่างมากคือ วิสัยทัศน์ด้านการนำเสนอ ทั้งฉาก ภาพ วิช่วล ที่พยายามให้นึกถึงนิวยอร์กในยุค 1970 อันเป็นปีแห่งความสับสนวุ่นวาย เส็งเคร็ง กักขฬะ ผู้คนแสวงหาคุณค่าในความดีงาม ในตัวเอง ในตัวผู้อื่น เป็นยุคแห่งการหลงทิศหลงทาง ทั้งสงครามเวียดนาม คดีวอร์เตอร์เกต สงครามเย็น ลัทธิคลั่งศาสนา การนำยุคที่ถูกต้องมาสู่การสร้างฉากหลังให้ตัวละครที่ถูกตัว คือความสำเร็จที่งดงามที่สุด ยังไม่รวมว่างานด้านภาพและวิช่วลต่าง ๆ ทำออกมาได้อย่างงดงามในความล่มสลาย งดงามในความรุนแรง และงดงามดั่งหัวใจเลวทรามใสซื่อของตัวละครนำ

Joker Joker

ทอดด์ และ สก็อตต์ ซิลเวอร์ (Scott Silver) มือเขียนบทรางวัลออสการ์จากหนัง The Fighter (2010) เลือกนำจิตวิเคราะห์มาสู่ตัวละคร และเขียนบทจากผิวแล้วเลาะเปลือกตัวละครลงทีละชั้นได้อย่างที่คนไม่ต้องเรียนจิตวิทยามากมายก็เข้าใจหัวจิตหัวใจอันน่าเวทนาของตัวละครได้ มีดที่เลาะคราบของตัวละครออกมีตั้งแต่ สังคมที่ข่มเหงเอารัดเอาเปรียบคนอ่อนแอ ความพิการทางกายและใจ ความถูกละเลยไม่แยแสจากทั้งคนและจากทั้งรัฐ ความเชื่ออันหลงผิด ความหวังอันจอมปลอม ความรักที่แท้เพียงการหักหลังทรยศ และคุณค่าความภูมิใจในตนเองที่ตกต่ำต้อยแดดิ้นยิ่งกว่าก้นบุหรี่ที่ถูกคายทิ้งแล้วเอาเท้าขยี้ซ้ำ มันคือการตกต่ำลงเรื่อง ๆ ของตัวละครไปพร้อมกันกับการสูญสลายความศรัทธาในความดีงามความถูกต้องใด ๆ ทั้งมวล

Joker 

ความละเอียดของจิตวิเคราะห์ยังลงลึกไปในประเด็นความโหยหา พ่อ ของตัวละคร ที่พยายามเอาภาพพ่อในจินตนาการที่ไม่เคยได้พบเจอไปซ้อนทับกับไอดอลในชีวิตจริงทั้ง เมอร์เรย์ แฟลงคลินส์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร Robert De Niro) พิธีกรเจ้าของรายการทอล์กโชว์ชื่อดังที่อาร์เธอร์ดูมาแต่เด็ก ตลอดจน โทมัส เวย์น มหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยอันจะทำให้ทุกข์ในความยากจนของอาร์เธอร์และแม่ปลิวไปได้เพียงแรงลมผิวปากของดทมัสเท่านั้น เพียงประเด็นเรื่องพ่อประเด็นเดียวเชื่อว่าก็มีคนวิเคราะห์กันได้ลึกได้ยาวเป็นบทความกันแล้วล่ะ นี่จึงเป็นความเจ๋งที่หนังเรื่องนี้ใส่ใจทุกเม็ดทุกซอกมุมของตัวละคร และการเล่าเรื่องผ่านตัวละครนำทั้งเรื่องจึงประสบความสำเร็จ โดยไม่ต้องพึ่งสูตรบารมีของตัวละครอื่นมาให้แฟนต้องว้าว อย่างเช่นผลงานซูเปอร์ฮีโร่ครอสโอเวอร์เรื่องอื่น ๆ ต้องใช้เลยก็ตาม

และอีกสิ่งที่คงปฏิเสธได้ยากคือ นี่เป็นผลงานการแสดงที่ต้องจารึกโลกอีกครั้ง ของ วาคีน ฟีนิกส์ (Joaquin Phoenix) นักแสดงผู้เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากหนัง Walk the Line (2006)  และ The Master (2012) รวมถึงเคยเข้าชิงสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก Gladiator (2000) มาแล้ว นี่น่าจะเป็นอีกครั้งที่เขาน่าจะเข้าใกล้รางวัลนี้มากที่สุด เพราะโจ๊กเกอร์กลายเป็นบทที่ยากและลำบากในการแสดง เมื่อมันถูกตั้งมาตรฐานมาแล้วจากนักแสดงชั้นยอดในอดีต อย่าง แจ๊ก นิโคลสัน (Jack Nicholson) หรือ มาร์ก ฮามิลล์ (Mark Hamill) โดยเฉพาะที่ว่าการเป็นผลงานทุ่มสุดตัวครั้งสุดท้ายแห่งชีวิตของ ฮีธ เลดเจอร์ (Heath Ledger) ด้วยแล้ว ต้องบอกว่าเป็นงานหินโคตร ขนาดว่านักแสดงที่ดีอย่าง จาเรด เลโต (Jared Leto) ที่เคยคว้าออสการ์มาแล้วก็ยังไม่ประสบความสำเร็จกับบทบาทนี้เท่าใด

แต่เชื่อมั้ยว่า วาคีน ฟินิกส์ เขาทำได้ แถมทำได้อย่างเปี่ยมเสน่ห์น่าขนลุก เขาค่อย ๆ กลายเป็นโจ๊กเกอร์ได้อย่างละเมียดมาก ๆ ใช่เทคนิคคือเขาไม่ได้พยายามจะเป็นโจ๊กเกอร์แต่ต้น หากแต่เป็นคนธรรมดาที่มีความผิดปกติแตกต่างจากคนอื่น ซึ่งทำให้เราเข้าใจและอินไปกับความใกล้เคียงมนุษย์ทั่วไปได้ จนสุดท้ายเขาค่อย ๆ กลืนยาที่เรียกว่าอุปสรรคและโชคชะตาลงไปในท้องทีละเม็ด ก่อนจะกลายร่างเป็นตัวละครวายร้ายที่โด่งดังที่สุดในโลกคนหนึ่งอย่างงดงาม

JokerJokerJokerJokerJokerJoker

นี่เป็นหนังที่เราอาจไม่ได้รู้สึกมีความสุขไปกับมัน ไม่ได้หัวเราะกับมัน ไม่ได้ตื่นตาตื่นใจระเบิดตูมตามเร้าใจ ไม่ใช่หนังฮีโร่ในกระแสใด ๆ มันอาจเป็นหนังของคนธรรมดาที่เจอวันแย่ ๆ และผิดเพี้ยนจนกลายเป็นขบถต่อสังคมอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ มันจึงเป็นหนังที่อิ่มในความรู้สึก อิ่มในสมองที่ต้องการบทเรียนรู้สำคัญผ่านหนัง หนังที่เรานั่งนิ่งอึ้งเมื่อจบ พลันเมื่อรู้สึกตัวก็อยากปรบมือให้มันยาว ๆ ยาวนานเท่าที่จะทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook