ซิตคอม The Big Bang Theory ได้รับเกียรติบนเวทีมอบรางวัลโนเบลปีล่าสุด
ในการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีล่าสุดของ ราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ณ เมืองสตอกโฮล์ม นั้น หลายคนอาจเห็นข่าวว่าผู้ชนะในปีนี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ เจมส์ พีเบิลส์ (James Peebles) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดา รวมทั้งศาสตราจารย์ ดิดีเยร์ เกโลซ (Didier Queloz) และศาสตราจารย์ มิเชล มายอร์ (Michel Mayor) สองนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวสวิส ทั้ง 3 ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกันจากผลงานการพัฒนา ทฤษฎีจักรวาลวิทยากายภาพ (Physical Cosmology) และการค้นพบ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (Exoplanet) ซึ่งเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและจักรวาลไปอย่างสิ้นเชิง
สำหรับแวดวงวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ได้มนุษย์เข้าใกล้ความจริงของจักรวาลมากขึ้นอีกนิด และสำหรับแฟนซีรีส์ซิตคอมอย่าง The Big Bang Theory (ทฤษฎีวุ่นหัวใจ) เอง ก็มีเรื่องน่าปลื้มใจไม่น้อย เพราะในการประกาศผู้ชนะโดยสมาชิกของราชบัณฑิตสภาฯ นามว่า อุล์ฟ ดาเนียลส์สัน (Ulf Danielsson) เขาได้เกริ่นเปิดด้วยวรรคทองที่แม้พูดเป็นประโยคธรรมดา แฟนซีรีส์ก็อาจยังได้ยินเสียงทำนองเล่นตามเลย
“Our whole universe was in a hot, dense state, then nearly 14 billion years ago expansion started,” (จักรวาลของเราเคยร้อนและอัดแน่น จนเมื่อราว 14 พันล้านปีก่อนการขยายตัวจึงเริ่มขึ้น) คือวรรคที่ว่า ซึ่งเป็นท่อนแรกของเนื้อเพลงเปิดซีรีส์อันคุ้นหูสำหรับแฟน ๆ ซิตคอมเนิร์ดวงการวิทยาศาสตร์ และมีความหมายเข้ากันดีกับผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ที่ว่าด้วยจักรวาลในปีนี้อย่างยิ่ง นับว่าไม่ปกตินักสำหรับการที่วงการวิทยาศาสตร์ได้ให้เกียรติซีรีส์ซิตคอมที่ดูเป็นเรื่องตลกเข้ามามีส่วนร่วมในพิธีสำคัญเช่นนี้
โดยทั้งนี้ โกแรน แฮนส์สัน (Goran Hansson) เลขานุการราชบัณฑิตสภาฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมในภายหลังถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “The Big Bang Theory ประสบความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ในการนำโลกวิทยาศาสตร์เข้าไปสู่ คอมพิวเตอร์ส่วนตัว และห้องนั่งเล่น ของทุกบ้านทั่วโลก และเพลงธีมของซีรีสืนี้ก็เหมาะเจาะมาก ๆ กับงานครั้งนี้ด้วย”
สำหรับซีรีส์ The Big Bang Theory นั้นได้เริ่มออกอากาศในอเมริกาตั้งแต่ปี 2007 และเพิ่งจบลงในซีซั่นที่ 12 เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง โดยในซีซั่นสุดท้ายนี้ มีฉากที่ตัวละครสำคัญอย่างเชลดอน และเอมี่ เองก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ด้วยเช่นกันถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว