4 หนังวรรณคดีไทยสู่แผ่นฟิล์ม

4 หนังวรรณคดีไทยสู่แผ่นฟิล์ม

4 หนังวรรณคดีไทยสู่แผ่นฟิล์ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ "ขุนแผน ฟ้าฟื้น" เป็นวรรณคดีไทยที่ได้ฤกษ์ขึ้นจอใหญ่เรื่องล่าสุด ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2000 (หรือตรงกับพ.ศ.2543) เป็นต้นมา มีภาพยนตร์ไทยที่ดัดแปลงมาจากวรรณคดีหลายเรื่อง ซึ่ง 4 เรื่องดังที่คนอาจจะหลงลืมกันไปแล้วว่าเคยมีการสร้างขึ้นมา และมีการนำแสดงโดยดาราดังในช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้นตามไปอ่านกันเลย

 

 

ไกรทอง (พ.ศ.2544)

 

ช่วงปี 2540 พระเอกหน้าไทย คมเข้ม รูปร่างกำยำอย่าง “วินัย ไกรบุตร” แจ้งเกิดจากผลงานภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” และ “บางระจัน” อีกทั้ง ยังถือเป็นพระเอกที่สามารถทำเงินได้อย่างล้นหลามทำให้เขาได้รับความนิยมในช่วงเวลาดังกล่าว โดย “ไกรทอง” ถือเป็นผลงานเรื่องที่ 4 ของวินัย ไกรบุตร ซึ่งเขารับบทเป็นไกรทอง นายพรานล่าจระเข้ที่มีฝีมือเลื่องลือในจังหวัดนนทบุรี ที่ได้ข่าวว่าที่เมืองพิจิตรนั้นมีจระเข้ที่กำลังออกอาละวาด

 

ชาละวัน (เจ็ท ผดุงธรรม) คือจระเข้พันธุ์ดุร้าย รูปร่างใหญ่โตซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำในเมืองพิจิตร ยามที่เขาจำศีลอยู่ในถ้ำบาดาล ชาละวันจะแปลงร่างเป็นชายหนุ่มรูปหล่อ แต่ด้วยอุปนิสัยเจ้าชู้ทำให้เขามีเมียแสนสวยสุดเซ็กซี่ถึงสองคนนั่นคือ วิมาลา (แชมเปญ เอ็กซ์) และ เลื่อมลายวรรณ (ชุติมา เอฟเวอรี่) (ชื่อดาราหญิงก็การันตีความเป็นเซ็กซี่สตาร์ในยุคสมัยนั้นเช่นกัน)

 

หลังจากการออกอาละวาดของชาละวันได้สร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน จนเศรษฐีประจำเมืองได้ทำพิธีเสียบตะบะ โดยนำลูกสาวทั้งสองคนอย่าง ตะเภาแก้ว (ปรายฟ้า สิริวิชชา) และตะเภาทอง (วรรณษา ทองวิเศษ) มานำขบวน แต่ระหว่างพิธี ชาละวันได้ออกอาละวาดจนชาวบ้านโดนฆ่าตาย ซ้ำร้ายตะเภาทองยังถูกลักพาตัวไปยังเมืองใต้บาดาล ทำให้เศรษฐีลั่นว่าใครก็ตามที่ช่วยเหลือตะเภาทองขึ้นมาได้จะยกลูกสาวให้แต่งงาน ไกรทองที่เดินทางมาปราบจระเข้จึงดำลึกไปสู่ถ้ำเพื่อชิงตัวตะเภาทองกลับมา

 

 

ขุนแผน (พ.ศ.2545)

 

แอนดี้ วัชระ ตังคะประเสริฐ นายแบบที่ผันตัวมาเป็นนักแสดงสายโฆษณาที่งานชุกคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น จนกระทั่งเขาได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง ขุนแผน ผลงานการกำกับของปื้ด ธนิตย์ จิตนุกูล หยิบเอาวรรณคดีขุนช้างขุนแผนมาเล่าแบบยึดตามต้นฉบับ ขุนแผน (แอนดี้ วัชระ) ผู้ต้องการจะเป็นยอดคนเขาจึงออกตามหาของวิเศษสามอย่างอันประกอบไปด้วย ดาบฟ้าฟื้น ม้าสีหมอก และกุมารทอง เขาต้องพลัดพรากจากคนรักอย่างนางพิมพิลาไลยอยู่หลายครั้ง ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลาทำให้ขุนแผนต้องพัวพันกับหญิงงามมากหน้าหลายตา

 

ทางด้านขุนช้าง (อภิชัย นิปัทธหัตถพงศ์) ชายอ้วนหน้าตาอัปลักษณ์แต่ร่ำรวย เขารักนางพิมพิลาไลย แต่ในใจก็รู้ว่าเธอรักขุนแผนอย่างหมดหัวใจ เขาจึงพยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วงชิงนางมาเป็นของตัวเอง ส่วนพิมพิลาไลย (บงกช คงมาลัย) หญิงสาวที่ตกอยู่ท่ามกลางสองชาย ทำให้เธอกำลังต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในชีวิต

 

 

พระอภัยมณี (พ.ศ.2545)

 

หญิง จุฬาลักษณ์ กฤติยารัตน์ อีกหนึ่งเซ็กซี่สตาร์แห่งยุคกับผลงานภาพยนตร์ไทยระดับอีพิค แต่ตัวหนังไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ในยุคนั้นการสร้างหนังเพื่อส่งตรงลงแผ่นวีซีดีเลยถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตามตัวหนังก็โดนสับเละเทะว่านักแสดงเล่นกันเหมือนนั่งท่องบทกันอยู่หน้ากล้องซะมากกว่า

 

ตัวหนังเล่าเรื่องราวของพระอภัยมณีและศรีสุวรรณที่เดินทางออกไปหาความรู้มาปกป้องบ้านเมือง พระอภัยมณีเลือกเรียนวิชาเป่าปี่ ขณะที่ศรีสุวรรณเลือกเรียนวิชาต่อสู้ เมื่อเรียนจบและเดินทางกลับมายังอาณาจักร ท้าวสุทัศน์โกรธและผิดหวังในตัวราชบุตรทั้งสองจึงสั่งเนรเทศออกจากเมืองไป ระหว่างที่รอนแรมเดินทาง เสียงเป่าปี่ของพระอภัยมณีได้ดังไปถึงถ้ำของนางผีเสื้อสมุทร นางจึงตัดสินใจลักพาตัวพระอภัยมณีไปอยู่ในถ้ำ โดยนางผีเสื้อสมุทรได้จำแลงกายเป็นหญิงงามจนทั้งสองมีลูกด้วยกันชื่อว่า สินสมุทร

 

วันหนึ่งความจริงได้ปรากฏขึ้นเมื่อพระอภัยมณีล่วงรู้ร่างที่แท้จริงของนางผีเสื้อสมุทร เขาจึงพาลูกชายหนีออกมาโดยได้รับความช่วยเหลือของนางเงือก เมื่อผีเสื้อสมุทรรู้เข้านางจึงตามล่าพระอภัยมณีอย่างไม่ลดละ

 

 

สุดสาคร (พ.ศ.2549)

 

สุดสาคร คล้ายจะเป็นภาคต่อกลายๆ ของ “พระอภัยมณี” แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสตูดิโอจากเดิมที่เป็นค่ายไรท์บียอนด์ มาเป็นค่ายโมโนฟิล์ม มีแค่เพียงนักแสดงอย่างสุรชัย แสงอากาศ ผู้ที่เคยรับบทพระอภัยมณี เพียงคนเดียวเท่านั้นที่กลับมารับบทเดิมอีกครั้งในหนังเรื่องนี้

 

แน็ก ชาลี ไตรรัตน์ ผู้รับบทสุดสาครได้ตัดสินใจจากบ้านเกิดเพื่อออกตามหาพระอภัยมณี (สุรชัย แสงอากาศ) โดยมีม้านิลมังกรเป็นเพื่อนและพาหนะคู่ใจ ขณะเดียวกันพระอภัยมณี นางสุวรรณมาลี และสินสมุทรได้ประสบเหตุเรืออับปางทำให้เกิดการพลัดหลงกัน สินสมุทรต้องเผชิญหน้ากับโจรสลัด ส่วนพระอภัยมณีลอยน้ำไปถึงเมืองลังกาและถูกอุศเรน (ภานุเดช วัฒนสุชาติ) จับไว้เป็นตัวประกันเพื่อเอาไว้ต่อรองทำสงครามกับศรีสุวรรณ (วรวิทย์ แก้วเพ็ชร) น้องชายของพระอภัยมณีที่ได้กลายเป็นเจ้าเมืองรมจักร

 

ระหว่างการเดินทางของสุดสาครเขาต้องพบกับอุปสรรคมากมาย โดยเฉพาะชีเปลือยที่วางแผนจะชิงม้านิลมังกรจากเขา สุดสาครจึงต้องรีบทำเวลาให้ทันท่วงทีและเดินทางไปช่วยเหลือพระอภัยมณีที่กำลังจะต้องเผชิญกับอันตรายครั้งยิ่งใหญ่

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook