Maleficent: Mistress of Evil เพราะ "แม่" รังแกฉัน

Maleficent: Mistress of Evil เพราะ "แม่" รังแกฉัน

Maleficent: Mistress of Evil เพราะ "แม่" รังแกฉัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ Maleficent ในปี 2014 สามารถทำเงินถล่มทลายทั่วโลกสูงถึง 758 ล้านเหรียญฯ แน่นอนว่าการทำเงินในระดับนี้ทำให้สตูดิโออย่างดิสนีย์ตัดสินใจทำภาคต่อออกมาทั้งที่เรื่องราวในหนังนั้นจะว่าไปแล้วก็จบลงอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีอะไรจะต้องเล่าเพิ่ม

หลังจากผู้กำกับโรเบิร์ต สตรอมเบิร์ก ได้ส่งไม้ต่อให้กับโยคิม รอนนิ่ง มานั่งแท่นกำกับให้หนังภาคนี้ ซึ่ง Maleficent: Mistress of Evil ได้สานต่อเรื่องราว 5 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์ในหนังภาคแรก เจ้าหญิงออโร่ร่า (แอลล์ แฟนนิ่ง) ได้ปกครองดูแลอาณาจักรมัวร์ ซึ่งเป็นดินแดนของเหล่าภูตจิ๋วและนางฟ้าตัวน้อย จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าชายฟิลลิปส์ (แฮร์ริส ดิคกินสัน) ได้ตัดสินใจขอออโรร่าแต่งงาน

ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่นและเป็นไปตามที่ออโรร่าคาดหวัง เมื่อแม่ทูนหัวอย่างมาเลฟิเซนต์ (แองเจลิน่า โจลี่) ไม่เห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้ และเธอก็เชื่อว่าลูกสาวของตัวเองยังไม่พร้อมกับการมีความรัก ถึงอย่างนั้นเมเลฟิเซนต์ก็ยังพยายามลดอีโก้ของตัวเองและตามใจออโรร่าด้วยการตอบรับคำเชิญของพระราชาและราชินีอิงกริด (มิเชล ไฟเฟอร์) ในการเข้าร่วมรับประทานอาหารและทำความรู้จักซึ่งกันและกันที่เมืองอัลสเตด

ทว่าย่างก้าวแรกที่มาเลฟิเซนต์ เดินทางมาถึงเมืองอัลสเตด ดูเหมือนว่าเหล่าทหารและชาวเมืองจะมีท่าทีหวาดกลัวมาเลฟิเซนต์อย่างมาก เพราะ “เรื่องเล่า” ที่มีการบอกต่อกันอย่างแพร่หลาย จากปากต่อปาก ว่า มาเลฟิเซนต์นั้นเป็นคนที่มีอำนาจชั่วร้ายและเป็นตัวอันตรายแก่ผู้อื่น ดังเช่นประโยคคำคมที่ว่า “คนเราก็มักจะกลายเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของคนอื่นอยู่เสมอ” และยิ่งเวลาผ่านพ้นนานมากขึ้นเท่าไหร่ ความเข้มข้นของเรื่องราวเหล่านั้นก็จะยิ่งทวีความสมจริงมากขึ้นอีกด้วย

ในมื้ออาหารค่ำที่บรรดาผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวมานั่งร่วมโต๊ะกัน แรกเริ่มดูเหมือนทุกอย่างจะไปได้สวย จนกระทั่งราชินีอิงกริดเริ่มเปิดประเด็นร้อนแรง ว่าด้วยการเสียชีวิตของพระราชาสเตฟาน พระบิดาของออโรร่าที่ลือกันว่าเป็นฝีมือของมาเลฟิเซนต์ เท่านั้นยังไม่พอ เธอยังลามเลยไปถึงประเด็นที่ชาวเมืองอัลสเตดผู้เดินทางเข้าไปในป่าของอาณาจักรมัวร์และเสียชีวิตอย่างลึกลับ เพียงเพื่อต้องการยั่วโมโหมาเลฟิเซนต์ ทันทีที่เธอระเบิดพลังออกมา งานเลี้ยงอาหารมื้อดังกล่าวก็กลายเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่ความบาดหมางระหว่างเธอและราชินีอิงกริด

ถึงแม้ว่าออโรร่าและมาเลฟิเซนต์จะไม่รู้ว่า นัดทานอาหารมื้อค่ำนั้นเป็นแผนการร้ายที่ราชินีอิงกริดเตรียมป้ายสีให้มาเลฟิเซนต์กลายเป็น “ผู้ร้าย” อีกครั้ง แต่ด้วยการแสดงเบอร์ใหญ่ของมิเชล ไฟเฟอร์นั้น คงมีแต่ผู้ชมที่ไม่เคยดูละครหลังข่าวเท่านั้น จะดูไม่ออกว่าเธอเป็นตัวร้ายที่บงการทุกอย่างอยู่เบื้องหลัง มิหนำซ้ำความซื่อเซ่อบื้อใบ้ของออโรร่า อันคล้ายกับเป็นอาการของคนที่อยากจะมีสามีจนตัวสั่นนั้น ทำให้เธอมองตัวตนที่แท้จริงของแม่ทูนหัวตัวเองไม่ออกว่า การสลบหมดสติของพระราชาเมืองอัลสเตดไม่ใช่คำสาปของมาเลฟิเซนต์!

ความใสซื่อของตัวละครอย่างออโรร่าและเจ้าชายฟิลลิปส์ นั้นได้สะท้อนให้คนดูเห็นว่า การเติบโตของเด็กหนุ่มสาวภายใต้อ้อมกอดของผู้เป็นแม่ที่ฟูมฟัก เลี้ยงดูพวกเขามาเป็นอย่างดี ทำให้วุฒิภาวะของพวกเขาค่อนข้างน้อยและตามไม่ทันแผนการของผู้ใหญ่ ดังที่ผู้ชมจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่องว่าออโรร่ามักจะนำปัญหามากมายร้อยแปดพันเก้ามาให้มาเลฟิเซนต์ทุกข์ร้อน พลอยซวยไปตั้งแต่เริ่มยันจบเรื่อง เช่นเดียวกันกับเจ้าชายฟิลลิปส์ที่ไม่ได้ตระหนักเลยว่าใต้จมูกของเขา ราชินีอิงกริดผู้เป็นแม่ได้พยายามวางแผนการร้ายเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเมืองมัวร์ ซึ่งหนังก็อธิบายแรงจูงใจของเธอว่า ในวัยเด็กระหว่างที่เธอกำลังทุกข์ยากลำบากหนักหนา แต่นอกกำแพงเมืองที่ติดกับชายป่ามหัศจรรย์ บรรดาภูติจิ๋วกลับมีความสุขและร้องรำทำเพลงไปวันๆ!

เมื่อหนังได้เล่าเพิ่มเติมให้ผู้ชมได้ทราบอีกว่า เผ่าพันธุ์ของมาเลฟิเซนต์นั้น แท้ที่จริงแล้วพวกเขาดำรงกันอยู่มาช้านาน แต่เนื่องจากมนุษย์ต้องการจะปราบและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทำให้บรรดาดาร์คเฟย์หลบไปอยู่ที่ดินแดนใต้พื้นพิภพ มีความเป็นอยู่อย่างหลบซ่อนเพราะเกรงว่าจะโดนมนุษย์ตามล่า ดังนั้นพลังที่มาเลฟิเซนต์มีอยู่จึงเหมือนจะเป็นความหวังให้กับเผ่าพันธุ์ของพวกเขา

จากนิทานก่อนนอนเรื่อง “เจ้าหญิงนิทรา” ฉบับดั้งเดิม ได้ผันแปรมาสู่หนังสงครามระหว่างเผ่าพันธุ์ในสภาพสีพาสเทล เราจะเห็นได้ว่าฉากที่นักวิทยาศาสตร์ของราชินีอิงกริด ได้ทดลองสารสกัดจากดอกไม้ทูมป์ฟลาวเวอร์ผสมกับฝุ่นเศษเหล็ก ทำให้มันมีอานุภาพในการสลายร่างของเหล่าสิ่งมีชีวิตจากอาณาจักรมัวร์ได้ ฉากดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นฉากที่มีความรุนแรงสูงที่ถูกลดทอนความน่ากลัวลงให้เหมาะสมกับความเป็นหนังครอบครัว

ไม่เพียงเท่านั้นหนังยังปรากฏฉากที่เหล่าชาวเมืองมัวร์ที่เดินทางเข้ามาร่วมพิธีแต่งงานในโบสถ์ ก่อนที่พวกเขาจะโดนขังไว้และถูกกระหน่ำยิงสารสลายร่างอย่างบ้าคลั่ง ซึ่งฉากดังกล่าวทำให้เรานึกถึงเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในอดีตที่ถูกจับเข้าห้องรมแก๊สฉันใดฉันนั้น

ท้ายที่สุดแล้ว Maleficent: Mistress of Evil อาจจะมอบประเด็นเรื่องสงครามและเชื้อชาติ ว่าเราควรเคารพในความแตกต่างซึ่งกันและกัน แต่เหนืออื่นใดแล้วหนังเรื่องนี้ยังสะท้อนสภาวะของเยาวชนยุคปัจจุบันที่ดูเหมือนจะสนใจแต่เรื่องของตัวเองมากกว่าสังคมโดยรวม เฉกเช่นตัวละครออโรร่าและเจ้าชายฟิลลิปส์ ที่ดูยังไงทั้งสองก็ไม่น่าจะปกครองอาณาจักรมัวร์และอัลสเตดให้อาณาประชาราชอยู่ดีมีสุข เพราะกาลเทศะที่ทั้งสองไม่มีอยู่ในมโนสำนึก เป็นผู้ปกครองประสาอะไร ที่อยู่ๆก็ตัดสินใจแต่งงานในวันเดียวกับที่เกิดสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันในเมือง มิหนำซ้ำบรรดาผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็เหมือนจะต้องมนต์สะกดอะไรบางอย่างที่พร้อมจะลืมความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นไปไม่นาน และพร้อมร่วมหน้าชื่นตาบานเมื่อออโรร่าจะมีสามีแล้วจ้า!

หรือทั้งหมดนี้อาจจะต้องโทษว่าเป็นความผิดของเหล่า “แม่” ๆ ที่เลี้ยงดูลูกดีจนเกินไป จนกลายเป็นตามความเตือนสติที่ว่า “พ่อแม่รังแกฉัน” ก็เป็นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook