ดิวไปด้วยกันนะ รำลึกความหลังกับยุค 90 ช่วงเวลาแห่งความรักและความเจ็บปวด
"ดิวไปด้วยกันนะ" ผลงานเรื่องล่าสุดจากค่ายซีเจเมเจอร์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ผลงานการกำกับของ มะเดี่ยว-ชูเกียรติศักดิ์วีระกุล บอกเล่าเรื่องราวความรักต้องห้ามของวัยรุ่นในยุค 90 ยุคสมัยที่การเป็น LGBT ยังเป็นความสัมพันธ์ที่คนในสังคมยังไม่ยอมรับ ความรักของเพศเดียวกันยังคงต้องปกปิดเป็นความลับ นำไปสู่จุดแตกหักของวัยรุ่นชาย 2 คน
ชะตาลิขิตให้เรามาพบและจากลา
ปี พ.ศ. 2539 ภพคือเด็กหนุ่มในวัยมัธยม เขาเติบโตและใช้ชีวิตในเมืองเล็กเชิงดอยปางน้อย เขาได้พบกับดิว เด็กชายอีกคนที่ย้ายมาจากตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งสองกลายเป็นคนแปลกหน้าที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกันอย่างรวดเร็ว แต่ความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนทั้งสองไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กหนุ่มทั้งสองนั้นควรเรียกว่า “ความรัก” หรือเปล่า
ท่ามกลางการจับจ้องของสังคมในยุคสมัยนั้น พวกเขาจึงต้องปกปิดความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ และรอวันที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเลือกเส้นทางเดินให้กับชีวิตของตัวเอง จนกระทั่งมีเหตุการณ์บางอย่างที่ได้แยกเส้นทางชีวิตของทั้งสองออกจากกัน
เวลาผ่านพ้นไปถึง 23 ปีเมื่อภพได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ เขาได้ตัดสินใจแต่งงานกับอร และเดินทางกลับมายังที่ปางน้อยอีกครั้งเพื่อทำงานเป็นครูในโรงเรียนมัธยมแห่งเดิมที่เขาเคยจบการศึกษามา ณ ที่นั่นเขามีโอกาสได้พบกับหลิว นักเรียนหญิงม.ปลาย ที่มีอะไรบางอย่างที่ทำให้ภพ หวนนึกถึงอดีตที่กลายเป็นปมผิดพลาดในจิตใจและทำให้เขาอยากจะหวนย้อนกลับไปแก้ไขอีกครั้ง ภพจะสามารถเยียวยาตัวเองได้หรือไม่ หรือการตัดสินใจครั้งนี้จะทำลายปัจจุบันของเขา
มุมมองความรักครั้งใหม่ของมะเดี่ยว-ชูเกียรติ
หลังจากที่มะเดี่ยวห่างหายจากการทำหนังในฐานะผู้กำกับไปพักใหญ่ (ผลงานการกำกับของเขาคือ โปรเจ็ค “ของขวัญ” ในตอน“เมฆฝนบนป่าเหนือ” ในปี 2017) ดิวไปด้วยกันนะ เริ่มต้นขึ้นจากการชักชวนของสตูดิโอผลิตหนังไทยที่กำลังมาแรงอย่างซีเจเมเจอร์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ ซึ่งทางซีเจฯ ได้ให้บทภาพยนตร์ต้นฉบับมา แต่ตัวมะเดี่ยวเองมีการปรับเปลี่ยนบทภาพยนตร์เล็กน้อยซึ่งเขาได้มีการพูดคุยและอธิบายเหตุผลในการดัดแปลงดังกล่าว
บทดั้งเดิมนั้นบอกเล่าเรื่องราวของอดีตของหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งไม่สมหวังเพราะชะตาลิขิตกับปัจจุบันที่เขามาพบกับหนุ่มอีกคนซึ่งทำให้เขาคิดถึงแฟนสาวในอดีต แต่ในดิวไปด้วยกันนะ มะเดี่ยวได้เปลี่ยนแปลงบทภาพยนตร์มาเป็นเรื่องของดิวและภพ สองเด็กชายวัยมัธยมปลายในปางน้อยเมืองเล็กๆติดดอยแห่งหนึ่งที่ก้าวข้ามเส้นแบ่งหัวใจไร้ข้อกำหนดด้วยเพศสถานะจนเมื่อทั้งคู่ต้องแยกทางโดยทิ้งความรู้สึกผิดบาปในหัวใจ ปัจจุบันภพในวัยผู้ใหญ่เดินทางกลับมาปางน้อยเพื่อเป็นครูที่โรงเรียนเก่าซึ่งบรรจุความทรงจำงดงามระหว่างเขาและดิวเอาไว้ที่นี่ที่ทำให้เขาคิดถึงดิวอีกครั้งแม้ว่าขณะนั้นเขาจะมีภรรยาอยู่แล้วนั่นคืออร
อดีตที่ส่งผลมาถึงปัจจุบัน เพราะภพยังคงโหยหาความรักและต้องการความรัก เขายังคงอยู่กับรักแรกที่อาจเคยทำผิดพลาดไป เมื่อเขามีโอกาสอีกครั้งก็ดันเป็นช่วงชีวิตที่มีความรู้สึกผิดและล้มเหลว ในชีวิต ถึงแม้วัยเด็กของหนังจะเป็นความรักที่ต้องห้าม แต่ด้วยวัยและช่วงเวลา โลกของเด็กทั้งสองจึงเต็มไปด้วยความสดใสและแสงสว่างตลอดเวลา แต่พอตัวละครโตขึ้นต่อให้ทุกอย่างมันถูกครรลองคลองธรรม เหตุการณ์ในวัยเด็กมันก็กลับมาเมื่อตัวละครได้มาอยู่ในโลกเดิมๆ ที่เคยเป็นเขา การกลับมาที่ปางน้อยด้วยความรู้สึกล้มเหลวประกอบกับความเครียดมันประเดประดังเข้ามามากๆ เมื่อเจอแสงสว่างจากอดีตส่องเข้ามาเพียงน้อยนิด ภพเลยพยายามที่จะเดินเข้าไปหาแสงนั้น
จาก “รักแห่งสยาม” ถึง “ดิวไปด้วยกันนะ” เพราะช่วงเวลาต่างความรักจึงแตกต่าง
ถึงแม้ว่าคนทั่วไปจะมีโอกาสได้ชม “รักแห่งสยาม” กันมาแล้ว ซึ่งหนังเรื่องดังกล่าวได้ตั้งคำถามถึงความรักของเด็กหนุ่ม เช่นเดียวกันกับ ดิวไปด้วยกันนะ ที่จะพาคนดูไปสำรวจ เพศสถานะนี้ในสังคมไทยชนบทของเด็กมัธยมชายช่วงพ.ศ.2539 อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมยังไม่เปิดรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากนัก มะเดี่ยวได้กล่าวถึงตัวละครในหนังเรื่องนี้ว่า “ความรักในเพศเดียวกันในยุคนั้นมันเป็นความผิดร้ายแรงประเด็น LGBT ในหนังเรื่องนี้บางทีเด็กรุ่นนี้อาจจะไม่เก็ตแน่นอนเพราะเราผ่าน ‘รักแห่งสยาม’ มาแล้ว (หัวเราะ) แต่ถ้าคนรุ่นเดียวกับเรา (ช่วงอายุ 25-40 ปี) ดูน่าจะรู้สึกอะไรบางอย่างซึ่งมันเป็นเรื่องจริงและเคยเกิดขึ้นจริงๆในสังคมที่เราเคยผ่านมาเขาปฏิบัติกันแบบนั้นเป็นแล้วต้องรักษาเพราะเมื่อก่อนเรื่องโรคเอดส์มันเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากใครเป็นกะเทยมีความเสี่ยงจะเป็นเอดส์ทันที”
เมื่อหนังมีช่วงเวลาสำคัญเป็นสังคมมัธยม พ.ศ.2539 มะเดี่ยวจึงเลือกที่จะเล่าหนังในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยทิศทางแบบหนังวัยรุ่นไทยยุค 90s อันเป็นยุคทองของหนังกลุ่มนี้ “เราโตมาในยุคนั้นและเราก็มองโลกในมุมที่สดใสหนังวัยรุ่นในยุคนั้นมันใสมากเลยนะมันไร้เดียงสามันกล่อมเกลาให้เราเป็นคนดีไม่ว่ามันจะเป็นเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ตามแต่สุดท้ายมันจะปลูกฝังให้เราเป็นคนดีทำให้เรามองโลกสดใสมีเพื่อนมีคนรักมีครอบครัวที่คอยอยู่เคียงข้างดราม่าแค่ไหนสุดท้ายก็จะจบสวยรู้สึกว่าจริงๆสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครน่ะมันหม่นแต่เราอยากให้โลกมันสดใสในแบบหนังที่เราเคยดู ‘หวานมันส์ฉันคือเธอ’ ‘แบบว่าโลกนี้มีน้ำเต้าหู้กับครูระเบียบ’ ‘กระโปรงบาน..ขาสั้น’ หรือแม้กระทั่ง ‘บุญชู’ ในหนังพวกนี้ไม่ได้พูดถึงคนที่มีเพศสภาพนี้เลยนะถ้ามีก็เป็นตัวประกอบตลกโปกฮาเราเลยเอาสีสันแบบนั้นมาแล้วเอาตัวละครเราไปอยู่ตรงนั้นได้สร้างโลกใหม่ให้กับตัวละครชายรักชายขึ้นมาในยุคนั้น”