Papicha ดับฝันเด็กสาวในอัลจีเรีย
เนดจ์มา เป็นสาววัยทีนหน้าหวานในโรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศอัลจีเรีย เธอฝันอยากเป็นนักออกแบบแฟชั่น อยากมีอิสระ อยากใช้ชีวิตของตัวเอง บางคืน เนดจ์ มากับเพื่อนซี้ชื่อ วาซิลล่า ลอบออกจากโรงเรียนเพื่อไปเที่ยวไนต์คลับและไปรับลูกค้า – คือบรรดาหญิงสาวคนอื่นๆ ที่ให้ เนดจ์ มาตัดชุดให้ – ระหว่างทางทั้งสองต้องเจอด่านตรวจที่ตั้งโดยกองกำลังหัวรุนแรงที่คอยตรวจจับผู้คน เธอต้องแกล้งสวมผ้าคลุมหัวเพื่อปิดบังว่าจริงๆ เธอใส่ชุดไปเที่ยว
ที่กำแพงโรงเรียน เนดจ์ มากับ วาซิลล่า เห็นโปสเตอร์เรียกร้อง (หรือบังคับ) ให้ผู้หญิงใส่ชุดนิคาบ หรือชุดคลุมทั้งตัวเปิดแค่ลูกตาแบบอิสลามสายเคร่งครัด นั่นทำให้เพื่อนสาวทั้งสองเดาได้ว่าอนาคตของพวกเธอคงไม่ได้ง่ายอย่างที่หวังไว้
Papicha เป็นหนังสัญชาติอัลจีเรีย ออกฉายรอบปฐมทัศน์ไปที่เทศกาลเมืองคานส์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และตอนนี้ได้รับเลือกเป็นตัวแทนประเทศอัลจีเรียส่งชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังนานาชาติ เรื่องราวของ เนดจ์มา และ วาซิลล่า (แสดงโดยดาราอัลจีเรีย-ฝรั่งเศส ลีนา คูดรี่ และ ชีรีน บูเทลย่า) เป็นเรื่องของการแสวงหาเสรีภาพและความเป็นตัวของตัวเองของเด็กสาวในสังคมที่ฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายหัวรุนแรงพยายามครอบงำทั้งร่างกายและความคิดของประชาชน โดยเฉพาะเพศหญิง นี่เป็นทั้งหนังวัยรุ่นและหนังเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ อีกทั้งยังเป็นหนังที่ทำให้เราเห็นสภาพบ้านเมืองและความวุ่นวายของอัลจีเรียในยุคปลายทศวรรษที่ 1990 ที่สงครามกลางเมืองยังคุกรุ่นและการแย่งอำนาจของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายหัวรุนแรง กลายเป็นพลังมืดที่กำหนดชะตาชีวิตประชาชนแทบทุกคน
นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่หนังจากอัลจีเรียเข้าโรงฉายในประเทศไทย หนังเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยมีทั้งผู้กำกับ มูเนีย เมดดูร์ และดารานำสองคน คือ ลีน่า คูดรี้ กับ ชีรีน บูเทลย่า มาร่วมงานและตอบคำถามผู้ชมในโรงด้วย จะดู Papicha ให้สนุกและเข้าใจ เราอาจจะต้องมองบริบทประเทศอัลจีเรียให้ออกสักเล็กน้อย ประเทศเล็กๆ ทางตอนเหนือของแอฟริกานี้อยู่ติดกับโมรอกโก เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสมานานกว่าร้อยปี เผชิญหน้ากับสงครามต่อเนื่อง ทั้งสงครามปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม (มีหนังดังเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ชื่อ Battler of Algiers) และสงครามกลางเมืองที่ต่อเนื่องถึงแม้ประเทศจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบการเลือกตั้ง เทียบกับประเทศอื่นๆ ในแถบแอฟริกาเหนือ อัลจีเรียตกระกำลำบากมากกว่า นักท่องเที่ยวก็แทบไม่มี แถมยังต้องฟาดฟันกับศึกนอกและศึกในมากกว่า และยังคงประสบความวุ่นวายอยู่จนทุกวันนี้
หนังวางเรื่องในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ขณะที่สงครามกลางเมืองยังไม่จบ และฝ่ายอิสลามหัวรุนแรง (ผู้กำกับเน้นเลยในการตอบคำถาม ว่าไม่ใช่อิสลามทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ แต่เป็นเพียงส่วนน้อย) พยายามบังคับกฎเกณฑ์ทางสังคมในการแต่งตัวและประพฤติตัวของผู้หญิง ถึงขั้นลงมือสังหารผู้หญิงที่มีปากมีเสียงหรือพยายามงัดข้อกับสายอนุรักษนิยม ส่วนการตั้งด่านตามถนน เป็นเรื่องปกติ จะเป็นด่านของทางการ หรือด่านของกองกำลัง ประชาชนทุกคนก็ต้องหยุดรถและยอมให้ตรวจโดยไม่มีข้อแม้
สิ่งที่หนังจะบอกคือ การเป็นผู้หญิงในสังคมแบบนี้ ยิ่งเป็นวิบากกรรมมากขึ้นอีกหลายเท่า การจัดการสังคม มักหมายถึงการจัดการผู้หญิง การสร้างความเรียบร้อย มักหมายถึงการบังคับพฤติกรรมและความคิดของผู้หญิง เนื้อหนังมังสาของเธอกลายเป็นสนามปะทะของความคิดหัวใหม่และหัวเก่า เสื้อผ้าที่เธอเลือกใส่บ่งบอกว่าเธออยากให้สังคมเป็นแบบไหนและความคิดของเธอถูกยอมรับได้หรือไม่โดยผู้มีอำนาจ หนังอาจจะดูทื่อๆ ตรงๆ ไปนิดในการผลักประเด็นเสรีนิยมเหล่านี้ แต่ด้วยการแสดงของดารานำ โดยเฉพาะนักแสดงที่เล่นเป็น เนดจ์มา (ลีน่า คูดรี้ จะเล่นหนัง เวส แอนเดอร์สัน เรื่องหน้าด้วยชื่อ The French Dispatch เธออายุ 27 แล้วแต่หน้าเด็กมากๆ) ทำให้หนังน่าดู น่าเชื่อ และทำให้เราเห็นสภาพความอึดอัดของเด็กสาวในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ก่อนที่หนังจะปล่อยระเบิดลูกใหญ่ใส่คนดูอย่างไม่ได้ตั้งตัว อันนี้ต้องไปดูเองเพราะจะสปอยล์มากๆ ถ้าเล่าละเอียดกว่านี้
หนังจากแถบโมรอกโก อัลจีเรีย ตูนิเซีย มีอิทธิพลของหนังฝรั่งเศสอยู่มาก ด้วยเหตุที่เป็นเมืองขึ้นเก่าและเป็นประเทศที่พูดภาษาฝรั่งเศส Papicha ก็เช่นกัน ถึงหนังจะถ่ายในอัลจีเรีย และทีมงานหลักเป็นอัลจีเรีย แต่ก็เป็นอัลจีเรียที่พลัดถิ่นไปอยู่ฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ ทั้งผู้กำกับและดารา สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หนังพูดภาษาสแลงพื้นถิ่นที่เรียกกันว่า Algerois คือการผสมคำฝรั่งเศสกับอาหรับ ขึ้นต้นประโยคด้วยฝรั่งเศสม้วนมาจบที่อาหรับ อันเป็นเอกลักษณ์ของคนอัลจีเรีย ทำให้บทพูดในหนังมีรสชาติเข้มข้น หนักหน่วง และสะท้อนภาพวัฒนธรรมที่ปะทะสังสรรค์กันอย่างพลุ่งพล่าน
ยากมากที่จะมีหนังอัลจีเรียมาเข้าโรงในไทย ลองไปชมแล้วมาถกกันสิว่า Papicha จะดีพอที่จะเบียดเข้ารอบสุดท้ายรางวัลออสการ์ได้หรือไม่
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Papicha ได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน
ก้อง ฤทธิ์ดี
อัจฉริยะนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักเขียน นักแปล เจ้าของสำนวนสละสลวย มือรางวัลระดับโลก