ปอกเปลือกอารมณ์ “เคว้ง” และความท้าทายในดินแดน Netflix ของ “จิม โสภณ”

ปอกเปลือกอารมณ์ “เคว้ง” และความท้าทายในดินแดน Netflix ของ “จิม โสภณ”

ปอกเปลือกอารมณ์ “เคว้ง” และความท้าทายในดินแดน Netflix ของ “จิม โสภณ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อเหลือเกินว่าช่วงเวลาที่ผ่านมามีคนอดตาหลับขับตานอนดูซีรีส์ Netflix ในดวงใจ ซีรีส์ฝรั่ง จีน เกาหลี อะไรก็ว่าไป ในใจผู้เขียนลึกๆ ก็แอบคิดอยู่เหมือนกันว่า จะมีโอกาสไหมที่หนังหรือซีรีส์ไทยจะไปโลดแล่นอยู่บน Netflix บ้าง แล้วจู่ๆ ข้อสงสัยนั้นก็กระจ่างชัด กับการเดินทางมาถึงของ “เคว้ง” หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “The Stranded”

การแปะตราว่าเป็นซีรีส์ออริจินัลไทยเรื่องแรกของ Netflix ดูเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เอาการ เพราะอย่างน้อยก็ต้องยอมรับว่ามาตรฐานคอนเทนต์ของ Netflix นั้นก็สูงใช่ย่อย ทว่าชื่อของ จิม-โสภณ ศักดาพิสิษฐ์ ในฐานะผู้กำกับซีรีส์ เคว้ง (The Stranded) ก็ดูน่าสนใจ จากผลงานเก่าก่อนหน้านี้อย่าง ลัดดาแลนด์, โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต, ฝากไว้..ในกายเธอ หรือ เพื่อน..ที่ระลึก แม้จะเป็นรูปแบบภาพยนตร์ที่ฉายในโรงก็ตาม

ทว่าในวันที่ Sanook TV/Movies เดินทางไปสนทนากับ จิม ท่าทีสบายๆ พร้อมแววตาที่ดูมุ่งมั่นก็ทำให้เรารู้สึกว่า ความน่าสนใจของ เคว้ง นั้นเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ แน่นอนว่าหากเจ้าของผลงานมั่นใจในสิ่งที่เขาทำ ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่น่าจะน้อยกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อได้คุณเอริก้า นอร์ธ ผู้ดำรงตำแหน่ง Director of International Original Programming ประจำ Netflix มาร่วมพูดคุย ก็ยิ่งทำให้รู้ว่า Netflix สนใจตลาดในประเทศไทยและตื่นเต้นกับซีรีส์เรื่องนี้มากแค่ไหน

เคว้ง (The Stranded)เคว้ง (The Stranded)

และนี่คือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง ก่อนที่ 15 พฤศจิกายน 2562 นี้ทุกคนจะได้เดินทางสู่ความเร้นลับและน่าตื่นเต้นครั้งใหม่ใน “เคว้ง (The Stranded)”

 

ด้วยความที่ เคว้ง (The Stranded) คือซีรีส์ออริจินัลไทยเรื่องแรกของ Netflix แล้วชื่อผู้กำกับคือ “โสภณ ศักดาพิสิษฐ์” มันเป็นความท้าทายอย่างไรบ้าง?

จิม: ถ้าเริ่มต้นจากบทเลย ผมคิดว่ามันคือการที่เราจะทำคอนเทนต์ไทยอย่างไรที่คนทั่วโลกสามารถอิน สามารถสนุก และรับรู้ไปกับมันได้ด้วย เพราะเราต้องเชื่อก่อนว่า แต่ละประเทศเขาก็มีวัฒนธรรม มีมุข หรือความเข้าใจในมุข ในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนเรา แม้เราจะคุ้นเคยกับหนังฮอลลีวูดมาก็ตาม ผมว่านี่เป็นโจทย์แรกในการทำงานว่า ทำอย่างไรให้ทุกคนยอมรับมากกว่าแค่คนไทย

ดูจากตัวอย่างซีรีส์ มันมีทั้งเรื่องติดเกาะ สึนามิ ความระทึกขวัญ และวัยรุ่น?

จิม: จริงๆ โปรเจกต์นี้เริ่มต้นมาจากทางฝั่งอเมริกาครับ เขาคิดเรื่องย่อไว้ก่อน แล้วทาง Netflix เขาก็ติดต่อมาทางพี่เอกชัย (เอกชัย เอื้อครองธรรม) ซึ่งก็เป็นคนชวนผมเข้ามาแจม อย่างไอเดียของสึนามิ รวมถึงการติดเกาะ มันเริ่มมาจากทางนู้นว่า “เป็นเด็กโรงเรียนไฮโซติดเกาะ หลังจากเกิดสึนามิ แล้วเจอเหตุการณ์ประหลาด” นี่คือแรกสุดที่ผมได้อ่านเลย (หัวเราะ) แล้วเราเอามาพัฒนาต่อทั้งเรื่องย่อและบท ก็ต้องมาดูว่า คนไทยเป็นอย่างไร บริบทของไทยน่าจะเป็นแบบไหน มีส่วนไหนของประเทศไทยที่อยากจะเล่า อยากจะนำเสนอ เพราะในมุมของฝั่งนู้น บางทีตัวละครหรือสถานการณ์มันดูเป็นฝรั่งไปนิดหนึ่ง คนไทยไม่คุยแบบนี้ คนไทยชอบแบบนี้ เราก็เข้ามาจูนตรงนี้ คิดเรื่องเพิ่ม เติมเรื่องตำนาน เรื่องวัฒนธรรมลงไป

จิม โสภณ ผู้กำกับจิม โสภณ ผู้กำกับ

ย้อนกลับไปทาง Netflix บ้าง เหตุใดจึงสนใจไอเดียเกี่ยวกับสึนามิ รวมถึงการติดเกาะของวัยรุ่น?

เอริก้า นอร์ธ: ชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นจุดสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ ไอเดียของ เคว้ง (The Stranded) คือการรวมกลุ่มกันของเด็กวัยรุ่นที่กำลังจะรู้จักด้านใหม่ของตัวเองหลังจากเหตุการณ์สึนามิ เราได้สร้างเกาะที่ไม่มีอยู่จริงขึ้นมา แล้วก็สร้างตำนานอันน่าสะพรึงมาไว้บนเกาะแห่งนี้ จากนั้นเราจะโฟกัสเกี่ยวกับตัวละคร ดังนั้นในช่วงท้ายของซีรีส์จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัยรุ่นกลุ่มนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ

จริงๆ พล็อตแบบนี้มันไปอยู่กับประเทศไหนก็ได้ แต่ทำไมต้องเป็นประเทศไทย?

เอริก้า นอร์ธ: เพราะประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญของ Netflix มากไปกว่านั้นยังมีผู้กำกับและนักเขียนบทที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องสถานที่ก็มีความสวยงามอย่างไม่ต้องสงสัย เราอยากร่วมงานกับผู้กำกับชาวไทยที่มีพรสวรรค์อย่าง จิม เพื่อนำเอกลักษณ์ของคนไทยไปสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ฉันคิดว่าจิมและทีมทำผลงานออกมาได้อย่างดี ตั้งแต่ครั้งแรกที่ฉันได้เห็นไอเดียของเขา มันให้ความรู้สึกราวกับเป็นเรื่องจริง นั่นคือเหตุผลที่ทำให้อะไรๆ ในเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ

>> Netflix ปล่อยตัวอย่าง 2 "เคว้ง" (The Stranded) เตรียมระทึกพร้อมกันทั่วโลก

จากเทรลเลอร์มีวัยรุ่นอยู่เยอะมาก?

จิม: ที่เหลือรอดจากสึนามิคือ 36 คนครับ

เดาว่าการสร้างคาแรกเตอร์ของทั้ง 36 คนใน “เคว้ง” ไม่ใช่เรื่องง่าย?

จิม: คือต้องบอกว่าตัวละครหลักน่าจะมีอยู่ราวๆ 13 คนครับ ซึ่งทั้ง 13 คนจะมีชีวิตที่ค่อนข้างโดดเด่นออกมา แต่บางคนก็ดูมีแบ็กกราวนด์อะไรบางอย่างที่ทำให้คนดูสงสัย เราก็จะค่อยๆ เปิดเผยว่าแต่ละคนมีที่มาอย่างไร ก่อนมาอยู่โรงเรียนนี้เขาเจออะไรมาบ้าง ซึ่งจริงๆ ผมมองภาพรวมไว้หมดแล้วล่ะ แต่เราค่อยๆ ปอกเปลือกให้ดูมากกว่า

ช่วงวัยรุ่นมันมีความน่าหลงใหลอย่างไรถึงนำมาใช้ดำเนินเรื่อง?

จิม: ในวัยที่เพิ่งจบ ม.6 กำลังจะเข้ามหา’ลัย กำลังจะโต มันเป็นวัยที่เขาค้นหาตัวเอง เขายังไม่รู้อนาคตข้างหน้าจะไปเจออะไร จะกลายเป็นคนแบบไหน บางทีเขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ ซึ่งมันเข้ากับคาแรกเตอร์ตัวละครในซีรีส์มาก ตัวละครทุกตัวบางทีไม่รู้หรอกว่า ตัวเองมีด้านมืดในตัวเองอยู่ จริงๆ แล้วเรารักคนที่เรารักจริงหรือเปล่า เหตุผลที่เรากลายเป็นคนร้ายคืออะไรกันแน่ ทุกคนต่างทำตามอารมณ์วัยรุ่น แล้วพอมีเหตุการณ์สึนามิเกิดขึ้น มันเหมือนเป็นการเปลี่ยนโลกใหม่น่ะครับ โลกที่ทุกคนต้องมาอยู่รวมกันในแบบที่ไม่เหมือนเดิม มันถึงค่อยๆ เปิดเผยตัวตนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าวัยรุ่นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากคนดูจะค้นหาตัวละครแล้ว ตัวละครเองยังค้นหาตัวเองไปด้วยพร้อมๆ กันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้วยภาวะความรู้สึกของตัวละคร นั่นส่งผลไปถึงชื่อซีรีส์อย่าง “เคว้ง” ด้วยหรือเปล่า?

จิม: คงต้องยกเครดิตให้พี่เอกชัยครับ (หัวเราะ) คือเราพยายามหานะว่า ความรู้สึกไหนที่บอกถึงตัวละครได้ดีที่สุด ชื่อไทยแบบไหนที่สั้นๆ แต่เข้าใจฟีลลิ่งได้ บางทีเราไม่ต้องการเข้าใจความหมายหรอก ความหมายเป็นอย่างไรไม่สำคัญ แต่ความรู้สึกจากการได้ยินมันแล้วรู้สึกตามได้ต่างหากที่สำคัญ

>> Netflix ปล่อยตัวอย่างล่าสุด "เคว้ง" รอติดเกาะพร้อมกัน!

เหมือนกับว่าเกาะแห่งนั้นคือภาพสะท้อนของสังคมย่อยๆ ที่เด็กวัยรุ่นต้องเจอ เพราะบางทีเด็กสมัยนี้ก็มีความรู้สึกเคว้งในการค้นหาตัวเอง?

จิม: ก็มีลักษณะนั้นอยู่เหมือนกันครับ คือพอสึนามิเกิด มันเป็นตัวผลัก บังคับให้ตัวละครเติบโต เหมือนอยู่ดีๆ เราต้องมาดูแลตัวเอง มันบีบบังคับให้เราต้องเลือกทางเดินของตัวเองโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่เข้ามาตีกรอบว่าเราต้องเดินซ้ายหรือขวา การตัดสินใจของวัยรุ่นในซีรีส์เรื่องนี้มันค่อนข้างจะบริสุทธิ์นะ เป็นความรู้สึกของพวกเขาเลย เขาอาจจะเลือกอีกทางที่เราไม่คิดว่าเขาจะเลือกก็ได้ ใครเคยมีเนื้อแท้อย่างไร เคยเก็บ เคยปิดบังไว้อย่าไร ก็ต้องเปิดเผยออกมา รู้สึกว่ามันน่าสนใจดีครับ

บีม ปภังกรบีม ปภังกร

ร่วมงานกับนักแสดงกลุ่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

จิม: ต้องถือว่าเป็นนักแสดงกลุ่มที่น่าสนใจมาก ด้วยที่ว่าแต่ละตัวละครจะมีความโดดเด่นของเขาเอง แล้ว เคว้ง มีตัวละครเยอะมาก (หัวเราะ) เราจะทำอย่างไรให้พวกเขามีคาแรกเตอร์ที่คนจำได้ และมีเรื่องราวของมันเอง ไม่ใช่เป็นแค่ตัวประกอบตัวหนึ่ง ในแต่ละตัวละคร เราเลยต้องหาคนที่สามารถมีเอกลักษณ์ที่จะนำเสนอคาแรกเตอร์นั้นๆ ออกมาได้ชัดมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วคนดูต้องจำได้ด้วย อีกอย่างหนึ่งคือ พอเป็นการทำงานของโกลบอล เวลาเราเลือกนักแสดงมันมักจะมีคำพูดที่ว่า คนต่างชาติเขาก็มองคนเอเชียหน้าตาคล้ายๆ กันหมด (หัวเราะ) และแน่ๆ ว่าเราคงไม่ตามเทรนด์เกาหลี เน้นคนที่ดูมีความเป็นไทย เพราะเราเป็นออริจินัลของไทย มันเลยเกิดตัวละครที่เป็นลูกชาวประมง เป็นคนพื้นบ้านของไทยเลย คนบนเกาะนี่แหละ ซึ่งคาแรกเตอร์แบบนี้ถ้ามองย้อนกลับไปในนักแสดงไทยบ้านเราทุกวันนี้มันหายากนะ ส่วนมากจะมาทางตี๋ๆ เกาหลี หล่อๆ แต่เรื่องนี้พอเป็นลูกชาวประมง มันต้องมีความอึด ดำน้ำได้ คือแค่แสดงเก่งอย่างเดียวไม่พอ ถ้าขาดทักษะความสามารถเรื่องการดำน้ำก็จะทำงานกันลำบาก มันเลยเกิดการค้นหานักแสดงที่ค่อนข้างยากมาก แต่สุดท้ายพอได้แต่ละคนที่เลือกมา เราค่อนข้างแฮปปี้ เพราะทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร แล้วพวกเขาอินกับตัวละครกันมาก หลายคนอ่านบทแล้วกลับไปทำการบ้าน แล้วกลับมาคุยมาตีความเพิ่มว่า ตัวละครนี้น่าจะคิดแบบนี้ใช่ไหม อะไรแบบนี้

เอริก้า นอร์ธ: สิ่งที่ฉันรักในตัวละครเหล่านี้คือการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ ที่เราบีบบังคับให้พวกเขาเผชิญ จากเด็กที่เคยอยู่ในโลกของโซเชียลมีเดีย ตอนนี้ต้องมาค้นหาตัวเองอีกครั้ง พวกเขาอาจจะพบกับความสัมพันธ์ของสังคมแบบใหม่ที่สำคัญกว่าการปฏิสัมพันธ์ในมือถือ ภาพลักษณ์ของเขาในอินเทอร์เน็ตกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกจริง ทั้งหมดนี้ฉันรู้สึกว่ามันเป็นความน่าสนใจในระดับสากล นักแสดงทุกคนทุ่มเทมากๆ ในการถ่ายทำ พวกเขาต้องค้นหาแก่นแท้ของแต่ละตัวละคร และค่อยๆ พัฒนามันไปด้วย มันจึงเป็นเรื่องท้าทายของทีมงานทุกคน

>> ล้วงเบื้องหลัง "เคว้ง" ออริจินัลซีรีส์ไทยเรื่องแรกจาก Netflix กว่าจะเป็น "คราม"

นักแสดงไทยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะไปไกลในระดับโกลบอลไหม?

เอริก้า นอร์ธ: เป็นคำถามที่ดีเลย เรามองว่า Netflix ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ต้องเรียนรู้จากทั่วโลกอีกมาก เราเพิ่งอยู่ที่จุดเริ่มต้น แต่อย่างน้อย Netflix ก็สามารถรวบรวมผู้ชมจากทั่วโลกในแบบที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน เราจึงสามารถสนับสนุนนักแสดงที่มีพรสวรรค์ให้เดินในเส้นทางอาชีพนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่นเด็กๆ จาก La Casa de Papel ฉันเชื่อว่าโอกาสที่ได้ก้าวเข้ามาสู่เวทีระดับสากลจะช่วยผลักดันทางเดินอาชีพให้พวกเขาได้

เอริก้า นอร์ธ Director of International Original Programming ของ Netflix เอริก้า นอร์ธ Director of International Original Programming ของ Netflix

อีกหนึ่งความน่าสนใจจากตัวอย่างซีรีส์คือ... สินจัย เปล่งพานิช?

จิม: ถ้าพูดในแง่นักแสดง ผมถือว่าผมโชคดีมาก พี่นก (สินจัย เปล่งพานิช) มีความเป็นมืออาชีพ เป็นรุ่นใหญ่ แต่ไม่ถือตัว ในการทำงาน ทั้งพี่นกเอง นักแสดงคนอื่นๆ หรือทุกคนที่ทำงานกับผม ทุกคนก็จะสงสัยมากว่า ตัวละครของเขาจะโตไปทางไหน ความลับคืออะไรกันแน่ ซึ่งตัวละครของพี่นกเป็นตัวละครที่มีแบ็กกราวนด์เยอะมากครับ แต่บางอย่างผมเลือกที่จะไม่บอกพี่นกด้วยซ้ำไป ซึ่งมันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งว่า ผมบอกกรอบให้เขาลองตีความ มันเลยยิ่งทำให้เกิดความน่าสนใจตรงที่พี่นกตีความออกมาในแบบที่บางทีเราคิดไม่ถึง พี่นกมีปฏิกิริยาในแบบที่น่าสนใจ พี่นกพร้อมจะกระโดดลงไปในบทที่เขาไม่รู้ว่าคืออะไรและไม่เคยเล่นมาก่อน

บีม ปภังกร และ นก สินจัยบีม ปภังกร และ นก สินจัย

สร้างสมดุลระหว่างตัวละครที่มีความไทย กับการที่ต้องไปอยู่ในแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix อย่างไร?

จิม: ผมว่าเด็กวัยรุ่นทั่วโลกมีความคล้ายกันอยู่บางอย่าง เพียงแต่ว่าคาแรกเตอร์เด็กวัยรุ่นไทยจะแตกต่างออกไปนิดหน่อย ความรับผิดชอบหรือความเติบโตบางอย่างอาจจะน้อยกว่าเด็กไฮสคูลเมืองนอกอยู่นิดหนึ่ง แต่สำหรับเรื่องการตัดสินใจ ผมว่ามันเป็นการใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต ซึ่งจะแตกต่างจากหนังของคนมีอายุที่เขาตัดสินใจจากเหตุผล ทีนี้ผมว่าเรื่องมันน่าสนุกตรงที่ว่า เราคงไม่ไปนั่งโฟกัสปัญหาของวัยรุ่น แต่เราจะมุ่งไปสู่ความเร้นลับเหนือธรรมชาติบางอย่าง แต่เมื่อเราจับวัยรุ่นมาเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ผมเชื่อว่า ตรรกะมันจะไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่เจอเหตุการณ์นี้ เขาอาจจะ... เฮ้ย อย่าเข้าไปเลย อันตราย แต่วัยรุ่นมันพร้อมจะอยากรู้ว่าคืออะไร พร้อมจะค้นหา พร้อมจะเสี่ยง พร้อมจะทำอะไรบ้าๆ ที่แบบ... เฮ้ยจริงหรือ ทำแบบนี้จริงหรือ มันมีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นเยอะ เพราะชีวิตวัยรุ่นขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนมากกว่าตรรกะ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องความนึกคิด ความเชื่อ การตีความต่างๆ ตำนานลึกลับที่เราคุ้นเคย อย่างรายละเอียดเกี่ยวกับภาคใต้ วิธีเลือกเรือที่ใช้ในเรื่อง เราก็ต้องเลือกเรือที่ดูมีความเป็นไทย เราจึงเลือกใช้เรือกอและ หรือตัวละครที่นุ่งผ้า เราก็ใช้ผ้าที่ดูเป็นผ้าถุงลายแบบไทยๆ ทางใต้ คือเราสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปโดยไม่พยายามไปยัดเยียดคนดูว่านี่ผ้าไหมไทยนะ ในขณะเดียวกัน เราก็เลือกให้เป็นโรงเรียนอินเตอร์ เป็นกลุ่มนักเรียนไฮโซที่ดูฝรั่งหน่อย

เอริก้า นอร์ธ: สำหรับฉันมี 2 มุมมองนะ อย่างแรกคือประเทศไทยมีเรื่องเล่าลี้ลับและประวัติศาสตร์เยอะ ความคาดหวังจากทั่วโลกจึงสำคัญสำหรับเรา ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีความเป็นไทยหรือสากลมากน้อยแค่ไหน ในมุมมองของ Netflix คือ ยิ่งเรื่องราวมีความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ มากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากเท่านั้น มันอาจจะฟังดูแปลก แต่เราเชื่ออย่างนั้น อย่าง La Casa de Papel จากสเปน, Dark จากเยอรมนี หรือ The Rain จากแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งหมดเป็นเรื่องราวท้องถิ่นทั้งสิ้น แต่ผู้ชมทั่วโลกก็สามารถเข้าถึงได้จากคาแรกเตอร์ของนักแสดง เคว้ง ก็เช่นเดียวกัน พวกเราพยายามผลิตผลงานโดยเน้นความเป็นท้องถิ่น และมีความเป็นสากลในเวลาเดียวกัน

มาร์ช จุฑาวุฒิมาร์ช จุฑาวุฒิ

แล้วความน่าสนใจในคอนเทนต์ทางฝั่งเอเชียล่ะ?

เอริก้า นอร์ธ: เรายังไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้เลย แต่เท่าที่สังเกต ซีรีส์เกาหลีหรือซีรีส์จีนก็เป็นที่รู้จัก สิ่งที่น่าสนใจในคอนเทนต์ฝั่งเอเชียคืออะไร... ฉันว่ามันคือความสวยงามของวัฒนธรรมและภาษา แต่ละประเทศก็จะมีความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นแตกต่างกันไป เป้าหมายของ Netflix คือการตามหาเรื่องราวและประสบการณ์อันเป็นที่เล่าขาน และสนับสนุนคนที่สามารถเล่าออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้เขาถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีที่สุด เราจริงจังกับเรื่องนี้เพราะอยากเห็นคนที่มีพรสวรรค์ได้แสดงความสามารถ

ซีรีส์ติดเกาะมีมากมายก่ายกองบนโลกใบนี้ เป็นเรื่องง่ายมากที่ เคว้ง (The Stranded) จะถูกเปรียบเทียบ?

เอริก้า นอร์ธ: แต่ฉันคิดว่าสิ่งที่น่าตื่นเต้นในซีรีส์เรื่องนี้ก็คือความแตกต่าง การค้นพบตัวเองของเด็กวัยรุ่นทำให้เรื่องนี้ไม่เหมือนกับเรื่องอื่น นี่คือโลกใบใหม่ที่เรานำเสนอขึ้นมา ฉันเชื่อว่าสิ่งที่คนไทยและคนทั่วโลกกำลังจะได้เห็นคือประสบการณ์สุดพิเศษ ถึงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า เคว้ง จะต้องถูกเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ แต่เอกลักษณ์ของประเทศไทยจะช่วยทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เดินทางสู่เป้าหมายได้ นอกจากนั้นฉันคิดว่าภูมิประเทศยังเปรียบเสมือนกระจกสะท้อนใจของตัวละครด้วย ที่พวกเขาโดนปล่อยเกาะคงไม่ต่างจากความรู้สึกข้างในมากนัก พวกเขาต้องหาความหมายต่อจากนี้ว่า ตัวเองเป็นใคร หรือใครจะเป็นคนสำคัญของเขา นั่นเป็นสิ่งที่เราจะได้เห็นจากตัวละครที่ผ่านการลงเรือลำเดียวกัน คนดูสามารถตีความเนื้อหาได้หลายชั้นเลยล่ะ มันน่าตื่นเต้นที่เราจะได้รับชมไปด้วยกัน

จิม: มันเป็นคำถามแรกที่ผมถามทีมงานตอนได้รับบรีฟเลยครับ (หัวเราะ) ว่ามันจะต่างกันอย่างไร เพราะผมชอบดูหนังแนวนี้มากอยู่แล้ว แต่พอเราจะเริ่มงาน เราก็พยายามดูก่อนว่า เขาสนใจอะไรในเมืองไทย เหตุการณ์แปลกๆ ที่เป็นไอเดียที่เขาบอกมาคืออะไร และนำไปสู่อะไรได้บ้าง ถ้าใครดูจากตอน 1 ไปสู่ 2 ไปสู่ 3 ไปเรื่อยๆ ผมว่าทุกคนจะรู้สึกอย่างเดียวกันคือ เอ๊ะ เรื่องมันชักไม่ใช่แค่นี้แล้วนะ คือไม่ต้องห่วงว่าเราจะเล่าเรื่องราวเหมือนที่ผ่านๆ มา อย่างซีรีส์ Lost ที่หลายคนพูดถึง ความเป็นหนังติดเกาะ หนังเอาตัวรอดที่อาจจะเหมือนกัน แต่ทีมทางนู้นบอกกับผมตั้งแต่แรกเลยว่า เขาไม่สนใจหนังติดเกาะนะ แต่เขาสนใจสิ่งที่จะเล่าหลังจากนี้มากกว่าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

แพต ชญานิษฐ์แพต ชญานิษฐ์

ดูเหมือนว่าจะมีการใส่ความเป็นแฟนตาซีลงไปในซีรีส์อยู่พอสมควร?

จิม: อย่างที่บอกไปว่าเราไม่ได้โฟกัสการเอาตัวรอดจากการติดเกาะของเด็กๆ แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมซึ่งเด่นมากในไทยคือเรื่องพวกนี้แหละ ความเร้นลับ ตำนาน เรื่องเล่า อะไรก็แล้วแต่ที่ดูเป็นสิ่งที่น่าค้นหา ผมว่าต่างชาติไม่มีเรื่องเหล่านี้นะ เป็นสิ่งที่แต่ละประเทศก็จะมีของตัวเอง คือฝรั่งเขาพยายามจะเอาวิทยาศาสตร์ไปจับต้องให้ได้เยอะที่สุด แต่สำหรับเรื่องนี้ในเมืองไทย ผมเชื่อว่าคนทั่วโลกเขาก็เชื่อนะ เพียงแต่ว่าเขายังไม่รู้สึกยอมรับ 100% ว่ามันมีสิ่งที่เรายังค้นหาไม่เจอ หรือสิ่งที่เรามองไม่เห็นอีกหลายอย่าง แต่สบายใจได้อย่างหนึ่งเลยว่า ผมไม่ได้เล่าเรื่องผีนะ (หัวเราะ)

ทั้งที่ภาพจำของ “จิม โสภณ” คือหนังผี?

จิม: ครับ แต่อย่างที่แจ้งไปแหละว่า เคว้ง ไม่ใช่ซีรีส์ผี (หัวเราะ) แต่มันมีความชอบของผมอย่างหนึ่งคือเรื่องความลึกลับ คือผมไม่ได้ฉีกไปถึงขั้นทำหนังตลก เรื่องราวความลึกลับ ความน่าค้นหา มันเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงแนว Horror เลยครับ เพียงแค่เราเลือกมาอีกทางหนึ่ง ทางที่เวลาคนดูจะมีความสนุกในการลุ้น อาจจะกลัว อาจจะสงสัย มันยังมีความรู้สึกนี้ในการรับชมอยู่ ก็ถือว่าเป็นอีกทางที่ผมไม่เคยทำตอนทำหนังใหญ่มาก่อน

เอริก้า นอร์ธ: ในระดับสากลเราย่อมต้องการสร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน เราอยากสร้างซีรีส์ที่ยิ่งใหญ่และท้าทาย ให้คู่ควรกับการที่ผู้ชมจะใช้เวลากับมัน

มองว่าการที่ซีรีส์ไทยได้เฉิดฉายใน Netflix มันสะท้อนให้เห็นถึงคำถามที่หลายคนสงสัยว่า เมื่อไหร่ซีรีส์หรือหนังไทยจะไปไกลถึงฮอลลีวูดได้มากน้อยแค่ไหน?

จิม: ผมว่า Netflix เป็นช่องทางที่ดีในการทำสิ่งนั้น อย่างที่บอกว่า Netflix คาดหวังกับซีรีส์เรื่องนี้มาก เขาเลยพยายามที่จะพากย์เสียงหรือแปลซับฯ ในหลายๆ ภาษา อังกฤษ สเปน จีน อะไรอย่างนี้ เพราะเขาอยากจะสื่อสารกับคนทั่วโลกจริงๆ คือไม่ได้อยากจะทำมาเพื่อคนไทยดูอย่างเดียวจริงๆ เขา launch พร้อมกันทีเดียว 190 ประเทศ สมาชิก 150 ล้านคน ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงซีรีส์ เคว้ง ได้ อย่างในอดีต สมมติว่าเราทำหนัง 1 เรื่อง ต่อให้มีประเทศที่เขาซื้อไปฉายในประเทศเขา ในความเป็นจริงมันก็ฉายแค่ในกลุ่มเล็กๆ แต่คราวนี้ทุกคนในประเทศนั้นๆ สามารถดูได้พร้อมกัน

เอริก้า นอร์ธ: สำหรับ Netflix มันเป็นเรื่องการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดจากประเทศไทยสู่ชาวโลก ฉันคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่เราได้ร่วมงานกับทีมของประเทศไทย และการที่ Netflix ได้ช่วยพาเรื่องเล่าของไทยไปสู่ระดับสากลก็ถือเป็นเป้าหมายของเราเช่นกัน

 

พบกับซีรีส์เรื่อง “เคว้ง (The Stranded)” พร้อมกัน 15 พฤศจิกายน นี้ทาง Netflix ที่เดียว

อัลบั้มภาพ 44 ภาพ

อัลบั้มภาพ 44 ภาพ ของ ปอกเปลือกอารมณ์ “เคว้ง” และความท้าทายในดินแดน Netflix ของ “จิม โสภณ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook