จริงหรือไม่? Marvel สร้างแต่หนัง "ซูเปอร์ฮีโรซ้ำซาก"
ยืนหนึ่งในการเป็นค่ายหนังและจักรวาลของซูเปอร์ฮีโรที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาล อย่างที่คงจะอีกหลายสิบปีกว่าจะมีใครมาโค่นลงได้ สำหรับ Marvel Studios ที่จนถึงวันนี้ กับหนังที่ออกฉายแล้วกว่า 23 เรื่องในเเวลา 11 ปี ก็สามารถกวาดเงินจากกระเป๋าคนดูทั่วโลกไปแล้ว 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยความสำเร็จที่ว่า ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มักจะมีผู้คนในวงการออกมาโหนกระแส แสดงทัศนะเกี่ยวกับหนังของ Marvel อยู่เสมอ อย่างในกรณีล่าสุดของผู้กำกับรุ่นเก๋า Martin Scorsese หรือ Francis Ford Coppola ถึงอย่างนั้น แรงต้านต่าง ๆ ก็ไม่สามารถหยุดกระแสความแรงที่หนัง Marvel หัวหอกของตระกูลหนังซูเปอร์ฮีโรเดินหน้าต่อไป แต่ Marvel เอง หากไม่หนีจากความจริง ก็ต้องผจญกับกระแสการสร้างแต่หนังซ้ำซากและผูกขาดวงการหนังอยู่เรื่อย ๆ
หนัง Marvel จะ “ผูกขาด” หนังซูเปอร์ฮีโรในตลาดต่อไป
หากมองในอีกแง่หนึ่ง การที่หนัง Marvel แข็งแกร่งได้ถึงเบอร์นี้ ก็ส่งผลลัพธ์ในทางลบกับการครองส่วนแบ่งตลาดของหนังทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นหนังประเภทไหน เช่น กับหนังที่ฉายทั่วไปและหนังที่ฉายแบบจำกัดโรง โดยเฉพาะหลังจาก Disney ได้ควบรวมค่ายหนังอย่าง 20th Century Fox ไปด้วยมูลค่า 71.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ความคาดหวังที่จะได้เห็นความหลากหลายของหนังซูปเปอร์ฮีโรก็จะยิ่งน้อยลง เมื่อ X-Men และ Fantastic Four เข้าไปอยู่ใต้ชายคา Disney เห็นตัวอย่างได้จาก X-Men: Dark Phoenix (2019) ที่ Disney และ Fox แทบจะไม่โปรโมต ปล่อยให้หนังล้มเหลวทางรายได้มากที่สุดในแฟรนไชส์หนัง X-Men เพื่อรอวันที่ Disney จะทำการรีบูตแฟรนไชส์นี้ใหม่ตามวิถีทางของ Marvel Studios หรือหนังอย่าง The New Mutants หนังมนุษย์กลายพันธุ์ในโทนหนังสยองขวัญ ที่ถูกดองมาหลายปี และมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ฉายโรงใหญ่เพื่อไปลงในสตรีมมิ่งช่องใดช่องหนึ่งของ Disney เอง
ไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรกว่าแฟน ๆ จะได้ชมทั้ง X-Men และ Fantastic Four ในจักรวาล MCU อาจต้องรอถึงเฟส 5 หรือหลังจากนั้น เพราะตอนนี้แค่เฟส 4 ก็เต็มไปด้วยหนังและซีรีส์ทาง Disney+ มากมายให้ต้องจัดการ รายที่น่าจะไปได้สวยที่สุดของหนัง Marvel ที่ถูกโอนย้ายมาจาก Fox น่าจะเป็น Deadpool ของ Ryan Reynolds หลังจากที่เขาปล่อยรูปถ่ายหน้า Marvel Studio ซึ่งอาจจะสื่อเป็นนัยว่า โครงการหนัง Deadpool ได้เดินหน้าต่ออย่างที่จะไม่ถูกรีบูต เพราะยังคงสดใหม่และมีฐานแฟน ๆ รอชมอยู่เป็นจำนวนมาก
จริงหรือ? ที่หนัง Marvel ซ้ำซาก
นับวัน Keven Feige จะมีบทบาทควบคุมจักรวาล MCU มากขึ้น ๆ (ล่าสุดกับบทบาทที่จะได้ไปคุมจักรวาล Marvel ภาคโทรทัศน์ แทนทีม Marvel Television เดิม โดย Disney มุ่งหวังให้ซีรีส์ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ “มีคุณภาพ” เท่าเทียมกับหนังต่างๆ ที่ Feige ดูแลอยู่) อย่างที่รู้ ๆ กันว่า เหล่าผู้กำกับหน้าใหม่หรือไม่ค่อยมีชื่อเสียงถูกคัดเลือกมากำกับ เพียงเพื่อเป็นร่างทรงทางวิสัยทัศน์ของ Feige เท่านั้น (Feige จะกำหนดทิศทางและความเป็นไปทั้งหมดของหนัง ผู้กำกับแค่ทำตามสั่ง!) ซึ่งหลังจากนี้ทุกปี คนดูก็จะได้เห็นหนัง Marvel ออกฉายมากกว่าที่ผ่านมาถึงปีละ 4 เรื่อง โดยแนวทางเดิม ๆ ของหนังในช่วงหลัง ที่จะเน้นการ crossover นำตัวละครจากเรื่องโน้นมาเจอกันในเรื่องนี้แล้วข้ามไปอีกเรื่องหนึ่ง (ก็พอเข้าใจได้ว่าตัวละครทุกตัวต่างเป็นที่รักของแฟน ๆ และมีจำนวนมากพอจะสลับไขว้ไปอยู่ในหนังหรือซีรีส์หลักของตัวละครอื่น)
และความซ้ำซาก ไม่หลากหลายของ Marvel ก็อาจจะแผ่อิทธิพลไปยังหลาย ๆ ซีรีส์ที่จะเกิดขึ้นในช่อง Disney+ เพียงเพราะ Disney และ Marvel อยากจะเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในวงกว้างมากที่สุด ขณะที่ Marvel Television ในยุคก่อนหน้า ดูจะมีความหลากหลายมากกว่า ทั้งซีรีส์สำหรับกลุ่มคนดูผู้หญิงอย่าง Jessica Jones สำหรับกลุ่มคนดูผู้ชายอย่าง Daredevil สำหรับกลุ่มคนดูที่เป็นวัยรุ่ยชาย (ตามวัยของตัวละครหลักในเรื่องที่เป็นวัยรุ่นเหมือนกัน) อย่าง Iron Fist ยังไม่นับรวมว่ายังมีซีรีส์อย่าง Cloak & Dagger ที่เจาะกลุ่มเป้าหมายของคนดูให้แตกต่าง โดยมี Agents of S.H.I.E.L.D. เป็นซีรีส์แมสเมนสตรีมไว้ดึงกลุ่มผู้ชมในวงกว้าง ความหลากหลายทั้งหมดนี้จะหายไปในยุคการมาถึงของ Disney+ เมื่อตอนนี้ค่ายหนังเลือกจะใช้แต่แบรนด์ของ Marvel เป็นตัวดึงผู้ชม
ช่วงเวลาทองของค่ายคู่แข่ง Marvel และ Disney
ความสำเร็จของ Joker ที่กำลังจะกลายเป็นหนังที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูนซูเปอร์ฮีโรที่ทะยานสู่ 1 พันล้านเหรียญฯ ทั่วโลก และเป็นหนังเรต R ที่ทำรายได้สูงที่สุดตลอดกาล รวมถึงการเป็นหนังจากหนังสือการ์ตูนที่ทำกำไรจากทุนสร้างสูงสุดตลอดกาลไปเป็นที่เรียบร้อย ต้นกำเนิดหรือเหตุผลของ Todd Phillips ก็คือความต้องการสร้างหนังตัวละครจากโลกซูเปอร์ฮีโรให้แตกต่างไปจากเดิม หนังจึงกลายเป็นเรต R ที่เต็มไปด้วยฉากที่มีความรุนแรงทางภาพและอารมณ์ ใกล้เคียงไปทางหนังของ Martin Scorsese นี่อาจเป็นแนวทางใหม่ของค่าย DC ที่จะฉีกแนวของหนังซูเปอร์ฮีโรให้แตกต่างจากที่เคยล้มเหลวไปกับ Justice League (2017) ที่ก็พูดตรง ๆ ว่าแทบจะเดินตาม Marvel เพียงแต่ทำให้โทนของหนังหม่นมืดกว่า นอกจากนี้ DC ก็จะหนัง The Batman (2021) ที่จะเข้าฉายในปี 2021 อย่างลดความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรลงและไปในโทนของหนังนักสืบ หนังสืบสวนสอบสวนแทน
ทางฟากฝั่งค่าย Sony ที่ยังถือลิขสิทธิ์ของหนัง Marvel เหลืออยู่อีกเพียงค่ายเดียวในตอนนี้ หลังจากสร้างข่าวดรามาคืน-ไม่คืน หนัง Spider-Man ให้ Marvel เหตุผลหนึ่งก็เพราะค่ายยังคงมั่นใจกับผลลัพธ์ที่เกิดจากฝีมือสร้างของตัวเอง อย่างหนัง Venom ภาคแรกที่ทำรายได้ไปถึง 850 ล้านเหรียญฯ ทั่วโลก และเดินหน้าสร้างภาค 2 ให้ได้ชมกันในปีหน้า รวมถึงแอนิเมชัน Spider-Man: Into the Spider-Verse ที่ได้ทั้งเงินทั้งรางวัลที่ดีจนมีภาค 2 เช่นกัน นอกจากนี้หนังยังมีหนังซูเปอร์ฮีโรเรื่องใหม่จากค่าย Valiant Comics ที่ชื่อ Bloodshot นำแสดงโดย Vin Diesel รอเข้าท่าอยู่อีกเรื่อง ทั้งหมดนี้อาจเป็นความหลากหลายที่ยังพอจะหลงเหลืออยู่บ้างจากหนังสือการ์ตูนของ Marvel
ส่วนคู่แข่งทางสตรีมมิ่งของ Disney+ ก็แสดงให้เห็นว่า ได้ดีโดยไม่ต้องถึงพึ่งสไตล์ของ Marvel ในการเข้าถึงกลุ่มคนดูของตัวเอง Netflix ที่มีหนังซูเปอร์ฮีโรที่ประสบความสำเร็จอย่าง The Umbrella Academy ในซีซัน 1 หรือ Amazon ที่มีซีรีส์สายดาร์คอย่าง The Boys ซึ่งอยู่ระหว่างการถ่ายทำซีซัน 2 แล้วในขณะนี้ ความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของทั้งสองซีรีส์ที่แฟน ๆ ชื่นชอบคือ ความหนักแน่น ดุดัน เต็มเป็นด้วยความรุนแรงที่น่าหลงใหล การจั่วหัวเข้าเรื่องที่เต็มไปด้วยปมปริศนา และท้ายที่สุดที่กับความเป็นหนังซูเปอร์ฮีโรที่แปลก แหวกแนว ให้รสชาติแปลกใหม่มากพอที่คนดูควรค่าจะรับชม
ถึงแม้ว่าหนังจาก Marvel Studios จะเป็นหนังตระกูลซูเปอร์ฮีโรหรือหนังในตระกูลใดตระกูลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จทางด้านรายได้มากที่สุดในโลก แต่ถ้ายังคงดำเนินเรื่องในรูปแบบหรือสไตล์เดิม ๆ ที่ไม่แหวกแนวไป ก็เป็นไปได้ว่า กลุ่มคนดูที่โตขึ้นตามวัย หรือได้สัมผัสกับรสชาติหนังอื่น ๆ ที่แตกต่างมากขึ้น จะ “ปันใจตีจาก” หนัง Marvel ไปในวันหนึ่ง การแข่งขันด้วยเนื้อหาของหนังและซีรีส์ที่แตกต่างและหลากหลายมากพอ จึงเป็นโจทย์ที่ Disney และ Marvel Studio น่าจะต้องแก้ให้ได้ (ถ้าอยากจะแก้) เพื่อให้หนังและซีรีส์ของ Marvel พ้นจากความ “ซ้ำซาก” ในอนาคต