“Doctor Sleep” เรื่องเก่าที่ต้องเล่าให้จบ
ผมมี “The Shining” งานคลาสสิคในปี 1980 ของ แสตนลีย์ คูบริค เป็นหนังในดวงใจเรื่องหนึ่งครับ เคยดูครั้งแรกตอนเป็นเด็กจำได้ว่ามันน่ากลัว คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นหนังสยองขวัญหนังผีอะไรแบบนั้น แต่พอได้มาดูอีกครั้งตอนโตแล้วจึงพบว่า “The Shining” เป็นมากกว่าหนังสยองขวัญทั่วๆ ไป เพราะมันสามารถตีความไปได้มากกว่านั้น
ผมไปอ่านเจอมาที่ไหนสักแห่ง (จำไม่ได้ครับ นานแล้ว) เขาบอกว่า “The Shining” สามารถตีความได้อย่างหลากหลาย ทั้งในแง่จิตวิเคราะห์ของผู้ที่ตกอยู่สภาวะโดดเดี่ยวในสถานที่อันถูกทิ้งร้าง ทั้งในแง่ภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วยที่เสพติดหรือยึดติดกับอะไรสักอย่าง หรือในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่าง สามี-ภรรยา พ่อ-ลูก อะไรทำนองนั้น ซึ่งผมก็เห็นด้วยครับ ต้องยกคุณงามความดีให้กับ แสตนลีย์ คูบริค ผู้กำกับภาพยนตร์บรมครูผู้ล่วงลับ และ สตีเฟน คิง เจ้าของบทประพันธ์
แต่สิ่งที่ผมชอบมากๆ อีกอย่างใน “The Shining” ก็คือการกำกับภาพของ จอห์น อัลคอทท์ Director of Photography ของเรื่องนี้ อัลคอทท์ เป็นผู้กำกับภาพคู่บุญของ คูบริค ครับ หนังที่เป็นหมุดหมายสำคัญๆ ของ คูบริคหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น “2001: A Space Odyssey” (1968), “A Clockwork Orange” (1971), “Barry Lyndon” (1975) รวมทั้ง “The Shining” ก็ได้ อัลคอทท์ นี่แหละครับที่นั่งอยู่หลังเลนส์ให้ คูบริค การจับคู่กันของ คูบริค และ อัลคอทท์ นี่สร้างคุณูปการให้วงการภาพยนตร์มากเลยนะครับ และสิ่งที่ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองคนได้ฝากเอาไว้ก็ส่งอิทธิพลให้กับนักสร้างหนังรุ่นหลังและมีบทบาทอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยมาตลอดสี่สิบกว่าปีเลยครับ
ที่กล่าวถึง “The Shining” นั้นก็เพราะว่า “Doctor Sleep” นั้นเป็นภาคต่อของ “The Shining” นั่นเอง สตีเฟน คิง เจ้าของบทประพันธ์ของทั้งสองเรื่องเขียนเรื่องหลังหากจากเรื่องแรก 36 ปี เพราะนึกสงสัยว่าหลังจากเหตุการณ์ที่โรงแรมโอเวอร์ลุคแล้ว แดน ทอร์แรนซ์ จะเติบโตมาเป็นคนแบบไหนกันแน่ และเรื่องราวต่อจากนั้นควรดำเนินไปในรูปรอยใด นั่นก็เลยเป็นที่มาของ “Doctor Sleep” ที่กำกับโดย ไมค์ ฟลานาแกน ครับ
ฟลานาแกน นี่แกเชี่ยวชาญหนังสยองขวัญมาก เคยทำหนังทำนองนี้มาหลายเรื่อง อาทิ “Before I Wake” (2016), “Ouija: Origin of Evil” (2016), “Before I Fall” (2017), “Gerald's Game” (2017) และ “The Haunting of Hill House” (2018) ซึ่ง ฟลานาแกน เองก็มีผู้กำกับภาพคู่บารมีแบบที่ คูบริค มี อัลคอทท์ เหมือนกัน DOP คู่ใจของฟลานาแกนคือ ไมเคิล ไฟมอกนารี ซึ่งถ่ายหนังให้ฟลานาแกนหลายเรื่อง เรื่องที่ผมยกมาก่อนหน้านี่ก็เป็นฝีมือแกเกือบทั้งหมดนั่นแหละครับ
เพราะฉะนั้น นอกจากเป็นการสานต่อเรื่องเล่าของ สตีเฟน คิง ให้จบครบถ้วน แล้ว “Doctor Sleep” ก็ยังดูคล้ายจะเป็นงานไหว้ครูที่ทั้ง ฟลานาแกน และ ไฟมอกนารี มีต่อ แสตนลีย์ คูบริค และ จอห์น อัลคอทท์ ยังไงยังงั้นเลยครับ
เอาล่ะ ทีนี้มาดูที่ “Doctor Sleep” กันบ้าง
ผมมีความรู้สึกและความเห็นที่...นับจนถึงวันที่เขียนบทความชิ้นนี้ ก็ยังเป็นความรู้สึกหรือความคิดที่หลากหลายปนเปอยู่นะครับ มีทั้งที่ชอบและทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร
คือผมรู้สึกชอบที่ ฟลานาแกน พาหนังไปสู่พรมแดนใหม่ๆ ของเรื่องเล่าเดิม (ใน “The Shining”) ซึ่งสนุกตื่นเต้น ระทึกขวัญดี แถมยังใช้เทคนิคในการสร้างความน่าหวาดกลัวแบบเดียวกับที่ คูบริค ทำ นั่นคือการค่อยๆ สร้างบรรยากาศ อึมครึม อึดอัด ไม่กระตุกขวัญผู้ชมด้วยการตัดต่อแบบ Jump Scare (หรือที่เราเรียกกันว่า “ตุ้งแช่” นั่นแหละ) แบบหนังสยองขวัญทั่วไปเลย แต่กลับค่อยๆ ปลุกความปั่นป่วน รบกวนในใจผู้ชมทีละนิดทีละน้อย แตกต่างตรงแค่ว่าเรื่องเล่าใน “Doctor Sleep” นั้นมันไปไกลและชัดเจนมากว่าเป็นการต่อสู้กันระหว่าง คนคนหนึ่ง (จริงๆ สองคน) กับขบวนการหรือองค์กรหนึ่ง ซึ่งไอ้ความชัดเจนแบบนี้แหละครับที่ทำให้ผมรู้สึกยังไงยังไงอยู่ จะบอกว่าชอบก็ชอบน้อยกว่า “The Shining” นิดนึงเพราะใน “The Shining” นั้น คุณสามารถมองมันในมุมไหนก็ได้ ตีความได้หลากหลายกว่า แต่กับ “Doctor Sleep” ที่จำเป็นต้องเล่าเรื่องแบบมิติเดียวเพื่อให้เรื่องราวในหัวของ สตีเฟน คิง มีการคลี่คลายและจบสมบูรณ์ (ซึ่งน่าจะเป็นความตั้งใจแต่แรกของ คิง) มันก็เลยทำให้เหลี่ยมมุมต่างๆ ที่ควรซับซ้อนกลับกลมกลึงขึ้นมา มองแบบไม่ยึดติดกับของเก่า “Doctor Sleep” ก็เป็นเรื่องเล่าที่สนุก มีชั้นเชิง ตื่นเต้นดีมากเลยนะครับ เพียงแต่ผมอดไม่ได้ที่จะคิดว่าที่ “The Shining” มันคลาสสิค ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความคลุมเครือของมันนั่นแหละ ส่วน “Doctor Sleep” นั้นอาจไม่ไปถึงขั้นนั้น แต่ถ้ามองกันอย่างยุติธรรมก็ถือว่าสนุกมากพอสมควรแหละครับ
อ้อ! อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ คือผมดู ยวน แมคเกรเกอร์ รับบทผู้มีพลังกำลังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้คนรุ่นหลังแบบนี้ทีไรแล้วอดนึกถึง โอบี-วัน เคโนบี กำลังฝึกพาดาวันอย่าง ลุค สกายวอลค์เกอร์ ไม่ได้ทุกทีเลยครับ พอรู้สึกแบบนี้ก็เลยรู้สึกยุกยิกในใจขึ้นมานิดนึง เอาแต่สงสัยว่า แอบรา (ตัวละครที่คล้ายจะเป็นลูกศิษย์) จะเข้าสู่ด้านมืดไหม...เซ็งเหมือนกันครับที่ดันไปคิดแบบนั้น ฮ่าๆ
แต่สรุปว่า “Doctor Sleep” นั้นเป็นภาคต่อของ “The Shining” ที่ต้องเล่าให้จบครับ แม้จะค่อนข้างหมดจดสมบูรณ์ ไปหน่อยจนไม่เหลืออะไรให้คิดต่อ แต่ก็ถือว่าเป็นหนังที่ดูสนุก ภาพสวยงาม ตื่นเต้น และได้อรรถรสเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ไม่อยากให้พลาดครับ
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Doctor Sleep ได้ ที่นี่