เคว้ง: อย่าลืมว่าทุกการตัดสินใจ พวกเขาคือวัยรุ่น (รีวิวติดสปอยล์)

เคว้ง: อย่าลืมว่าทุกการตัดสินใจ พวกเขาคือวัยรุ่น (รีวิวติดสปอยล์)

เคว้ง: อย่าลืมว่าทุกการตัดสินใจ พวกเขาคือวัยรุ่น (รีวิวติดสปอยล์)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับว่าช่วงนี้คำว่า “เคว้ง” กำลังอยู่ในกระแสโลกออนไลน์ ออริจินัลซีรีส์ไทยเรื่องแรกบนแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix เรื่องนี้กลายเป็นกระแสพูดถึงในวงกว้างในชั่วข้ามคืน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าคำวิจารณ์โดยส่วนใหญ่ค่อนไปในทางลบ... ถึงลบมาก

เอาเข้าจริง “เคว้ง” หรือในชื่อสากลว่า “The Stranded” มีพล็อตที่ไม่ซับซ้อนอะไรมากมาย เหตุเกิดบนเกาะสมมตินามว่า “ปินตู” กับเด็กรวยกลุ่มหนึ่งที่ร่ำเรียนอยู่ที่เกาะแห่งนั้น ในคืนจบการศึกษา พวกเขาจัดปาร์ตี้กันอย่างหนักหน่วง โดยไม่รู้เลยว่าสึนามิกำลังจะซัดเข้าเกาะ ทุกสิ่งทุกอย่างพังทลาย วัยรุ่น 36 ชีวิตคือผู้รอด และต่างหาหนทางที่จะออกจากเกาะไปให้ได้ โดยหนึ่งในนั้นคือพระเอกที่มีชื่อว่า คราม ลูกชาวประมงที่มีพื้นเพอยู่ที่เกาะปินตู ซึ่งหลายคนมองข้าม ดูถูก และเหยียดหยาม ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า พวกเขาจะเอาชีวิตรอดได้หรือไม่ ด้วยวิธีไหน รวมไปถึงบรรยากาศลึกลับต่างๆ นานาที่ซ่อนอยู่ในเทรลเลอร์จะมีผลอย่างไรต่อเส้นเรื่อง อะไรประมาณนั้น

ก่อนวันฉายจริง ซีรีส์ เคว้ง ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก แน่นอนล่ะว่ามันคือออริจินัลซีรีส์ไทยเรื่องแรกบน Netflix ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อว่ามันมาพร้อมการตั้งความหวังในระดับที่สูงเอาการ ชื่อของ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฎ์ ซึ่งเคยฝากฝีมือการกำกับไว้กับภาพยนตร์อย่าง ลัดดาแลนด์, โปรแกรมหน้า วิญญาณอาฆาต, เพื่อน..ที่ระลึก ก็พอจะเชื่อมือได้ทีเดียว อีกทั้งประเด็นของโครงเรื่องของการติดเกาะและต้องเอาชีวิตรอดอาจจะค่อนข้างซ้ำซากจำเจไปสักหน่อยในโลกแผ่นฟิล์มหรือซีรีส์

เข้าเรื่องกันเลยดีกว่า สำหรับประเด็นการถูกสับเละเทะต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย ก็ต้องบอกตามตรงว่าผู้เขียนก็เห็นด้วยในหลากหลายประการ โดยเฉพาะ “บทพูด” หรือ “ไดอะล็อก” รวมไปถึง “วิธีแสดง” ของหลายๆ ตัวละครที่เรามองว่าถึงขั้น “สอบตก” มันอาจจะดูไม่คล้ายคลึงกับภาษาพูดที่มนุษย์ใช้พูดกันสักเท่าไหร่ บางประโยครู้สึกว่าตัวละครถูกยัดเยียดให้พูดแบบหล่อๆ แต่กลับฟังดูบางเบาและเฟกเสียเหลือเกิน นั่นคือปัญหาใหญ่ที่ทำให้เรารู้สึก “ไม่เชื่อ” ในตัวละครบางตัวสักเท่าไหร่

โดยเฉพาะ “อนันต์” (รับบทโดย มาร์ช จุฑาวุฒิ) ที่ค่อนข้างน่ารำคาญทั้งในวิธีการพูดและการแสดงออก หรือแม้กระทั่ง “แจน” (รับบทโดย แพม เปมิกา) ในฉากที่รู้ว่าน้องชายฝาแฝดอย่าง แจ๊ค ไม่ได้ฆ่าตัวตาย และอาละวาด กฤษ แฟนหนุ่มของ แจ๊ค ฉากนั้นหากใช้น้ำเสียง หรือวิธีการพูดอีกแบบหนึ่ง ผู้เขียนเชื่อว่าจะเป็นฉากที่ทรงพลังมากกว่านี้หลายเท่า

ในขณะที่เรื่องความสมจริงของซีรีส์ที่โดนโจมตีอย่างหนักเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสะอ้านสะอาดของทุกๆ คาแรกเตอร์ เสื้อผ้าชิคๆ คูลๆ รวมไปถึงเศษซากสิ่งของที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ที่ดู “จัดวางเกินจริง” รวมไปถึงเหตการณ์อื่นๆ ที่ดูไม่เมกเซ้นส์ ไม่มีที่มาที่ไปสักเท่าไหร่ สำหรับตัวผู้เขียนก็มีทั้งที่โอเคและไม่โอเค บางฉากถึงขั้นหลุดปากออกมาว่า “มันมาได้ไงวะ” แต่สำหรับเรื่องการจัดวางพร็อพต่างๆ ที่ดูไม่น่าเชื่อว่านี่คือสภาพหลังสึนามิซัด เรากลับมองว่ามันเป็นองค์ประกอบศิลป์ที่ทำให้ซีรีส์ดูงดงามในแง่ “ภาพ” เสียมากกว่า

แต่การที่คนดูบางกลุ่มรู้สึก “ไม่เชื่อ” ตั้งแต่แรก ก็นับเป็นความเสี่ยงประเภทหนึ่งที่อาจทำให้พวกเขาตัดสินใจ “ไม่ดู” ต่อ จนถึงขั้นอาจไม่กลับมาดูอีกแล้วก็ได้เช่นกัน

แม้ว่าปัจจัยข้างต้น รวมถึงตอนจบจะทำให้ผู้ชมรู้สึกเคว้งไปตามๆ กัน (อย่าบอกว่าคุณไม่รู้สึก) กับการไม่คลี่คลายปมที่ผูกเอาไว้สักปม แถมยังเพิ่มเครื่องหมายคำถามเข้ามาเรื่อยๆ อีกต่างหาก ภายใต้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังแอบซ่อนสิ่งที่ผู้เขียนชื่นชอบอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ประการแรกเราขอชื่นชมในความกล้าของผู้กำกับและทีมผู้สร้างที่ปล่อยให้คนดูเคว้งในอีพีสุดท้าย และเฝ้ารอคอยการเดินทางมาถึงของซีซั่นถัดไปที่มีแน่ๆ แล้วล่ะ หนึ่งคือนี่คือการตลาดแบบปฏิเสธไม่ได้ สองคือความบ้าคลั่งในการที่จะแตกต่าง และเรายังมองว่า ทีมงานได้วางแผนเอาไว้หมดแล้ว

ประการต่อมาคือการนำความเชื่อของคนไทยมาเป็นหนึ่งในปมที่รอการเฉลย ไม่ว่าจะเป็นกาพย์พระไชยสุริยาของกวีเอกบ้านเราอย่าง สุนทรภู่ ที่บทบาทหายไปเลยในช่วงท้ายซีซั่นนี้, กริชพญานาคที่น่าจะเป็นคำตอบของหลายๆ คำถามในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน ซึ่งนั่นก็คือความเชื่อของผู้คนในภูมิภาคที่อยู่ติดแม่น้ำโขง ไหนจะฉากที่ดูเหมือนจะเป็นวังบาดาลที่ซ่อนอยู่ในหลืบแห่งมหาสมุทรอีก

รวมไปถึงบรรยากาศเร้นลับจากตัวละคร “ครูหลิน” (รับบทโดย สินจัย เปล่งพานิช) ที่ไม่ใช่ผี (เพราะผู้กำกับบอกว่าซีรีส์เรื่องนี้ไม่มีผี) แล้วเธอคืออะไรกันแน่ ซึ่งจุดนี้ต้องชื่นชม จิม โสภณ กับการบีบบังคับให้คนดูรู้สึกหวาดกลัว ตื่นตระหนก ลุ้นระทึก ไม่ต่างจากจังหวะของภาพที่กำหนดให้เป็นเช่นนั้น ถือเป็นทางถนัดของผู้กำกับท่านนี้ก็ว่าได้

และในขณะที่บางตัวละครแสดงได้ไม่น่าประทับใจสักเท่าไหร่ ก็ยังมี “เมย์” (รับบทโดย แพต ชญานิษฐ์) อีกหนึ่งตัวนำที่เราขอยกให้เป็นความหวังทางด้านการแสดงของซีรีส์ เคว้ง โดยเฉพาะแววตาและภาษากายที่สาวแพตแสดงออกมาได้อย่างน่าสนใจ รวมไปถึง “คราม” (รับบทโดย บีม ปภังกร) ที่แววตาอันใสซื่อของเขากลับซ่อนความแข็งแกร่งและความน่าสงสารไว้อย่างเด่นชัด “ไอซ์” (รับบทโดย แจ๊ค กิตติศักดิ์) กับฉากสั้นๆ เพียงสองฉาก และไดอะล็อกที่พูดว่า “พยายามอยู่” สร้างเซอร์ไพรส์ให้ตัวละครนี้อย่างมาก หรือแม้แต่ “อริสา” (รับบทโดย ชาลีดา กิลเบิร์ต) และ “น้ำ” (รับบทโดย นิ้ง ชัญญา) ก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียว

ทว่าประเด็นที่ผู้เขียนสนใจและชื่นชอบมากที่สุดใน “เคว้ง” ก็คือ การกระทำของตัวละครทุกตัวที่เป็น “วัยรุ่น” จากบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ของ จิม โสภณ ที่บอกกับเราว่า “เพราะชีวิตวัยรุ่นขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนมากกว่าตรรกะ” ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไปในทุกอีพีจากซีซั่น 1 ของ เคว้ง ทุกตัวละครตัดสินใจทำอะไรบางอย่างด้วย “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” ทั้งสิ้น

>> ปอกเปลือกอารมณ์ “เคว้ง” และความท้าทายในดินแดน Netflix ของ “จิม โสภณ”

ลองมองย้อนกลับไปในวันที่เราอายุ 17-18 อยู่มัธยมปลาย กับช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเฉกเช่นตัวละคร เราใช้เหตุผลมากแค่ไหนในการเลือกจะทำอะไรสักอย่าง

และที่สำคัญ พวกเขาไร้ซึ่งผู้ปกครองในการให้คำปรึกษาใดๆ ต้องใช้ชีวิตและเอาชีวิตรอดด้วยตัวของพวกเขาเอง นี่คือการกระทำที่เกิดจากความคิดของเด็กๆ ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยซ้ำ นั่นทำให้เราค่อนข้างเชื่อในการตัดสินใจทำอะไรบางอย่างลงไปของทุกตัวละคร ส่งต่อสู่การยอมรับผลที่เกิดขึ้นตามมา

กฤษ ขอร้องให้แฟนหนุ่มอย่าง แจ๊ค ฆ่าเขาเพื่อให้พ้นจากความทรมาน หาก แจ๊ค คิดไตร่ตรองสักนิด เขาก็คงไม่ลงมือทำแบบนั้น แจ๊คเพียงแค่อยากทำตามคำขอของคนรัก, เมย์ ที่หวั่นไหวจากความดี และการได้เป็นตัวของตัวเองยามอยู่ต่อหน้า คราม จนเลยเถิดไปสู่การมีเซ็กซ์แบบไม่ป้องกันในเกาะลับ และตั้งครรภ์ นั่นก็เป็นภาวะที่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามอารมณ์ มีใครการันตีได้ไหมล่ะว่า การกระทำของ เมย์ เกิดจากความรัก... มิใช่ความเหงา

ผู้เขียนตัดสินใจดู เคว้ง จนจบภายใต้เงื่อนไขแห่งการกระทำจากเหล่าวัยรุ่นที่อายุยังไม่ถึง 20 ขวบ และมองว่า ซีรีส์เรื่องนี้ก็ทำในจุดนี้ออกมาได้ดีเสียด้วยสิ

ยิ่งเมื่อมีภาพแฟลชแบ็กย้อนกลับไปสู่อดีต โดยเฉพาะเรื่องราวในครอบครัวของแต่ละตัวละคร นั่นยิ่งทำให้คำว่า “เคว้ง” นั้นตอบอะไรบางอย่างได้พอสมควร

แน่นอนว่าการติดเกาะโดยไร้ซึ่งความหวังในการที่จะมีใครมาช่วยก็คงเป็นความรู้สึกเคว้งของเด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้อยู่แล้ว แต่หารู้ไม่ว่า ก่อนที่จะต้องมาตกระกำลำบาก พวกเขาต่างก็เผชิญหน้ากับความเคว้งมาแล้วทั้งนั้น อนันต์ ต้องรับมือกับพ่อที่ต้องการให้เขาสมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว, คราม ผู้ซึ่งไม่เคยเห็นหน้าพ่อและแม่ที่แท้จริงของตนเอง, เมย์ ที่ทางบ้านเต็มไปด้วยหนี้สิน จนต้องสร้างโลกในการเป็นเน็ตไอดอลในการหารายได้, ไอซ์ ที่เคยขับรถชนคนตาย, อริสา สาวน้อยผู้ถูกทุกคนในโรงเรียนเกลียด, นำ้ ผู้มีสัมผัสพิเศษ ฝันว่าพ่อของตนจะตาย แล้วมันก็เกิดขึ้นจริง ฯลฯ

ทุกคนต่างเคว้งในโลกแห่งความจริง ก่อนที่จะมาเคว้งบนเกาะปินตูเสียด้วยซ้ำ

ทีนี้คงต้องมาตามต่อในซีซั่นที่ 2 ว่า ความเคว้งจะทำลายความสัมพันธ์ของทุกคนบนเกาะไปมากกว่าที่เกิดขึ้นในซีซั่นแรกหรือไม่ แล้วความเคว้งก่อนหน้านี้สร้างให้พวกเขาเป็นเช่นไรในปัจจุบันกาล ซึ่งคนดูก็น่าจะได้รับทราบข้อมูลและรู้จักตัวละครได้อย่างชัดเจนขึ้น

แต่ขอร้องล่ะ ซีซั่นถัดไปก็ช่วยค่อยๆ เฉลยปมมาสักนิดสักหน่อยก็ยังดี เพราะซีนสุดท้ายในซีซั่นที่ 1 นั้นก็ทำให้ผู้เขียน “เคว้ง” ไปทั้งคืน... กลัวใจผู้กำกับจริงๆ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ

อัลบั้มภาพ 27 ภาพ ของ เคว้ง: อย่าลืมว่าทุกการตัดสินใจ พวกเขาคือวัยรุ่น (รีวิวติดสปอยล์)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook