อันว่าด้วยดราม่า The Cave
กลายเป็นดราม่าจนได้ สำหรับหนังไทย นางนอน (The Cave) เมื่อผู้กำกับ ทอม วอลเลอร์ โพสท์เฟซบุคเล่าเหตุการณ์ที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ณรงศักดิ์ โอสถธนากร ตำหนิหนังว่านำเสนอเรื่องที่ไม่ตรงกับความจริง และเป็นหนังที่มีท่าทีในทางลบต่อระบบราชการไทย มีผู้คลิกไลค์ให้กับโพสท์ของคุณทอมราวสามพันคน (และยังวิ่งอยู่) พร้อมกับมีการแสดงความเห็นมากมาย ทั้งเห็นด้วยกับผู้กำกับ และที่ติเตียนและสนับสนุนอดีตผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นหัวแรงใหญ่ในภารกิจช่วยชิวิตทีมหมูป่าจากถ้ำหลวงเมื่อกลางปีก่อน
>> "ทอม วอลเลอร์" ผู้กำกับ "THE CAVE นางนอน" ขอพูดบ้าง! หลังเกิดดราม่าหนัง
น่าสนใจว่าผู้ว่าณรงศักดิ์ ถึงกับหัวเสียจากหนังเรื่องนี้ (ทอมเชื่อว่า ผู้ว่ายังไม่ได้ดูหนังทั้งเรื่อง แค่ดูตัวอย่างเท่านั้น) แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริง และหนังก็ประกาศแต่ต้นว่ามีการดัดแปลงจากเรื่องจริง ดังนั้นการคาดหวังว่าหนังจะเสนอความจริงทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ แต่เช่นกัน เราต้องยอมรับว่าหนัง (ทุกเรื่องในโลก) แฝงท่าทีและทัศนคติของผู้สร้าง จะบวกหรือลบต่อสิ่งใดหรือเหตุการณ์ใดก็ตาม และผู้เขียนเชื่อว่าเป็นสิทธิ์ของคนทำหนังที่จะแสดงทัศนคติเช่นนั้น ส่วนการนำเสนอท่าทีหรือความคิดนั้น จะทำได้เหมาะสม มีชั้นเชิงลีลา หรือน่าสนใจมากน้อยไหน ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันต่อไปได้
กรณี The Cave นี้ยิ่งซับซ้อน เพราะหนังไทยที่สร้างจากเรื่องจริง อ้างอิงจากชีวิตคนจริงๆ มีไม่มาก ในขณะที่ฝรั่งหรือญี่ปุ่นหรือเกาหลี มีหนังแบบนี้เยอะมากๆ และสนุกด้วย จะจริงหรือไม่จริงตามประวัติศาสตร์ก็ว่ากันไป เถียงกันไปได้ไม่สิ้นสุด แต่คนทำหนังไทยไม่ค่อยกล้าทำหนังอ้างอิงเรื่องจริง เพราะกลัวโดนเซนเซอร์ ไม่ก็โดนฟ้อง (หนังฝรั่งหรือเกาหลี ทำได้เพราะกฎหมายเปิดทางให้ศิลปินพดูถึงบุคคลสาธารณะมากกว่า และเพราะทัศนคติของคนดูที่สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งที่เห็นในหนังไม่ใช่เป็น “ความจริง” ทั้งหมด)
ทอม วอลเลอร์ สร้าง The Cave โดยไม่ได้ “ซื้อ” ลิขสิทธ์ชีวิตของเด็กๆ ทีมหมูป่า แต่หนังเล่าผ่านมุมมองของนักดำน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ให้ความช่วยเหลือทอมในการสร้างหนัง อีกทั้งหนังยังใช้คนจริงๆ ในเหตุการณ์จริงมาเล่นเป็นตัวเอง เช่น ผู้ใหญ่บ้านหัวหน้าทีมช่างสูบน้ำ (ที่โดนทางการปฏิเสธไม่ให้เข้ามาช่วยในภารกิจในตอนแรก) และชาวบ้านที่ร่วมเหตุการณ์ก็กลับมาแสดงเป็นตัวเองอีกหลายคน ทีมนักดำน้ำก็มาแสดงในหนังแทบทุกคน ในทางตรงกันข้าม มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้ว่า บริษัทใหญ่จากอเมริกาได้ซื้อลิขสิทธิ์เรื่องเด็กทีมหมูป่า และเตรียมทำซีรีส์จากเหตุการณ์นี้ หมายความกลายๆ ว่าไม่มีใครมี “สิทธิ์” เหนือเรื่องนี้นอกจากผู้ที่ได้ซื้อสิทธิ์จ่ายสตางค์ไปแล้ว
เดาไม่ยากว่าผู้ว่าณรงศักดิ์ ไม่พอใจฉากไหนของเรื่อง หลักๆ น่าจะเป็นตอนต้นๆ ที่ผู้ใหญ่บ้านหัวหน้าทีมสูบน้ำ ถูกกีดกันไม่ให้เข้ามาช่วย เพราะ “ไม่มีบัตร” และไม่ได้ลงทะเบียนไว้ นี่น่าจะเป็นสถานการณ์ที่คนไทยจำนวนมากเข้าใจได้ดี (และอย่าลืมว่า ผู้ใหญ่บ้านแสดงเป็นตัวเอง เท่ากับแกเพียงแสดงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับแกจริงๆ มาก่อนนี้หรือเปล่า) นอกจากนี้ยังมีฉากที่แสดงให้เห็นถึงความล่าช้าในการตัดสินใจของฝ่ายไทย อีกทั้งยังมีฉากเซอร์ไพรซ์เมื่อมีนายกรัฐมนตรี (เป็นนักแสดง ไม่ใช่ตัวจริง) มาเยี่ยมชมและเล่นมุขกับทีมดำน้ำ
>> The Cave: รวมฮิตภารกิจถ้ำนางนอน
ผู้เขียนไม่เห็นว่าฉากเหล่านี้ดูถูกหรือล้อเลียนอะไรเกินความเหมาะสม หากจะบอกว่าไม่สมจริง ก็น่าคิด เพราะความจริงของแต่ละคนในเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ และหนังมีสิทธิ์จะแสดงความจริงในส่วนของตน (เช่นเดียวกับที่ผู้ว่าณรงศักดิ์มีสิทธิ์แสดงความจริงในส่วนของท่าน ผ่านสื่ออื่นๆ ซึ่งดีไม่ดีมีจะมีคนดูมากกว่าหนังเล็กๆ เรื่องนี้ด้วยซ้ำ) อีกทั้งท้ายที่สุด หนังก็เชิดชูความสำเร็จในการร่วมมือปฏิบัติการณ์มหัศจรรย์ที่รักษาชีวิตเด็กทั้ง 13 คนไว้ได้
ที่สำคัญคือคำถามที่ว่า “ใครเป็นเจ้าของเรื่องเล่า” มีใครมีสิทธิ์เหนือผู้อื่นในเหตุการณ์นี้หรือไม่ มีใครสามารถจ่ายเงินซื้อเรื่องราวชีวิตของคนอื่นได้ และห้ามคนอื่นไม่ให้มีสิทธิ์นั้นหรือไม่ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เผยแพร่ไปทั้งโลก มีภาพและสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มากมายนับไม่ถ้วนอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีการตีความ และมีชุดความจริงมากกว่าหนึ่งชุดจากต่างมุมมองอยู่แล้ว หนัง The Cave จะดีหรือไม่ดี ก็ว่ากันไปตามสภาพ จะแฟร์หรือไม่แฟร์ ก็ว่ากันไปตามมุมมองของผู้ชม แต่สิทธิในการเล่าเรื่องและมองต่างมุม น่าจะเป็นสิทธิของคนทำหนัง คนสร้างงาน หรือจริงๆ แล้วเป็นสิทธิของทุกคนนั่นเอง
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง The Cave นางนอน ได้ ที่นี่