Charlie’s Angels ความเซ็กซี่ขี้เล่นที่หายไป

Charlie’s Angels ความเซ็กซี่ขี้เล่นที่หายไป

Charlie’s Angels ความเซ็กซี่ขี้เล่นที่หายไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Charlie’s Angels ในเวอร์ชั่นซีรีส์ปี 1976 คือการ “กรุยทาง” ให้กับตัวละครหญิงได้มีโอกาส ได้จับปืน ปฏิบัติภารกิจสายลับเฉกเช่นตัวละครชาย โดยเราอาจจะกล่าวได้ว่า มันคือการปูทางให้เกิด หนังสายลับหญิงในยุคถัดมา และทำให้นักแสดงหญิงมีพื้นที่ ในบทบาทที่หลายหลากมากยิ่งขึ้น   

 

 

ในปี 2000 Charlie’s Angels ของผู้กำกับ “แม็คจี” ได้เลือก 3 ดาราสาวที่กำลังมาแรงในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะ คาเมรอน ดิแอซและดรูวส์ แบรี่มอร์ ทั้งสองคนนี้จัดได้ว่าเป็นนักแสดงดาวรุ่งที่มาจากหนังสายโรแมนติกคอมมาดี้ ซึ่งมีรอยยิ้มพิมพ์ใจ เป็นที่รักของผู้ชมทั่วโลก ส่วนดาราเชื้อสายเอเชียอย่าง ลูซี ลิว นั้นแม้ก่อนหน้านี้เธอจะมีผลงานแต่ซีรีส์ก็ตาม แต่ด้วยคาแรกเตอร์อันโดดเด่นและใบหน้าที่โฉบเฉี่ยวเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ชมจดจำเธอได้ทันที

 

 

แม้ว่านักวิจารณ์จะไม่ได้ปลาบปลื้มกับตัวหนังในเวอร์ชั่นนี้สักเท่าไหร่ เนื่องจากพล็อตเรื่องไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ที่ว่าด้วยสายลับสาวต้องออกปฏิบัติภารกิจต่างๆ แต่ด้วยเสน่ห์ของนักแสดงที่ทำให้คนดูอดอมยิ้มไม่ได้ รวมไปถึงความเซ็กซี่ที่จัดเต็ม จนเราอาจจะกล่าวได้ว่าในเวอร์ชั่นนี้มันมีความทะลึ่ง ตึงตัง ในแบบที่คนดูผู้ชายจะต้องชอบ เนื่องจากมันอุดมไปด้วยฉากตัวละครใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น บางครั้งหนังก็เน้นการโคลสอัพภาพไปที่บริเวณเนินอกของนักแสดง ฉากสองแง่สามง่ามที่ชวนสยิวกิ้ว และในหลายครั้งที่สามสาวปฏิบัติภารกิจพวกเธอ มีความ “เปลืองตัว” อยู่ไม่น้อย แน่นอนหนังในเวอร์ชั่นนี้โกยเงินถล่มทลายทั่วโลก แถมโซนเอเชียหนังเรื่องนี้ก็ฮิตมาก

 

 

สำหรับ “แม็คจี” ก่อนหน้าที่เขาจะมากำกับ Charlie’s Angels หนังขนาดยาวเรื่องแรกในชีวิตนั้น แม็คจี สั่งสมชื่อเสียงจากการกำกับวิดีโอขนาดสั้น โดดเด่นในโทนความตลกทะลึ่งตึงตัง วิธีการทำหนังของเขาจึงอาจจะเป็นมุมมองแบบผู้ชายชีกอ ซึ่งชอบมองผู้หญิงสวยๆกับเสื้อผ้าน้อยชิ้น ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังเวอร์ชั่นปี 2000 นั้น จึงเป็นมุมมองที่ผู้ชาย อยากให้สายลับสาวมีความเซ็กซี่ ขี้เล่น และมีจริตจะก้านที่มากกว่าผู้หญิงทั่วไปในสังคม และเหตุผลนี้นี่แหละ ที่ทำให้บรรดา LGBT โดยเฉพาะเกย์และกะเทย หลงรักนางฟ้าในเวอร์ชั่นนี้แบบไม่อาจปฏิเสธ

 

 

ชุดหนังรัดรูป ชุดว่ายน้ำบิกินี่ ชุดนักแข่งรถคับติ้ว และอีกหลากหลาย จึงกลายเป็นคอสตูมในความทรงจำของผู้ชม เพราะมันถูกออกแบบมาให้สะดุดตา ชวนมอง และขับเสริมทรวดทรงของนักแสดงให้ทวีความเซ็กซี่เพิ่มขึ้นไปอีก จนเราอาจจะกล่าวแบบสรุปได้ว่า ตัวละครเอกอย่างสามนางฟ้านั้นมีลักษณะเป็น Sexual object (การเป็นวัตถุทางเพศ) ในสายตาของผู้ชายก็ว่าได้

 

 

สำหรับ Charlie’s Angels ในเวอร์ชั่นล่าสุด ประจำปี 2019 ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ อลิซาเบธ แบงค์ โดยในเรื่องนี้เธอยังควบหน้าที่ทั้งโปรดิวเซอร์ มือเขียนบท รวมไปถึงแสดงเองด้วยอีกต่างหาก ถ้าใครติดตามผลงานของนักแสดงสาวคนนี้ จะเข้าใจเลยว่าเธอถือเป็น “ผู้หญิงเก่ง” คนหนึ่งในแวดวงฮอลลีวูด เพราะเธอพยายามพัฒนาผลงานในทุกๆด้าน ทั้งงานแสดงก็โดดเด่น มาจับงานเบื้องหลัง กำกับ Pitch Perfect 2 ก็ประสบความสำเร็จ

 

 

แน่นอนว่าในยุคสมัยที่ “สิทธิสตรี” กำลังมาแรง ประกอบกับกระแส Me Too ตั้งแต่ปี 2017 ทำให้การถ่ายทอดแนวคิดของตัวอลิซาเบธ แบงค์ลงไปในหนัง Charlie’s Angels เวอร์ชั่นนี้เต็มไปด้วยความเข้มข้นตั้งแต่ฉากแรกของเรื่องที่เปิดตัวมาที่ การปฏิบัติภารกิจของซาบิน่า (คริสเทน สจวร์ต) ที่ริโอเดจาเนโร เมื่อเธอต้องพยายามยั่วยวนจอนนี่ สมิธ (คริส เผง) หนุ่มนักธุรกิจที่มองว่า ผู้หญิงสวยเซ็กซี่ ผมบลอนด์อย่างซาบิน่านั้น เหมาะกับการแต่งตัวสวยๆ และอยู่เป็นช้างเท้าหลังให้ผู้ชายหาเลี้ยงปรนเปรอ ดีกว่า ซาบิน่าได้แต่นั่งหัวเราะและรู้สึกสมเพชแนวคิดอันล้าหลังของจอนนี่อยู่ลึกๆ จนเธอเริ่มจะแสดงธาตุแท้ให้เขาได้เห็นว่า ผู้หญิงอย่างเธอนั้นมีอะไรมากมายกว่าที่ผู้ชายอย่างเขาคิดไม่ถึง และแน่นอนว่าพวกเธอไม่ยอมเป็นวัตถุทางเพศของผู้ชายอีกต่อไป!

 

แค่ฉากแรกของเรื่อง อลิซาเบธ แบงค์ ก็จัดเตรียมประเด็นเรื่องผู้หญิงแกร่ง ไม่ยอมผู้ชายเอาไว้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ยังไม่รวมถึงการปูฉาก ก่อนที่ไตเติ้ลของหนังจะขึ้น ด้วยการใส่ฉากผู้หญิงในทุกเชื้อชาติ ทุกช่วงอายุมาอารัมภบทว่า นี่คือหนังของผู้หญิงเพื่อผู้หญิงและกำกับโดยผู้หญิงด้วยกัน

 

 

แน่นอนว่าตัวเอกของเรื่องจะต้องเดินทางออกไปยับยั้งวัตถุเทคโนโลยีอันตราย ที่อาจจะกลายเป็นอาวุธมหาประลัยที่สามารถล้างสมองมนุษย์ทั้งโลก แต่ระหว่างทางของเรื่อง เราจะได้เห็นเลยว่าตัวละคร “ผู้ชาย” ในหนังเรื่องนี้ถูกจัดวางคาแรกเตอร์มาให้กลายเป็น ตัวร้าย เด็กเนิร์ด ผู้บริหารจอมเอาเปรียบ และสไตลิสท์เมโทรเซ็กชวล ซึ่งเป็นเหมือนการลดทอนอำนาจของผู้ชายในทางอ้อม ในการนำเสนอภาพผู้ชายในมุมที่ดูเอาเปรียบผู้หญิง ความอัปลักษณ์ หรือกระทั่งความไม่ฉลาดเฉลียวและเท่าทันผู้หญิง  

 

 

ประเด็นอยู่ที่ว่า Charlie’s Angels 2019 มัวแต่พยายามให้ตัวละครหญิงในเรื่อง สามารถเป็นผู้หญิงยุคใหม่ที่มั่นใจในตัวเองเต็มร้อย มีแนวคิดในเชิง คุณเป็นคนเก่งได้ถ้าหากมีความพยายามและไม่จำเป็นต้องง้อผู้ชาย ส่งผลให้คาแรกเตอร์ของตัวละครในหนังภาคนี้ไม่เหลือพื้นที่ที่จะทำให้คนดูได้เห็นด้านที่เปราะบางของพวกเธอ หรือกระทั่งเสน่ห์ที่เราอยากจะเอาใจช่วยตัวละคร จนเราอาจจะกล่าวได้ว่า ความสมบูรณ์แบบของพวกเธอคือจุดด้อยที่ทำให้หนังเวอร์ชั่นนี้ขาดสีสันไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

จริงอยู่ที่การชูประเด็นเรื่องสิทธิสตรีในยุคปัจจุบันถือเป็นสิ่งที่ควรนำเสนอ แต่การที่อลิซาเบธ แบงค์ พยายามยัดเยียดสารดังกล่าวในปริมาณมากเกินไป ทำให้คนดูรู้สึกเหมือนกำลังถูกบังคับให้ดูโฆษณาชวนเชื่อที่ผู้หญิงพยายามโน้มน้าวให้เพศเดียวกัน ลุกขึ้นมากดทับผู้ชายและแก้แค้นพวกเขา หลังจาก “ระบอบปิตาธิปไตย” หรือสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ปกครองโลกนี้มาอย่างยาวนานกว่าหลายทศวรรษจะต้องถึงเวลาขั้วอำนาจจะต้องกลับด้านกันบ้าง!

 

น่าเสียดายที่คนดูก็แค่ต้องการ “ความสนุก” กับหนังสายลับหญิงก็เท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook