รีวิว บอดี้การ์ดหน้าหัก หน้าที่ของสามีที่ดี!
จะว่าไปแล้ว “บอดี้การ์ดหน้าหัก” เป็นหนังที่เขียนพล็อตขึ้นมาแบบหลวมๆ เพราะอันที่จริง เนื้อหาสาระของมันพูดถึงแค่ “ยามวัยกลางคนที่หมดกะในการเฝ้าเวร ระหว่างทางเขาต้องแวะซื้อบะหมี่กลับบ้านไปให้เมีย แต่จับพลัดจับผลูเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ลอบสังหารระดับชาติ”
ฉากเปิดเรื่องเรามีโอกาสได้ทำความเข้าใจว่า เปรม (หรินทร์ สุธรรมจรัส) กำลังคบหาดูใจกับศร (ชิน ยูบิน) ซึ่งเธอได้พยายามแนะนำเขาให้กับพ่อชุณ (ยิ่งยง ยอดบัวงาม) กำลังตกเป็นเป้าสังหารของผู้ก่อการร้าย แต่เมื่อแผนการไม่สำเร็จ เรื่องราวจึงดำเนินต่อมาให้เราได้ทำความรู้จักกับ คำก้อน (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ยามประจำธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งสนิทสนมกับเปรมราวกับเป็นลูกหลาน
ระหว่างออกกะเพื่อเดินทางกลับบ้านคำก้อน ได้รับโทรศัพท์จากเมียตัวเองให้ซื้อบะหมี่โหน่งเจ้าอร่อยกลับบ้านไปด้วย แต่แล้วระหว่างที่กำลังจะออกจากร้านนั้นเอง เหล่าผู้ก่อการร้ายซึ่งนำทีมโดย เทพ (สุเทพ โพธิ์งาม) ได้ตามมาเจอชุณ เขมพิณ อีกครั้งโดยครั้งนี้คนดูจะได้ทราบแล้วว่า เขาเป็นถึงประธานาธิบดีประเทศเขมราษธาราที่กุมความลับบางอย่างเอาไว้อยู่จนตกเป็นเป้าสังหาร ด้วยความจำใจคำก้อนจึงต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือชุณให้รอดพ้นจากการปองร้ายครั้งนี้ และต้องนำบะหมี่โหน่งกลับบ้านไปให้เมียอีกด้วย
วิธีการดำเนินเรื่องของ “บอดี้การ์ดหน้าหัก” คือการเล่าสถานการณ์ต่างๆไปเรื่อยๆ พร้อมกับการโยนมุกตลกสามช่าเข้ามาแบบไม่สนใจว่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์หรือไม่ (และตัวทีมงานก็ดูไม่แคร์ด้วยซ้ำไป) ซึ่งตลอดทางของหนัง บรรดานักร้องเพลงเพื่อชีวิตไม่ว่าจะแอด คาราบาว หรือ เทียรี่ คาราบาว ลามไปถึง เอกชัย ศรีวิชัย ปรากฏตัวขึ้นมาเพื่อรับบทเป็นตัวเอง และคนดูก็พอเข้าใจได้ว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในลูกน้องของป๋าเทพอะไรประมาณนั้น
แม้จะหาเนื้อหาสาระใดๆไม่ได้ อีกทั้งหนังก็เล่าเรื่องตามแพทเทิร์นหนังมือสังหารแบบไม่มีอะไรพลิกผัน ถ้าหากคนดูเป็นแฟนรายการพวก “หม่ำโชว์” หรือ “ชิงร้อยชิงล้าน” ก็อาจจะบันเทิงไปกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้
อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่ในเรื่อง คือการที่ให้ “เป้าสังหาร” ตกเป็นของประธานาธิบดีประเทศเขมราษธารา ซึ่งชื่อประเทศสมมติมีความใกล้เคียงกับอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเคยมีประเด็นในการอยากจะแยกตัวออกมาเป็นจังหวัดใหม่ภายใต้ชื่อจังหวัดเขมราษฏร์ธานี เมื่อปี 2561 หนังก็เผยให้เราเห็นว่า เหตุการณ์ลอบสังหารนั้นเกิดขึ้น เพราะเรื่องราวของผลประโยชน์ที่ว่าด้วยการเอื้อโอนความสะดวกในการประมูลสัมปทานให้นักธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศ จนคนที่ขัดกับผลประโยชน์นั้นจะต้องถูกกำจัดให้พ้นทาง น่าจะเป็นประเด็นสากลที่สุดในหนังเรื่องนี้
นอกเหนือจากนั้นแล้ว พฤติกรรมเมียติดไพ่นกกระจอก เอาตีนถีบหน้าผัว คำผรุสวาท หยาบโลนเหมือนคำพูดปกติ หรือแม้กระทั่งการด่าพ่อล่อแม่นั้น ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จภาคบังคับในหนังของหม่ำ จ๊กม๊กมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้อำนวยการสร้างแทบทุกเรื่องก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่แค่คนดูบางกลุ่มอาจจะไม่ถูกจริตกับมุกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด