ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค เสียงฮาที่มาพร้อมกับคำถาม

ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค เสียงฮาที่มาพร้อมกับคำถาม

ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค เสียงฮาที่มาพร้อมกับคำถาม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากเฟซบุ๊คแฟนเพจ “บันทึกของตุ๊ด” สู่การดัดแปลงให้กลายเป็นละครทีวีซีรีส์ ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์ (DiaryTootsies) และปัจจุบันยังมีให้ดูย้อนหลังทาง Line TV จำนวนทั้งสิ้นสองซีซั่นด้วยกัน โดยเวอร์ชั่นภาพยนตร์ได้เล่าเรื่องราวต่อมาจากเวอร์ชั่นซีรีส์ (แต่ผู้ชมที่ไม่ได้ดูเวอร์ชั่นซีรีส์มาก่อนก็ยังสามารถทำความเข้าใจกับเรื่องราวได้)

เรื่องราวในตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค ยังโฟกัสอยู่ที่ตัวละครกลุ่มเพื่อนสนิททั้ง กัส (เพชร เผ่าเพชร) คิม (เต๋อ รัฐนันท์) กอล์ฟ (ปิงปอง ธงชัย) และ แน็ตตี้ (พีค ภัทรศยา) ที่แต่ละคนกำลังดวงตกอย่างถึงขีดสุด ไม่ว่าจะเป็นกอล์ฟที่ผู้ชายที่นางแอบชอบหนีไปบวช คิมดันจมูกพังจนซิลิโคนทะลุกลางอากาศ แน็ตตี้ที่แม่ของตัวเองขู่ไม่จะยกมรดกให้ ถ้าหากเธอไม่แต่งงานมีลูก ในขณะที่กัสเองก็ต้องรับมือกับการที่วินพาเด็กหญิงที่พ่อแม่ประสบอุบัติเหตุมาเลี้ยงดูที่บ้านเป็นการชั่วคราว ทั้งที่คนอย่างกัส เกลียดเด็กเข้าไส้!

ความซวยยังไม่ทันจางหาย หายนะก็เข้าแทรกแบบไม่ทันตั้งตัว เมื่อระหว่างออกกองถ่าย กอล์ฟ ที่เคารพบูชาดาราตัวแม่อย่าง เคที่ (ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ตต์) ดันบังเอิญทำให้ดาราสาวเกิดอุบัติเหตุล้มหัวฟาดจนเข้าโรงพยาบาลอาการโคม่า เดือดร้อนผองเพื่อนเทยที่เหลือ เนื่องจากถ้าหากคุณเคที่ไม่สามารถไปถ่ายงานโฆษณาได้ กอลฟ์จะโดนเอเจนซี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

หลังจากที่คิมตัดสินใจไปซ่อมจมูก ที่คลินิกศัลยกรรมแห่งใหม่ คิมและกอล์ฟก็พบว่า คลินิกแห่งนี้เพิ่งจะทำหน้าให้กับผู้ป่วยที่อยากหน้าตาละม้ายคล้ายกับคุณเคที่ไปหมาดๆ ทำให้ทั้งสองเพื่อนตุ้ดเดินทางไปหาเจ๊น้ำ (ชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ตต์) แม่ค้าร้านข้าวริมทางที่มีสโลแกนติดตัวว่า “ยืนหนึ่งเรื่องของกะหรี่” ด้วยท่าทางปากจัดและคาแรกเตอร์มึงมาพาโวย นำไปสู่ภารกิจแปลงโฉมเจ๊น้ำให้กลายเป็นคุณเคที่ เพื่อไปถ่ายโฆษณาได้อย่างราบรื่นเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ถึงแม้พล็อตเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมากมาย เพราะ ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค ถูกออกแบบมาให้เป็นหนังตลกเบาสมองที่มุ่งเน้นจะขายสถานการณ์ชวนหัวไปกับวีรกรรมของเหล่าตัวละครเอกก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนี้ เราถึงกับต้องย้อนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า สิ่งใดบ้างที่น่าตลกขบขันหรือสิ่งใดบ้างคือการรู้สึกตลกโดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่ว่า มันคือการขำในความผิดปกติของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

หนังตลกนั้นถูกจำแนกแยกย่อยออกได้หลากหลายประเภท แต่สำหรับตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค นั้นสมควรถูกจัดวางอยู่ในกลุ่มหนังประเภท “ตลกสังขาร” และ “ตลกสกปรก” เมื่อฉากเปิดเรื่องของหนังวนเวียนอยู่กับเรื่อง “ขี้” และ “หูรูด” ของอีแหนด (แน็ตตี้) ที่เกิดอั้นอุจาระไม่ไหวระหว่างที่เครื่องบินกำลังตกหลุมอากาศ ส่งผลให้เธอพยายามขับถ่ายบนเก้าอี้ผู้โดยสาร ก่อนนำไปสู่ความวินาศสันตะโรในอีกไม่กี่อึดใจที่ผ่านมา

 

 

ไม่นานนัก หนังก็เริ่มเล่นสนุกกับการหยิบเอา “สังขาร” ของตัวละครมาเล่นตลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการที่ กัสเที่ยวด่าจมูกของคิมว่า “ปลอม” จนบางทีตัวกัสเองอาจจะหลงลืมไปเหมือนกันว่า ทั้งหน้าของนางก็ผ่านมีดหมอมาแล้วครั้งไม่ถ้วน สักพักผองเพื่อนเทยก็เริ่มด่ากันเองว่าตัวกอล์ฟนั้นอ้วนเป็นช้างน้ำ เหงื่อเยอะจนตัวลื่น และเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณเคที่ลื่นหัวทิ่มก่อนที่จะไปฟาดกับดั้งซิลิโคนของคิมเป็นรอบที่ 2 (บูลลี่ซ้อนบูลลีอีกหนึ่งทอด)

 

ประเด็นก็คือการเล่นตลกกับเรื่องสังขาร อาจจะเป็นพอพยักหน้าหงึกๆยอมรับได้ ถ้าหากหนังเอ่ยถึงสิ่งเหล่านี้เพียงครั้งเดียว แต่เหมือนกับทีมเขียนบทและผู้กำกับ พยายามขยี้และย้ำคิดย้ำทำจนเอาเรื่อง เหงื่อ หูกาง ฟันเขี้ยว จมูกซิลิโคน ความอ้วน สีผิว (กอล์ฟโดนด่าว่าเหมือนเจนนี่ ปาหนัน!!) การเป็นลูกครึ่งที่สบถคำหยาบยาวเป็นหน้ากระดาษ ความกักขฬะของอาชีพแม่ค้า และอีกหลากหลาย ให้กลายมาเป็นมุกตลกรียูสครั้งแล้ว ครั้งเล่า จนนำไปสู่คำถามว่า เหตุใดกันหนังเรื่องนี้ถึงหมกมุ่นอยู่แต่กับความ “ไม่สมบูรณ์แบบ” ของร่างกายมนุษย์ทุกคน

 

 

เมื่อเราสำรวจประเด็นนี้ต่อ เราก็ค้นพบว่า นอกจาก “น้ำเสียง” และการนำเสนอของตัวหนังแล้ว เราจะพบว่า ชนชั้นกลางค่อนล่าง รวมไปถึงชนชั้นแรงงานในเรื่อง ถูกทำให้เป็นตัวตลกกับความไม่สมบูรณ์แบบทางด้านร่างกายของพวกเขา โดยเฉพาะฉากที่สองเพื่อนคิมและกอล์ฟออกตามหา คนไข้ที่เพิ่งศัลยกรรมทำหน้าเหมือนกับคุณเคที่ไปเมื่อไม่นานนี้ รายแรกเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการเลื่อนล้อต่อภาษี ที่ถึงแม้ว่าใบหน้าของเธอจะละม้ายคล้ายซุปตาร์แต่ฟันของเธอกลับเหยินและไม่ขาวสวยแบบเจ้าของร่างที่แท้จริง ในรายที่สองเป็นสาวอาบอบนวด ที่ทรวดทรงจะเซี้ยะ (และแน่นอนว่าหน้าเหมือนกับคุณเคที่) แต่คิ้วปลิงและตาเหล่ ทำให้เป้าหมายรายนี้ตกไป หวยเลยไปออกที่เจ๊น้ำในการมาเป็น “ตัวตายตัวแทน” ของซุปตาร์เพื่อถ่ายโฆษณา

 

ฉากเหล่านี้พอบอกอะไรกับผู้ชมได้ มันบอกกับเราได้ว่า ในโลกปัจจุบันนั้น คนทุกคน (ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน) ทุกอยากมีใบหน้าที่สะอาดตา น่ามอง อยากเป็นที่รักด้วยกันทั้งนั้น (สิ่งใดปรับแต่งและแก้ได้ก็แก้ก่อน มีเงินแล้วค่อยเปลี่ยนจุดด้อยอันอื่นตามมา) การที่คนอยากจะมีใบหน้าเหมือนซุปตาร์นั้น ก็เพียงเพราะพวกเขาอยากจะได้รับความรักจากสังคมไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เราต้องไม่ลืมไปสิว่า ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และมนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่มีข้อบกพร่องทางร่างกายด้วยกันทั้งสิ้น

 

 

การนำความพิกลพิการ หรือความไม่สมบูรณ์แบบของร่างกายมนุษย์มาขยี้และขับเน้นความอัปลักษณ์ให้กลายเป็นเรื่องตลกโปกฮานั้น จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า เรากำลังตลกกับเพื่อนมนุษย์ที่มีโอกาสทางสังคมและคุณภาพชีวิตน้อยกว่าตัวเราเองหรือเปล่า และนี่ยังไม่รวมไปถึงฉากคำสั่งสอนจากตัวละครหนึ่งในเรื่องที่พยายามจะบอกชนชั้นที่ด้อยกว่าว่า “ถ้าเธออยากเป็นเหมือนฉัน เธอต้องเริ่มจากการที่……” เสียก่อน ทั้งที่ตัวละครที่พูดประโยคนี้ ก็ไม่เคยเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของคู่สนทนามาก่อนเลยแม้แต่น้อย

 

สารที่อยู่ในรายทางของหนังเรื่อง ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค อาจจะเป็นความ “ไม่รู้ตัว” ของคนสร้างที่แสดงออกมาให้คนดู (อย่างผม ซึ่งไม่ตลกกับหนังเลย) ได้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วความอัปลักษณ์นั้น ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นหน้าตาที่ไม่น่ามอง แต่คือทัศนคติที่เขามองคนอื่นๆในสังคมมากกว่า

 

สิ่งเหล่านี้น่าคิดนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook