2019 ละครเมียยุคใหม่ สู่นางซื้อผู้ชายขายตัว
ใกล้จะหมดปี 2019 แล้ว เทยก็มานั่งคิดๆ ดูเหมือนกันนะคะ ว่าตลอดปีที่ผ่านมา เนื้อหาของวงการละครไทย มันมีอะไรแปลกใหม่ พาเราไปอู้วอ้า บันเทิงเริงใจ กับการดูผ่านจอ หรือดูออนไลน์กันบ้าง พอนั่งนึกดีดีแล้ว ไอ้ชื่อปี 2019 นี่ก็มีการเอามาต่อท้ายละครอยู่มากมาย เพื่อยืนยันความทันสมัย เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ยุคมิลเลเนียม ตั่งต่าง ซึ่งมันรวมไปถึงการเอาความ “เมีย” มาเติมเลขปีเข้าไป ให้มันเอร็ดอร่อย ทันสมัย
งั้นมาค่ะคุณกิตติคะ เรามาดูความ “เมีย” ในละครไทย 2019 กันดีกว่า
ละครไทยตั้งแต่ช้านานจะนมยานกันไปข้างนึง สิ่งที่ยืนหยัด เล่าแล้วเล่าอีก เล่ากันจนเปื่อย ก็คือเรื่องราวของ เมียหลวง-เมียน้อย การพยายามนั่งหาคุณค่าอันแท้จริงของหญิงไทย ว่าระดับ “อันดีงาม” มันควรอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่ ก็มักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวชนชั้นกลางไปบน เกี่ยวกับสามีนักธุรกิจ หรือพนักงานออฟฟิศ ผู้ที่แต่งงานกับภรรยาที่เพรียบพร้อม แต่ดูเหมือนว่า “ความมักมาก” ของบุรุษเพศ ก็จะมีการย่องแอบไปเล็กมีน้อย แล้วก็มานั่งวัดใจภรรยากันว่า เธอจะทนรับสามีคนนี้ได้หรือไม่
ละครที่เดินเรื่องตามนี้นะคะคุณกิตติขา ก็ไล่มาตั้งแต่ “เมียหลวง” ที่ทำเป็นละครมาแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง ซึ่งเหมือนเป็นไบเบิ้ลสำคัญของการวางตัว “เมีย” ในอุดมคติ และจุดจบแบบอุดมคติมากๆสำหรับละครไทย ซึ่งทั้งสองเวอร์ชั่น ดอกเตอร์วิกานดา ก็ได้วางตัวเป็นคนดี มีการศึกษา ไม่พูดจาพาโล ด่ากราด แต่ใช้คำพูดแบบมีคลาส เชือดเฉือนนัง อรอินทร์ ให้แดดิ้นตายไป การวางตัวอันสูงส่งแบบนี้แล้วไซร้ ดอกเตอร์อนิรุท ยังไงก็กลับมาตายรังเดิมอยู่วันยังค่ำนั่นเอง
แต่ใช่ค่ะ 2019 แล้ว มันจะเป็นอย่างนั้นอยู่หรือไม่เล่า
ในเมื่อทุกคนมีอำนาจในมือ ทุกคนมีทางเลือกมากขึ้น ตามการเติบโตของสังคมและเทคโนโลยี จะให้เมีย มานั่งเป็นหัวหลักหัวตออยู่บนหิ้ง ให้อีนังเมียน้อยมันตามมาด่าอยู่ปาวๆ เห็นทีมันก็ไม่ใช่ป่ะแก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น New Waves ก้อนใหม่ ก็คือผู้ใหญ่ไทยยุคใหม่ หากผัวทำตัวไปมีเมียน้อยได้แล้วไซร้ แล้วทำไมฉันจะต้องเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ฉันก็เลือกได้เหมือนกัน
“เมีย 2018-2019” ที่นำแสดงโดย น้ำทิพย์ จงรัชตวิบูลย์ ในบท อรุณา นี่ก็เป็นตัวอย่าง มันคือการเอาคาแรกเตอร์ของดอกเตอร์วิกานดา จากเรื่องเมียหลวง มาปรับให้เข้ายุคสมัยมากขึ้น ก็ในเมื่อผัวมันเฮงซวย เรื่องอะไรฉันต้องกอดเข่านองน้ำตา ฉันยินดีที่จะหย่า และออกไปหาความรักครั้งใหม่ และคนที่ดีอย่างฉัน ก็เจอเสียด้วย วศิน หนุ่มหล่อไฟแรง ผู้ยินดีมอบความรักอันจริงใจ ให้กับผู้หญิงที่แก่กว่า
แม๊…. มันถูกใจเทยเสียนี่กะไร โดยเฉพาะความหล่อใสของ ธนภัทร กาวิละ เข้าไปแล้วก็หายใจไม่ทั่วท้องเลยแม่
ละครเรื่อง เมีย 2018 โด่งดังถึงขั้นได้เคาะ อรุณา 2019 ภาคต่อที่ยิ่งเข้มข้น และพาตัวละครไปเจอบทสรุปที่ต่างไปจากขนบเมียตามเดิม เมีย ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานะที่ยอมจำนนและมีทางเลือกมากขึ้น และดูเหมือนตัวละคร วสิน ก็กลายเป็นใบเบิกทางให้กับผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งเมีย ให้กับละครและซีรีส์ในอีกหลายเรื่องต่อมา
ทางเลือกของผู้หญิง มีอะไรได้บ้างในละครไทย จุดนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจ และดูจะเป็นปลายเปิดที่น่าค้นหา จนกลายเป็นว่า ทางเลือกอันแซ่บ และติดตายิ่งไปกว่า “วศิน” นั้น ดันกลายเป็น ตัวละครที่มาในคราบ “เด็กโฮสต์” ซึ่งในช่วงปีนี้ เทยพบตัวละครที่เป็นโฮสต์เยอะอย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ
ไล่มาตั้งแต่ คลับฟรายเดย์ เดอะซีรีส์ ตอน รักกับเงิน / 3 Will Be Free / พ่อปลาไหล / รองเท้านารี จนมาเรื่องล่าสุด เกมรักเอาคืน ก็จะต้องมีตัวละครเป็นหนุ่มบาร์โฮสต์ เอาผู้ชายมาถอดเสื้อ เปลื้องผ้าแลกเงินกันเกลื่อนกลาด และดูเหมือนกับว่า ท่ามกลางหนุ่มเบอร์ตองบนเวทีที่มีเป็นสิบ จะต้องมีหนึ่งคนเสมอ ที่เหมือนเป็นเพชรในตม นางเอก หรือตำแหน่งเมีย ของเราจะได้เห็นคุณค่า และเลือกมาสานความสัมพันธ์ที่มากกว่าเรื่องข้ามคืน จนลามปามไปวัดใจกับ “ผัวเก่า” ที่นอกใจเมียไป แล้วก็เพิ่งจะมาเห็นคุณค่าว่าแบบ
ให้ตายเหอะ เผลอแว้บเดียว เมียรัก ไปมีไอ้แมงดามาเกาะเสียแล้ว -- ประโยคคลาสสิค 2019 ค่ะแม่
ความน่าสนใจในประเด็นนี้ หากจะมองเป็นการเอาคืนในโครงสร้างเรื่อง ที่พยายามจะฉีกขนบละครแนวผัวเมีย ก็นับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ธุรกิจบาร์โฮสต์ในไทย (ที่อาจจะเลยเถิดไปไกลกว่านั้น) ก็ซ่อนตัวอยู่ในหลืบในมุมมากมายพอพอกับ “อ่าง” ของฝั่งผู้ชาย ฉะนั้นในเมื่อนี่มันยุค 2019 แล้ว ผู้หญิงไม่ใช่แม่บ้านปัดกวาดเช็ดถู ไฉนเลยถึงจะเอาเงินที่หามา ไปหาซื้อความสุขเข้าตัวเองได้บ้าง ทีฝั่งผู้ชายยังทำได้เลอ ผู้หญิงอย่างเราๆ ก็ต้องทำได้เหมือนกันใช่ไหมแม่
และเอาให้ตายเถอะ ลองได้น้อง จอส-เวอาห์ แสงเงิน ที่ขึ้นแท่นนักแสดงแห่งบทบาร์โฮสต์แล้วล่ะก็ เท่าไหร่ก็เท่ากันแหละเนอะ
แน่นอนค่ะคุณกิตติคะ แทบทุกเรื่อง ก็เริ่มที่ฉีกกรอบไปเรื่อยๆ หลายๆ เรื่องไม่ได้จบลงที่เมียและผัวกลับมาครองรักกัน หลายเรื่องก็ต่างคนต่างไป ในเมื่อเธอเห็นคนอื่นดีกว่าไปแล้ว ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะมาถอยหลังกลับน้ำพริกถ้วยเก่า เธอไปเจอนังนั่นที่ดีกว่า ฉันก็เจอผู้ชายที่ดีกว่า เราสองคนต่างคนต่างไป นับจากวันนี้เราเป็นแค่เส้นขนาน ที่คงไม่มีวันกลับมาเจอออออ
ซึ่งในจุดนี้ก็ต้องนับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจอยู่ไม่เบาเลยค่ะ เปิดกรอบที่ว่าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ ก็ยังมีตัวเลือก “หย่า” อยู่ และสำนวนที่ว่า “มีผัวผิดคิดจนตัวตาย” ก็คงจะใช้ไม่ได้ในปี 2019 แล้ว เพราะเงินในมือและโอกาสที่จะได้ออกจากโลกแคบๆ กับผัวเฮงซวย ออกไปเจอผู้ชายงานแซ่บที่ซื้อได้ด้วยเงิน มันก็เป็นสิทธิที่ผู้หญิงพึงมี
ในหลายๆ เรื่อง ก็นำเสนอฉากเลิฟซีนกับผู้ชายขายตัวอย่างถึงพริกถึงขิง ไม่มีภาพลักษณ์ผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัวอีกต่อไปแล้ว ท้าทายทั้งนักแสดง และค่านิยมเก่าๆ ไปด้วยเลยในครั้งเดียว
แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่เหมือนจะก้าวไปได้ไม่ไกลนัก แม้ว่าจะสามารถพา “หญิงไทย” ไปแตะการซื้อขายบริการได้แล้วก็ตาม มันคือการที่สุดท้าย ตัวละครผู้หญิง ก็ยังตกตุ๊บลงที่บทบาทเมียอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเมียของผัวเก่าผู้มักมาก หรือหนุ่มน้อยคนใหม่สุดแซ่บก็เหอะ เหมือนกับว่าหญิงไทยนั้น หลักไมล์ยังไงก็ไม่พ้นเรื่องการมีสามี หรือคู่ครอง จะให้เบนไปเป็นเรื่องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน กลายเป็นเศรษฐีนีร้อยล้าน โดยมีแค่ความรักเป็นส่วนประกอบพอเป็นน้ำจิ้มนั้นเห็นจะไม่ได้ จะมีอิสระ และทางเลือกแค่ไหน ยังไงเธอก็ต้องกลับสู่ความเป็นเมียใครซักคน
ซึ่งในกระแสเฟมินิสต์ ที่กำลังเป็นแรงกระเพื่อมอยู่ทั่วโลกขณะนี้ มันก็แตกต่างไปจากสิ่งที่ละครไทยพยายามนำเสนออยู่มากนะคะคุณกิตติ เพราะการเชื่อในหลักสตรินิยม คือการเห็นคุณค่าของผู้หญิง ว่าสามารถเป็นอะไรได้มากกว่าการเป็นเมีย หรือต้องอยู่ใต้กำกับของผู้ชาย
น่าเศร้าที่ละครไทย ก็ยังไปไม่ถึงตรงนั้น โดยเฉพาะถ้าเป็นเนื้อเรื่องของตัวละครวัยทำงานหรือผู้ใหญ่แล้ว
ก็อาจจะเพราะค่านิยม หรือคุณค่าที่สังคมไทยยึดถือคือครอบครัวละมังคะ ที่เชื่อว่ายังไงปลายทางของชายหญิง ก็ต้องจบลงที่การศร้างครอบครัว และนึกถึงลูก เพราะผู้หญิง ก็ต้องมีลูกให้ผู้ชายเท่านั้น
ก็เนี่ยอ่ะน๊าาา มันก็เป็นซะอย่างเนี้ย
ก็หวังว่าวันนึง ละครไทย จะก้าวพ้นกรอบของคำว่า “เมีย” ได้ซักวันนึงนะคะ
เหยี่ยวเทย รายงาน