10 หนัง "อิหยังวะ" ยอดแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี
กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุค 2010s เข้าสู่ทศวรรษใหม่ วันนี้ทางเราก็ขอรวบรวมหนังตัวแทนของรอบ 10 ปี ในอีกด้านหนึ่ง แน่นอนว่ามีดีที่สุด…ก็ต้องมีแย่ที่สุด เพราะการดูหนังบางทีก็เหมือนเสี่ยงโชค แม้จะมีดาราใหญ่หรือผู้กำกับระดับเทพมากำกับก็ไม่เสมอไปว่าหนังจะสนุก และนี่คือ 10 อันดับหนัง “อิหยังวะ” ในรอบทศวรรษที่คัดมาแล้วว่า ถ้าใครเคยต้องเสียเงินเข้าไปดูในโรงคงอยากจะขอเงินคืน หรือเดินออกตั้งแต่หนังยังไม่จบเรื่องกันเลยทีเดียว
Abraham Lincoln: Vampire Hunter (2012)
ก็คงไม่มีใครเตือนทีมงานระดับผู้อำนวยการสร้างอย่าง Tim Burton (Alice in the Wonderland) และผู้กำกับรัสเซียที่เป็นดาวรุ่งในตอนนั้นจนกลายเป็นดาวร่วงในตอนนี้ (หลังจากทำหนังแป้กมากขึ้นทุกที) อย่าง Timur Bekmambetov (Wanted) ว่า อย่าเอาประธานาธิบดีผู้เป็นที่เคารพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ มาต่อสู้กับ…แวมไพร์ (อิหยังวะ!) แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีหนังแวมไพร์ฮิต ๆ อย่าง The Twilight หรือนิยายดัดแปลงจากเรื่องราวที่คนคุ้นเคยอยู่แล้ว เอาไปสู้กับซอมบี้อย่าง Pride and the Prejudice and Zombies ก็ตาม แม้ว่าดูรวม ๆ แล้วหนัง Abraham Lincoln จะไม่ได้เลวร้ายขนาดดูไม่ได้หรือต้องเดินออก แต่เค้าลางของการจะกลายเป็นหนังล้มเหลว เริ่มตั้งแต่การเลือกนักแสดงโนเนมอย่าง Benjamin Walker ที่ทุกวันนี้หายไปแล้วจากวงการมาเป็นชื่อเปิดหนัง รวมไปถึงการเข้าฉายในปีเดียวกันกับ Lincoln หนังชีวประวัติสุดเข้มข้นของประธานาธิบดีคนเดียวกัน ซึ่งได้รับเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญ นักแสดงนำอย่าง Daniel Day-Lewis ก็คว้ารางวัลนำชายบนเวทีออสการ์จากบทนี้ด้วย
หนังตลกเกือบทุกเรื่องของ Adam Sandler
แม้ว่า Adam Sandler จะมียุค 90s เลื้อยยาวมาถึงช่วงต้นสหัสวรรษใหม่เป็นช่วงเวลาทองของตัวเองที่เล่นหนังตลกเรื่องไหนก็ฮิตหมด แต่พอเข้าช่วง 10 ปีมานี้ มนต์ขลังของเขาก็เหมือนจะเสื่อมลงทุกที ๆ หนังที่เขาเล่นอย่าง Just Go with It (2011), Jack and Jill (2011), That’s My Boy (2012), The Cobbler (2014) แทบจะไม่มีใครรู้จัก หรือหนังมีฟอร์มหน่อยอย่าง Pixels (2015) ที่สร้างจากคาแรกเตอร์เกมฮิตหลายตัวมารวมกัน ซึ่งค่ายหนังหมายมั่นจะให้กลายเป็นหนังภาคต่อก็กลายเป็นความล้มเหลวบนตารางหนังทำเงิน ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไป 78 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 88 ล้านเหรียญฯ และหากเหลียวไปมองที่รางวัลราซเบอร์รี่เน่าที่แจกให้กับนักแสดงนำชายยอดแย่แห่งปี Sandler ก็กวาดมาไม่ใช่น้อย โดยชนะจาก Just Go with It และ Jack and Jill ควบ 2 เรื่องไปเลยในปีเดียวกัน ปีถัดมาก็ได้ไปอีกจาก That’s My Boy และได้เข้าชิง 3 ปีซ้อนในปี 2013-2015 จาก Glow ups 2, Blended และ The Cobbler และ Pixels ตามลำดับ (เลือกเล่นหนังได้แบบอิหยังวะจริง ๆ นะพ่อคุณ)
Cowboys and Aliens (2011)
รอยด่างพร้อยในประวัติการทำงานของทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่ที่แรงหน่อยคงตกเป็นของผู้กำกับ Jon Favreau หรือ Happy คนขับรถตุ้ยนุ้ยของ Iron Man ที่แม้จะทำหนังฮิต ๆ มาตลอด ไม่ว่าจำเป็น Iron Man 1-2 มาจนปลายทศวรรษก็มีหนังฮิตระเบิดอย่าง The Jungle Book (2016) และ The Lion King (2019) แต่ในปี 2011 นั้นเขาได้กำกับหนังคาวบอยไซไฟของนักแสดงระดับเทพถึงสองคนคือ Harrison Ford (Indiana Jones) และ Daniel Craig (James Bond) ฟังเผิน ๆ เหมือนจะเป็นไอเดียที่สดและแปลกใหม่ในการเอาเอเลี่ยนไปสู้กับมนุษย์ในยุคคาวบอย แต่ความอีรุงตุงนังของเนื้อเรื่องชวนมั่วชนิดที่ต้องอุทานว่าอิหยังวะก็ทำให้หนังตกม้าตาย หนังทำรายรับรวมในสหรัฐฯ ไปแค่ 100 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างสูงถึง 175 ล้านเหรียญฯ ครองแชมป์หนังไซไฟดัดแปลงที่ล้มเหลวสุดตลอดกาลแซงหน้า Wild Wild West (1999) และ Jonah Hex (2010) ไปแบบขาดลอย
The Emoji Movie (2017)
หนังแอนิเมชันที่อยากจะถามทีมผู้สร้างว่า อะไรดลใจให้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมา? โดยเฉพาะกับการตั้งข้อสงสัยว่า นี่แทบจะเป็นการลอกหนัง Pixars เรื่องเยี่ยมอย่าง Inside Out (2015) ที่ออกฉายก่อนไปแล้วถึง 2 ปีกันแบบอิหยังวะ แบบนี้ก็ได้เหรอ? หนังเรื่องนีเดินเรื่องแบบหนังเด็กและไม่มีชั้นเชิงอย่างที่หนังแอนิเมชันดี ๆ เรื่องอื่นได้ถูกพัฒนามาไกลแล้วตลอด 20 ปีที่ผ่านมา หนังกวาดรางวัลราซเบอร์รี่เน่าของปี 2017 ไปแทบจะทุกสาขารางวัลใหญ่ ตั้งแต่ภาพยนตร์ยอดแย่ ผู้กำกับยอดแย่ (Tony Leondis ที่ไม่เคยกำกับหนังเรื่องไหนมาก่อน และหลังจากเรื่องนี้ ก็ไม่ได้กำกับหนังเรื่องไหนอีกเลย…จึงอาจจะเป็นรางวัลเดียวที่เขาได้ในการทำอาชีพผู้กำกับ!) ฉากการเข้าคู่กันของนักแสดงยอดแย่ และบทภาพยนต์ยอดแย่ แต่จะว่าหนังล้มเหลวก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะจากทุนสร้าง 50 ล้านเหรียญฯ หนังก็ทำรายได้ทั่วโลกไป 217 ล้านเหรียญฯ อยู่เหมือนกัน อ่านรีวีวฉบับเต็มเรื่องนี้ของ WTF ได้ที่นี่
ไตรภาค The Fifty Shades (2015-2018)
หากจะวัดความสำเร็จกันที่กำไรที่หนังได้ หนังไตรภาคทุนสร้างไม่เยอะที่สร้างจากหนังสือขายดีระดับโลกเรื่องนี้ ก็ถือว่าทำสำเร็จกับรายรับรวมทั่วโลกจากทั้ง 3 ภาครวมกันที่ 1,321 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้างแค่ 150 ล้านเหรียญฯ เท่านั้น แต่ถ้าว่าการที่เนื้อเรื่องแล้วหนังอีโรติกเซ็กซาดิสม์ที่เล่าเรื่องอย่างภายเรือวนในอ่าง (เอะอะก็ Featuring กันอย่างอิหยังวะ) ไม่มีอะไรต่างกันทั้ง 3 ภาคอย่างที่แทบจะกลายเป็นหนัง AV มีฟอร์มจากนักแสดงที่ดังหน่อย หรือการถ่ายทำที่ปราณีตก็อาจทำให้คนดูทั่วไปถึงกับปิดจอตอนเอามาฉายทางบิ๊กซีนีม่าโปรแกรมเพชรหนังพันล้าน หนังนำแสดงโดย Jamie Dornan และ Dakota Johnson ที่ก็มีโอกาสไปเล่นหนังใหญ่ ๆ มากขึ้นแต่ยังไม่มีหนังฮิตอีกอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ส่วนรางวัลราซเบอร์รี่เน่าหนังยอดแย่นั้น ภาคแรก Grey ปี 2015 คว้ารางวัลนี้ไปได้ (ครองรางวัลรวมกันเอ่อ…Fantastic Four รีบูต) ส่วนภาค 2 Darker นั้นเพียงแค่เข้าชิง ส่วนภาค 3 Freed ไม่ได้เข้าชิง ถือว่ารอดปากเหยี่ยวปากกาไปได้หวุดหวิด อ่านรีวิวทั้ง 3 เรื่องนี้ของ WTF ได้ที่นี่ (Grey) (Darker) (Freed)
ไตรภาค The Human Centipede (2010-2015)
หนังสยองขวัญและชวนแวะ เรื่องราวเกี่ยวกับศัลยแพทย์หนุ่มที่มีปัญหาทางจิตและมีความคิดเพ้อฝันอันน่าสะพรึงกลัวที่ต้องการสร้างตะขาบมนุษย์ขึ้นมา ด้วยการเย็บมนุษย์หลาย ๆ คน ให้ติดกันเหมือนกับตะขาบ โดยให้ระบบย่อยอาหารของทุกคนถูกเชื่อมต่อกันจากปากสู่ทวารหนักโดยตรง (อิหยังวะ…จนต้องอี๋) และหนังก็สร้างความน่าขนลุกต่อไปอีกด้วยการให้แผลที่เย็บรอยต่อนั้นเกิดติดเชื้อขึ้นมา (ว่าไปนั่น) อย่างภาค 2 ที่สร้างเป็นหนังขาวดำเพื่อลดทอนความรุนแรงลง ออกฉายในปี 2011 แต่เมื่อมาลงสตรีมมิ่งใน Netflix แล้วก็ยังถูกจัดเป็น 1 ใน 10 หนังที่คนเปิดดูไม่จบ ตามสถิติที่ Netflix ปี 2018 ที่ไปเก็บมาว่าคนดูถึงแค่ 70% ของหนังแล้วชิงปิดหนีไปก่อน ส่วนภาค 3 นั้นหนังก็ไปให้สุดด้วยการสร้างเรื่องว่า พัศดีประจำคุกเกิดอาการเอือมระอาเหล่านักโทษ จนต้องหาวิธีคิดที่จะทำให้คุกเงียบสงบลงด้วยการหยิบยืมไอเดียมาจากดีวีดีหนัง Human Centipede ทั้งสองภาคแรก ทำให้นักโทษทุกคนเข้าสู่กระบวนการจับคนมาทำเป็นตะขาบ ซึ่งคราวนี้ตะขาบไม่ได้ยาวแค่ 3 หรือ 10 เท่านั้น แต่ยาวถึง 500 คน กันเลยทีเดียว (จะเป็นลม!) หนังไม่ได้เข้าฉายในไทย คอหนังที่อยากดูคงต้องใช้วิทยายุทธกันเล็กน้อย
The Last Airbender (2010)
หนึ่งในความล้มเหลวของช่วงการค้นหาตัวตนของผู้กำกับ M.Night Shyamalan หลังใช้ 10 ปีแรกไปกับหนังสยองขวัญในช่วงสหัสวรรษใหม่ ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าการคิดจะพลิกแนวมากำกับหนังแฟนตาซีผจญภัยกับการ์ตูนฮิตเรื่องนี้…ถือว่าผิดอย่างแรง เดิมทีเรื่องราวการต่อสู้ของชนเผ่าสายเวทย์ดินน้ำลมไฟ ใช้ชื่อตอนเป็นฉบับการ์ตูนว่า Avatar แต่เนื่องจากมีหนังชนเผ่านาวีของ James Cameron ที่ชิงใช้ชื่อนี้ออกฉายไปก่อน จึงเปลี่ยนมาเป็นชื่ออย่างที่เห็น หนังใช้นักแสดงใหม่ทั้งหมด (ดังสุดแค่ Dev Patel) ซึ่งก็ไม่แจ้งเกิด (แจ้งดับ) กันทุกรายไป หนังที่มีทุนสร้างถึง 150 ล้านเหรียญฯ ทำรายได้ไปแค่ 130 ล้านเหรียญฯ ค้วารางวัลราซเบอร์รี่เน่าภาพยนตร์ยอดแย่ปี 2010 ซึ่งจะโทษใครได้นอกจากผู้กำกับและผู้เขียนบท ที่เล่าเรื่องอย่างเฉย ๆ ไม่มีอะไรชวนลุ้น โดยเฉพาะกับตอนจบที่จบกันดื้อ ๆ อย่างอิหยังวะ ประมาณว่ามั่นใจจะได้กลับมาทำภาคต่อแน่ (ซึ่งไม่มีโอกาสเกิดขึ้น) The Last Airbender จะถูกปัดฝุ่นกลับมาทำใหม่ในรูปแบบของซีรีส์ทาง Netflix ขณะนี้ซีรีส์ได้เริ่มถ่ายทำไปแล้ว
Movie 43 (2013)
มากไปใช่ว่าจะดี ในกรณีนี้มากไปคือพากันไปลงเหวอย่าง “อิหยังวะ” กับหนังสั้น 14 เรื่องโดย 11 ผู้กำกับที่มารวมอยู่ในหนังเรื่องเดียว (หนึ่งในนั้นได้แก่ James Gunn) ใช้เวลาถ่ายทำถึง 4 ปี เพราะต้องรอคิวว่างจากดาราดังแต่ละคนเพื่อมาแสดงในหนังรวมหนังตลกสั้นๆ 25 เรื่อง (ก็แล้วทำไมไม่ตั้งชื่อหนังว่า Movie 25!?) มีตั้งแต่เรื่องในครอบครัว ตลกล้อเสียดสี ตลกเจ็บตัว ตลกคำหยาบ ตลกลามก ขอให้ดูรายชื่อนักแสดงระดับไม่เคยชนะก็เข้าชิงออสการ์กันมาแล้วที่มาร่วมแสดงดังต่อไปนี้เสียก่อน Halle Berry, Gerard Butler, Richard Gere, Hugh Jackman, Emma Stone, Kate Winslet และ Seth MacFarlane กับคำถามที่ว่า ทีมสร้างและเหล่าผู้กำกับใช้วาจาพระร่วงใดถึงได้ชวนนักแสดงมือดีมาเล่นหนังห่วยแตกเรื่องนี้ได้อย่างพร้อมหน้า คำตอบอาจจะอยู่ที่การอยากลองออกมาเล่นอะไรแผลง ๆ สนุกๆ ของดาราที่เล่นแต่หนังเครียด ๆ กันมาตลอดก็ได้ ท้ายสุดหนังกวาดรางวัลราซเบอร์รี่เน่าแห่งปี 2013 ไปทุกสาขารางวัลใหญ่ ทั้งภาพยนต์ยอดแย่ (ทีม) ผู้กำกับยอดแย่ และบทภาพยนตร์ยอดแย่…ได้เล่นแผลง ๆ สมใจล่ะ
This Means War (2012)
ก่อนจะแยกย้ายไปเล่นหนังใหญ่และโด่งดังกันอย่างทุกวันนี้ สองนักแสดงอย่าง Chris Pine (Star Trek, Wonder Woman) และ Tom Hardy (Venom, The Revenant) เคยโคจรมาพบกันในหนังแอ็กชันสายลับเบาสมอง ร่วมกับนางเอกรางวัลออสการ์อย่าง Reese Witherspoon ทางเราอิหยังวะตรงที่ยังจะกล้าเล่นเนื้อเรื่องสุดเชยของการให้สายลับ 2 คน มาแข่งกันทุกวิถีทาง (แน่นอนว่าบู๊อย่างอึกทึกครึกโครมกันแบบสายลับ) เพื่อจีบนางเอก ซึ่งมันก็เป็นพล็อตเชย ๆ ของหนังยุค 90s หายนะข้อต่อมาคือ การได้ผู้กำกับหนังอย่าง McG ที่ทำหนังเรื่องไหนเป็นต้องเจ๊ง ทั้ง Charlie’s Angel 2 ภาค หรือ Terminator: Salvation (2009) ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่รอดจากอาถรรพ์ของพี่แกไปได้ ทำรายได้ในสหรัฐฯ ไป 55 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 65 ล้านเหรียญฯ
ไตรภาค หนังรักในวันเทศกาลของ Gary Marshall (2010-2016)
แม้ว่าเป็นแฟรนไชส์หนังที่ไม่ได้เลวร้ายหรือขี้ริ้วขี้เหร่ขนาดทนดูไม่ได้ แต่ก็อิหยังวะกับฝีมือของเจ้าพ่อผู้กำกับหนังรักโรแมนติกแห่งยุค 90s ผู้ล่วงลับอย่าง Gary Marshall ที่อยู่เบื้องหลังผลงานหนังฮิตระเบิดอย่าง Pretty Woman (1990) Runaway Bride (1999) และ The Princess Diaries ทั้ง 2 ภาค (2001-2004) กลับทำหนังโรแมนติกคอเมดี้อย่างไม่ค่อยถึงคุณภาพ เน้นรวมทีมนักแสดงมาให้เยอะ ๆ อย่างขาดเสน่ห์และเรื่องราวไม่เชื่อมต่อกันเป็นเนื้อเดียว ในแฟรนไชส์หนังรักช่วงเทศกาล เริ่มจาก Valentine’ Day (2010) ที่ได้นักแสดงแถวหน้าอย่าง Bradley Cooper, Jessica Biel, Kathy Bates, Jessica Alba, Jamie Foxx, Patrick Dempsey, Jennifer Garner มารับบท ภาคนี้ดูจะเป็นภาคที่ดูดีที่สุด หนังทำรายได้รวมทั่วโลกไป 216 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 52 ล้านเหรียญฯ เรื่องต่อมา New Year’s Eve (2011) นำแสดงโดย Robert De Niro, Michelle Pfeiffer. Sarah Jessica Parker, Jon Bon Jovi, Ashton Kutcher, Halle Berry, Zac Efron ทำรายได้รวมทั่วโลกไป 142 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 56 ล้านเหรียญฯ ก่อนจะถึงภาคสุดท้ายที่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิตของ Marshall ด้วยนั้นคือ Mother’s Day (2016) นำแสดงโดยนักแสดงคู่บุญ Julia Roberts, Jenifer Aniston, Kate Hudson หนังเงียบมาก ทำรายได้รวมทั่วโลกแค่ 45 ล้านเหรียญ แต่จากทุนสร้าง 8 ล้านเหรียญฯ ก็ยังถือว่ากำไร