[รีวิว] 6 Underground โทนี่ สตาร์ก ที่ฮาแบบเดดพูล แต่บู๊แบบไมเคิล เบย์

[รีวิว] 6 Underground โทนี่ สตาร์ก ที่ฮาแบบเดดพูล แต่บู๊แบบไมเคิล เบย์

[รีวิว] 6 Underground โทนี่ สตาร์ก ที่ฮาแบบเดดพูล แต่บู๊แบบไมเคิล เบย์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องย่อ พวกเขาคือกลุ่มคนที่ทนความอยุติธรรมบนโลกนี้ไม่ได้ เมื่อกฎหมายลงโทษคนชั่วที่แท้จริงไม่ไหว เศรษฐีหนุ่มจึงแกล้งสร้างสถานการณ์ให้ตนเองตาย และรวมสมัครพรรคพวกอีก 5 คนซึ่งต่างความสามารถต่างที่มาแต่อุดมการณ์เดียวกัน มาร่วมตายจากโลกใบนี้และเกิดใหม่ในฐานะฮีโรใต้ดินที่แทนชื่อตัวด้วยหมายเลข เพื่อออกขจัดความชั่วร้ายในโลกนี้

 

หนังเน็ตฟลิกซ์เรื่องนี้เป็นที่จับตามองตั้งแต่ชื่อทีมสร้างถูกประกาศ โดยไม่ต้องสนใจพลอตมากมายนัก ไล่ไปตั้งแต่นักแสดงนำใหญ่หนึ่งเดียวของหนังอย่าง มิสเตอร์เดดพูล ไรอัน เรย์โนลด์ ที่มาร่วมงานกับผู้กำกับมากผลงานอลังการผลาญทรัพยากรบู๊อย่าง ไมเคิล เบย์ ในโพรเจกต์ที่เน็ตฟลิกซ์ควักกระเป๋าให้ทุนสูงถึง 150 ล้านเหรียญ เพื่อเนรมิตหนังบล็อกบัสเตอร์แบบที่การันตีอันดับต้น ๆ ในตารางบ็อกซ์ออฟฟิศได้สบาย (ถ้าฉายโรง) แล้วเอามาให้ลงบริการสตรีมมิ่ง เพื่อแสดงศักยภาพว่าเน็ตฟลิกซ์เป็นมากกว่าบริการดูหนังออนไลน์ แต่มันคือค่ายหนังใหญ่ที่มีพลังพอ ๆ กับค่ายหนังโรงยักษ์ใหญ่ทั้งหลายด้วย

สิ่งที่น่าหวั่น คือใครจะคุมความกาวของไมเคิล เบย์ ได้

จริง ๆ ก็เป็นคำถามตั้งแต่แรก ๆ ล่ะ ไมเคิล เบย์ อาจเป็นผู้กำกับที่ฉกาจในการตีหนังเป็นภาพมีสไตล์ รังสรรค์ฉากบู๊ที่สวยติดตา และสดใหม่จนติดใจคอบู๊มานักต่อนัก แต่จุดพร่องของเขาก็คือการวางเนื้อเรื่องหลวมโพรก บางครั้งก็ไม่สนตรรกะอะไรอีกเลย จนคนดูมักได้ล้อได้แซวอยู่เสมอ แต่งานนี้เขาได้ยาขจัดความกาวของหนังตัวเองได้ดี นั่นคือกาวชั้นดีมียี่ห้อเกรดสูงอย่าง เรตต์ รีส และ พอล เวอร์นิก มือเขียนบทสุดฮาบันเทิงจากหนัง Deadpool และ Zombieland ทั้ง 2 ภาค ที่ติดสอยห้อยตามไรอัน เรย์โนลด์ มาเขียนโครงสร้างหนังได้อย่างมีระเบียบ มีชั้นเชิงการเล่าที่น่าสนใจ ด้วยการเปิดกลุ่มตัวละครแบบไม่ลำดับเวลา ตัดสลับภารกิจปัจจุบันที่อิตาลีในการชิงดวงตาของทนายความจอมฉ้อฉลของจอมเผด็จการเพื่อเอามาสแกนเปิดโทรศัพท์ที่เชื่อมกับฐานข้อมูลความลับทั้งหลาย กับอดีตและที่มาที่ไปรวมถึงความเชี่ยวชาญของสมาชิกกลุ่มแต่ละคน ที่แทนตัวด้วยหมายเลข ทำให้เราเห็นโครงร่างว่านี่ไม่ใช่หนังทีมรวมยอดคนธรรมดา แต่มันมีความน่าสนใจในตัวเองแต่ละคนมากกว่านั้น

ด้วยความยียวนของมือเขียนบท ต้องบอกว่าหนังฉลาดในการสร้างปมประเด็น เพราะมันไม่ได้ต้องลงลึกจนซีเรียส แต่ก็มีเนื้อหนังให้เรื่องดูจับต้องได้จริง และปล่อยพื้นที่ที่เหลือให้ไมเคิล เบย์ใส่จินตนาการความสดใหม่ของเขาลงไปได้อย่างเต็มที่ ทำให้มันกลายเป็นหนังไมเคิล เบย์ ในฉบับที่ลงตัว ไม่พร่องไม่ล้น จนน่าเสียดายว่าถ้าได้ฉายในระบบการฉายดี ๆ เสียงกระหึ่ม ๆ จอใหญ่ ๆ กับงานภาพระเบิดตูมตามโชว์สถาปัตยกรรมหลายที่ มันคงจะฟินไม่น้อยทีเดียว

6 underground 6 underground6 underground6 underground

1 มหาเศรษฐี 2 สายลับ 3 มือปืน 4 โจรลอยฟ้า 5 หมอ 6 นักขับ 7 พลแม่นปืน — หมายเลขมี 7 แต่กลุ่มนี้มีแค่ 6

ความกวนทีนของหนังยังเป็นอะไรที่ต้องขอชื่นชมแบบลงรายละเอียดเลยทีเดียว มันกวนมาตั้งแต่คอนเซปต์ของเรื่อง เราอาจชินกับหนังบู๊ระดับตำนานที่มักว่าด้วยฝั่งพระเอก 7 คนที่มักต้องเข้าไปช่วยเหลือหมู่บ้านหนึ่งที่ห่างไกลจากการคุกคามโดยคนชั่วที่มีอำนาจหรืออาวุธ ไม่ว่าจะ Seven Samurai (1954) หรือ The Magnificent Seven (1960) หรือหนังไทยอย่าง 7 ประจัญบาน เองก็ตาม แต่กับ 6 Underground มันไปเหนือกว่าด้วยการคารวะหนังชั้นครูเหล่านั้นด้วยการมีสมาชิกหมายเลข 7 แต่มีกันแค่ 6 คน และไม่ใช่แค่จำนวนน้อยกว่า ภารกิจของพวกเขาก็ทะเยอทะยานไปหนักมากกว่าเพราะไม่ใช่การช่วยหมู่บ้านยากจนเท่านั้น แต่พวกเขาต้องปลดปล่อยประเทศเทอร์กิสถานจากการปกครองของเผด็จการนายพลโรวัค ศัตรูที่มีความฉลาด ไม่ไว้ใจใคร โหดเหี้ยมและมีชั้นเชิง รวมถึงอุดมการณ์หนุนจิตด้านชั่วที่พอดิบพอดี (ฉากถกประเด็นจากละครเวทีของเชกสเปียร์กับพระเอกสร้างมิติตัวละครขึ้นมาเลย) สำหรับคนดูมันก็เว่อมั้ยล่ะการปลดปล่อยประเทศด้วยคนเพียง 6 คน แต่ตารีสกับเวอร์นิกก็ทำบทที่เราเออออไปด้วยได้ตลอดเรื่อง ต้องยอมรับเลยว่าหนังรอดส่วนหนึ่งเพราะบทจริง ๆ

6 underground

บทยังช่วยให้บทสนทนาไม่แห้งแล้งด้วย เพราะมันมาทั้งมุกคำพูดหนัง มุกคำพูดจากเนื้อเพลง และยังเอากิมมิกจากป๊อปมีเดียต่าง ๆ มาเล่นอย่างมันมือ ไม่ว่าจะเสียงทดสอบระบบ THX ที่เราคุ้นชินกลับเป็นอาวุธทรงพลัง เสียงซาวด์เอฟเฟกต์รถที่ชนพลิกแบบสโลว์แต่ใส่เสียงจากหนัง Transformers มา ตลอดจนมุกตลกร้ายที่ถนัดกันทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะมือเขียนบท หรือการด้นสดจากไรอัน เรย์โนลด์เองก็ตาม สนุกมาก ถ้าเนิร์ดหนังเนิร์ดเพลงด้วยยิ่งสนุก ฉากแนะนำตัวละครหมายเลข 4 ต้องบอกว่าครีเอตฉากล้อหนังเรื่องหนึ่งที่เรารู้จักดีได้โหดมาก (ไปดูเองนะ) เอาเป็นว่าในแง่กิมมิกทั้งหลายนี่ประทับใจอย่างแรง

การสร้างตัวละครที่เป็นอีกหัวใจของหนัง

หนังเหมือนจะอ่อนเรื่องการสร้างตัวละครให้เรารักนะ ยืนยันว่ากว่าครึ่งเรื่องมายังไม่ค่อยอินตัวไหนเป็นพิเศษ แม้แต่ตัวละครหมายเลข 7 ที่เข้ามาหลังสุดและเหมือนตัวแทนผู้ชมในการเข้ามารู้จักทีมผีนี้ หนังก็ไม่ได้ให้เราอินมากนัก แต่พอผ่านภารกิจสัก 2-3 ฉากใหญ่ หนังอยู่ดี ๆ โจมตีหัวใจเราไปตอนไหนไม่รู้ สารภาพเลยว่าฉากฮ่องกงที่เป็นฉากใหญ่ฉากหนึ่งเนี่ย ขโมยหัวใจเราไปแจกให้แต่ละตัวละครเลย โดยเฉพาะหมายเลข 4 โจรที่เป็นฟรีรันนิ่งเนี่ย น้องแกคือ สไปเดอร์แมน ของโทนี่ คือ โรบิน ของแบทแมน เลยทีเดียว ทำเราเอาใจช่วยได้ตลอดเลยหลังจากนั้นมา และจะว่าไปคนเขียนบทก็จงใจให้บทหมายเลข 1 ของเรย์โนลด์ เป็นส่วนผสมของ โทนี่ สตาร์ก และ บรูซ เวย์น อยู่เหมือนกันนะ แต่ถ้ามองโลกความจริงก็ต้องว่ามันมีความ อีลอน มัสก์  อยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน (ดูสิล้อไปยันการจัดสร้างตัวละครได้อ่ะ)

หมายเลข 1, 5, 3, 4, 7, 2, 9 ตามลำดับ

อัดเต็มด้วยฉากความรุนแรงเกินเรตสตรีมมิ่ง อินสะใจกับการฆ่าเผด็จการ

หนังสตรีมมิ่งส่วนใหญ่ ว่ากันตรง ๆ มักพยายามไม่ให้รุนแรงเกินจำเป็นเพราะฐานครอบครัวที่ดูหนังในบ้านนั้นมักมีเด็ก ๆ อยู่ด้วย ยิ่งหนังที่ไม่ได้ดูเป็นผู้ใหญ่ ๆ จัดที่ต้องตีความ ถอดสัญญะมากมายอย่างเรื่องนี้ด้วยแล้ว แต่กระนั้นเน็กฟลิกซ์ก็ตามใจให้ไมเคิล เบย์ และทีมงานทำอะไรก็ได้สุดฝีมือไปเลย มันจึงมาทั้งคำสบถหยาบ และภาพรุนแรงต่อจิตใจทั้งอวัยวะขาดกระเด็น พวงลูกตาที่ถือห้อยไปมาอยู่นาน ฉากตายที่โหดเข้าไส้ ฉากโยนคนลงตึก ฉากขับรถชนทับคนข้างถนนระเนระนาดแบบเน้น ๆ ที่ว่ามานี้ถ้าถอดความบันเทิงหรือความตลกร้ายที่เคลือบไว้ออกหนังมันมีความรุนแรงสูงมากเลยทีเดียว มองในแง่คนโต ๆ คือโคตรสะใจ ถึงลึก ๆ เราจะรู้ว่าปัญหามันไม่ควรแก้ด้วยความรุนแรง แต่การได้เห็นหัวหน้าเผด็จการในเรื่องโดนอะไรหนัก ๆ ตายโหด ๆ มันก็สะใจความรู้สึกเราเหมือนกันนะ ก็เลยมองว่าหนังทำมาป้อนผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก แต่ถ้าเด็กบังเอิญมาดูก็ขอแค่มีผู้ปกครองแนะนำข้าง ๆ ด้วยนั่นล่ะดีที่สุด

6 underground 6 underground

หนังยังมีจุดเสียอีกนิดหน่อยคือการถ่ายฉากแอ็กชันระยะประชิด ผสมการตัดต่อฉับไว หลายฉากมีความมึนหัวสับสนเล่นงานดวงตาอยู่เหมือนกัน ที่เป็นหนัก ๆ เลยคือฉากรถซิ่งไล่ล่ากลางอิตาลีบางช่วง แต่โดยรวมก็ไม่เป็นปัญหา วิสัยทัศน์งานภาพของไมเคิล เบย์ เขาเอาอยู่ทุกองศาอยู่แล้ว ไว้ใจได้เรื่องภาพเสียง

สรุป นี่เป็นหนังเน็ตฟลิกซ์ที่มันสุด ฮาป่วง โหดเอี้ย ๆ และมีคุณสมบัติสำหรับการเป็นอันดับหนึ่งตารางหนังทำเงินแบบฉายโรงสบาย ๆ ด้วยฝีมือของแต่ละวงการทั้งนักแสดง ผู้กำกับ มือเขียนบท ทีมสร้าง อยากจะบอกว่าเสียดายแค่ว่ามันไม่ได้ดูในโรงแค่นั้นล่ะ นอกนั้นโคตรดี คุ้มค่าเน็กฟลิกซ์เว่อ ๆ

ใครสนใจดูหนังได้ที่นี่เลย https://www.netflix.com/watch/81001887

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook