“Knives Out” เลือดข้นคนฮา
ดู “Knives Out” หนังเรื่องล่าสุดของ ไรอัน จอห์นสัน (ผู้กำกับ The Looper, The Last Jedi) จบแล้ว ผมคิดว่า ไรอัน จอห์นสัน น่าจะโตมากับการอ่านนิยายสืบสวนของ อกาธา คริสตี้ ที่มีตัวละครเอกเป็นนักสืบอย่าง แอร์กูล ปัวโรต์ (หรือแม้แต่ เจน มาร์เปิล ในบางเรื่อง) นะครับ เพราะว่า Knives Out นี่แทบจะถอดรูปแบบมาจากนิยายของ อกาธา คริสตี้ เหมือนเป็นการรวมเอาซีรีส์นิยายฉบับ แอร์กูล ปัวโรต์ หลายๆ เรื่องมายำรวมกัน แล้วไม่ลืมจับประเด็นทางสังคมร่วมสมัยใส่ลงไปเพื่อไม่ให้หนังดูเบาโหวง
ผลลัพธ์ออกมาถือว่าน่าพอใจอย่างยิ่งครับ หนังสนุก มีเลือดมีเนื้อ เต็มไปด้วยอารมณ์ขันร้ายๆ และคงความเป็นนิยาย (หนัง) นักสืบแบบ อกาธา คริสตี้ ไว้ได้ทุกประการ
พูดถึงนิยายของ อกาธา คริสตี้ ก็จำเป็นต้องอธิบายเสียหน่อยครับว่าแตกต่างไปจากนิยายนักสืบชุด เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ของ เซอร์ อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์ อยู่พอสมควร กล่าวคือขณะที่ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ นั้นใช้ความสามารถในการอนุมานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากหลักฐานที่อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นหลัก แต่ แอร์กูล ปัวโรต์ นั้นมักจะให้ความสำคัญกับแรงจูงใจในการฆาตกรรม ผ่านการพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ขณะที่ โฮล์มส์ มีหมอวัตสันเป็นเพื่อนคู่คิดคอยปรึกษารูปคดี ปัวโรต์ มักจะออกแนวฉายเดี่ยว มาคนเดียว ถ้าจะหาเพื่อนคู่หูก็หาเอาแถวๆ ที่เกิดเหตุนั่นแหละ ขณะที่รูปคดีของ โฮล์มส์ มักจะใหญ่โตชนิดที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของประเทศ แต่คดีของ ปัวโรต์ มักจะเป็นเรื่องเงินๆ ทองๆ เกิดขึ้นในคฤหาสน์มหาเศรษฐีผู้มีลูกหลายยั้วเยี้ย และขณะที่ โฮล์มส์ เป็นสายบู๊ ออกเรี่ยวออกแรงบ้างบางคราว ส่วนปัวโรต์นั้น แกสายชิล นั่งๆ เดินๆ จิบกาแฟอยู่แถวๆ บ้านที่เกิดเหตุนั่นแหละครับ แต่ทั้งคู่ก็สามารถคลายคดีด้วยความเหนือชั้นเหมือนๆ กัน
กลับมาที่ Knives Out ที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากนิยายของ อกาธา คริสตี้ มาเต็มๆ หนังเล่าเรื่องการเสียชีวิตของ ฮาร์ลาน ทรอมบีย์ (คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์) มหาเศรษฐีนักเขียนสายอาชญากรรมชื่อดังที่เสียชีวิตในคืนวันฉลองอายุครบ 85 ปี ท่ามกลางครอบครัวและลูกหลานที่มาร่วมฉลองกันเต็มบ้าน ตอนแรกตำรวจปักใจเชื่อว่า ฮาร์ลาน ทรอมบีย์ ฆ่าตัวตายเนื่องจากพยานบุคคล ตลอดจนหลักฐานต่างๆ ชวนให้คล้อยตามไปทางนั้น แต่มีใครสักคนที่ยังตะขิดตะขวงใจจึงว่าจ้างให้ เบอนัวต์ บลองก์ (แดเนียล เคร็ก) นักสืบชื่อดังเข้ามาไขคดี
หลังจากซักถามพูดคุยกับคนจนหมดบ้าน บลองก์ ให้น้ำหนักกับเรื่องเล่าของ มาร์ธา คาเบรรา (อานา เด อาร์มาส) พยาบาลรับจ้างประจำตัวของ ฮาร์ลาน มากที่สุด บลองก์ จึงขอให้ มาร์ธา มาช่วยเขารื้อคดีนี้ใหม่
Knives Out นั้นมีกลิ่นนิยายของ อกาธา คริสตี้ แบบฉุนรุนแรงเตะจมูกมากครับ ทั้งการให้ตัวละครแต่ละตัวซึ่งมีความสัมพันธ์ มีผลประโยชน์ มีข้อขัดข้องกับผู้ตายต่างกันออกไปได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในมุมของตัวเอง เพื่อให้ บลองก์ (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ชม) ได้จินตนาการว่าใครคือฆาตกร ซึ่งทุกคนก็ล้วนมีแรงจูงใจที่จะเป็นฆาตกรกันได้แทบทุกคน หนังในครึ่งแรกของเรื่องจึงว่าด้วยการให้ข้อสงสัยว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการเสียชีวิตของ ฮาร์ลาน ก่อนที่จะเฉลยอย่างง่ายๆ ว่า ฮาร์ลาน เสียชีวิตด้วยใครหรือเหตุอันใดเพื่อที่จะเล่าเรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่แท้จริงของหนังในช่วงครึ่งเรื่องหลัง
อย่าคิดว่าพอรู้ว่าใครหรืออะไรสังหาร ฮาร์ลาน แล้ว Knives Out จะหมดสนุกนะครับ ตรงกันข้าม ผมกลับมองว่าความสนุกจริงๆ ของหนังอยู่ที่ครึ่งหลัง ตรงที่เราจะเอาใจช่วย บลองก์ และ มาร์ธา ไล่ล่าผู้ร้ายตัวจริงด้วยวิธีการอย่างไรมากกว่าเพื่อที่จะคลี่คลายข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นในวันเกิดเหตุกันแน่
ฟัง ๆ ดูเหมือน Knives Out จะเป็นหนังที่เคร่งเครียดใช่ไหมครับ แต่เปล่าเลย นี่เป็นหนังที่ดูสนุกและตลกพอสมควร ไรอัน จอห์นสัน ฉลาดที่จะเล่าเรื่องนี้ให้มีสีสันด้วยการบิดเบี้ยวพฤติกรรมบางอย่างให้ดูน่าขัน ใส่ความตลกผ่านพฤติกรรมเปิ่นๆ ของ บลองก์ (อันนี้ผมว่าแทบจะถอดรูปแบบมาจาก ปัวโรต์ เลยทีเดียว) อยู่ตลอดเวลา โทนของหนังเรื่องนี้จึงไม่ได้เหนื่อยหนักสักเท่าไหร่ (โอเค ช่วงแรกอาจจะอืดๆ ไปบ้างหากคุณไม่ชอบหนังที่ตัวละครพูดเยอะๆ) แต่บทจะเข้มข้นจริงจังขึ้นมา ไรอัน จอห์นสัน ก็ทำได้อย่างจะแจ้ง (แม้จะเป็นประเด็นเดียวที่หนังพยายามจะทำให้มีสาระ มีแก่นสาร หรือพยายามเล่าอะไรเป็นเนื้อเป็นหนังก็ตาม) นั่นคือประเด็นเรื่องความเป็นคนนอกเป็น เป็นคนอื่น ความเจ็บปวดของการมีสถานะผู้อาศัยดินแดน อะไรแบบนั้น แต่จอห์นสันก็พูดได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ Knives Out เป็นหนังที่ค่อนข้างมีพลัง ไม่ใช่สนุกกันอย่างเดียว
แนะนำให้รีบไปดูนะครับ เพราะเดี๋ยว‘Star Wars ภาคใหม่จะเข้าแล้วอาจจะหาดูยากแล้วทีนี้
ชมภาพยนตร์ตัวอย่าง Knives Out ได้ ที่นี่
เกี่ยวกับผู้เขียน