6 Underground ความละเมอเพ้อพกของเศรษฐี

6 Underground ความละเมอเพ้อพกของเศรษฐี

6 Underground ความละเมอเพ้อพกของเศรษฐี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ระเบิดภูเขา เผากระท่อม” คือสไตล์การทำหนังของฉลอง ภักดีวิจิตร เช่นเดียวกันกับผลงานของ ไมเคิล เบย์ ที่สามารถนิยามหนังของเขาได้ว่า ช่างเต็มไปด้วยความ “วินาศสันตะโร” โดยไม่สนใจกฎแรงโน้มถ่วงของโลกเลยสักนิดเดียว

หลังจากที่ Transformers: The Last Knight ในปี 2017 คือความอัปยศขั้นสุดของแฟรนชายส์หุ่นยนต์แปลงร่าง เพราะขนาดคนดูหนังขาจรยังบ่นอุบว่าหนังหมดมุกและสุดแสนจะน่าเบื่อ ไมเคิล เบย์ก็คงจะต้องเริ่มพิจารณาตัวเองแล้วว่า บางทีเขาควรจะปล่อยวางแฟรนชายส์นี้ แล้วหันไปกำกับหนังเรื่องใหม่แทนบ้าง เว้นว่างไปเกือบ 2 ปี 6 Underground ถือเป็น งานล่าสุดที่ไมเคิล กลับมาจับงานกำกับภาพยนตร์อีกครั้ง

 

อันที่จริงถ้าเรามองย้อนกลับไปในยุคแรกที่ไมเคิล เบย์เริ่มมากำกับหนังแอ็คชั่น อย่าง Bad Boys (1995) เขาถือเป็นผู้กำกับที่มีมุมมองในการออกแบบฉากแอ็คชั่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีลายเซ็นชัดเจนมากคนหนึ่งในยุคสมัยนั้น คงไม่มีใครลืมซีน วิลล์ สมิธและมาร์ตินลุกขึ้นยืนในซีนไคลแมกซ์แล้วกล้องก็ดอลลี่ไปรอบๆตัวเอก หรือฉากระเบิดรถไล่ล่าจนรถหมุนควงสว่างและระเบิดตูม ก็ถือว่าเป็นฉากแอ็คชั่นที่สดใหม่มากในยุคนั้น

น่าเสียดายที่นักวิจารณ์ไม่เคยชอบผลงานของไมเคิล เบย์ เอาซะเลย ผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดของไมเคิล คือเรื่อง The Rock แต่ก็ไม่ได้ยอดเยี่ยมขนาดจะลบคำครหาว่า เขาเป็นผู้กำกับที่สนุกกับการกำกับฉากแอ็คชั่นมากกว่าจะพัฒนาเนื้อหาเรื่องราวของหนังและตัวละคร หรือกระทั่งความสมจริงของเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไรก็ตามหนังของไมเคิล เบย์ยังคงได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ชม ผลงานอย่างเรื่อง Armageddon ที่องค์การนาซ่าจวกเละว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเป็นความละเมอเพ้อพกอย่างแท้จริง ทว่าหนังก็สามารถทำเงินถล่มทลายทั่วโลกไป 553 ล้านเหรียญฯ จากต้นทุนในการสร้างถึง 140 ล้านเหรียญฯ (ซึ่งถือเป็นงบประมาณการสร้างที่สูงมากในช่วงเวลานั้น) และทำให้เพลงอย่าง I Don't Want to Miss a Thing ของ Aerosmith ดังเป็นพลุแตกเช่นกัน

เมื่อวกกลับมาสำรวจถึงพล็อตเรื่องของ 6 Underground หนังได้บอกเล่าเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวขึ้นมาเพื่อต่อกรกับนายพลโรวัค ผู้นำจอมชั่วร้ายแห่งประเทศตะวันออกกลางอย่างเตอร์กิสถาน ภารกิจสุดระห่ำครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นจาก 1 หรือ วัน (ไรอัน เรย์โนลด์) มหาเศรษฐีที่ตัดสินใจลบตัวเองออกจากแผนที่โลก ด้วยการแสร้งว่าตัวเองได้ตายไปแล้ว ก่อนที่เขาจะรวบรวมทีมอันประกอบไปด้วย สายลับ มือปืน จอมโจรตีนผี หมอ นักขับรถ และพลแม่นปืน ที่ยึดมั่นอุดมการณ์เดียวกันนั่นคือการ “ช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน”

หนังไมเคิล เบย์ ก็คือหนังไมเคิล เบย์ การที่เราจะมามองหาภาพยนตร์ที่ประเทืองปัญญา ก็คงเป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร หรือต่อให้บทภาพยนตร์ต้นฉบับเขียนมารัดกุมแค่ไหน สุดท้ายวิธีการเล่าเรื่องของพี่เบย์ ก็คงจะไม่สนใจอะไรมากไปกว่าการกับซีนแอ็คชั่นซึ่งอัดแน่นไปด้วยระเบิดนาปาล์ม ห่ากระสุน การขับรถยนต์ไล่ล่า ซึ่งความโดดเด่นและหนักหน่วง คือการที่หนังจัดเต็มความรุนแรง ด้วยฉากการตายของเหล่าผู้ร้ายชนิดที่ชิ้นส่วนอวัยวะของร่างกายขาดสะบั้น เลือดสาดกระเซ็นท่วมจอ รวมไปถึงการถ่ายให้เห็นความคมของอาวุธต่างๆที่เสียบทะลุร่างกายมนุษย์อย่างเมามัน (เพราะเป็นหนังฉายทางสตรีมมิ่งเลยไม่จำเป็นต้องแคร์การจัดเรตติ้งจากสมาพันธ์ภาพยนตร์)

ท่ามกลางพล็อตเรื่องที่แสนเบาบาง และเป็นการจับแพะขนแกะ ชนิดที่เรามองหาความสมเหตุสมผลทางตรรกะไม่ได้เลยสักนิด อาทิการเดินทางไปต่างประเทศของผู้คนที่ไม่มีสัญชาติ! ไม่มีตัวตนแบบทีมตัวเอก ซึ่งถ้าหากง่ายดายกันขนาดนี้ โลกใบนี้คงไม่ต้องมีการรักษาการณ์เรื่องการเดินทางข้ามเขตแดนกันอีกแล้ว เป็นต้น

แม้หนังพยายามทำตัวให้เหมือนว่า “จะมีสาระ” เช่นฉากที่ตัวละคร “วัน” ไปชมละครเวที ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมของเชคสเปียร์ เพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวของนายพลโรวัค (ไรออร์ แรซ) เมื่อทั้งสองได้เจอหน้ากัน วันพยายามหยิบประเด็นเรื่องการที่ทรราชในละคร ไม่ได้รับบทเรียนอันเป็นผลการกระทำที่ชั่วร้าย จนกระทั่งองก์ที่ 5 เขาถึงจะได้รับผลกรรมที่ตนก่อ อันหมายถึงความยุติธรรม มาถกเถียงบนบาร์เหล้า ทว่ามุมมองของนายพลโรวัคกลับมองว่า สิ่งที่ทรราชทำนั้นคือการที่ผู้นำคนหนึ่งพยายามนำระเบียบมาให้แก่โลกที่เกิดความยุ่งเหยิงต่างหาก

 

สิ่งที่พอจะตกผลึกได้จาก 6 Underground  คือการที่ตัวเอกของเรื่องซึ่งเป็นมหาเศรษฐีชาวอเมริกัน “รู้สึกอยากจะเป็นคนดี” ด้วยการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือประเทศโลกที่ 3 (หรือประเทศแทบตะวันออกกลาง) ยิ่งสะท้อนความคิด อาการอยากไถ่บาปหลังจากยุคสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งมีนโยบายในการโจมตีประเทศอิรักเสียจนชาวโลกมองประเทศอเมริกาไม่ต่างอะไรจากผู้ดีถือสากปากถือศีล (เพราะความจริงแล้วการโจมตีที่อ้างว่าเป็นการล้างแค้น จริงๆคือการวางแผนเพื่อรุกรานอิรักและก่อสงครามต่างหาก)

น่าเสียดายตรงที่ประเด็นในหนังถูกนำเสนอในฐานะพล็อตอันแสนเบาบาง และช่วยเป็นมาตรศีลธรรมที่พอจะขับเคลื่อนตัวละครในเรื่อง ให้สามารถสร้างวีรกรรมป่าเถื่อน อาทิ ขับรถฝ่ากฎจราจร เผลอทำคนบริสุทธิ์ตายแบบไม่รู้ตัว หรือกระทั่ง ความพยายามเป็นคนดีของทั้ง 6 ขบถ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการมโนคิดไปเอง ว่าพวกเขาเป็นคนดี ทั้งที่จริงแล้วตัวเองทำตัวเป็นศาลเตี้ยและฝันเฟื่องว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เท่านั้นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook